Skip to main content

สมัชชา นิลปัทม์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 


1.ไฟที่หาเชื้อไม่ได้

ล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วแต่สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอย่างมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงไปง่ายๆ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลล่าสุดของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) รายงานว่า สถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด 9,236 ครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่มีผลทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 5,568 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จำนวนเหตุการณ์เพิ่มสูงขึ้นไปอีก

เป็นตัวชี้บ่งอย่างหนึ่งที่บอก เค้าลาง' ว่าความขัดแย้งในครั้งนี้ดูท่าแล้วจะ ยืดเยื้อ'

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แม้ความขัดแย้งที่ปลายสุดของดินแดนด้ามขวานมีมายาวนาน แต่รัฐไทยก็มีความสามารถพอที่จะรับมือให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบได้ในระดับหนึ่ง หากทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถูกรายล้อมด้วยบริบทแบบใหม่ ภายใต้ปัจจัยเช่นนี้ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ยกระดับขึ้นมาเป็น ความขัดแย้งใหม่' ที่ดูเหมือนว่า องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานแทบจะต้อง เผาตำรา' ทิ้งไปเสียทีเดียว เพราะความรู้เก่าที่มีนั้นแทบจะนำมาอธิบายอะไรไม่ได้เลย

เป็นปัญหาที่ต้องผจญกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ มิหนำซ้ำยังถูกท้าทายด้วยเงื่อนไขของความรวดเร็วในการแก้ปัญหาที่ต้องทันต่อเหตุการณ์

นั่นจึงทำให้ดูราวกับว่าภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถูกร่างจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชนและนักวิชาการเท่านั้น ขณะที่สาเหตุของความรุนแรงกลับพร่ามัวจนไม่อาจจะที่สรุปลงไปได้อย่างชัดเจนว่า เหตุที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งใดกันแน่

หลายแนวคิด หลายทฤษฎี ถูกหยิบยกมาอธิบายนับตั้งแต่ ทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งถือว่าคลาสสิคที่สุดและยังถูกกล่าวอ้างอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีการแย่งชิงฐานทรัพยากร ทฤษฎีมือที่สาม - สบคบคิด (Conspiracy Theory) บ้างก็ว่า "ทฤษฎีข้าวยำ" ที่สับสนวุ่นวายจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร

แต่ที่กล่าวทั้งหมดก็อธิบายมาจากฐานความคิด ที่ใช้การอนุมานและคาดคะเนตามหลักแห่งเหตุผลไม่ใช่จากข้อมูลเชิงประจักษ์ ภาพของปัญหาชายแดนจึงเป็นภาพที่พร่ามัวอย่างยิ่ง

ปัญหาของการวิเคราะห์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งจึงมาจากการอนุมานเป็นหลัก โดยปราศจากข้อมูลเพื่อสำทับหลักการและเหตุผลให้หนักแน่นน่าเชื่อถืออย่างเพียงพอ จะเรียกว่าเป็นปัญหาจากโรค "ขาดแคลนข้อมูล" ก็ว่าได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร หากการตัดสินใจและการชี้นำสังคมในกรณีวิกฤติเช่นนี้ไม่ได้ถูกตัดสินใจบนฐานข้อมูล แต่กลับตัดสินใจบนพื้นฐานของการคาดคะเน สิ่งใดเล่าที่จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

 

2.โรคขาดแคลนข้อมูล

คงไม่แปลกหากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่งคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จะโดดเด่นขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ร้อน กราฟเส้นอธิบายจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีแนวโน้มว่าจะทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ถูกอ้างอิงซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

ภาวะขาดแคลนข้อมูล ดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความ หงุดหงิด' ให้กับผู้ที่สนใจปัญหาภาคใต้มิใช่น้อย

"เราเริ่มหงุดหงิดกับภาวะแบบนี้ ทำไมไม่มีใครเข้ามาจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง คิดดูซิว่าเหตุการณ์เกิดมาตั้ง 3 ปีเรายังหาข้อมูลการเกิดเหตุ การบาดเจ็บ การตายไม่ได้เลย มันชี้ให้เห็นแนวทางการจัดการปัญหาของประเทศที่ย่ำแย่มากๆ แม้แต่การเก็บข้อมูลพื้นๆ ก็ยังไม่มีเลย" แหล่งข่าวซึ่งติดตามปัญหาภาคใต้อย่างต่อเนื่องรายหนึ่งปรารภ

คือเสียงสะท้อนจาก อุปสงค์' ที่ต้องการ อุปทาน' ด้านข้อมูลอย่างสมดุล

แต่ก็ใช่ว่าฐานข้อมูลภาคใต้จะขาดแคลนเอาเสียทีเดียว เพราะเมื่อลงสำรวจในพื้นที่ก็จะพบว่า มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน พยายามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความไม่สงบและผู้บาดเจ็บเสียชีวิต โดยหลายหน่วยงาน อาทิ ทหาร ตำรวจ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่น คณะรัฐศาสตร์และสำนักวิทยบริการ ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก

แม้ความสนใจเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานได้เริ่มไปแล้ว แต่พอจะเข้าไปใช้งานจริงกลับพบปัญหาทางเทคนิค คือ การขาดการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ขาดเอกภาพของข้อมูล ว่ากันว่าในอาณาเขต  1 ตารางกิโลเมตรของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีหน่วยงานที่ทำฐานข้อมูลจังหวัดชายแดนใต้จากสื่อมวลชนถึง 3 หน่วยงานเลยทีเดียว ดีหน่อยตรงที่ว่าเวลาที่แต่ละหน่วยงานสรุปเหตุการณ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ไปคนละทิศทางเท่านั้นเอง

ปัญหาเหล่านี้ชัดเจนขึ้นเมื่อ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความพยายามรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่ก็พบว่า แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ยังขาดการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีความซ้ำซ้อนและไม่ครบถ้วน ขาดตัวแปรที่สำคัญในการการวิเคราะห์ข้อมูล ขาดความถูกต้องและยากในการนำข้อมูลจากต่างแหล่งมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นเป็นภาพใหญ่ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

 

ข่าวดีก็คือ เมื่อไม่นานมานี้มีความร่วมมือด้านการจัดการฐานข้อมูล โดยหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สื่อมวลชน ตำรวจ ทหาร ได้ช่วยกันพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยได้พยายามเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งในระดับเหตุการณ์และระดับบุคคล และได้จัดตั้ง ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) เพื่อนำไปใช้ติดตามให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และได้ตั้ง ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance) หรือระบบ ‘VIS' เพื่อแก้ปัญหาการขาดข้อมูลการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

          ระบบ ‘VIS' นี้เองอธิบายสถานการณ์ความรุนแรงด้วยศาสตร์ที่เรียกกันว่า "ระบาดวิทยา"

 

3.ระบาดวิทยากับไฟใต้

 

ศาสตร์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ชื่อว่า "ระบาดวิทยา" (Epidemiology) ถือกำเนิดในยุโรปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทั้งๆ ที่กว่าชาวโลกจะได้รู้จักกับ เชื้อโรค' ก็ปาเข้าปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่กระนั้นประสิทธิภาพของมันก็ทรงพลังพอที่จะกระตุ้นให้วงการแพทย์หันมาให้ความสำคัญต่อการหาความสัมพันธ์ระหว่างโรคกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและบุคคล จนสามารถที่จะตั้งคำถามถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนั้นได้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ระบาดวิทยาอธิบายลักษณะของโรคมักผ่านการแจกแจงองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.เวลา ซึ่งต้องชี้ให้เห็นว่า โรคนั้นเกิดขึ้นมากในช่วงเวลาใด ฤดูกาลใด 2.สถานที่ ได้แก่ โรคนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่แบบใด ในชนบทหรือในเมือง หรือเกิดเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง 3.บุคคล ต้องค้นหาลักษณะของผู้ป่วยว่า เกิดขึ้นกับประชากรในลักษณะใด เช่น อายุ เพศ อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีดัชนีต่างๆ เช่น ความเสี่ยง (Risk) และ อัตรา (Rate) ของโรค ซึ่งการคำนวณทางสถิติเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อใช้ในการวัดและเปรียบเทียบการระบาดและการแพร่กระจายของโรคที่สัมพันธ์กับมิติของเวลา สถานที่และบุคคล ระบาดวิทยา' จึงดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์และสาธารณสุขและคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คนทั่วไปจะเข้าใจกับมัน

ปัจจุบันวิธีการทางระบาดวิทยาได้ขยายขอบเขตของการศึกษาออกไปอย่างกว้างขวางไม่ได้จำกัดเฉพาะโรคติดต่อเท่านั้น แต่ยังใช้ได้ดีกับการวิเคราะห์โรคอื่นๆ เช่น โรคเรื้อรัง มะเร็ง อุบัติเหตุ ฯลฯ การนำเอาข้อมูลที่สลับซับซ้อนมาเรียบเรียงและอธิบายด้วยสถิติ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ทำการศึกษา ช่วยให้แพทย์เข้าใจว่า สาเหตุและปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องกับโรค และช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงและทำนายแนวโน้มของโรคที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้วงการสาธารณสุขสามารถที่จะป้องกันควบคุมโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

 

นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย อาจารย์ประจำหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายถึงระบาดวิทยาว่า คนทั่วไปรวมถึงแพทย์เอง ก็ยังคิดว่าระบาดวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อหรือโรคระบาดเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วแม้ภาวะที่ไม่ใช้โรคทางกาย จนถึงปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น ปัญหาทางจิต ความรุนแรงในครัวเรือน ยาเสพติด ก็สามารถประยุกต์ใช้หลักการระบาดวิทยาได้ ระบาดวิทยาจึงเป็น เครื่องมือ' ไม่ใช่ เนื้อหา' ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้กับเนื้อหาอะไร

"หัวใจของวิธีคิดทางระบาดวิทยา อยู่ที่การทำความเข้าใจต่อธรรมชาติของสิ่งนั้น ถ้าอธิบายแบบพุทธก็คือ ถ้าเราจะแก้ปัญหา เราต้องเข้าใจปัญหา หรือ ทุกข์' ก่อน แล้วหาสิ่งที่เป็น เหตุ ปัจจัย' แล้วไปหาการแก้และวิธีแก้ปัญหา กรณีตัวอย่างที่คลาสสิคมากก็คือ การเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์ในอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ทำให้มีคนป่วยตายจำนวนมาก John Snow บิดาของระบาดวิทยาได้ตั้งคำถามว่า ผู้ป่วยแต่ละรายมีลักษณะอย่างไร มีความสัมพันธ์กับปัจจัยอะไรบ้าง การพยายามรวบรวมข้อมูลซึ่งต่อมานำไปสู่สมมติฐานว่า สาเหตุของโรคน่าจะมาจากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำบนถนนสายหนึ่ง ซึ่งภายหลังจากการปิดแหล่งน้ำนั้นแล้วการระบาดของโรคอหิวาต์ก็สงบลง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นโลกเรายังไม่รู้จักเชื้อโรคเลยด้วยซ้ำ

"ระบาดวิทยาจะบอกได้ว่า ขนาดของปัญหานั้นมีมากน้อยแค่ไหน แนวโน้มของมันเป็นอย่างไร กลุ่มเสี่ยงคือใคร คนกลุ่มไหน ช่วงเวลาไหน พื้นที่ไหนที่เสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงคืออะไร ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้เมื่อเรารู้ เราก็อาจจะสามารถป้องกันปัญหานั้นได้"

          ส่วน ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้' (VIS) ถูกนำมาใช้อธิบายความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรได้อีกบ้าง ในประเด็นนี้หมอวรสิทธิ์ เล่าให้ฟังว่า ระบาดวิทยา' ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นที่แรก แต่เคยมีการอธิบายลักษณะดังกล่าวในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ เช่นในตะวันออกกลางมาก่อนหน้านี้แล้ว

"เคยมีกรณีศึกษาในอิรัก ก่อนที่ประธานาธิบดีบุชและแบลร์จะบุก บุชประมาณการว่าจะมีพลเรือนเสียชีวิตประมาณ 3 หมื่นคน พอหลังการบุกไปแล้วก็มีทีมนักระบาดวิทยาจากสหรัฐฯ ศึกษาพบว่ามีการเสียชีวิตมากกว่านั้น 20 กว่าเท่า ส่วนหนึ่งเป็นการตายโดยตรงจากผลของความรุนแรง การสู้รบ จากอาวุธปืน ระเบิด และอีกส่วนหนึ่งเป็นการตายจากสาเหตุทางอ้อม เช่นจากการที่ระบบสุขาภิบาล สาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบบริการสาธารณสุข และโครงสร้างสังคมที่ล่มสลายจากภาวะสงคราม การขาดอาหาร เป็นต้น สิ่งที่เราเห็นยังจำกัดอยู่เฉพาะในสาเหตุที่ตรงไปตรงมาคือการบาดเจ็บเท่านั้น เรายังไม่ได้ดูผลกระทบทางอ้อมเลย ซึ่งต่อไปยังสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากที่เราทำอยู่ได้อีกมาก อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าการบาดเจ็บจากความรุนแรงเป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เราเห็น ยังมีส่วนที่อยู่ใต้น้ำขนาดใหญ่มากคือความขัดแย้งในพื้นที่"

 

4. ระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคประชาชน

            กว่า 10 เดือนของการกำเนิด VIS ระบบได้ตอบวัตถุประสงค์หลักคือ เป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลสาธารณสุขในสถานการณ์วิกฤติ เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การวางแผนจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุข รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้สูญเสียและครอบครัวด้วย ข้อมูลของ VIS เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึง ขนาดและแนวโน้มของปัญหาการบาดเจ็บจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ปัจจัยเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ เวลา เป็นเช่นไร รวมไปถึง ข้อมูลผู้สูญเสียและครอบครัวที่สามารถชี้ชัดลงไปได้ในระดับบุคคล

          ข้อมูลเหล่าเมื่อจัดเก็บไประยะหนึ่งจนมีความคงตัวและพอที่จะเห็นรูปแบบ (Pattern) อะไรบางอย่าง เช่น จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละช่วงเวลา การกระจายของเวลาเกิดเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตแบ่งตามเขตพื้นที่ แบ่งตามอาชีพ ฯลฯ

ความโดดเด่นของ ‘VIS' ที่กล่าวมาข้างต้นก็คือความสามารถในการ "ชี้เป้า"

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หนึ่งในผู้ผลักดันระบบ VIS กล่าวว่า VIS จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจและอธิบายปัญหาภาคใต้ได้ดีขึ้น หากสื่อมวลชนนำข้อมูลจาก VIS ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้รายงานการวิเคราะห์ข้อมูล VIS เป็นตัวชี้เป้า

"VIS บอกได้ว่า ในพื้นที่ไหนเกิดอะไรขึ้น มีข้อมูลพื้นฐานเป็นยังไงบ้าง ถ้ามันมี เบาะแสหรือมีฮินท์ (Hint) นักข่าวก็ลงไปเจาะประเด็นต่อได้"

หมอสุภัทร ย้ำว่าประเด็นที่สำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่แล้วแต่ยังรอคอยการมาคลี่คลายอธิบายความหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการอยู่ อาจเพราะยังมีข้อจำกัดทางวิธีการ ซึ่งถ้าดูในภาพรวมก็พอที่จะเห็นรายละเอียดได้มาก เพียงแต่อาจจะยังตั้งสมมติฐานได้ไม่ดีพอ เช่น เหตุเกิดในหลายๆ ที่ ก็เอาข้อมูลมาดู จะนำข้อมูลนั้นไปอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างไร ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เรามีความรู้มากพอ หมอสุภัทรได้แต่รอลุ้นว่า

"เมื่อไหร่ที่ข้อมูลเชิงคุณภาพกับปริมาณมาเจอกัน มันก็จะเป็นเรื่องที่สนุกมาก"

          ในแง่นี้ VIS จึงเหมือนคนเตรียมวัตถุดิบ เตรียมซื้อหากับข้าวรอคอยแต่กุ๊กฝีมือดีมาปรุง

          ผอ.รพ.จะนะ กล่าวอีกว่า VIS มีฐานข้อมูลที่ลึกระดับบุคคล ต่อไปจะเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสอบทานความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมได้ในทางหนึ่ง เพราะข้อมูลระดับบุคคลนั้นแม่นยำไปถึงตัวบุคคลและญาติที่สามารถสืบสาวไปถึงเครือข่ายเชิงลึกได้

 "ต่อไปข้อมูลจะอธิบายได้เลยว่า หากมีม็อบเกิดขึ้นแล้วมีคนตายระหว่างการชุมนุมหรือการสลายการชุมนุม เราสามารถนำชื่อนั้นมาตรวจสอบได้เลย เป็นใครมาจากที่ไหน ใครเป็นญาติบ้าง ทำไมไปประท้วงที่นั่น เราจะเห็นความสัมพันธ์อันนี้และจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายความจริงบางอย่างและสร้างความเที่ยงธรรมยุติธรรมให้กับคนในพื้นที่ได้อีกมาก"

แต่กระนั้นก็ใช่ว่าระบบ VIS จะมีอำนาจในการอธิบายไปเสียทุกอย่าง เพราะเมื่อวิเคราะห์ผลออกมาแล้วก็ใช่ว่าจะตีความหมายออกมาได้ง่ายๆ และการที่จะนำออกเผยแพร่ ตัวเลขที่เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง เช่น การเปรียบเทียบโดยใช้ อัตรา ซึ่งคือจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิตต่อประชากรแสนคน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้คุ้นเคยกับความรู้สึกทั่วไป ไม่รวมถึงตารางและกราฟมากมายที่นำเสนอ ที่แม้จะเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับคนที่มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และสถิติมาก่อน แต่สำหรับบุคคลทั่วไปก็อาจนับว่าเป็น ยาขม' ได้เลยทีเดียว

 

"คาดว่าภายในสิ้นปี ข้อมูลจะนิ่งในระดับหนึ่ง จะเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพมากชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่ที่การนำไปใช้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้แค่ไหน บางทีเรามีข้อมูลอยู่แล้วแต่เรายังอาจตั้งสมมติฐานได้ไม่ดีพอ แต่ก็พอจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนจะมีปัญญาตีความรึเปล่านี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

          สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงให้มากก็คือเรื่อง จริยธรรมในการนำไปใช้ เพราะข้อมูลระบบ VIS มีความละเอียดตั้งแต่การเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลระดับบุคคลที่ต้องปกปิดในระดับชั้นความลับ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมทางวิชาชีพ

"เราคงต้องมีหลักในการที่จะเอาข้อมูลไปใช้ เราต้องการคนที่เข้าใจมันและมีจริยธรรมเพียงพอที่จะไว้ใจให้ใช้ข้อมูลได้ เพราะความละเอียดของมันสามารถลงลึกได้ด้วยว่าเป็นใคร คนมาส่งคือใคร เป็นญาติกับใคร เราพอจะเห็นสายสัมพันธ์ตรงนั้นอยู่ แต่มันก็ต้องมีเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมมากำกับอยู่ ซึ่งเราถือว่าเป็นชั้นข้อมูลความลับที่ต้องปกปิดและรักษาความลับนั้นไว้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การวางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาได้เลยทีเดียว"

สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่หมอสุภัทรหวังในอนาคตก็คือ ฐานข้อมูลของ  VIS, ศวชต.และ Deep South Watch ต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งข้อมูลของสังคม คือการพัฒนาไปสู่การทำระบบข้อมูลเฝ้าระวัง ภาคประชาชน' ให้ได้ ไม่ใช่รอการบอกจากฝ่ายรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะสังคมยังรอคอยคำตอบเกี่ยวกับเรื่องภาคใต้อีกมาก

"งานอย่างนี้จะมีที่เดียวในโลก" หมอสุภัทรทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมัน


VIS
คือ อะไร ?

ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า VIS เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลของรัฐและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) และหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ระบบเฝ้าระวัง VIS เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับประเทศ (National Injury Surveillance) หรือ IS เดิม ที่พัฒนาโดยสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ปี 2538 โดยนำมาพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเก็บข้อมูลของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุภายนอกแบบตั้งใจ (Intentional injury) ทุกราย ที่มารับการรักษาและชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 47 แห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550

เป้าหมายหลักของ VIS คือ การสร้างระบบฐานข้อมูลให้เอื้อต่อการนำไปใช้ในการควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การกำหนดนโยบายและวางแผนจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุข และการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้สูญเสียและครอบครัว ด้วยการจัดการข้อมูลหลัก 5 ด้านอย่างเป็นระบบ คือ 1. ข้อมูลขนาดและแนวโน้มของปัญหาการบาดเจ็บ 2. ข้อมูลกลุ่มเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บ 3. ข้อมูลคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 4. ข้อมูลความต้องการทรัพยากรสาธารณสุขในระดับพื้นที่ 5. ข้อมูลผู้สูญเสียและครอบครัว

นอกเหนือจากการนำเสนอ รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือน มกราคม-มิถุนายน 2550' และ ข้อมูลเชิงประจักษ์ภาคประชาสังคม สถานการณ์ชายแดนใต้ "ดีขึ้น" จริงหรือ?' VIS ยังเผยแพร่รายงานด้านต่างๆ สู่สาธารณะทุกเดือน โดยชิ้นล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ (www.deepsouthwatch.org) คือ รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2550 ที่ชี้ให้เห็นรูปแบบของความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาครึ่งปีแรก

ในอนาคต เว็บไซต์ VIS web 2.0 (http://medipe2.psu.ac.th/~vis) จะพัฒนาให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลในตารางแสดงผลการวิเคราะห์และกราฟต่างๆ ทั้งในแง่เหตุการณ์ บุคคล การบาดเจ็บเสียชีวิต และการรักษาพยาบาลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และผู้ใช้สามารถที่จะเลือกตัวแปรต่างๆ มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ในแง่มุมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปัญหาการบาดเจ็บจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ในขณะที่การนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกันเป็นข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นก้าวแรกที่เป็นรากฐานสำคัญในความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับปัญหานี้ด้วยหลักฐานข้อมูล  การสังเคราะห์องค์ความรู้โดยอาศัยการบูรณาการระหว่างศาสตร์แขนงต่างๆ การเชื่อมโยงข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อถอดรหัสหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของปรากฏการณ์ในมิติต่างๆ เพื่อใช้แก้ไขปัญหานี้ จะเป็นก้าวต่อไปที่นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจในปัญหาความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้