Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
www.deepsouthwatch.org

แม้การลอบวางระเบิดโรงแรม สถานบริการ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับเหตุการณ์คาร์บอมบ์โรงแรมซีเอสปัตตานี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 มีนาคม กล่าวได้ว่า นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ ที่สะเทือนความรู้สึกของผู้ที่ใกล้ชิด และเกี่ยวข้องกับปัญหาการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้

ก่อนหน้านั้นช่วงบ่ายวันเดียวกันเกิดเหตุคาร์บอมขึ้นกลางเมืองยะลา โดยรถยนต์ที่มีวัตถุระเบิดแสวงเครื่องบรรจุอยู่ภายในถังดับเพลิงรวม 3 ลูกๆ ละ 15 กิโลกรัม ซึ่งคนร้ายกำลังขับอยู่นั้นเกิดระเบิดขึ้นกลางถนนบริเวณด้านหน้าโรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์ เขตเทศบาลเมืองยะลา ทำให้นายสาลาฮูดิน   ปูลา  อายุ 20 ปี  แนวร่วมก่อความไม่สงบซึ่งเป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวเสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น

และช่วงค่ำวันเดียวกันนั้นเองก็เกิดเหตุขึ้นที่โรงแรมซีเอสปัตตานี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองพื้นที่ ซึ่งมีการใช้รถยนต์บรรทุกวัตถุระเบิดจำนวนมากเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่านี่คือการวางแผนก่อเหตุมาแล้วล่วงหน้า

กรณีซึ่งเกิดขึ้นที่จ.ยะลา พล.ต.วรรณทิพย์ ว่องไว ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจยะลา(ผบ.ฉก.ยะลา) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเชื่อมโยงกับการก่อเหตุที่โรงแรมซีเอส ที่ จ.ปัตตานี เพราะมีลักษณะของการวางระเบิดคล้ายคลึงกัน นายสาลาฮูดิน เป็นสมาชิกของกลุ่มอาร์เคเค และมีประวัติเคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เมื่อไม่นานมานี้ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการดำเนินคดี เมื่อถูกปล่อยตัวก็กลับมาก่อเหตุดังกล่าว  โดยเป้าหมายหลักของการก่อเหตุวิเคราะห์ได้หลายด้าน ซึ่งนอกจากจะมุ่งก่อการในพื้นที่ที่มีประชาชนจำนวนมากแล้ว
อาจหวังสร้างผลงานขยายผลไปสู่การเรียกร้องบางอย่างต่อต่างประเทศ

"ทราบว่าขณะนี้กำลังมีการประชุมตัวแทนประเทศมุสลิมในที่ประชุมองค์กรโอไอซีในตะวันออกกลางนอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่ตัดประเด็นที่เชื่อมโยงกับวันสำคัญของกลุ่มขบวนการโดยเฉพาะวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็นอีกด้วย"

พ.อ.ชินวัตน์ แม้นเดช รอง ผบ.ฉก.ยะลา กล่าวเสริมว่า การก่อเหตุทั้งที่ปัตตานีและที่ยะลาในลักษณะของการซุกซ่อนภายในรถยนต์ เป็นพัฒนาการด้านยุทธวิธีของฝ่ายตรงกันข้าม เพราะที่ผ่านมาการวางระเบิดในรูปแบบต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่จับทางได้หมดแล้ว แต่สำคัญกว่านั้นการก่อเหตุครั้งนี้ต้องการสะท้อนให้สาธารณะเห็นว่าพวกเขายังมีศักยภาพในการก่อเหตุอยู่
ในขณะเดียวกันก็ต้องการสื่อสารกับส่วนต่างๆ หรือเซลล์ภายในขบวนการเองด้วย

"ธรรมชาติของกองกำลังในสงครามกองโจรจะต้องเป็นผู้ริเริ่มกระทำก่อน และที่สำคัญจะต้องกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ของพวกเขาเห็นว่าพวกเขายังต่อสู้อยู่ถ้าไม่มีการกระตุ้นอย่างนี้ อุดมการณ์การต่อสู้จะฝ่อ เซลล์ต่างๆ จะถดถอย ในแง่หนึ่งการก่อเหตุในลักษณะช็อคอย่างนี้ก็เป็นการจัดตั้งของพวกเขาอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างกับระบบข้าราชการที่มีโครงสร้างชัดเจน"

พ.อ.ชินวัตน์ วิเคราะห์ว่า สำหรับการก่อเหตุใน จ.ยะลา นั้น เชื่อว่าเป้าหมายในการวางระเบิดน่าจะอยู่ที่ ม.ราชภัฎยะลา ซึ่งที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปทำงานความคิดกับนักศึกษาหนักขึ้น การวางระเบิดภายในสถาบันซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือปฏิกิริยาตอบโต้มาตรการของฝ่ายรัฐ  

ส่วนกรณีซึ่งเกิดขึ้นที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี พล.ต.ธวัชชัย สมุทรสาคร ผบ.ฉก.ปัตตานี กล่าวว่า คนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก ซุกซ่อนไว้ที่โถฉี่ห้องน้ำชายด้านล่าง และเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. แต่ทางโรงแรมไม่ต้องการให้ผู้มาใช้บริการแตกตื่นหวาดกลัว จึงปิดข่าวเอาไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบระเบิดอีกลูกหนึ่งอยู่ภายในห้องส้วม ภายในห้องน้ำชายเช่นเดียวกัน คาดว่าเป็นระเบิดลูกที่สอง เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปตรวจสอบ แต่ระเบิดไม่ทำงาน หลังจากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. จึงเกิดระเบิดขึ้นที่ด้านหน้าโรงแรม โดยคนร้ายซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังดับเพลิง 2 ลูกๆ ละ 15 กิโลกรัมไว้ในรถยนต์ และจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ

ข้อมูลการก่อเหตุของคนร้ายตามที่ผบ.ฉก.ปัตตานีระบุมา อาจวิเคราะห์ได้ว่า ระเบิดที่ซุกซ่อนอยู่ภายในห้องน้ำหวังผลให้เกิดความแตกตื่น เมื่อผู้มาใช้บริการวิ่งหนีออกมาด้านนอกโรงแรม ระเบิดในรถยนต์ดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ถือเป็นโชคดีที่ทางโรงแรมพยายามปิดข่าวเพื่อป้องกันความแตกตื่น

ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ นักวิชาการโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า การก่อเหตุเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 ช่วงเทศกาลตรุษจีน มีการก่อเหตุขึ้นพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  โดยที่อ.สุไหงโก-ลกจ.นราธิวาสคนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนไว้ในโซฟา ภายในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง เมื่อเกิดระเบิดขึ้นลูกค้าที่มาใช้บริการพากันแตกตื่นวิ่งหนีออกมาภายนอก คนร้ายจึงจุดชนวนระเบิดที่ซุกซ่อนไว้ในรถจักรยานยนต์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย

เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงแรมซีเอสจ.ปัตตานีและที่จ.ยะลา แม้รูปแบบการก่อเหตุจะมีความคล้ายกัน แต่การวิเคราะห์ถึงสาเหตุเป้าหมายการก่อเหตุของผู้รับผิดชอบพื้นที่ทั้งสองกลับแตกต่างกัน ผบ.ฉก.ยะลาระบุเป้าหมายการก่อเหตุว่าเป็นการก่อการร้าย 100 % แต่สำหรับผบ.ฉก.ปัตตานี กลับให้น้ำหนักในประเด็นนี้แค่ 40 %

"ผมคิดว่าสาเหตุหลักน่าจะเป็นเรื่องการเมือง ขณะนี้กำลังจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมีการนัดหมายหารือกลุ่มต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจำนวนมาก คาดว่าเป้าหมายอาจเป็นการหวังผลในประเด็นทางการเมืองมากกว่า"

ประเด็นเป้าหมายการก่อเหตุซึ่งผบ.ฉก.ปัตตานี พุ่งเป้าไปยังประเด็นทางการเมือง สำหรับปัญญศักดิ์ เขากลับไม่เห็นด้วย เนื่องจากแน่ชัดว่ารูปแบบของการก่อเหตุครั้งนี้มีลักษณะที่น่าจะเชื่อได้ว่า หวังผลความสูญเสียจำนวนมาก ที่สำคัญนี่คือการ Shock ความรู้สึก เป็นการก่อความรุนแรงในเชิงคุณภาพ หลังจากที่ฝ่ายทางการพยายามตอกย้ำอยู่เสมอว่าจำนวนเหตุการณ์ ความถี่ในการก่อเหตุลดลง

"พื้นที่โรงแรมซีเอสเป็นพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายใช้เป็นที่จัดประชุม จัดกิจกรรม ทั้งฝ่ายรัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ รวมทั้งสื่อมวลชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป เป็นเรื่องของกระบวนการวิธีคิดของผู้ก่อเหตุ ที่จะต้องตามให้ทัน กรณีซีเอสถือเป็นการสร้างผลสะเทือนขนาดหนักต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย"

พื้นที่ปลอดภัยและการสร้างผลสะเทือนทางความรู้สึกของทุกฝ่าย ที่ปัญญศักดิ์กล่าวถึง คงต้องย้อนอดีตช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ไม่เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นที่โรงแรมแห่งนี้เลย เรียกได้ว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ไม่แปลกหากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นเวทีประชุม สัมมนา และเวทีวิชาการทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ตลอดจนฝ่ายต่างๆ ซึ่งลงมาทำงานในพื้นที่จะเลือกเป็นที่พัก ไม่เพียงเท่านั้นโรงแรมแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานภาคสนามขององค์ระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม องค์กรทุนสนับสนุนการวิจัยนานาชาติ อีกทั้งที่พักของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่ลงมาในพื้นที่

โรงแรมซีเอสปัตตานี จึงเป็นพื้นที่ หรือเวทีการแห่งการขับเคลื่อนทางความคิดของทุกฝ่าย และทุกระดับ

ดังนั้นการก่อเหตุที่เกิดขึ้นถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลใดระบุได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการพุ่งเป้าหมายไปเพื่อปิดกั้นโอกาส การทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันสร้างสันติสุข และหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี  แต่ในแง่ของความรู้สึกเมื่อสูญเสียพื้นที่ปลอดภัยเช่นนี้ไปแล้ว อาจปิดกั้นโอกาสที่ภาคส่วนต่างๆ จะลงมาทำงานขับเคลื่อนการสร้างสันติสุขในพื้นที่

และหากมองถึงการเป็นสถานที่พักของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่ลงมาในพื้นที่ ประเด็นการก่อเหตุเพื่อยกระดับความรุนแรงขยายปัญหาให้เป็นที่รับรู้ของสังคมโลก ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ความรุนแรงครั้งนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และมองกันแค่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น

วรวิทย์ บารู อดีตผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสว.ปัตตานี เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งแสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ เขาบอกว่า สถานที่แห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมของคนหลายกลุ่ม ถือเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ของทุกฝ่ายซึ่งลงมาทำงานที่นี่ ทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ เพราะจิตใจของคนเหล่านี้มาด้วยความเป็นกลาง เพื่อความเป็นธรรม การแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ใช่จะไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

"ผมว่าเราคงต้องจับทิศทางให้ถูกในการที่จะลดความรุนแรง ผมยืนยันว่าวันนี้ต้องให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ วันนี้ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับความรุนแรงเราคงอยู่ไม่ได้ แต่ความใฝ่ฝันถึงสันติสุขยังมีมากกว่า ซึ่งรัฐจะต้องเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย รักษาโอกาสในการทำงานเพื่อสันติสุขเหล่านี้ไว้"

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้ามนั่นคือห้วงเวลาการก่อเหตุครั้งนี้ มีนัยผุกโยงกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการก่อความไม่สงบเมื่อครั้งอดีต นั่นคือ

วันที่ 10 มีนาคม คือวันลงนามในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนปัตตานี ไทย-อังกฤษ เมื่อพุทธศักราช  2452 ซึ่งหากนับถึงขณะนี้รวมเวลาได้ 99 ปี ขณะที่วันที่ 13 มีนาคม คือวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น

ในประเด็นนี้วรวิทย์กล่าวว่า หากมองเช่นนี้ก็ถือว่าขบวนการก่อความไม่สงบจงใจแสดงศักยภาพ กรณีที่มีการแจ้งเตือนความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10 และ 13 มีนาคม และมีสื่อมวลชนนำเสนอประเด็นนี้ไปก่อนหน้านี้  นี่คือความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การปรามกลายเป็นการท้าทาย และสิ่งที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า ขบวนการก่อความไม่สงบยังสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

ปัญญศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ กำลังเข้าสู่ ศักราชใหม่แห่งความรุนแรง' หลังเหตุการณ์วางระเบิด ซุ่มโจมตีทหารเสียชีวิต 8 นาย และตัดศีรษะหนึ่งในนั้นไปด้วย พร้อมทั้งชิงอาวุธปืนกลประจำรถ ที่บ้านลือเปาะ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความรุนแรง ซึ่งการก่อเหตุจะไม่เน้นจำนวนเหตุการณ์ ไม่เน้นจำนวนการสูญเสีย แต่มุ่งเน้นการก่อเหตุซึ่งแม้จะใช้รูปแบบวิธีการเดิมๆ แต่จะพัฒนาวิธีการความรุนแรงให้ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึก เช่นกรณีวางระเบิด ซุ่มโจมตีแล้วตัดศีรษะซ้ำ พร้อมทั้งนำศีรษะไปวางไว้บนรถฮัมวี่ และถัดมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็มีการก่อเหตุพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ปัญญศักดิ์มองว่า ความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีนัยต่อการแสดงศักยภาพของขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะพื้นที่ความรุนแรงในช่วงดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ดุซงญอ  รวมทั้งต.จ๊ะก๊วะ ต.วังพญา อ.รามัน เป็นพื้นที่ซึ่งฝ่ายทหารดำเนินยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมแกนนำในพื้นที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เหล่านี้เงียบหายไปนาน

เขาตีความว่านี่คือการทุ่มกำลังเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแสดงให้มวลชนเห็นว่ายังสามารถควบคุมพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐ ืโดยเฉพาะทหาร ไร้ความสามารถแม้แต่จะคุ้มครองตนเอง

สอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งเปิดเผยว่า หลังการใช้มาตรการทางทหารเพื่อกดดันขบวนการก่อความไม่สงบอย่างหนัก ทั้งการตรวจค้น จับกุม เชิญตัวมาสอบสวน ก็มีความขัดแย้งขึ้นในขบวนการก่อความไม่สงบ

"ฝ่ายการเมืองมาต่อว่าฝ่ายกองกำลังว่าไม่เข้มแข็ง ทำให้ฝ่ายการเมืองถูกจับกุม ขณะที่ฝ่ายกองกำลังก็ถูกลิดรอน ถูกควบคุมโดยการสกัดกั้นการก่อเหตุ  ช่วงไม่นานมานี้ มีทั้งใบปลิวหลายพื้นที่ หรือข่าวลือซึ่งพูดต่อๆ กันมาว่า จะมีการสูญเสียครั้งใหญ่"

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ เพ่งเล็งมากในขณะนี้คือการก่อเหตุโดยใช้คาร์บอมบ์ โดยเลือกเป้าหมายซึ่งเป็นฐานที่มั่นกองกำลังของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนน

ประเด็นดังกล่าวมิใช่ข้อมูลซึ่งหลุดออกสู่การรับรู้ต่อสาธารณะหลังเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวซึ่งทำงานในพื้นที่ยืนยันว่า มีการแจ้งเตือนประเด็นเหล่านี้จริง แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงได้ขอร้องมิให้สื่อมวลชนนำเสนอออกไป เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก  ประเด็นการแจ้งเตือนก่อนหน้านี้ก็คือ  อาจจะมีการก่อเหตุในลักษณะ ดับไฟเผาเมือง' เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อเดือนกรกฏาคม 2548 แต่จากการวิเคราะห์หลังเกิดเหตุครั้งนี้แหล่งข่าววิเคราะห์ว่า อาจเป็นการเลือกเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เพียงไม่กี่เป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลสะเทือนทางความรู้สึกมากที่สุด เนื่องจากขบวนการก่อความไม่สงบมีกำลังไม่เพียงพอที่จะก่อเหตุพร้อมกันอย่างเช่นที่เคยทำในอดีต

สถานการณ์ชายแดนใต้หลังจากนี้ไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดและวิเคราะห์ เพื่อเจาะเข้าไปให้ถึงวิธีการก่อเหตุซึ่งแม้จะไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม มิหนำซ้ำเหตุร้ายรายวันยังลดจำนวน มีความถี่น้อยลง แต่มุ่งความสูญเสียใจแง่ความรู้สึกหวาดผวา ปิดกั้นโอกาส แนวทางแห่งการสร้างสันติสุข ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์อาจพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง