Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance - VIS) ประจำเดือนตุลาคม 2550 สรุปสถานการณ์การบาดเจ็บจากความรุนแรงในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า

 มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 117 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 238 ราย เสียชีวิต 88 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์มีจำนวนความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเดิมคือ 87 ครั้ง เป็น 117 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจาก 145 รายเป็น 238 ราย

เมื่อดูอัตราการบาดเจ็บจะพบว่า มีอัตราการบาดเจ็บอยู่ที่ 5.6 ต่อแสนประชากรต่อเดือน มีอัตราการตายอยู่ที่ 2.1 ต่อแสนประชากรต่อเดือน อัตราการป่วยตาย (case fatality rate-CFR) ร้อยละ 37 มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบในครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมทั้งหมด 217 คน

เมื่อวิเคราะห์ลักษณะผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเดือนตุลาคมพบว่า อันดับ 1 เป็นกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต่างจากเดือนกันยายนซึ่งเป็นกลุ่มทหาร โดยมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม และมีข้อสังเกตว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป) มากขึ้น โดยมีอัตราการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมากว่า 5 เท่าคือ 2.3 เป็น 12.4 ต่อแสนประชากรและมีอัตราตายเพิ่มขึ้นจาก 2.3 เป็น 4 ต่อแสนประชากร ซึ่งเมื่อรวมกับกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า  15 ปีแล้ว จะคิดเป็น 1 ใน 6 ของเหยื่อจากความรุนแรงในเดือนนี้ทั้งหมด

ด้านสาเหตุของการบาดเจ็บพบว่า มีสัดส่วนการถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืนเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยเป็น 62.6 % ของสาเหตุการบาดเจ็บ และ 92.0 % ของการเสียชีวิต ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีความแม่นยำของการใช้อาวุธในการสังหารเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเดือนแรกของปีนี้ ที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเวลาในการเกิดเหตุส่วนไหญ่จากเดิมซึ่งมักเป็นเวลาเช้า (07:00-09:00 น.) และช่วงเวลาค่ำ (20.00-21.00 น.) มาเป็นช่วงเวลาเที่ยงวัน (12:00-13:00 น.)

ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (VIS)  เป็นความร่วมมือระหว่างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลของรัฐและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.ชต.), สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา, สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศว.ชต.) และหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม