ข้อเสนอ
ของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
ต่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ณ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี
วันที่ 25 เมษายน 2554
พวกเรา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และผู้หญิงที่ขับเคลื่อนงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่ ขอขอบคุณสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 87 (1) ที่รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นและพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 4 ที่กำหนดให้การจัดทำนโยบายครั้งนี้ ต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนไปใช้ในการจัดทำ ประกอบกับภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ในการจัดทำนโยบายครั้งนี้ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ขอเสนอสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและความเห็นประกอบการจัดทำนโยบาย ดังนี้
1.สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 8 ได้ทำลายความมั่นคงของชีวิตประชาชนในพื้นที่ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะชีวิตของผู้หญิงและเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ผู้หญิงได้กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ มีผู้หญิงเสียชีวิตไป333 คน บาดเจ็บ 1,606 คน และพิการ 52 คน และอีกกว่า 2,000 คน ต้องกลายเป็นม่าย ที่ต้องแบกรับภาระในการดูแลบุตรกำพร้ากว่า 5,000 คน ในขณะที่มีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการที่สามี หรือสมาชิกในครอบครัวต้องคดีความมั่นคงอีกกว่า 7,000 ครอบครัว นับเป็นผลกระทบและภาระที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ที่หนักหน่วงกว่าผู้หญิงในพื้นที่ใดๆของประเทศนี้
ดังนั้น จึงขอให้การกำหนดนโยบายครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรง และสร้างสันติภาพได้อย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก และคืนความมั่นคงและชีวิตที่เป็นปกติสุขสู่ผู้หญิงและครอบครัวได้เร็ววัน
นอกจากนี้นโยบายและมาตรการด้านความมั่นคงใดๆที่ใช้ต่อบุรุษซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเด็กและเยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้หญิง ขอให้ยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้หญิงและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. แม้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ผู้หญิงก็ไม่ขอตกอยู่ในฐานะเหยื่อ ที่รอการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากรัฐ โดยไม่คิดพึ่งพาตนเอง หรือก้าวข้ามจากสถานะเหยื่อไปสู่บทบาทใหม่ของการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และกระตือรือร้นในการพัฒนาพื้นที่ และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ การกำหนดนโยบายภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง ขอให้คำนึงถึงมิติการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทุกๆด้าน ในฐานะผู้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผลกระโยชน์จากนโยบายที่กำหนดขึ้น และจากการจัดสรรทรัพยากรตามนโยบาย อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
3.กลุ่มองค์กรผู้หญิงและประชาสังคม ขับเคลื่อนงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ มาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ คู่ขนานกับภาครัฐ โดยเฉพาะในระยะหลัง ที่การขับเคลื่อนงานของหลายองค์กร ได้ช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ประชาชน และฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ จึงขอให้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรผู้หญิงและประชาสังคมไว้ในนโยบาย เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นและเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงและสร้างสันติภาพได้ในระยะยาว
4.ความมั่นคง ตามนิยามและความหมายของผู้หญิง นอกจากจะรวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังหมายถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร อาชีพ อนามัย และอัตลักษณ์ รวมทั้งการอยู่ในชุมชนสังคมที่ปราศจากความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชาติพันธ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม การพัฒนาและการกำหนดนโยบาย ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญดังกล่าวนี้ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงแห่งรัฐ ไปพร้อมๆกัน
5.ภัยคุกคามที่กำลังกัดกร่อนชีวิตของผู้หญิงและครอบครัว คือยาเสพติด ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ภายใต้สถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ ผู้หญิงที่เป็นแม่ และเมีย ต้องกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และแบกรับภาระต่างๆที่เกิดขึ้น จากการที่หัวหน้าครอบครัว และเยาวชนที่เป็นบุตรหลานติดยาเสพติด การแพร่ระบาดของยาเสพติดยังมีส่วนทำให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น จึงขอให้กำหนดให้ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาเร่งด่วนสำคัญ อีกปัญหาหนึ่ง ที่ต้องได้รับการแก้ไขไว้ในนโยบาย
6.นโยบายของรัฐหลายนโยบายที่ผ่านมา ที่ได้กำหนดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ถูกเผยแพร่ และรับทราบในหมู่ประชาชน แม้แต่ในหมู่ข้าราชการในพื้นที่ ที่จะต้องเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ก็ยังไม่รับทราบและเข้าใจในนโยบาย จึงทำให้เกิดปัญหานโยบายดี แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอให้มีการเผยแพร่นโยบายที่จะจัดทำขึ้นมานี้ รวมทั้งนโยบายสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในนโยบาย สามารถรับรู้ได้อย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางต่างๆที่เข้าถึงประชาชน รวมทั้งให้มีการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผล
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้