Skip to main content
ข้อสังเกตแนวทางสิทธิมนุษยชนสากล
กับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ
 
บทนำ
ในบรรดาสิทธิมนุษยชนสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International covenant on civil and political rights-ICCPR )ถือเป็นสิทธิอันดับแรกถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชน ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นอิสระจากการไม่ถูกแทรกแซง  แม้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเชิงของพัฒนาการกฎหมายภายในประเทศที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ยังเกิดคำถามอยู่ว่าในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิพลเมืองตามกติกา ICCPR ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองเป็นลำดับแรก จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิพลในการยกระดับกลไกคุ้มครองสิทธิพลเมืองในประเทศได้มากน้อยเพียงไร จากกรณีศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเหตุการณ์การสลายการชุมของรัฐบาลต่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พบว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศ ICCPR และได้พยายามให้ความสำคัญการพัฒนาสิทธิมนุษยชนหลายด้านของประเทศ แต่ในแง่ของสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ทุกรัฐบาลจะอ้างถึงความจำเป็นในการกฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้น แต่กฎหมายพิเศษดังกล่าวได้กระทบต่อสงบเรียบร้อยของประชาชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหลายประการ นอกจากนี้ในประเด็นที่ยังเป็นคำถาม ประการที่หนึ่ง รัฐบาลมีการนิยามถึงสถานการณ์ฉุกเฉินว่าเหมือนหรือต่างกับนิยามของสหประชาชาติมากน้อยเพียงไร ประการที่สอง หากรัฐบาลต้องการปฏิบัติเลี่ยงพันธกรณีบางประการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลได้ให้ความเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ของประชาชนที่ไม่สามารถยกเว้นได้หรือไม่
          บทความนี้ไม่ได้มุ่งศึกษาถึงข้อถกเถียงในเชิงทฤษฎีของสิทธิมนุษยชนเพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์และข้อจำกัดของแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากล หรือมุ่งเน้นศึกษาในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศว่าการกระทำใดถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล แต่ต้องการศึกษาข้อพิจารณาบางประการถึง “ตำแหน่งแห่งที่”ของแนวของทางด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยรับเอามาเป็นแนวทางการปฏิบัติภายในประเทศ โดยส่วนแรกจะขอกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจถึงข้อถกเถียงในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในระดับระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เพื่อปูพื้นฐานต่อความเข้าใจที่ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดระดับศีลธรรมของประเทศได้หรือไม่ ข้อถกเถียงกล่าวสามารถนำไปสู่ส่วนที่สองที่เป็นการตั้งคำถามใหม่ว่าสังคมไทยรับเอาแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรโดยศึกษาจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 
 
สิทธิมนุษยชนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การสิ้นสุดขอยุคสงครามเย็นตามมาด้วยการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์โดยการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดการชี้นำของระบบตลาดเสรีและสิทธิมนุษยชนภายใต้ คำประกาศระเบียบโลกใหม่ หรือ (New World Order) ของมหาอำนาจตะวันตก แต่ทว่าความขัดแย้งทางด้านความคิดและอุดมการณ์ยังมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากปัญหาความรุนแรงของเชื้อชาติ ชาตินิยมและเผ่าพันธุ์ ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลกในแง่ของสิทธิมนุษยชนสากลก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากฝ่ายหนึ่งว่าเป็นตัวแทนความคิดของวัฒนธรรมของตะวันตก โดยกระแสความคิดอื่นๆ เช่น “วิถีเอเชีย” หรือ “วิถีแอฟริกัน” ที่เติบโตในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า แม้“ตะวันตก”เชิดชูคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่ประวัติศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกเองก็เต็มไปด้วยการกดขี่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งตักตวงผลประโยชน์จากดินแดนอาณานิคมต่างๆ ภายใต้กรอบคิดของลัทธิจักรวรรดินิยม ดังนั้นจึงสมควรทบทวนแนวคิดสิทธิมนุษยชนใหม่ที่ไม่ตีความคับแคบว่ามีเน้นเรื่องของปัจเจกนิยมเพียงฝ่ายเดียวแต่ควรเน้น ความสำคัญของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เน้นคุณค่าและความสำคัญทางสังคม ที่มีความปรองดอง ความกตัญญู ความจงรักภักดี และการผ่อนปรน[1]
ความขัดแย้งเรื่องแนวทางแห่งสิทธิมนุษยชนในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นดังกล่าว ถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบที่มาจากความเกรงกลัวที่จะถูกกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ที่ได้รับผลกระทบโดยภัยคุกคามจากต่างชาติเป็นหลัก แต่หลังจากการก่อวินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ภัยจากการก่อการร้ายได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐที่กำลังได้รับความสนใจและส่งผลให้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติเปลี่ยนไป คือมีลักษณะร่วมคือการรักษาความเป็นอิสระของรัฐและความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนในรัฐ ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะความมั่นคงของ “รัฐ” ในฐานะนิติบุคคลเท่านั้นแต่จะกินความรวมไปถึง “ความมั่นคงของของมนุษย์” (human security) ในชาตินั้นๆ ด้วย [2]ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมื่อพิจารณาถึง “ความมั่นคงของรัฐ” เราจะต้องมองถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในรัฐนั้น ๆ ด้วย ไม่ใช่มองเพียงแต่ผู้ใช้อำนาจหรือองค์กรที่ใช้อำนาจในรัฐเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในยุคของการไหวเวียนของข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้ประชาชนมีความตระหนักต่อเรื่องของสิทธิในด้านต่างๆมากขึ้น ทำเราปฏิเสธไม่ได้ว่า สิทธิมนุษยชน ที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกชน ชุมชน บรรษัท องค์กรของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ จนมีการตั้งคำถามว่า แนวคิดสิทธิมนุษยชนแท้จริงแล้วถูกขับเคลื่อนด้วยโวหารแห่งสิทธิ์ (rhetoric of rights) หรือไม่ เพราะแม้ในปัจจุบันประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ แต่ปัญหาเรื่องของการถูกละเมิดสิทธิเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น สิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของลูกจ้างกับนายจ้าง สิทธิของปัจเจกบุคคลชุมชนดั้งเดิม หรือสิทธิของประชาชนในการปกครองอย่างมีส่วนร่วมของคนในประเทศ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาเรื่องความเฟ้อของสิทธิ ( The inflation of rights) ซึ่งหมายถึง การที่กลุ่มหรือบุคคลต่างๆ มักอ้างเรื่องของสิทธิกันอย่างแพร่หลายกระทั่งทำให้พลังอำนาจแห่งสิทธิลดลงไปโดยปริยาย[3]
เมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการของสิทธิพลเมืองของไทยตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง พ.ศ. 2475  รัฐธรรมนูญได้ประกันถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนบริบทระหว่างประเทศ มีการเกิดขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนช่วง พ.ศ. 2491 และไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาทั้ง 5 ฉบับร่วมกับรัฐภาคี อีก 100 กว่าประเทศ [4] โดยเฉพาะการเข้าเป็นภาคีสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2540 กระนั้นเราอาจเข้าใจอย่างกว้างว่าการยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศฯ ฉบับต่างๆ ก็คือมาตรวัดทางศีลธรรมในเวทีโลกในปัจจุบัน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละประเทศรับเอาคุณค่าด้านแนวทางของสิทธิมนุษยชนไม่เท่าเทียมกัน 
พัฒนาการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย
ช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตของสิทธิพลเมืองไทยคือตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิพลเมืองแก่ประชาชนทุกคนและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะมิติใหม่นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่ราษฎรสามารถแสดงความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่นได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวกับอำนาจของรัฐที่มีผลกระทำต่อตน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การวิพากษ์วิจารณ์และกระทั่งคัดค้านต่อนโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตยเป็นไปอย่างกว้างขวาง แม้รัฐบาลในเวลานั้นได้จำกัดสิทธิของประชาชนให้อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ความสัมพันธ์กับราษฎรกับผู้ปกครองในเวลานั้น ก็ค่อนข้างที่จะมีความแตกแยกอีกทั้งยังไม่มีกลุ่มหรือสถาบันที่เป็นกันชนช่วยคลี่คลายการเผชิญหน้ากัน จนกระทั่งเวลาต่อมากลุ่มทหารรุ่นใหม่ได้เข้ามีอำนาจในการนำและประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งอำนาจนิยมขึ้นทีละน้อย ผลของความขัดแย้งทางอำนาจและการเมือง ก็จบลงด้วยรัฐประหาร 2490   2500 และ 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชน นิสิต นักศึกษารวมพลังโค่นล้มผู้นำเผด็จการและได้เรียกร้องเอาระบบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ แต่ประชาธิปไตยก็ดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ตามมาด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  มีการปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลสะท้อนของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตามมาด้วยความขัดแย้งรุนแรงอีกหลายปี จนเริ่มมีก็การก่อกระแสความคิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการวิพากษ์ตรวจสอบการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชน กรณี 6 ตุลาคม ต่างก็ชูธงสิทธิมนุษยชนในการเคลื่อนไหวรณรงค์ ความรุนแรงทางการเมืองที่สืบเนื่องเรื่อยมาจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” พ.ศ. 2535 ซึ่งรัฐบาลพลเอกสุจินดาครา ประยูร ใช้กำลังรุนแรงปราบปรามสังหารประชาชนจำนวนมากที่ชุมนุมประท้วงการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[5]
            อาจกล่าวได้ว่ากรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  พ.ศ. 2535 เป็นการสุกงอมของความตื่นตัวและการตระหนักต่อสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านการสะสมเกี่ยวกับแนวคิดสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาเป็นระยะเวลายาวนานก่อนหน้า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน จึงมีนโยบายให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2535 รัฐบาลของนายอานันท์ ก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง โดยมีการดำเนินการสืบเนื่องกันถึงขั้นสุดท้ายที่มีการลงนามในภาคยานุวัตรสารพร้อม “คำแถลงการตีความ” ใน พ.ศ. 2539 (ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา) และหลังจากนั้นอีก 3 ปี คือ พ.ศ. 2542 (สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ประเทศไทยจึงเข้าเป็นภาคี อย่างสมบูรณ์ในกติกาฯว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม[6]
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งมีนักคิดสิทธิมนุษยชนไทยที่สำคัญท่านหนึ่ง คือ เสน่ห์ จามริก ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ตามบ่อเกิดของรากฐานสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวมิอาจสอดคล้องกับสังคมคมนอกตะวันตกได้ทั้งหมด เนื่องจากสังคมดังกล่าวมีฐานสังคม-วัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง ที่เป็นลักษณะเฉพาะและมีประวัติศาสตร์ของการรับเอาหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันออกไป ลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นข้อคำนึงสำคัญต่อหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่เป็นข้อท้าทายในระดับหลักการและการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจึงเป็นจึงเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการวัดสภาพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งการประเมินถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองนั่นเอง[7]
นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ขยายให้เห็นถึงสภาพของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจว่าปี พ.ศ. 2591 เป็นปีที่สหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเกิดหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2490  ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สวนทางกับแนวทางสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเมืองอย่างสำคัญ ในช่วงนั้นเองมีการออกกฎหมายวัฒนธรรม ที่มีต้นกำเนิดภายใต้ลัทธิชาตินิยมเข้มข้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอาศัยแนวทาง “เชื่อผู้นำ” ซึ่งมีกลิ่นอายของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของนาซีเยอรมันและอิตาลีในเวลานั้น [8]แม้ว่าสถานการณ์ของสิทธิมนุษยชนไทยได้ข้ามพ้นยุคของปัญหาการจำกัดสิทธิภายใต้เสรีภาพของประชาชน กระนั้นกระบวนการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้งก็ได้ปะทะระหว่างแนวความคิดทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติอยู่เรื่อยมา ที่สำคัญ ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ใช่การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์อีกต่อไป แต่เป็นยุคที่มีการพยายามเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนเข้ากับสิทธิแห่งการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และศักยภาพทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผูกโยงเข้ากับปัญหาโครงสร้างระดับต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการจัดการที่ดิน ที่ทำกิน การเข้าถึงแหล่งน้ำ เป็นต้น
ความผันผวนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสิทธิพลเมืองของไทย จนกระทั่งนำมาสู่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมานับหลายทศวรรษ เป็นบทเรียนที่นำการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นในทศวรรษต่อๆมา การที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในด้านหนึ่งทำให้เกิดคำถามต่อไปว่าแม้ในแง่ของความก้าวหน้าทางระบบกฎหมายภายในประเทศที่ได้เอื้อต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังเกิดคำถามว่าประเทศไทยจะสามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวได้หรือไม่เพียงใด
ความสำคัญของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของไทย
หากจะกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) กติการะหว่างประเทศฉบับนี้ถือเป็นกติการะหว่างประเทศ ที่เป็นผลผลผลิตของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน [9]ซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ใน ค.ศ. 1966 ( พ.ศ. 2509 ) อนุสัญญาดังกล่าว เป็นรูปธรรมชัดเจนและถือเป็นสนธิสัญญาของประเทศภาคีสมาชิกที่เป็นคู่สัญญาและได้ให้สัตยาบันไว้เพื่อกำหนดมาตรฐานที่บังคับให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องถือปฏิบัติ กติการะหว่างประเทศดังกล่าวมีผลใช้จริงนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1976  ( พ.ศ. 2519 ) จนถึงปัจจุบันมีประเทศต่างๆที่ได้ให้สัตยาบันรับรองการเป็นสมาชิกของกติกาฉบับนี้กว่า 144 ประเทศ บทบัญญัติในกติกาฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 53 มาตรา กติการะหว่างประเทศฯ ดังกล่าวเป็นการพยายามตอกย้ำแนวคิดดั้งเดิมจากปฏิญญาสากล ฯ ซึ่งเห็นว่าการยอมรับต่อศักดิ์ศรีอันมีมาแต่กำเนิดและสิทธิเสมอภาคอันมิอาจพรากโอนได้ของมนุษย์เป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ พร้อมกับชี้ว่าสิทธิต่างๆเหล่านี้ มีที่มาจากศักดิ์ศรีของมนุษย์ ประเด็นสำคัญของคำปรารภดังกล่าวมุ่งชี้ความสำคัญของการแบ่งแยกจากกันมิได้ ของสิทธิทางเศรษฐกิจและสิทธิพลเมือง อันถือเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน 2 จำพวก สำคัญซึ่งสังคมจำเป็นต้องปกป้องส่งเสริมเพื่อให้เสรีชนมีเสรีภาพในการ ที่ปลอดพ้นจากความกลัวและความอดอยากขาดแคลนตามอุดมการณ์ของปฏิญญาสากล[10]
นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีความสำคัญมากกว่าสิทธิประเภทอื่น เนื่องจากเป็นสิทธิที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรก [11] และมีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัดมากที่สุดในทางกฎหมายระหว่างประเทศและบุคคลคนทั่วไป สิทธิตามกติกา ICCPR ถือเป็นสิทธิเด็ดขาดอันถูกต้องชอบธรรม (justifiable human rights) ตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกา ICCPR ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (fundamental rights) ซึ่งเป็น Traditional Rights ของปัจเจกชน (individual) และสะท้อนถึงความเป็นอิสระจากการไม่ถูกแทรกแซง (The laissez faire doctrine of interference) นักกฎหมาย สิทธิมนุษยชนจะเน้นการตรวจสอบภายใน (internal law) ของแต่ละประเทศว่าสอดคล้องกับมาตรฐานสากลหรือไม่   กล่าวอีกนัยหนึ่ง กติกา ICCPR ต้องการคุ้มครองสิทธิพลเมืองหรือสิทธิของประชาชนที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับ “การคำนึงถึง” “ความพร้อม” และ “ความมั่งคั่ง”ของแต่ละประเทศ เพื่อให้อย่างน้อยมีผลในทางปฏิบัติบ้างดีกว่าไม่เกิดการปฏิบัติทั้งหมด การปกป้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองจึงต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ของประเทศว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ เช่นรัฐธรรมนูญของอินเดีย ได้บัญญัติเจตนารมณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในมาตราที่ 51 (c)  เกี่ยวกับการบรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับอุดมการณ์ของความสงบสุขของโลก ว่าเป็นหลักการสำคัญของนโยบายของรัฐ ส่วนสิทธิของชนกลุ่มน้อยของประเทศอินเดียรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติถึงสิทธิในวัฒนธรรมและการศึกษาเอาไว้ในมาตราที่ 29[12]           
ประเทศไทยใช้เวลานานกว่า 20 ปี กว่าจะได้เข้าเป็นภาคีของกติกาฉบับนี้โดยการภาคนายุวัตร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2539 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และต่อจากนั้นอีก 3 ปี ประเทศไทยจึงได้เข้าเป็นภาคีของกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2542 ข้อสังเกตในการเข้าเป็นภาคีของกติกาทั้ง 2 ฉบับของไทยล้วนกระทำพร้อมกับการมี “คำแถลงการตีความ” (Interpretation of Declaration) ต่อท้ายการภาคยานุวัตร (Instrument of Accession) หรือเอกสารแสดงเจตนาที่จะยอมรับข้อผูกพันตามกติกา ICCPR เพื่อขอสงวนหรือจำกัดการตีความบางเรื่องในกติกา ICCPR ให้มีความหมายที่แคบลงเฉพาะที่ประเทศไทยมุ่งหมาย  การแถลงการตีความดังกล่าว เป็นการปรับใช้กติกา ICCPR เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์หรือว่าข้อจำกัดทางกฎหมายภายในประเทศ[13]
            ประเทศไทยได้จัดทำรายงานฉบับแรกของกติการะหว่างประเทศ ICCPR เสร็จลุล่วงลงแล้ว และได้ส่งรายงานไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2547  การจัดทำรายงานดังกล่าวดำเนินการโดยสำนักอัยการสูงสุดซึ่งมีลักษณะของการชี้แจงการปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามกติกาฉบับนี้ของประเทศไทย ตั้งแต่เหตุผลในการจัดทำถ้อยแถลงตีความและการดำเนินการทำให้เกิดสิทธิทั้ง 27 ข้อของกติกาในเรื่องต่างๆ เช่น การกำหนดเจตจำนงของตนเอง การประกันสิทธิภายในเขตอำนาจโดยปราศจากการแบ่งแยกความเท่าเทียมกันของชายและหญิง การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินภายในประเทศ การตีความของกติกา สิทธิที่จะมีชีวิตและยกเลิกโทษประหาร การถูกทรมานลงโทษที่โหดร้าย สิทธิการชุมนุมโดยสงบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงด้วยวาจาไปแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548   [14]ซึ่งจากการสรุปบทเรียนของการทำรายงานประเทศ ICCPR และรายงานประเทศฉบับอื่นๆเพื่อรายงานต่อสหประชาชาติพบว่า การทำรายงานฉบับดังกล่าวค่อนข้างเป็นภารกิจที่ค่อนข้างยุ่งยากและเป็นสิ่งใหม่สำหรับหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากในระยะแรกยังไม่มีการกำหนดแนวทาง ขั้นตอนและวิธีการไว้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งในการเขียนรายงานระยะแรกมักมอบให้ผู้เชี่ยวชาญที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศเป็นผู้เขียนทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และไม่มีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม เนื่องจากกรอบระยะเวลาที่จะต้องส่งรายงานค่อนข้างมีความกระชั้นชิด[15]
ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังจัดทำรายงานประเทศฉบับที่สอง ซึ่งต้องรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในช่วงปี พ.ศ. 2548-2551 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับภาวะของการทดสอบหลายประการด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่วิกฤติสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักฝ่ายและมีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้เหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549  ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความโน้มเอียงที่จะเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างซึ่งกันและกัน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่ข้อกังวลจากภาคประชาสังคมว่าการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวจะกระทบกระเทือนถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา


[1] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมายและความเป็นจริงทางสังคม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2545), หน้า 169-179.
[2] ทั้งนี้สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้แบ่งประเภทความมั่นคงของมนุษย์ในรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2552 ออกเป็น 6 มิติ(6) ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงของปัจเจกบุคคล และความมั่นคงทางการเมือง
[3]  วรางคณา มุทุมล, “วาทกรรมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปรัชญาการเมืองสมัยใหม่” (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีการศึกษา 2547), หน้า1-2.
[4] 1.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
     (International covenant on economic, social and cultural rights-ICESCR)
    2.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
    (International covenant on civil and political rights-ICCPR)
   3.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติชาติในทุกรูปแบบ
    (International covenant on the elimination of all forms, of radical discrimination-ICERD)
 4.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
   (Convention on the elimination of all forms of discrimination against Women-CEDAW)
 5.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก-(CRC)
   (Convention on the rights of the child)
[5] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมายและความเป็นจริงทางสังคม,  หน้า 348.
[6] เรื่องเดียวกัน หน้า 349
[7]  เสน่ห์ จามริก, “คำชี้แจง โครงการศึกษาวิจัย “พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”, ใน สี่จังหวัดภาคใต้กับปัญหาสิทธิมนุษยชน, สุรินทร์ พิศสุวรรณ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรณาธิการ.(สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2527) หน้า 1-5.
[8] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “สิทธิมนุษยชน “สากล” กับปัญหาความจริงแท้,” ใน วิถีสังคมไทย สรรนิพนธ์ทางวิชาการ เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ ชุดที่ 6 : กฎหมายและสิทธิมนุษยชน, สันติสุข โสภณศิริ บรรณาธิการ .(กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544,) หน้า 115-116.
[9] ปี ค.ศ. 1948 องค์การสหประชาชาติ (The United Nation) ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights  1948 : UDHR) ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยอมรับให้มีการออกกฎหมายภายเพื่อรับรองสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้คำนึงถึงความมีอิสรเสรี ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่เลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา และอื่นๆ เพื่อให้สมาชิกทุกประเทศถือปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามสถานะของปฏิญญาสากลฯ ในช่วงเริ่มแรก คือ ค.ศ. 1948  มีการเห็นพ้องร่วมกันว่า ในช่วงแรกไม่มีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศคือ ไม่ใช่สนธิสัญญา(Treaty) แต่เป็นตราสารที่ผ่านการรับรองจากสมัชชาทั่วไปของสหประชาชาติในรูปของ “มติ” (Resolution)  ซึ่งไม่ได้มุ่งผูกพันในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ แต่ “มุ่งสร้างความเข้าใจร่วมกัน” ต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และเพื่อให้เป็น “เสมือนมาตรฐานร่วมแห่งความสำเร็จสำหรับประชาชนทุกคนและทุกๆ ชาติ” สาเหตุที่ปฏิญญาสากลเมื่อแรกเริ่มไม่มีสถานะทางกฎหมายผูกมัดโดยตรง กล่าวคือ ปรากฏในรูปของ “ปฏิญญา” แทนที่จะเป็นสนธิสัญญาหรืออนุสัญญา นอกจากเหตุผลเชิงการเมืองและอธิปไตยของชาติดังกล่าวก่อนหน้าแล้ว ยังเป็นเหตุผลเชิงประนีประนอม เพราะเกรงกลัวว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับต่อตราสารสิทธิมนุษยชนนี้ แต่ปรากฏเป็นตราสารที่มีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนให้มีพันธะโดยตรงในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ในระบบกฎหมายภายในประเทศ
[10] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมายและความเป็นจริงทางสังคม,หน้า 325.
[11] ลำดับชั้นพัฒนาการของสิทธิมนุษยชน ตามลำดับมีดังนี้
1.        สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( civil and political rights)
2.        สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม (economic and social rights)
3.        สิทธิของประชาชนหรือสิทธิอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมหรือสิทธิส่วนรวมของสังคม(People rights or solidarity rights or collective rights of society) 
อ้างใน วิชช์ จีระแพทย์, สิทธิมนุษยชน VS สิทธิพลเมือง, วารสารรัฐธรรมนูญ ปีที่ 5,เล่มที่ 13 (มกราคม-เมษายน พ.ศ.2546) : หน้า 137.
[12]   เรื่องเดียวกัน หน้า 140-141.
[13]    จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมายและความเป็นจริงทางสังคม,หน้า 349-350.
    [14]   กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมคู่มือรายงานประเทศ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี, (กรุงเทพฯ:กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม), หน้า  16-17.
   [15] เรื่องเดียวกัน หน้า 23.