Skip to main content

สุรเดช มั่นวิมล


 

 

กระแสลมโชยมาไม่ขาดสายส่งใบตาลบนยอดสูงเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ ใต้ต้นตาลเหล่านั้น เป็นพื้นที่เวิ้งว้างหลายสิบไร่ซึ่งถูกปล่อยปะละเลย ไม่ได้ทำประโยชน์มากว่า 20 ปี และเป็นที่รู้กันของคนที่นี่ว่าพื้นที่รกร้างดังกล่าว ในอดีตเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาหลายชั่วอายุคน

          ตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ชาวบ้านเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม โดยมากล้วนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก เพราะมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ อาชีพทำนาจึงอยู่คู่กับคนที่นี่มาหลายช่วงอายุคน จนถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของชุมชน

          แต่มาวันหนึ่งปัจจัยที่เพียบพร้อมสำหรับการปลูกข้าวมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าก็เริ่มถูกคุกคาม เมื่อระบบชลประทานเข้ามา โดยกรมชลประทานได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงลำธารสายเล็กๆ ที่ตัดผ่านทุ่งนาของชาวบ้าน ให้กลายเป็นคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ตัดออกสู่ทะเล  

 "เมื่อก่อนตรงนี้เป็นแค่ลำธารเล็กๆ จนประมาณปี พ.ศ. 2532 กรมชลประทานเริ่มขุดขยายคลอง โดยไม่ได้บอกชาวบ้านว่าขุดเพื่ออะไร เราก็เห็นเป็นงานของราชการก็น่าจะส่งผลประโยชน์ให้กับชาวบ้าน แต่ไม่เลย มีแต่เสียกับเสีย" รอเซะ เจะแมง หรือ แบเซะ ชาวบ้านกลาง เล่าให้ฟังถึงที่มาของคลองชลประทานที่มีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร

แบเซะเล่าว่าเมื่อก่อนทำนาก็จะอาศัยน้ำจากธรรมชาติ ฝนตกลงมาก็เพียงพอต่อความต้องการในการปลูกข้าว แต่พอกลายเป็นคลองชลประทาน ช่วงฤดูฝนน้ำก็เอ่อเข้าท่วมแปลงข้าว ขังอยู่กว่า 3 เดือนถึงจะลด ข้าวก็เน่าหมด แต่พอหน้าแล้ง น้ำกลับแห้ง  ไม่มีน้ำให้ชาวบ้านใช้เลย

ปัญหาของคลองชลประทานที่กว้างประมาณ 3 เมตรนี้คือ ไม่มีประตูเปิดปิดน้ำสำหรับควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นนาของชาวบ้าน มีเพียงเนินดินสองฝั่งคลอง ซึ่งเป็นดินที่มาจากการขุดคลองเท่านั้นที่กั้นน้ำในคลองกับแปลงนา ซึ่งแน่นอนหากฤดูน้ำหลากเข้ามาเยือน นาที่ใช้ปลูกข้าวจะกลายเป็นทะเลสาบในทันที

"พอเริ่มมีผลกระทบจากคลองเข้ามา ชาวบ้านก็ทำนาไม่ได้ ไม่ใช่แค่หมู่บ้านผมที่เดียวนะ อีกหลายหมู่บ้าน ที่คลองไหลผ่าน ชาวบ้านทำนาไม่ได้กันหมด" แบเซะระบายความในใจ เนื่องจากที่นาที่อยู่ในที่ลุ่มไม่สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี และกลายเป็นที่ไร้ซึ่งประโยชน์ในทันที

"นาที่อยู่สูงหน่อย ก็พอปลูกข้าวได้นะ แต่ก็มีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์หรอก ที่ใครปลูกข้าวได้ก็ถือเป็นความโชคดีไป" ชายวัย 55 ปียิ้มเยาะต่อชะตากรรมที่ประสบ

แบเซะเคยรวบรวมกลุ่มชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากคลองชลประทาน เพื่อไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับนายอำเภอและหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ แต่คำตอบที่ได้รับคือการรอคอย

"เกือบ 20 ปีแล้วที่เราไม่ได้ทำมาหากินในอาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ ผมเลิกหวังกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐแล้ว เพราะได้แต่พูดว่าจะดูแลให้ จะช่วยเหลือ นี่ผ่านมากี่ปีแล้ว มันก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"

เมื่อไม่สามารถทำนาที่เป็นอาชีพหลักได้ ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากขาดรายได้ จนหลายต่อหลายครอบครัวต้องดิ้นร้น โดยหลายคนในหมู่บ้านตัดสินใจไปรับจ้างทำนาที่ประเทศมาเลเซีย ที่แม้จะได้ค่าจ้างที่ไม่สูงนัก หากเทียบกับการปลูกข้าวบนผืนนาของตัวเอง แต่อย่างน้อยก็ยังได้เงินมาจุนเจือลูกเมียบ้าง บางส่วนเข้าไปหางานทำที่กรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด

"คิดแล้วมันปวดใจ สายเลือดของเราคือการเป็นชาวนา แต่ตอนนี้ต้องมาซื้อข้าวคนอื่นกิน มีที่นาเป็นของตัวเองก็ทำไม่ได้ ต้องไปรับจ้างดำนา เกี่ยวข้าวให้คนอื่น หรือทิ้งบ้านที่อยู่มานานไปหางานทำที่อื่น จนตอนนี้บ้านหลายหลังที่ไม่มีคนกลายเป็นบ้านร้าง มันน่าเศร้านะนอกจากนาจะร้างแล้ว คนก็ร้างไปด้วย" แบเซะระบายความอัดอั้นตันใจด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ

ตอนนี้แบเซะยังพอมีนาที่สามารถปลูกข้าวอยู่บ้าง แม้จะมีเนื้อที่ไม่มากหากเทียบกับที่นาที่มีทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็พอสร้างรายได้ให้พออยู่พอกินได้อย่างไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก             และด้วยพื้นที่นาที่มีจำกัด จึงทำให้เขาพยายามค้นหาวิธีวิธีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตในนาของตนเอง

"ผมเคยเห็นพวกต้นไม้เล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับตะกอนที่บำบัดจากของเสียของโรงงานแปรรูปอาหารทะเลมันเจริญงอกงามดี เลยลองเอาตะกอนนั้นมาใส่ในกระถางต้นไม้ เปรียบเทียบต้นที่ใส่กับไม่ใส่ดู เลยเห็นถึงความแตกต่าง ว่าต้นที่ใส่ตะกอนมันงอกงามกว่า จึงมีความคิดที่จะลองกับนาข้าวดู" แบเซะพูดถึงที่มาของวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวที่เกิดจากภูมิปัญญาของตัวเขาเอง

 

แบเซะอธิบายถึงกรรมวิธีให้ฟังว่า ตะกอนจะมีลักษณะแข็ง โดยจะนำมาผสมกับปุ๋ยยูเรียก่อนที่จะหว่านลงในแปลงข้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่ส่วนผสมนี้ลงไปหลังจากดำนาเสร็จ โดยปีหนึ่งใส่แค่ครั้งเดียว จากที่ทำมาสามารถเพิ่มผลผลิตได้จริง ที่นาครึ่งไร่จากเมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ข้าวประมาณ 3 กระสอบ แต่พอใช้ปุ๋ยที่คิดขึ้นเองนี้ได้ข้าวถึง 6 กระสอบเลยทีเดียว

"นอกจากจะเพิ่มจำนวนข้าวให้มากขึ้นแล้ว รู้สึกว่าจะช่วยสร้างระบบนิเวศน์ในนาข้าวได้ด้วย เพราะเมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีพวกสัตว์มีชีวิตจะมีน้อยมาก แต่พอหันมาใช้ปุ๋ยตะกอนนี้แล้ว พวกปู ปลา หอยมีเต็มไปหมด ช่วยให้เรามีอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย" แบเซะพูดอย่างภาคภูมิใจ

ตอนนี้แบเซะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ของ "กลุ่มนาร้าง" ที่มีสมาชิกประมาณ 15 คน โดยแบเซะพยายามผลักดันการใช้ปุ๋ยตะกอนให้แพร่หลายมากขึ้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เฉพาะการเพิ่มผลผลิตในนาข้าวเท่านั้น แต่เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีของชาวบ้านไปในตัวด้วย

"ปุ๋ยเคมีตอนนี้ราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ เลยคิดว่าจะหันมาลองใช้ปุ๋ยตะกอนที่แบเซะคิดบ้าง เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยแล้ว ยังสามารถช่วยให้นาของแบเซะเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย ตอนนี้ของผมก็ลองไป 1 แปลง ถ้าได้ผลจริงๆ ก็จะเลิกใช้ปุ๋ยเคมี แล้วใช้ปุ๋ยตะกอนแบบเต็มตัว" ยาหายะ สาแมง ชาวบ้านบ้านกลาง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่หันมาใช้ปุ๋ยตะกอนร่วมกับแบเซะยืนยันผลสัมฤทธิ์

หลังจากใช้ปุ๋ยตะกอนมาเกือบ 2 ปี แบเซะเริ่มมีความมั่นใจในประสิทธิภาพของปุ๋ยชนิดมากยิ่งขึ้น จนเริ่มเกิดไอเดียในการแจกจ่ายปุ๋ยให้กับชาวบ้านที่ทำนา เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เสียให้กับปุ๋ยเคมี

"ผมไม่คิดที่จะทำขึ้นมาขายเลย เพราะวัตถุดิบก็ได้มาฟรีๆ เป็นตะกอนที่เขาจะไม่ต้องการแล้ว ผมจึงอยากให้ชาวบ้านที่ยากจนมีทางเลือกในการทำนาเพิ่มมากขึ้น เหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบใจพวกเขาจากการทำนาที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาหลายปี" แบเซะพูดถึงความตั้งใจอย่างแนวแน่

แม้ปุ๋ยตะกอนที่เกิดจากแนวความคิดของแบเซะจะช่วยเยียวยาความทุกข์ของพี่น้องชาวนาได้บ้าง แต่บาดแผลที่ฝังลึกมานานกว่า 20 ปีที่ไร้ซึ่งที่ผืนนาที่เคยเป็นแหล่งผลิตเงินตราก็ยังไม่เคยลบเลือนไปจากจิตใจ

"ถึงตอนนี้ผมไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรจากใครแล้ว เหมือนจะปลงมากกว่า เพราะมันผ่านมาหลายปีไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเราเลย ถ้ารัฐเข้ามาช่วยเราหน่อย ทำประตูเปิด-ปิดน้ำให้สักนิด พวกเราก็อยู่ได้แล้ว" แบเซะพูดถึงความต้องการด้วยสายตาที่ไม่คาดหวังสิ่งใด

ท่ามกลางกระแสลมที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน พัดพาวัชพืชนานาชนิดให้เอนตัวไปตามแรงลม ทั้งที่ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นนาร้างไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้

วันนี้ไฟใต้ยังคงพัดโหมกระหน่ำชาวบ้านอย่างหนัก หลายคนสูญเสียครอบครัว หลายคนต้องจากคนที่รัก แทนที่หน่วยงานรัฐจะเข้าไปช่วยเยียวยา แต่กลับซ้ำเติมสถานการณ์และสร้างเงื่อนไขทับซ้อนเข้าไปอีก

แล้วเมื่อไหร่ไฟใต้ถึงจะดับมอบลงได้ ?