Skip to main content

 

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม                                 

                                                                                                                                                เพื่อสันติภาพชายแดนใต้


 

“ตะงายีกอ ฮีนิง” (วันนี้ไม่เรียนเหรอคับ)” ฉันถามเด็กสองคน กำลังนั่งเล่นอยู่ในบ้าน

                 “ฮีนิงเตาะงายี ฮีนิง วันแม่” (วันนี้ไม่เรียน เพราะเป็นวันแม่)  สักพักฉันก็เดินเข้าไปข้างในเพื่อจะไปห้องน้ำเห็นผู้ชายร่างปานกลาง น่าจะเป็นพ่อของเด็ก ๆ สองคนข้างนอกกำลังซักผ้าอยู่หลังบ้าน และง่วนกับลูกน้อยซึ่งไม่ยอมอาบน้ำ “ซือโยะ (เย็นอะพ่อ)”  แต่หนูน้อยก็เถียงพ่อไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องอาบน้ำตามคำสั่งของพ่อ เมื่อเสร็จภารกิจส่วนตัว ฉันก็นั่งสังเกตว่า ทำไมบ้านเรียบร้อยจัง เอะทำไมยังไม่เห็นผู้หญิงสักคน

                ฉันเพิ่งรู้ภายหลังว่า  บ้านหลังนี้เป็นครอบครัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้าน  “กูจิงลือปะ” ม. ๔ ต. เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และภรรยาของเขาเป็นหนึ่งใน ๔ คนที่ศาลตัดสินจำคุก ๖ ปี เมื่อ ๕ เดือนที่แล้ว ตามข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวกรณีครูจูหลิง ปงกันมูล กับ ครูศินีนาฎ ถาวรสุข ครูสาวไทยพุทธ คนของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะตามเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙  จนทำให้ครูจูหลิงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าและสะเทือนขวัญทั่วประเทศ

          หลังจากเหตุการณ์ทำร้ายครูสาวทั้งสองคน ทำให้มีผู้หญิงในหมู่บ้านกูจิงลือปะจำนวน ๒๑ คน ในจำนวนนั้นมีเยาวชน ๓ คน  ถูกข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และมีผู้ชายอีกจำนวนหนึ่งถูกจับในคดีนี้ด้วย โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ยงมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่บ้านเรื่อยมา ทั้งเหตุการณ์ยิงรายวัน และมีการล้อมหมู่บ้านหลายครั้ง  

          ทั้งนี้คดีของผู้หญิงทั้ง ๒๑ คนนี้ ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยศาลยกฟ้อง ๑๔ คน และอีก ๔ คน จำคุกประมาณ ๔-๖ ปี โดยผู้ต้องหา ๓ คนถูกตัดสินจำคุก ๔ ปี  และอีก ๑ คน ตัดสินจำคุก ๖ ปี ซึ่งประกอบด้วย ๑. นางซือนะห์ มะดิง ๒. นาวารี ดิง ๓. นินอรอนิง ดีดือเระ  และ ๔. พาซียะห์ ซูเระ  จำคุกมากที่สุดคือ ๖ ปี ทั้งนี้เยาวชนทั้งสามคนที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ศาลได้ยกฟ้องก่อนหน้านี้แล้ว

                ปัจจุบันผู้ต้องขังหญิงทั้ง ๔ นั้น ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวได้ ทำให้ครอบครัวทั้ง ๔ อยู่ในความลำบาก เพราะทุกคนมีลูกจำนวนหลายคน และสามีทั้งสี่ต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิต เมื่อภรรยาซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดูแลลูก ๆ และดูแลความเรียบร้อยของบ้าน ทำให้ภาระเหล่านี้ต้องตกอยู่กับสามี ทั้งนี้โดยปรกติผู้ชายจะทำงานนอกบ้าน ที่สำคัญลูก ๆ ของพวกเขาต้องขาดความรักความอบอุ่นจากอ้อมกอดของแม่  เด็กบางคนต้องหย่านมโดยกะทันหัน ในขณะที่เด็กบางคนกลายเป็นเด็กดื้อ ซน ซึมเศร้า และบางครั้งก็เรียกร้องความสนใจมากขึ้น

                ฉันพร้อมด้วยแกนนำผู้หญิงอีกหลายคนของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่กำลังทนทุกข์เหล่านี้ และให้การช่วยเหลือเยียวยาเท่าที่เราจะทำได้ เช่น มอบเงินบริจาค มอบของใช้ของกินที่จำเป็นในครอบครัว แต่สิ่งของเหล่านี้ในสายตาของครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนก็ไม่มีค่าเท่ากับการได้รับกำลังใจจากผู้มาเยือนที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเขา ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ เช่น เดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวขาดแม่ และสามีต้องทำหน้าที่แม่แทน

                อย่างเช่นกรณี นิสักรี นิเฮาะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เขามีลูกด้วยกันกับ นินอรอนิง ๔ คน ทั้งหมดเป็นผู้ชาย เขาเล่าว่า “ลูกคนเล็ก “บะห์รี” อายุ ๔ ขวบ หลังจากที่แม่เขาไม่อยู่ เขาซนมาก ๆ พูดก็ไม่ค่อยฟัง เพราะที่ผ่านมาเขาจะเชื่อฟังแม่เขาคนเดียว บางทีก็ทำข้าวของกระจัดกระจาย และถ้างอนเมื่อไร ก็จะไปหลบมุมใดมุมหนึ่ง” ผู้ช่วยฯ เล่าพร้อมหัวเราะเสียงดัง

                อย่างไรก็ตามโชคดีของผู้ช่วย ฯ ที่มีแม่วัย ๖๐ ปี คอยดูแลลูก ๆ และดูแลความเรียบร้อยของบ้าน และทำกับข้าวให้ ทำให้เขาสามารถไปทำงานนอกบ้านได้  แต่ด้วยที่ลูก ๆ ทั้งหมดเป็นเด็กชายทำให้แม่ ผู้เป็นย่าของเด็ก ๆ ก็ล้าและเหนื่อยกับการดูแลหลานๆ และมักจะบ่นอยู่เสมอ ๆ 

                หลังจากที่ผู้ช่วยฯเล่าเรื่องแม่ของเขา สักพักก็มีหญิงมีอายุ หน้าหน้าตาอิดโรยเดินมา และบอกว่า “รู้สึกเหนื่อยมาก ๆ เพราะว่าหลานเป็นผู้ชายและทุกคนก็ซนมากๆ ถ้าจ้างให้เลี้ยงก็ไม่เอา ไปทำสวนดีกว่า เพราะถ้าทำสวน เหนื่อยก็พักได้ แต่ถ้ามาดูแลหลานแล้ว เหนื่อยแล้วก็ไม่รู้จะทำไง บางทีก็ตะโกนว่า ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าเด็ก ๆ ร้องไห้และไม่รู้จะทำอย่างไรก็ร้องไห้ตามหลานด้วย” เขาพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้า และพูดอีกว่า

                “เนาะวะ แกนอ นะเซะ!  “จะทำอย่างไงได้ ในเมื่อเป็นกฎสภาวะจากอัลลอฮ อัลลอฮได้กำหนดแล้ว เราก็ต้องอดทน แต่เมื่อใดที่นึกถึงลูกสะใภ้ ก็อดร้องไห้ไม่ได้”

                เช่นเดียวกับ ลูกของ ฮัมเซาะห์ เจ๊ะสือนิ กับ นาวารี ดิง “เด็กชาย “อาลัมเจริญ” หรือ “อาลัม” อายุ ๒ ขวบ”  ต้องหย่านมหลังจากที่ นาวารี ผู้เป็นแม่ ถูกตัดสินจำคุก ๔ ปี “อาลัม” หย่านมครั้งสุดท้ายวันที่แม่ถูกศาลตัดสินจำคุกขณะที่อยู่ห้องฝากขังศาลนราธิวาส” ยายของอาลัม วัย ๕๐ ปี เล่าขณะที่ “อาลัม” หลับอยู่ในอ้อมกอดของเธอและเล่าอีกว่า  “อาลัมไม่ค่อยแข็งแรง เพราะมีโรคหอบ และหลังจากที่แม่ของเขาไม่อยู่ เขาต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว ๓ ครั้ง”

                ส่วนดุลเลาะ เจะแน สามีของ ฟาซียะห์ สุเร็ง มีลูกสาวชื่อ มูรนี เจะแห วัย ๓ ขวบ เล่าว่า “เขาชอบตื่นร้องไห้ตอนตีสอง หรือบางวันก็จะร้องให้ไปหาแม่ ก็จะพาเขาไปเที่ยวในหมู่บ้าน ก็จะดีขึ้น” เขาเล่าด้วยสีหน้าที่เหือดแห้ง และเล่าอีกว่า ถ้าวันไหนพาลูกไปเยี่ยมภรรยา ๆ ก็จะร้องไห้ตลอด”

                ในขณะที่ ยาการียา สะแปอิง โต๊ะคอเต็บประจำหมู่บ้าน ไม่กังวลเรื่องลูกคนเล็ก เพราะลูกเรียนระดับมหาวิทยาลัย ส่วนลูกสุดท้องกำลังเรียนระดับประถมแล้ว แต่ที่เขาเป็นห่วงก็คงจะเป็นเรื่องรายได้ และสภาพจิตใจของลูก ๆ

                “ลูก ๆ ทุกคนโตหมดแล้ว  ที่เป็นห่วงก็คงจะเป็นเรื่องรายได้ที่ลดลง แต่ก็บอกลูกให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและไม่ต้องกังวลเรื่องแม่ เพราะถ้าทุกคนยังมีชีวิตก็จะได้เจอกัน เพราะแค่ ๔ ปีเอง” และโต๊ะคอเต็บยังพร่ำบอกกับเราอีกว่า

                “ โลกนี้ คือบททดสอบ หากพบอุปสรรคบนโลกนี้ เราสามารถร้องเรียนให้กับเพื่อนร่วมโลกได้ แต่ถ้าเราตายไปแล้วละ เราต้องลำบากคนเดียว ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อัลลอฮแล้ว เราจะไปขอความช่วยเหลือจากใคร”

                นอกจากทุกคนต้องกังวลเรื่องลูกๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องขบคิดและกังวลใจก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการงาน ความรับผิดชอบที่ต้องปรับ และค่าใช้จ่ายของลูก ๆ  และภรรยา

                “สังเกตตัวเองว่า ช่วงนี้กลายเป็นคน คิดช้า และคิดอะไรไม่ค่อยออก อาจเป็นเพราะ บทบาทและภาระหน้าที่ที่ต้องปรับ จากที่เมื่อก่อน ครอบครัวมีรายได้สองทาง ภรรยากรีดยางแถวบ้านพอมีรายได้เป็นค่าอาหารแต่ละวัน  ส่วนตัวเองก็ไปรับจ้างก่อสร้างนอกบ้าน ทำให้พอมีรายได้ส่งลูกเรียน แต่วันนี้ต้องทำงานแถวบ้าน คอยรับจ้างทั่วไป สวนยางก็ให้น้องกรีด ทำให้รายได้ต้องแบ่งกัน”

                เช่นเดียวกันกับผู้ช่วย ฯ จากที่ความคิดโลดเล่น กลับมีอาการคิดช้า เขาบอกว่า อาจเป็นเพราะสภาพจิตใจที่กระทบมาหลายเดือน และภาระที่ต้องแบก การงานที่ต้องปรับ

                “เมื่อก่อนไม่ค่อยอยู่บ้าน เพราะทำงานด้านสังคม นอกจากเป็นผู้ช่วยฯ แล้ว ยังเป็นหัวหน้า อสม.ของหมู่บ้าน และเป็นคณะกรรมการหลายอัน แต่วันนี้ต้องอยู่กับบ้าน ดูแลลูกและบ้าน จากที่ไม่เคยซักผ้า ก็ต้องซักผ้า จากที่ทานข้าวนอกบ้าน วันนี้ก็ต้องซื้อมากินที่บ้านกับลูก ๆ จากที่ไม่เคยกรีดยางก็ต้องไปกรีด” เขาเล่าพร้อมทบทวนตัวเอง และเล่าอีกว่า    

                “บางครั้งก็เข้าประชุมช้า แต่ว่าทางทีมก็เข้าใจ เพราะตอนเช้าต้องไปกรีดยาง หรือบางครั้งแม่เข้าสวน เราก็ต้องดูแลลูก เพราะลูกคนเล็กยังไม่ยอมไปโรงเรียน”

                ส่วนครอบครัว ฮัมเซาะห์ ต้องสลับกันกับ แม่ยาย วันไหนที่แม่ยายไปกรีดยาง เขาก็จะดูแลอาลัม และวันไหนที่ เขาไปกรีดยาง แม่ยายก็จะดูแล อาลัม ให้  และเขาบอกอย่างน่าสนใจว่า  

                “ถ้าพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ก็จะรู้สึกขี้เกียจ ท้อแท้  แต่ถ้านึกถึงเรื่องการทำงาน จะมีกำลังใจ และขยันฮึดขึ้นมาตลอด เพราะจะนึกถึงภรรยาที่อยู่ในเรือนจำว่า เขาอยู่ที่ลำบากนะ จะกินอะไรก็ยาก”

 

 

                เมื่อถามว่าจะฝากอะไรให้กับสังคมไทย พวกเขาก็บอกว่า ทหารที่ประจำการในหมู่บ้านเข้าใจชาวบ้าน เข้ากับชาวได้ดี แนะนำเรื่องกฎหมายบ้าง ส่วนชุมชนในละแวกหมู่บ้าน เมื่อก่อนไม่กล้าที่จะเข้ามาในหมู่บ้านแต่เดี๋ยวนี้ทุกคนกล้า และเข้าใจคนในหมู่บ้านมากขึ้น  แต่ถ้าพื้นที่อื่น ๆ เมื่อบอกว่า ตัวเองมาจากหมู่บ้าน กูจิงลือปะ ทุกคนก็จะออกห่าง แต่เราก็เตรียมใจแล้ว และพยายามอธิบายว่า ในหมู่บ้านไม่มีอะไร ปลอดภัยแล้ว ทุกคนก็จะเข้าใจเรามากขึ้น ส่วนสังคมทั่วไปก็คิดว่า เขาเข้าใจเรามากขึ้นเหมือนกัน               อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า บทเรียนของชาวบ้านกูจิงลือปะที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ทำให้พวกเขามีความเข้มแข็ง และ เรียนรู้ที่จะลุกขึ้นต่อสู้ต่อไป โดยไม่ย่อท้อ แม้ครอบครัวต้องขาดที่พึ่ง แต่เพื่อให้ลูกหลานได้มีชีวิตที่ดีต่อไป ชุมชนสามารถอยู่ด้วยความสงบสุข พวกเขาก็พร้อมจะยืนหยัด ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการให้สังคมไทย รับรู้และเข้าใจสภาพที่แท้จริงในหมู่บ้านว่า พวกเขาทุกคนไม่ได้เป็นคนร้ายหรือเป็นคนโหดเหี้ยมตามที่กระแสข่าวได้นำเสนอออกไป 

 

www.civicwomen.com