Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
Deep South Watch : DSW

 


 

วงเสวนาดับไฟใต้จับตา พ.ร.บ.ความมั่นคง หวั่นส่งผลกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน จี้องค์กรภาคประชาชนทำข้อเสนอยุติธรรมทางเลือกให้กองทัพดำเนินการ ชี้กระบวนการยุติธรรมมีจุดอับ แนะคุยกับกับคนทำ

วานนี้ (10 ธ.ค.) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ม.ธรรมศาสตร์ และเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ร่วมจัดเวทีเสวนา ดับไฟใต้โดยไม่ก่อไฟกองใหม่ ข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาชน' โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักวิชาการร่วมนำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แก่พรรคการเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน รวมทั้งยังถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังฯ

นายพงศจรัส รวยร่ำ อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ น่าจะผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้กองทัพนำมาใช้แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน ดังนั้นองค์กรต่างๆ ที่ทำงานภาคประชาสังคมจะต้องคิดว่าจะมีข้อเสนอต่อกองทัพอย่างไรเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะส่งผลกระทบต่อประชาชน น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย จึงควรสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มากที่สุดเพื่อนำเสนอต่อกองทัพภาคที่ 4 ให้ได้

นายพงศจรัสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ขบวนการก่อความไม่สงบมีการจัดตั้งเป็นสามส่วน คือ อาเยาะหรือโครงสร้างการเมืองในหมู่บ้าน อาร์เคเคหรือชุดติดอาวุธ และส่วนระดับบนทั้งในและต่างประเทศ ในระดับอาเยาะเป็นผู้นำศาสนาช่วยเหลือชาวบ้าน แต่มีพฤติกรรมที่รัฐมองว่าผิดกฎหมาย เพราะต่อต้านรัฐต่อต้านสยาม ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกกับชาวบ้าน ในอนาคตรัฐอาจจะต้องปฏิบัติการกวาดจับคนเหล่านี้ เพื่อดันให้อาร์เคเคเข้าป่า เชื่อว่าท้ายที่สุดก็ต้องจบที่การพูดคุย การแก้ปัญหาจึงต้องคำนึงถึงคนด้วย มิใช่จะยึดครองพื้นที่แต่เพียงอย่างเดียว

"นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการสกัดกั้นความเกลียดชัง ดูแลเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการสูญเสียของญาติพี่น้อง โดยที่เข้าใจว่าเป็นฝีมือของคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา บางทีรัฐอาจจะคิดดีคือการเอาเด็กเหล่านี้ไปเป็นทหารและตำรวจ เอาคนที่เคียดแค้นเหล่านี้ไปจับอาวุธอีก ซึ่งผิด อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้กลับสร้างความอยุติธรรมก่อน เพราะเมื่อเป็นคดีขึ้นมาชาวบ้านจะหาหลักฐานและทนายเก่งๆ มาสู้คดีได้ยาก" นายพงศจรัสกล่าว

นายอิสกานดาร์ ธำรงทรัพย์ นักวิชาการท้องถิ่น กล่าวว่า ไม่คาดหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ การต่อสู้ของขบวนการก่อความไม่สงบในขณะนี้อยู่ที่เหตุผลของการต่อสู้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าหลังเรียนจบแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร ในประวัติศาสตร์สิทธิที่คนมลายูได้รับก็แลกมากับระเบิดมาโดยตลอด ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่สันติ

"แม้ว่ารัฐจะตั้งใจจะดับไฟใต้ แต่คนที่กำลังก่ออยู่ในขณะนี้ตั้งใจที่จะก่ออยู่แล้ว ผมคิดว่าเหตุผลในการต่อสู้ของพวกเขาต่างหากคือสิ่งที่รัฐต้องทำความเข้าใจ มันหยุดได้ ถ้าให้อะไรเขาไปบ้าง" นายอิสกานดาร์กล่าว

นายอิสกานดาร์กล่าวว่า การกำหนดนโยบายของรัฐจะต้องกำหนดให้ชัดว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งจะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหา ต้องให้แน่ชัดว่าปัญหาเป็นเรื่องทรัพยากร กระบวนการยุติธรรม หรือเรื่องอะไรกันแน่ เพื่อให้รู้ว่าคู่ขัดแย้งนั้นมีใครบ้าง หลังจากนั้นจึงจะสามารถกำหนดยุทธวิธีได้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ความขัดแย้งในแต่ละด้านจะจัดการอย่างไร ทั้งด้านทรัพยากรปัญหาเป็นอย่างไร ในภาคการเมืองมีปัญหาอย่างไร ในด้านประวัติศาสตร์มีความขัดแย้งอย่างไร

นายอิสกานดาร์ กล่าวอีกว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2547 หรือการยุบ ศอ.บต. แต่มีการจัดตั้งมานานแล้ว ถึงขณะนี้หากจะยุติสงครามก็คงจะต้องคุยกับคนที่ทำ เพราะถึงจุดนี้แล้วคนที่กำลังต่อสู้มานานขนาดนี้คงไม่ละทิ้งไปได้ง่ายๆ หากไม่ได้อะไรเลย

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ วิจารณ์ว่า การแก้ปัญหาของรัฐละเลยการรับฟังเสียงจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินและยังเป็นคนจนเสียส่วนใหญ่ รัฐเองก็จะฟังจากปัญญาชนและผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นความจริงคนละชุดจากชาวบ้าน ในขณะที่รัฐสูญเสียความไว้เนื้อเชื้อใจจากชาวบ้าน และหวาดระแวงประชาชนตลอด มองว่าใครต่อใครเป็นแนวร่วมไปเสียหมด นอกจากนี้ ยังพบว่า รัฐบาลปัจจุบันยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะยุทธการพิทักษ์แดนใต้ซึ่งควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเข้าโครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน

นางอังคณา กล่าวว่า มีข่าวลือหนาหูเรื่องกองกำลังติดอาวุธที่ใช้รถกระบะไล่ยิงคนมุสลิมเสียชีวิต คำถามคือสามารถนำอาวุธวิ่งอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร รัฐต้องตอบคำถามว่าเป็นอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นการกระทำดังกล่าวฝีมือของเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ นอกจากนี้แล้ว กรณีคนหายก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายกรณี คำถามเหล่านี้รัฐจะต้องชี้แจง

นางอังคณากล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง หลักนิติธรรมต้องมีอยู่และต้องตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ไม่ให้อำนาจกระทำเกินเลย รัฐจะต้องไม่ตั้งเองสอบเอง ซึ่งจะกลายเป็นไฟกองใหม่ที่รัฐก่อขึ้น ถ้ารัฐยังใช้อำนาจไม่ชอบธรรมอยู่ นอกจากนี้ ประชาชนมีสิทธิในการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย เราได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ แม้ว่ารัฐบาลใหม่เชื่อว่าคงไม่ทำแน่ก็ตาม ที่เห็นขณะนี้มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่กล่าวถึงการออกกฎหมายการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ภาคประชาชนจะต้องผลักดันให้ได้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงล้มเหลวของระบบราชการในการรับมือกับภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ โดยยกตัวอย่างของการขอใบรับรองแพทย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเพื่อขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานราชการซึ่งบางรายต้องให้แพทย์เขียนถึง 11 ใบ ในขณะที่นักลงทุนกลับมีศูนย์บริการเพียงจุดเดียวเสร็จสรรพ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการรับพยาบาลลงมาในพื้นที่ยังพบปัญหาที่ไม่สามารถบรรจุได้

"ปัญหาจุกจิกอย่างนี้มีอยู่เต็มไปหมด ไม่เฉพาะแค่ปัญหาความรุนแรง" เขาเสนอว่า ต่อจากนี้การดับไฟไม่ใช่เรื่องทหารและตำรวจ แต่สิ่งสำคัญคือระบบราชการ เพราะรัฐไทยเป็นรัฐราชการ แต่ไม่สามารถแก้ไขตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยคนอื่นมาช่วย อาจจะต้องมีองค์กรคล้าย ศอ.บต. ที่มีอำนาจสั่งการจริง ยกกรณีใบรับรองแพทย์สิบใบ กระทรวงต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะ ผอ.ศอ.บต.มีตำแหน่งเพียงรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ไม่อาจสั่งการข้ามกระทรวงได้จริง

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า จะต้องมีสภาประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชนที่เป็นกลไกรวมตัวกันอย่างเป็นทางการเพื่อให้ความเห็นต่อผุ้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังต้องมีกลไกการสนับสนุนการเมืองภาคพลเมือง ให้เห็นช่องทางอื่นมากกว่าการยิงกันรายวัน เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งอาจหมายถึงเขตพัฒนาพิเศษที่มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ปัจจัยที่น่ากลัวคือรัฐบาลใหม่ซึ่งต้องส่งสัญญาณว่าจะใช้แนวทางสันติวิธีต่อไป

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
ปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ยังคงมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จากสถิติมีผู้เสียชีวิต 2.7 พันคน ทำให้โดยภาพรวมยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เมื่อเทียบภูมิหลังของเหยื่อมุสลิมกับพุทธเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งสองกลุ่ม โดยที่มุสลิมจะมีมากกว่าเล็กน้อย

น่าสังเกตว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.2550 มีความรุนแรงมากที่สุดโดยมีเหตุรุนแรงกว่า 300 กว่าครั้ง ต่อจากนั้นมีแนวโน้มจะลดลง รวมทั้งเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาด้วย เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันก็สูงมากถึงสองร้อยกว่าครั้ง เมื่อมองในภาพรวมปีนี้มีเหตุรุนแรงถี่ในช่วงต้นปีและเริ่มเบาบางลงในปลายปี ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากสถานการณ์และนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะมาตรการปิดล้อมกวาดจับกุมประชาชน ซึ่งจากโพลสำรวจทัศนะของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วย คือประมาณร้อยละ 38 จากตัวอย่างประมาณ 2 พันคน แต่เห็นด้วยราวร้อยละ 30 และอีกประมาณร้อยละ 30 ไม่มั่นใจ แม้สถานการณ์อาจจะลดลงจากมาตรการดังกล่าว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการยอมรับจากประชาชน ด้วยเหตุนี้ คำถามก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะลดความรุนแรง ในขณะที่สามารถแก้ปัญหาความรู้สึกด้านลบของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ไปด้วย ซึ่งต้องทำควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

ด้านความรู้สึกของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ร้อยละ 32 คาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาได้ แต่ร้อยละ 40 -50 ยังไม่แน่ใจ จะเห็นได้ว่านโยบายแก้ใต้เป็นประเด็นใหญ่ที่พรรคการเมืองจะต้องนำเสนอต่อประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีความพยายามแก้ไขปัญหาและมีความพร้อมมากกว่ารัฐบาลจากทหาร

เขากล่าวต่อว่า ข้อเสนอทางนโยบายใจกลาง คือ อัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ซึ่งต้องประกอบด้วยหลายอย่างพร้อมๆกัน ด้านยุติธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และความมั่นคงของท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจของท้องถิ่น ประกอบกับการทำงานของข้าราชการ หลายประเด็นเหล่านี้ต้องร่วมกัน

ด้าน นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน อุปนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับภาคใต้จำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญคือจะขับเคลื่อนให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรและแก้ปัญหาได้

ในมุมมองของตนจะต้องมีหลัก 3 ข้อ คือ หนึ่งชกจากมุมของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ การจับเฉพาะแต่ละด้าน จะต้องดูมุมของคนอื่นด้วย ต้องรอบรู้ รอบด้าน และรอบคอบ บางทีรอบรู้แต่ไม่รอบด้านก็มีปัญหา บางครั้งขัดขากันเองจึงต้องระวัง

สอง คือ ข้อเสนอภาคประชาชนจะต้องแหลมคมและตกผลึกเพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติได้ ถ้ายังนำเสนอของภาคประชาชนที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็ไม่รู้ว่าไง ต้องกลับมาทบทวนแนวทางการทำงานของตัวเอง และสาม ตนอยากเห็นคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาพูดเองว่าเขาไม่ต้องการความรุนแรง ภาคประชาสังคมจะช่วยขับเคลื่อนเขาอย่างไร จะต้องเป็นข้อเสนอที่นำไปปฏิบัติได้

เขากล่าวต่อว่า ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกับพูดคุยในมุมมองของตัวเองเพื่อคิดหาแนวทางของภาคประชาสังคมเองแล้วนำเสนอนโยบาย ถ้าไม่ทำก็ต้องประท้วงรัฐบาล

"ผมอยากให้คนในพื้นที่สามารถกำหนดนโยบายของตัวเอง ไม่เฉพาะเพียงการจัดเวทีสาธารณะ ที่สำคัญต้องเอาชนะทางความคิดด้วย ไม่เพียงแต่ใช้แนวทางการทหาร"

ตนอยากเห็นการพูดเรื่องภาคใต้ที่ต้องรับรู้คือเรื่องความรู้และข้อมูล การพิจารณาตามข้อมูล เราจะต้องคุยด้วยความเข้าใจในกลุ่มภาคประชาสังคม และพูดคุยกันด้วยว่าจะขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นจะเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุง สิ่งที่ต้องระวังว่าสิ่งที่ตนเสนอจะกลายเป็นผลข้างเคียงสำหรับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต

เขากล่าวอีกว่า สื่ออาจต้องรู้เท่าทันความเป็นสงครามด้วยและต้องทำหน้าที่ในการอธิบายความขัดแย้งจากพื้นที่ให้ชัดเจน รวมทั้งการนำเสนอทุกฝ่าย นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นสื่อภาษามลายู ต่อไปจะต้องสนับสนุนให้พวกเขาสื่อสารออกจากพื้นที่เพื่อถ่วงดุลข่าวสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องไม่ให้เสียงของสงครามและสิ่งที่ดีในพื้นที่ที่จะต้องถ่วงดุลกัน

ในขณะที่ นางละม้าย มานะการ ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัครเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คิดว่าการตั้งคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีการแบ่งแยกดินแดนไม่น่าจะถูกนัก ที่นั่นเป็นใบไม้แห้งที่พร้อมถูกน้ำมันและไฟ เป็นคำตอบว่าทำไมสถานการณ์ถึงเกิดขึ้น พร้อมที่จะถูกปะทุขึ้นมาโดยตลอด เราเชื่อว่ามีอุดมการณ์ต้านรัฐมีอยู่จริง แต่ก็มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและสิทธิในการเข้าถึงโอกาส สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อไฟ คิดว่าชาวบ้านกำลังถูกบุกรุกทางวัฒนธรรม

เธอกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางที่ กอส.วิเคราะห์ปัญหา เราค่อนข้างเห็นด้วยทั้งหมดคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาไม่เฉพาะแค่รัฐบาล น่าจะเอาเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม อันดับแรก คือการเรียกความเชื่อถือศรัทธากลับมา โดยกำหนดวาระแห่งชาติโดยยึดสันติวีธีเป็นหลัก พร้อมทั้งไม่ใช่ปากว่าตาขยิบเหมือนที่มีการวิพากษ์ นอกจากนี้ การเพิ่มมาตรการป้องกันของชุมชน ให้ชุมชนมีพื้นที่สันติภาพ ให้ชุมชนเป็นคนกำหนด โดยรัฐและเอกชนคอยสนับสนุนประคับประคอง ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาของเขา คนนอกควรต้องส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ระหว่างกันและกัน ระหว่างรัฐกับประชาชน