หมายเหตุ: เมื่อสัปดาห์ก่อน ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ “มันโซร์ สาและ” ปัญญาชนมลายูคนสำคัญ ผู้มีส่วนผลักดันการปรับโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ข้อเสนอปัตตานีมหานคร” (กรุณาพิจารณาร่างรายงาน “เอกสารเพื่อการปรึกษาหารือ ร่างที่ 7 - ปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ฉบับภาษาไทยและภาษายาวี)” ) กองบรรณาธิการฯ เห็นว่าบทสนทนาดังกล่าวมีความสำคัญในห้วงของช่วงเวลาที่รัฐบาลใหม่กำลังตั้งต้นทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นรัฐบาลที่ชูนโยบาย “เขตปกครองพิเศษ” ด้วยเช่นกัน (กรุณาพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ. .... นำเสนอโดย พรรคเพื่อไทย”) ในขณะเดียวกัน บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ยังพยายามตอบข้อถกเถียงสำคัญหลายประการที่จำเป็นต่อการคิดประเด็นนี้ในอนาคต
ที่มา: http://www.isranews.org/south-news/เรื่องเด่น/item/3121-มันโซร์-สาและ-ทวงสัญญารัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้ากระจายอำนาจ-ดัน-ปัตตานีมหานคร.html
นาซือเราะ เจะฮะ
อับดุลเลาะ หวังนิ
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
“รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
นี่คือถ้อยคำจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 ที่นำมาสู่แนวคิดเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” และ “เขตปกครอง (ท้องถิ่น) พิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งถูกพูดถึงอย่างจริงจังและกว้างขวางมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ไม่เว้นแม้จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบและสถานการณ์รุนแรงรายวันยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4 พันราย ด้วยหวังว่าจะใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ร้ายเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยมิติ “การเมืองการปกครอง” โดยการจัดรูปแบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีอัตลักษณ์พิเศษ
โมเดลหรือรูปแบบหลากหลายถูกคิดขึ้นมา กระทั่งนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์สูงสุดในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายชัดเจนเรื่อง “นครปัตตานี” หรือการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษด้วยการรวมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเข้าด้วยกันเป็น “นครปัตตานี” แล้วให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการนครปัตตานี”โดยตรงเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และเลือก “สมาชิกสภานครปัตตานี” จากตัวแทนระดับอำเภอในสัดส่วนอำเภอละ 1 คนเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร หรือผู้ว่าราชการนครปัตตานีนั่นเอง
พรรคเพื่อไทยเอาจริงเอาจังถึงขนาดยกร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีเอาไว้แล้ว และในกฎหมายก็เขียนเอาไว้ชัดให้ยุบ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลไกดับไฟใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์ชูเป็นนโยบายมาตลอด และเพิ่งออกกฎหมายรองรับเรียบร้อยเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเปิดทางให้กลไก “นครปัตตานี” เข้ามาบริหารจัดการแทน
กระแสร้อนแรงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้หลายคนลืมไปว่าแนวคิดเรื่อง “เขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือเรียกให้ชัดๆ ว่า ”การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ” นั้น มีเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้วด้วย และได้เสนอโมเดลรวมทั้งร่างกฎหมายเป็นตุ๊กตาที่เรียกว่า “ปัตตานีมหานคร”
ประเด็นที่ต้องให้ความเป็นธรรมกันก็คือว่า ทั้ง “นครปัตตานี” ของพรรคเพื่อไทย และ “ปัตตานีมหานคร” ของเครือข่ายภาคประชาสังคม หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้น ถูกโจมตีจากคู่แข่งทางการเมืองและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในท่วงทำนองว่า เป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่การ “แยกรัฐใหม่” โดยใช้คำเรียกขานแนวคิดนี้ว่า “นครรัฐปัตตานี” จนทำให้เกิดกระแสคัดค้านไม่น้อยเช่นกัน ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะเอาอย่างไร จะผลักดัน “นครปัตตานี”ต่อไปหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน...
แต่สำหรับเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหนึ่งในแกนนำมีชื่อ มันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม อยู่ด้วยนั้น พวกเขาไม่ลังเลที่จะผลักดัน “ปัตตานีมหานคร” ต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นคืนสันติสุขสู่ดินแดนแห่งนี้ และเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้ “สันติวิธี” อย่างยั่งยืน
O ตอนนี้โมเดลปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษมีอยู่หลายชื่อ ทั้งนครปัตตานี และปัตตานีมหานคร ตกลงเป็นกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า?
คนละเรื่องกันเลย ของเราปัตตานีมหานคร เราเริ่มขับเคลื่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติทางการเมือง ปัตตานีมหานครเป็นกลไกที่เสนอเพื่อการกระจายอำนาจ ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
นครปัตตานีของพรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดเรื่องสภาประชาชน แต่ปัตตานีมหานครของเรามีสภาประชาชน และเป็นสภาวิชาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่สภาที่ปรึกษา มีอำนาจถ่วงดุลผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร
ส่วนผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร เราก็มีเครื่องมือในการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยคนชนะและจะได้เป็นผู้ว่าราชการปัตตานีมหานครต้องได้คะแนนมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อให้ได้คนที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนยอมรับอย่างแท้จริง
O มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดแนวคิดปัตตานีมหานคร?
มันมีอยู่ 2 มุม หนึ่งคือเป็นกลไกหรือโมเดลที่เราเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กับอีกมุมหนึ่งคือคณะกรรมการปฏิรูป และสมัชชาปฏิรูป (ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน) ประกาศว่าการแก้ปัญหาของประเทศต้องมีการกระจายอำนาจ ต้องให้โครงสร้างประเทศเปลี่ยน ด้วยการเพิ่มอำนาจประชาชน และลดอำนาจรัฐ ส่วนกลางต้องมีอำนาจน้อยลง โมเดลปัตตานีมหานครเกิดขึ้นมารองรับแนวทางนี้ เพราะถ้าการกระจายอำนาจตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปไม่เกิด โมเดลปัตตานีมหานครก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ (กรุณาพิจารณา “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” โดย คปร.)
O พรรคเพื่อไทยที่เสนอแนวทางคล้ายๆ กันคือ “นครปัตตานี” แต่กลับพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดใต้ ตรงนี้มีผลต่อการผลักดันแนวทางปัตตานีมหานครหรือไม่?
การขับเคลื่อนของเราจะดำเนินต่อไปเท่าที่ทำได้ ขึ้นกับงบประมาณและปัจจัยอื่นๆ แต่หลักๆ คือรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจสิทธิในการมีอำนาจจัดการตนเอง สิทธิในการปกครองตนเอง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เราทำเวทีขับเคลื่อนมามากกว่า 50 เวที พบว่าหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจสิทธิเรื่องการกระจายอำนาจ ทั้งๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 281) และรับรองโดยสหประชาชาติ
ฉะนั้นผลการเลือกตั้งไม่ใช่ปัญหา เราจะทวงสัญญาประชาคมจากพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยใกล้เคียงกับการกระจายอำนาจ แม้โมเดลของนครปัตตานีกับปัตตานีมหานครจะไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นหลักการเดียวกัน เพราะฉะนั้นเพื่อไทยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคเพื่อไทยชูเรื่องประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ ทำให้พวกเรามีความหวัง ฉะนั้นภาคประชาชนจะเดินหน้าทวงสัญญาต่อไป
O แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะเลือกตั้งมากถึง 9 เขตจาก 11 เขต ชูนโยบายไม่เอานครปัตตานี แต่จะให้ใช้กลไกเดิมแก้ไขปัญหา ตรงนี้จะอธิบายอย่างไร?
ชัยชนะของประชาธิปัตย์ไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายปัตตานีมหานครหรือนครปัตตานี เราพิจารณาดูแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกเพราะเหตุนี้ เหตุผลคือ 1.ทั้งสองพรรคไม่ได้พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนตอนหาเสียง และ 2.การเลือกตั้งไม่ใช่การลงประชามติ ที่สำคัญชัยชนะของประชาธิปัตย์อาศัยกลไกรัฐอย่างเต็มที่
O มีหลายเสียงออกมาคัดค้านและตั้งคำถาม โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าถ้ามีปัตตานีมหานครแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. จะยังมีอยู่หรือเปล่า?
ต้องยอมรับว่าข้อเสนอของเราเป็นความกังวลของผู้มีอำนาจในพื้นที่ปัจจุบัน ทั้งกลไกของกระทรวงมหาดไทย (การปกครองส่วนภูมิภาค หมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อเสนอของเราให้ยุบโครงสร้างเหล่านี้จริง (ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากมีปัตตานีมหานครเกิดขึ้นจริง ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ แล้วค่อยยุบเลิกไป ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้คงไว้) แต่ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังอาจมีการปรับแก้ได้ในอนาคต
O แนวทางการขับเคลื่อนต่อไปจะเป็นอย่างไร?
เราจะยกร่างพระราชบัญญัติฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จเรียบร้อยภายในปลายปีนี้ และอาจเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา (ตามช่องทางรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายได้เอง) ช่วงต้นปีหน้า
แต่การเคลื่อนไหวผลักดันปัตตานีมหานครไม่ใช่ประเด็นเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเคลื่อนทั่วประเทศในแนวทางของ “จังหวัดจัดการตัวเอง” ซึ่งมีหลักการคล้ายกันคือการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นปัตตานีมหานคร เชียงใหม่มหานคร ล้วนเป็นหลักการเดียวกัน คือกระจายอำนาจให้ประชาชนชายขอบ
O มีหลายฝ่ายสงสัยว่าพื้นที่ชายแดนใต้มีปัญหาด้านความมั่นคง มีเหตุรุนแรงรายวัน ปัตตานีมหานครไม่มีกองทัพ ไม่มีกำลังทหารตำรวจของตัวเอง แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?
คนที่พูดอย่างนี้แสดงว่าไม่เข้าใจ เพราะโมเดลของเราชัดเจนว่าการต่างประเทศเราไม่แตะ การทหารเราไม่แตะ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเราไม่แตะ เพราะเป็นอำนาจของส่วนกลาง เราไม่ได้แยกรัฐอิสระ แต่เราจะทำเรื่องการจัดการนโยบายการพัฒนา การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เป็นข้อเสนอที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องความมั่นคงอยู่ที่การตีความว่าแค่ไหนอย่างไร เพราะเมื่อก่อนเรื่องคลุมฮีญาบของผู้หญิงมุสลิมรัฐยังบอกกระทบต่อความมั่นคงเลย
O แล้วปัตตานีมหานครจะแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดอยู่ตอนนี้ได้อย่างไร?
ข้อเสนอนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาความไม่สงบเฉพาะหน้า และเราไม่ได้ตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เราตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่โดยไม่ละเลยคนกลุ่มน้อย เพราะเรากำหนดให้รองผู้ว่าราชการปัตตานีมหานครเป็นคนพุทธหรือศาสนาอื่น 1 ตำแหน่ง และมีที่นั่งพิเศษในสภาปัตตานีมหานคร 3 ที่นั่งสำหรับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งให้ที่นั่งกับผู้หญิงและผู้ด้อยโอกาสอีกกลุ่มละ 1 ที่นั่งด้วย เท่ากับเราตอบโจทย์ด้านสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกันเราส่งเสริมการใช้ภาษามลายูควบคู่ภาษาไทย (เป็นหนึ่งใน 8 ข้อเสนอที่ได้รับจากการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นประชาชน) ก็เท่ากับตอบโจทย์อัตลักษณ์ และปัตตานีมหานครจะสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เราคิดแนวทางและโครงสร้างนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเมืองภาคประชาชน
นอกจากนั้นเราจะควบคุมสถานบันเทิงในพื้นที่ ซึ่งก็เท่ากับตอบโจทย์คุณธรรม จริยธรรม เรามีรายละเอียดที่แตกต่างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยาพอสมควร แต่คอนเซปท์ (หลักคิด) เหมือนกันคือลดอำนาจส่วนกลางมาเพิ่มให้กับท้องถิ่น หลักการสำคัญของปัตตานีมหานครคือตอบสนองความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐไทย ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจแก้ไขไม่ได้
O มีการตั้งคำถามว่าปัตตานีมหานครจะเอางบประมาณมาจากที่ไหน เพราะการทำนโยบายต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้จริง เช่น เรื่องการศึกษา ต้องใช้เงินมหาศาล?
ต้องมีการจัดการเรื่องภาษีใหม่ ที่ผ่านมาส่งกรุงเทพฯ (ส่วนกลาง) หมด จึงไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น แม้จะมีความพยายามจัดสรรเพิ่มให้จากส่วนกลาง (ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542) แต่เราอยากได้มากกว่านั้น ไม่อย่างนั้นท้องถิ่นก็พัฒนาไม่ได้ การให้ท้องถิ่นจัดการเรื่องภาษีเองและดูแลงบประมาณเองจะลดปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ลดปัญหาการแบ่งเค้กระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคลงได้
O จุดต่างอีกประการหนึ่งของปัตตานีมหานครกับนครปัตตานี ก็คือขนาดพื้นที่ ปัตตานีมหานครใหญ่กว่า โดยจะรวบ 4 อำเภอของ จ.สงขลาเข้ามาด้วย ทำไมจึงขยายไปตรงนั้น?
คือของเราจะรวมพื้นที่ 3 จังหวัด ไดแก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เข้าด้วยกัน เพราะภาพรวมของปัญหาคล้ายคลึงกัน
การจัดการพื้นที่ในรูปแบบของปัตตานีมหานครยังตอบโจทย์ประวัติศาสตร์ด้วย เพราะในอดีตรัฐไทยแบ่งปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ใช้หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง ต้องยอมรับว่ารัฐไทยในบริบทรัฐชาติสมัยใหม่ได้สร้างความอึดอัดให้กับคนชายขอบ ชูแต่ไทยอย่างเดียว เชื้อชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมหายไปหมด เชียงใหม่ก็หายไป และอีกหลายๆ ที่ที่หายไป ฉะนั้นโมเดลที่เราคิดขึ้นนี้ต้องการแก้ที่โครงสร้างของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี แต่ปัตตานีมีโครงสร้างชัด และมีความขัดแย้งรุนแรง ถ้ารัฐไทยเปลี่ยนแปลงความคิดและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ ทั้งเชียงใหม่และคนในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย
O ฉะนั้นก็จะเดินหน้าต่อไปตามแนวทางที่ขับเคลื่อนมา?
ครับ และเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีแนวร่วมถึง 40 จังหวัดที่สนับสนุนเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่ผ่านมาได้ติดตามการประกาศนโยบายของทุกพรรคการเมืองในเวทีประชาชน และหลังจากนี้ก็จะติดตามต่อไป การเมืองภาคประชาชนต้องเดินหน้าต่อ อีก 4 ปีข้างหน้าอาจจะมีความคิดตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ขึ้นมาก็ได้ เพราะถึงที่สุดแล้วไม้สุดท้ายก็ต้องส่งให้นักการเมืองเข้าไปจัดทำกฎหมายในสภา แต่นักการเมืองบ้านเราไม่ได้เดินเหมือนกับภาคประชาชน นี่คือโจทย์อีกข้อหนึ่งที่เราจะขบคิดกันต่อไป คือจะทำอย่างไรกับการเมืองภาคตัวแทน
บรรยายภาพ : มันโซร์ สาและ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
อ่านประกอบ : ข่าว สกู๊ป สัมภาษณ์พิเศษ และบทความทั้งหมดเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในเว็บอิศรา
- พ่ายซ้ำของเพื่อไทย การขออภัยของ”ทักษิณ” และสามแรงกดดันนโยบายดับไฟใต้
- นักศึกษากับการกระจายอำนาจ...และ “ปัตตานีมหานคร” ไม่ใช่ “นครปัตตานี”
- ถาวร เสนเนียม : ชายแดนใต้วันนี้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” อยู่แล้ว!
- สามคำถามสำคัญ...สาเหตุที่ไม่ควรเร่งดัน “นครปัตตานี”
- ฟังทหารประเมินสถานการณ์เลือกตั้งใต้ กับทางสองแพร่งของนโยบาย “นครปัตตานี”
- คำฝากจากปลายขวานถึงว่าที่นายกฯใหม่
- เมื่อเพื่อไทยแพ้ที่ชายแดนใต้ กับคำถามคาใจเรื่อง “ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ”
- ฟังขุนพลเพื่อไทยอรรถาธิบาย “นครปัตตานี”
- เปิดผลวิจัย”คณะลูกขุนพลเมือง” หนุนเลือกตั้งผู้ว่าการมณฑล – หย่อนบัตรเฟ้นพ่อเมือง 4 จังหวัดชายแดนใต้
- "เพื่อไทย"เอาจริงชงร่าง ก.ม.นครปัตตานี เลือกตั้งผู้ว่าฯ-เลิก ศอ.บต.
- One step closer to reality for Nakhon Pattani ?
-"นครปัตตานี"ในวาระร้อน...นายกเทศบาลนครยะลาย้ำ "เนื้อหา" สำคัญกว่า "รูปแบบ"
-โมเดลจากพื้นที่: เผชิญแรงกดดันไฟใต้และ "ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ"
-7 ปีไฟใต้...วัดใจ"ปกครองพิเศษ" ปชป.งัดโมเดลใหม่สู้ "นครปัตตานี"
- บวรศักดิ์ : ได้เวลาพิจารณาการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษชายแดนใต้
- อารีเพ็ญ : ผมไม่เห็นด้วยกับนครปัตตานี
- อีกครั้งกับ "นครปัตตานี" 8 ความคาดหวังของคนพื้นที่ต่อรูปแบบการปกครองใหม่
- Nakhon Pattani: A tangible dream or a cause of confusion?
- ตรวจความพร้อม "มาตรา 21" เมื่อทุกฝ่ายขานรับ แล้วกองทัพมีคำตอบหรือยัง?
- เมื่อปฏิบัติการทางทหารถึงทางตัน จับตา "นครปัตตานี-ม.21" ดับไฟใต้
- กะเทาะความคิด "อัคคชา พรหมสูตร" ผู้เสนอร่างกฎหมายปัตตานีมหานคร
- พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ : ชายแดนใต้ไม่ถูกแบ่งแยก...แม้มี "นครปัตตานี"
- นครปัตตานีกดดันรัฐ นายกฯเล็งปรับปรุง "องค์กรปกครองท้องถิ่น" นำร่องจังหวัดชายแดน
- เทียบโมเดล "นครปัตตานี" แน่หรือคือยุทธวิธีดับไฟใต้?
- ความฝันอันแรงร้อน...นครปัตตานี
- ฟังเสียงรากหญ้าพูดถึงสะพานมิตรภาพ นายกฯมาเลย์เยือนใต้ และนครปัตตานี
- นายกฯมาเลย์เยือนใต้ จับตา "มาร์ค" พลิกเกมนครปัตตานี
- นครปัตตานี...โดนใจแต่ไม่มั่นใจแก้วิกฤติชายแดนใต้
- "บิ๊กจิ๋ว"ขยายความ "นครปัตตานี" ฟื้นความยิ่งใหญ่ของ "ระเบียงมักกะฮ์"
- พิเคราะห์ "ลมปาก" นักการเมือง จาก "คำประกาศปัตตานี-ปฏิญญายะลา" ถึง "นครปัตตานี"
- "นครปัตตานี" นักการเมืองจบแล้ว แต่คนพื้นที่ยังไม่จบ
- ชัดๆ อีกครั้งกับผู้นำมาเลเซีย...อะไรคือรูปแบบ "การปกครองพิเศษ" สำหรับชายแดนใต้?