Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

      คำพิพากษาของศาล จ.ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ให้กองทัพภาคที่ 4 ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกส่งตัวเข้ามาฝึกอาชีพในค่ายทหารจังหวัดดังกล่าวเป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่สมัครใจจำนวนประมาณ 80 คน ไม่เพียงเท่านั้นกองทัพภาคที่ 4 ยังถูกรุกซ้ำด้วยการที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศห้ามบุคคลเหล่านี้เข้าพื้นที่ ซึ่งน่าติดตามว่า กรณีนี้จะเป็นแนวตั้งรับสุดท้ายในการเปิดเกมรุกของฝ่ายทหารที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหรือไม่

       หากยังมีการรุกทางทหารด้วยการปิดล้อมพื้นที่ ตรวจค้นและควบคุมตัวต่อไป จะดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่ขาดพยานหลักฐานดำเนินคดีเหล่านี้อย่างไร

      ความสำเร็จทางทหารหลังปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ด้วยจำนวนเหตุการณ์รุนแรงที่ลดลง อาจกลายเป็นความปราชัยทางการเมือง นับแต่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว

      อันที่จริงก็น่าเห็นใจทหาร ที่อาจจะขาดความเข้าใจในการจัดการด้านความรู้สึก ในขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงกดดันให้ต้องหาทางยุติสถานการณ์ ด้วยการควบคุมพื้นที่ ความคุมความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแม้จะเห็นแนวโน้มว่าสามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็พิสูจน์แล้วว่า แนวทางนี้ไม่อาจควบคุมความรู้สึกของมวลชนได้

      มองอย่างเป็นกลาง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า ทหาร ณ วันนี้มีการปรับตัวไม่น้อย มาตรการรุกทางทหาร แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงเสียเอง แต่ก็เป็นการดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ มิได้ใช้แนวทางนอกกฎหมายอย่างในอดีต

 

      หากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้เป็นสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ภาวะสงคราม เราจะยอมรับหรือไม่ว่า การจัดการผู้ก่อความไม่สงบ มิอาจใช้หลักในการดำเนินคดีอาญาแบบปกติได้

      ความซับซ้อนของปัญหาชายแดนภาคใต้ มิอาจแก้ไขได้โดยแนวทางใดเพียงแนวทางเดียว การทหารมิอาจลบล้างแนวคิด ขณะเดียวกันกระบวนการต่อสู้เอาชนะทางความคิดก็ไม่อาจทำได้ ภายใต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      ภายใต้วิกฤติการณ์ครั้งนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสดีที่ทุกองคาพยพในสังคมไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกัน

      สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงไม่ควรปล่อยให้ทหารเผชิญการแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกฝ่ายซึ่งมีหน้าที่โดยตรงหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ควรร่วมกันแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสร่วมกันหาทางออก กำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อยุติความรุนแรงให้ได้

      หากจะต้องสร้างกฎหมายหรือเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมความรู้อย่างรอบด้าน จากองคาพยพต่างๆ เพื่อลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์

      เอกภาพในการแก้ปัญหา ซึ่งสังคมไทยเรียกร้องมาตลอดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากวันนี้ยังไม่มีการเรียนรู้ร่วมกัน ภาพปัญหาถูกมองกันคนละด้านคนละมุม

       การฝ่าวิกฤติครั้งนี้ สังคมไทยอาจจะต้องสร้างความรู้สึกใหม่ในการร่วมคิดร่วมตัดสินใจ และพร้อมจะแบกรับความผิดพลาดในการคิดและตัดสินใจนี้ร่วมกัน โดยไม่ทอดภาระการแก้ปัญหาไว้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงลำพัง