Skip to main content

เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ เปิดเผยผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล (SB-Polls: โพลชายแดนใต้) ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นสำรวจความเห็นรอบสุดท้ายหลังจากที่ได้รายงานผลรอบแรกไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โดยผลการสำรวจระบุว่า ผู้ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนสูงสุดร้อยละ 55.5 รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย ได้คะแนนนิยมร้อยละ 9.0 อันดับสามคือ พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ได้คะแนนนิยมจำนวนร้อยละ 5.6 นายบรรหาร ศิลปะอาชา และนายสมัคร สุนทรเวชได้คนละร้อยละ 3.8 นายสุวิทย์ คุณกิตติก็ได้ประมาณ 3.8 เช่นกัน ตามมาด้วยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ร้อยละ 3.6 ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ร้อยละ 3.2 นัยยะที่ต้องทำการวิเคราะห์ต่อก็คือ คะแนนนิยมอันดับสามของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธานคมช. ซึ่งแม้จะไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งก็ตามแต่กลับได้คะแนนนิยมถึงจำนวนร้อยละ 5.6

          โพลยังตั้งคำถามว่า "คะแนนนิยมผู้นำจะเป็นอย่างไรถ้านับคะแนนเฉพาะกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ก็พบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังคงมีคะแนนนำ กล่าวคือได้คะแนนร้อยละ 55.5 ตามมาด้วยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลินได้ร้อยละ 7.9 นายสุวิทย์ คุณกิตติได้ร้อยละ 5.9 นายสมัคร สุนทรเวชได้ร้อยละ 5.0 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ร้อยละ 4.8 นายบรรหาร ศิลปอาชาได้ร้อยละ 4.7 นายชวน หลีกภัยได้ร้อยละ 4.0 ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร้อยละ  2.5

ในขณะที่ความนิยมต่อพรรคการเมืองโดยการตั้งโจทย์ว่า "ถ้าสมมุติวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง" ท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนซึ่งเป็นการวัดความนิยมในพรรคการเมืองโดยตรง ปรากฏว่าในพื้นที่ 5 จังหวัดประชาชนมีความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุดซึ่งได้คะแนนร้อยละ 53.1 อันดับที่สองคือพรรคเพื่อแผ่นดินได้ร้อยละ 7.7 อันดับที่สามคือพรรคพลังประชาชนได้คะแนนร้อยละ 6.9 ส่วนพรรคชาติไทยได้คะแนนร้อยละ 3.4 ที่เหลือคือพรรครวมใจไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตยและอื่นๆได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จะพบความต่างของคะแนนอยู่บ้างโดย พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนใน 3 จังหวัดร้อยละ 47.8 ต่ำกว่าทั้งพื้นที่ 5จังหวัดแต่ยังคงมาเป็นที่หนึ่ง พรรคเพื่อแผ่นดิน ร้อยละ 12.4 พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 9.4  ส่วนพรรคชาติไทยได้ร้อยละ 5.2 ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้ร้อยละ 1.2 รวมใจไทยชาติพัฒนาร้อยละ 1.0 พรรคที่เหลือได้ต่ำกว่าร้อยละ 1
 

          ทั้งนี้ในรายงานระบุด้วยว่าควรให้ความสนใจด้วยว่า คะแนนนิยมที่วิเคราะห์ข้างต้น อยู่บนสมมุติฐานทางวิชาการทำโพลส์ว่า "ถ้าเป็นการเลือกตั้งในวันนี้ ...."  แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่า "ยังไม่ได้ตัดสินใจ" กล่าวสำหรับข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้มีผู้ตอบที่บอกว่ายังไม่ตัดสินใจอยู่ร้อยละ 26 ในส่วนของ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนผู้ที่ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 21 ซึ่งพวกนี้อาจยังเป็นคะแนนเสียงแบบลอยที่สามารถจะแปรเปลี่ยนได้ การหาเสียงในระยะสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้ขาดคะแนนที่เป็นจริง

 

เมื่อตั้งถามอีกว่าสมมุติว่า "การเลือกตั้งเป็นวันนี้ในระบบ ส.ส. แบบ "แบ่งเขตเลือกตั้ง" ท่านคิดว่าจะเลือกผู้สมัครอย่างไร โดยให้เลือกระหว่างการเลือกทั้งพรรคการเมืองทั้งพรรคหรือว่าจะเลือกแบบเสียงแตกเป็นหลายพรรคตามคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครหรือใช้เกณฑ์เลือกทั้งพรรคและตัวบุคคล คำตอบก็คือสำหรับทั้ง 5 จังหวัดร้อยละ 22.2 บอกว่าจะเลือกทั้งหมดจากพรรคการเมืองเดียวหรือเลือกพรรค ในขณะที่อีกร้อยละ 33.2  บอกว่าเลือกแบบแบ่งเขตโดยเลือกจากคุณสมบัติส่วนตัว แต่ที่บอกว่าเลือกโดยอาศัยเกณฑ์ทั้งดูที่พรรคและตัวบุคคลประกอบกันมีอยู่มากถึง ร้อยละ 42.1 ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือปัตตานี ยะลา และนราธิวาสผู้ที่บอกว่าจะเลือกทั้งหมดจากพรรคการเมืองเดียวมีอยู่ร้อยละ 18.1 ผู้ที่ตอบว่าจะเลือกตามคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครมีอยู่ร้อยละ 39.4 ผู้ที่ใช้ทั้งเลือกพรรคและตัวบุคคลมีอยู่สูงมากถึงร้อยละ 39.8 แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนมากน่าจะเลือกโดยใช้เกณฑ์ทั้งเลือกพรรคและตัวบุคคล

          ในส่วนของผู้ที่เลือกแบ่งเขตแบบเหมาพรรคเดียวนั้น ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 49.8 บอกว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอีกร้อยละ 5.9 เป็นคะแนนของพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อแผ่นดินได้ร้อยละ 5.5 พรรคชาติไทยได้ร้อยละ 1.8 ใน 3 จังหวัดภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ได้จากแบ่งเขตร้อยละ 41.6 พรรคเพื่อแผ่นดินกลับขึ้นมาเป็นลำดับที่สองคือร้อยละ 8.6 พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 8.1 พรรคชาติไทยได้ร้อยละ 3ภายใต้ข้อสมมุติฐานว่าถ้าการเลือกตั้งเป็นวันนี้และคะแนนที่ยังไม่ตัดสินใจมีอยู่จำนวนหนึ่ง การคาดการณ์ขั้นต้นน่าจะเป็นไปได้ว่าผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้ที่นั่ง สส. แบบแบ่งเขตใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 19 ที่นั่ง พรรคพลังประชาชนได้ 1 ที่นั่งและพรรคเพื่อแผ่นดินได้ 2 ที่นั่ง

          สุดท้ายประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์ก็คือประชาชนมีความคาดหวังอย่างไรว่าการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ อาจจะตีความได้ว่าประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้หรือไม่ ? ผู้ที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 36.5 ที่มองว่าไม่ทำให้ปัญหาดีกว่ากว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 19.7 ส่วนที่บอกว่าแย่กว่าเดิมนั้น มีอยู่ร้อยละ 3.2 อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือผู้ตอบร้อยละ 39.9 ยังบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงไปกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าโดยภาพรวมประชาชนในภาคใต้ยังไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองและการเลือกตั้งซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสามารถจะแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคการเมืองและนักการเมืองจึงต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อว่าตนเองสามารถจะเสนอทางออกในการแก้ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของชาติ

เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้' เป็นองค์กรเครือข่ายวิชาการระหว่างคณะรัฐศาสตร์และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่ประสานกันเพื่อทำกิจกรรมทางวิชาการ ในขณะที่โพลชายแดนใต้ที่เปิดเผยในครั้งนี้ถือเป็นการทำโพลทางวิชาการครั้งแรกของสถาบันการศึกษาดังกล่าว

โพลดังกล่าวจะจัดทำแบบต่อเนื่อง 2 รอบ โดยครั้งรอบแรกเก็บข้อมูลมาตั้งแต่วันที่ 19 - 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนรอบที่ 2 ได้เริ่มเก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ธันวาคม ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างประชากรจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกเขตเลือกตั้ง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน จังหวัดละ 600 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน โดยได้รับแบบสอบถามกลับมาจริง 2,988 ชุด จากการลงเก็บข้อมูลของนักศึกษาในสถาบันที่อยู่ในเครือข่ายซึ่งเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่

 

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
Deep South Watch : DSW