Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานร่วม 4 ปี กลายเป็นแรงกระตุ้นอันสำคัญให้เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ๆ  "เสนอตัว" และ "เสนอนโยบาย" เพื่อดับไฟใต้ให้มอดลงเสียที


         
เพราะย่อมปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหาภาคใต้บานปลายอย่างยากที่จะหาจุดจบได้ในวันนี้ คือความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของฝ่ายการเมืองในอดีต


         
จึงไม่น่าแปลกใจที่ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 23 ธันวาคม จะมีกลุ่มการเมืองใหม่ๆ เปิดตัวเตรียมแจ้งเกิดในสนามการเมืองดินแดนด้ามขวานเป็นจำนวนมาก นอกจากกลุ่ม "สัจจานุภาพ" ของ ..แวมาฮาดี แวดาโอะ ที่เข้าสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และได้กล่าวถึงไปเมื่อวานนี้แล้ว ยังมีกลุ่มการเมืองอีก 2 กลุ่มที่พร้อมเบียดแย่งที่นั่ง ส..กับเจ้าของพื้นที่เดิม


         
กลุ่มแรกคือ "กลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า" ของบรรดาองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดเข้าสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย และ "กลุ่มสันติภาพ" ที่นำโดย พิเชษฐ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กับ มุคตาร์ กีละ อดีตเลขาธิการพรรคสันติภาพไทย ที่เข้าสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา


         
แน่นอนว่าในฐานะ "หน้าใหม่" สิ่งที่ทั้งสองกลุ่มมุ่งนำเสนอจึงหนีไม่พ้น "นโยบาย" ที่หวังมัดใจชาวบ้าน!

 

แก้ 4 อยุติธรรม-เลือกตั้งผู้ว่าฯ


          
 พล.ต.ต.จรูญ เด่นอุดม แกนนำกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า พรรคมัชฌิมาธิปไตย เปิดเผยว่า สาเหตุที่สมาชิกกลุ่มตกลงเข้าสังกัดพรรคมัชฌิมาฯ ก็เพราะนโยบายที่คล้ายคลึงกัน คือมุ่งแก้ปัญหาความอยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้วางแนวทางร่วมกันเอาไว้ 4 ด้านคือ


         
1.ความอยุติธรรมด้านการพัฒนา ที่ผ่านมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการพัฒนาอย่างล่าช้าและไม่เท่าเทียม ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาความไม่สงบ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนอีก ฉะนั้นพรรคจะเร่งสร้างงานให้ทุกคนมีงานทำ พร้อมทั้งจัดโครงการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านลงไป เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ ไม่ต้องไปเป็นโจรผู้ร้าย


         
2.ความอยุติธรรมด้านเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ถูกทำลายลงทุกวันจากน้ำมือคนนอกพื้นที่ ฉะนั้นพรรคจึงเสนอแนวทางให้คนในพื้นที่ทุกคนมีสิทธิมีส่วนในการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางทะเล ชายหาด ชายฝั่ง หรือป่าไม้


         
3.ความอยุติธรรมทางสังคม แก้ไขได้ด้วยการลดอคติของประชาชนนอกพื้นที่ที่มักมองคนในพื้นที่นี้ว่าเป็น "คนต่างด้าว ท้าวต่างแดน" ทั้งๆ ที่ทุกคนเกิดเมืองไทย เป็นคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นไม่ว่าจะเชื้อชาติไทย มลายู หรือจีน ต้องมีความเท่าเทียม ขณะเดียวกันต้องให้การศึกษาอย่างทั่วถึง เชื่อว่าถ้าทำได้ ความสงบสุขจะเกิดขึ้น


         
4.ความอยุติธรรมทางการเมืองการปกครอง ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและคนในท้องถิ่นจริงๆ ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นหมอ นักวิชาการ ชาวสวนยาง หรือนักหนังสือพิมพ์ เพื่อให้การเมืองมีทางเลือกและหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ชาวบ้านมีตัวแทนของตนเองอย่างแท้จริง จะได้จัดการบริหารและพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่พิเศษ


         
"เราจะจัดให้มีคณะกรรมการยุติธรรมแห่งชาติขึ้นมาดูแลความเป็นธรรมในพื้นที่ โดยกรรมการประกอบด้วยเอ็นจีโอ ตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และทนายความ เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้ได้รับความเป็นธรรม เพราะเราเชื่อว่าความไม่เป็นธรรมคือเงื่อนไขสำคัญของเหตุการณ์ความไม่สงบในวันนี้" พล.ต.ต.จรูญ กล่าว


ตั้งทีมค้นหาความจริง


           
มันโซร์ สาและ
แกนนำอีกคนหนึ่งของกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า กล่าวเสริมว่า นอกจากคณะกรรมการยุติธรรมแห่งชาติแล้ว ทางกลุ่มและพรรคมัชฌิมาธิปไตยยังมีนโยบายให้ตั้ง "คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง" หรือ Fact Finding ที่มีองค์ประกอบจากบุคคลที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ ทำหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงในทุกกรณีที่มีคนเสียชีวิต และมีข้อสงสัยว่าใครคือคนร้าย


         
"ที่ผ่านมามีหลายกรณีชาวบ้านบอกว่าเจ้าหน้าที่ทำ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าตัวเองไม่ได้ทำ แล้วก็เถียงกันไปมา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้านถ่างกว้างออกไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเราต้องมีทีมค้นหาความจริงเพื่อทำความจริงให้ปรากฏในพื้นที่สามจังหวัดให้ได้ เพื่อลดเงื่อนไขของฝ่ายที่ไม่หวังดี" มันโซร์ ระบุ


รวมใจไทยฯชู"ศาสนานำ"


         
ทางด้านพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา มุคตาร์ กีละ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตแกนนำกลุ่มสันติภาพ เผยว่า นโยบายหลักของพรรคที่จะใช้เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ คือการใช้ "ศาสนานำการเมือง"


         
"เราจะตั้งสภาซูรอ ซึ่งประกอบด้วยปราชญ์ทางศาสนา นักวิชาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมร่วมเป็นกรรมการในสภา มีหน้าที่กลั่นกรองนโยบายด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาและตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน"


         
พร้อมกันนี้ จะเพิ่มศักยภาพศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เป็นหน่วยงานหลักทำงานด้านพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีการว่าจ้างผู้ช่วยเหลือประชาชนประจำอำเภอและโรงพัก เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่มีคดีความ หรือได้รับความเดือดร้อน


         
"ทุกนโยบายของเราจะยึดโยงกับหลักศาสนา โดยเน้นมัสยิดและศาสนสถานเป็นศูนย์กลางในการคลี่คลายปัญหาและวางแนวทางการพัฒนา" มุคตาร์ ระบุ


         
ทั้งหมดคือนโยบายของพรรคการเมืองหลักๆ 5 พรรคที่ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวนี้ แต่ไม่ว่านโยบายจะสวยหรูสักเพียงใด คงไม่เท่ากับความจริงใจและตั้งใจจริงของบรรดานักการเมืองที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นจริงในดินแดนแห่งนี้เสียที
!