Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
Deep South Watch : DSW

เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ เปิดเผยผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล (SB-Polls : โพลชายแดนใต้)

โดยผลการสำรวจระบุว่า ผู้ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้คะแนนนิยมมากที่สุดถึงร้อยละ 65.5 รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 11.1 ที่น่าสนใจคืออันดับสาม ได้แก่ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ร้อยละ 5.2 ได้คะแนนมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 4.6 นายบรรหาร ศิลปะอาชา ร้อยละ 3.2  ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช ได้ร้อยละ 2.4

เมื่อพิจารณาเฉพาะในเขต 3 จังหวัด อันได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา นายอภิสิทธิ์ยังคงได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด โดยเรียงลำดับเดียวกับผลคะแนนใน 5 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสังเกตก็คือ คะแนนนิยมอันดับหนึ่งทิ้งห่างอันดับที่สองมากอย่างท่วมท้น

ในขณะที่ความนิยมต่อพรรคการเมืองโดยการตั้งโจทย์ว่า "ถ้าสมมุติวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง" ท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนซึ่งเป็นการวัดความนิยมในพรรคการเมืองโดยตรง ปรากฏว่าในพื้นที่ 5 จังหวัด ประชาชนมีความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 58.08 อันดับสองคือพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 6.52 รองลงมาคือพรรคเพื่อแผ่นดิน ร้อยละ 3.35 ส่วนพรรคชาติไทย ได้ร้อยละ 2.41 พรรคที่เหลือได้คะแนนนิยมไม่ถึงร้อยละ 1

ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดลำดับคะแนนนิยมยังคงมีลักษณะเดียวกัน แม้คะแนนจะต่างกันบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนนร้อยละ 48.42 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนในระดับห้าจังหวัดแต่ก็ยังคงมาเป็นที่หนึ่ง ในขณะที่พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 7.71 พรรคเพื่อแผ่นดินได้ร้อยละ 5.03 พรรคชาติไทยได้ร้อยละ 3.61 ที่เหลือได้ต่ำกว่า 1 อย่างไรก็ตาม คะแนนดังกล่าวขึ้นอยู่กับโจทย์คำถามข้างต้น ซึ่งหากเวลาเปลี่ยนไป ปัจจัยและตัวแปรอื่นๆ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ข้อสังเกตอีกประการคือมีผู้เลือกตอบ "ยังไม่ได้ตัดสินใจ" อีกจำนวนไม่น้อย  กล่าวคือ ในข้อมูลห้าจังหวัดมีอยู่ร้อยละ 27.67 ในขณะที่ข้อมูลสามจังหวัดมีสูงถึง 32.31 อาจกล่าวได้ว่าคะแนนดังกล่าวเป็นคะแนนเสียงแบบลอยที่สามารถจะแปรเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กบกลไกการหาเสียงในระยะสุดท้ายก่อนการวันเลือกตั้งจริง

ทั้งนี้ แบบแผนที่เหมือนกันทั้งคะแนนนิยมต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกคือคะแนนนิยมสูงสุดมีจำนวนมากกว่าอันดับที่สองเป็นจำนวนมาก

ผลโพลยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ประชาชนชายแดนใต้ตัดสินใจที่จะเลือก ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเลือกทั้งหมดหรือเทเข่งร้อยละ 64.5 ในขณะที่อีกร้อยละ 9.5 บอกว่าเลือกจากหลายพรรคการเมือง ส่วนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมีร้อยละ 23 - 25 นอกจากนี้ ในการเลือกแบบเหมาพรรค ประชาชนในห้าจังหวัดระบุว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 52.6 พรรคพลังประชาชนร้อยละ 5.7 รองลงมาคือพรรคเพื่อแผ่นดินและชาติไทย ส่วนในสามจังหวัดประชาธิปัตย์ได้รับเลือก 42.2 รองลงมาคือพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 6.8 และพรรคเพื่อแผ่นดินร้อยละ 3.7

การคาดการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นไปได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประเด็นจากพื้นที่ดังกล่าวที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ประชาชนมีความคาดหวังอย่างไรต่อการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างมองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิมร้อยละ 33.3 ที่มองว่าไม่ทำให้ปัญหาดีกว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 16.7 ส่วนที่บอกว่าแย่กว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือผู้ตอบร้อยละ 46.9 ผู้ตอบเป็นจำนวนมากยังบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงไปกว่าเดิม

          คุณสมบัติส่วนตัวที่ประชาชนชายแดนภาคใต้คิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฏร โดยเฉพาะในระบบแบ่งเขตก็คืออันดับแรก การพูดจริงและทำจริง (ร้อยละ 33.9) คุณสมบัติที่สองก็คือ ความซื่อสัตย์และคุณธรรม (ร้อยละ 31.7) การมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลก็ถูกเลือกเป็นลำดับที่สาม (ร้อยละ 7.3) ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่ชอบมากที่สุดในตัวนักการเมืองก็คือ อันดับแรก โกงกิน คอรัปชั่น (ร้อยละ 40.6) ส่วนอันดับที่สองก็คือ การซื้อเสียง (ร้อยละ 17.3) อันดับที่สามก็คือการไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน (ร้อยละ 16.0)

          คุณสมบัติที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้มองนักการเมืองในเขตเลือกตั้งของตน อาจจะเป็นตัวช่วยให้นักการเมืองที่กำลังหาเสียงใช้ในการปรับปรุงตัวเองเพื่อให้สามารถเอาชนะจิตใจประชาชนและ "เปลี่ยนความนิยมหรือเสียงให้เป็นคะแนน" ในวันเลือกตั้งจริงๆได้ในที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนชายแดนใต้ ผลโพลพบว่ามีแนวโน้มการตื่นตัวสูง กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างระบว่าตัดสินใจที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 95.5 ยังไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ร้อยละ 3.4 ที่บอกว่าไม่ไปเลือกตั้งมีน้อยมาก คือเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้น

นอกจากนี้ โพลยังได้สำรวจทัศนะต่อมาตรการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากของฝ่ายความมั่นคง ประชาชนในห้าจังหวัดที่เห็นด้วยมีร้อยละ 37.6 ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 33.0 ทว่ามีผู้ที่ไม่แน่ใจหรือลังเลใจต่อความถูกต้องของมาตรการดังกล่าวมีอยู่จำนวนไม่น้อยคือร้อยละ 29.5 ในขณะที่เมื่อแยกดูในระดับสามจังหวัด พบว่ามีผู้เห็นด้วยลดลงร้อยละ 30.9 ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีมากถึง 38.7 ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่แน่ใจมีจำนวน 30.5

การทบทวนนโยบายและประเมินผลกระทบของมาตรการดังกล่าวต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปในพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างมาก แม้ว่าในทางกายภาพมาตรการดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงในบางช่วงของเหตุการณ์

 

เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้' เป็นองค์กรเครือข่ายวิชาการระหว่างคณะรัฐศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่ประสานกันเพื่อทำกิจกรรมทางวิชาการ ในขณะที่โพลชายแดนใต้ที่เปิดเผยในครั้งนี้ถือเป็นการทำโพลทางวิชาการครั้งแรกของสถาบันการศึกษาดังกล่าว

โพลดังกล่าวจะจัดทำแบบต่อเนื่อง 2 รอบ โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่วันที่ 19 - 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนอีกครั้งจะเริ่มเก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ธันวาคม ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างประชากรจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกเขตเลือกตั้ง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน จังหวัดละ 600 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน โดยได้รับแบบสอบถามกลับมาจริง 2,988 ชุด จากการลงเก็บข้อมูลของนักศึกษาในสถาบันที่อยู่ในเครือข่ายซึ่งเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่

- ดาวน์โหลดรายงานพร้อมกราฟแสดงผลการสำรวจ
- ดาวน์โหลด Southern Borders Polls (ฉบับเต็ม)