ไลลา เจะซู
“แม่จ๋า พ่ออยู่ไหน ทำไมไม่กลับมา ? ทำไมพ่อไม่มารับหนูที่โรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ ”............
เสียงสะท้อนจาก รุสดา สะเด็ง เลขาธิการสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep peace) สะท้อนสิ่งที่ตนได้รับรู้จากการลงพื้นที่เยียวยาลูกผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและขบวนการ BRN
ทุกครั้งที่เราพูดถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา เรามักนึกถึง “ผู้ชาย” ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นชัดว่า ผู้ชายเหล่านั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง
เพราะความพิเศษของ พรก. ได้อนุญาตและให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซักถามโดยไม่ต้องมีหมายเรียก ควบคุมตัวโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ค้นบ้านโดยไม่ต้องมีหมายศาล สอบสวนได้เพียงแค่สงสัยว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่รัฐไทยมองว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ฯลฯ
แต่สิ่งที่เราได้เห็นและสัมผัสได้จากแววตาของผู้หญิงในฐานะ “ภรรยา” และ “แม่” คือ กังวลกับความพิเศษของ พรก.ฯ จาก “คนข้างหลังผู้ชายที่ถูกจับ”
หญิงในฐานะ “ภรรยา” และ “แม่” ผู้ต้องผันตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัว หลังจากสามีถูกจองจำ
สามีฉันจะถูกพาไปไหน จะโดนอะไรบ้าง จะโดนซ้อมทรมานเหมือนกรณีที่ผ่านๆ มาหรือเปล่า จะหนักหนาสาหัสถึงขั้นเสียชีวิตระหว่างถูกสอบสวนเหมือนสุไลมาน แนแซ มั๊ย ล้วนเป็นข้อกังวลของผู้เป็นภรรยา หลังจากสามีของตนเองถูกทหารและตำรวจเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้าน โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ พร้อมกับการเอาปืนจ่อหัวและบังคับให้เดินขึ้นรถด้วยความจำใจ .....
ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี กว่าจะพิสูจน์ได้ว่า สามีของตนบริสุทธิ์......อีกนานแค่ไหนกว่าที่เขาจะได้รับอิสรภาพ เพราะหลายๆ คดีที่ผ่านมา ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ศาลจะยกฟ้อง ด้วยคำตัดสินที่ว่า ยกประโยชน์ให้จำเลย เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ .... เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อกังวลของผู้เป็นภรรยาเมื่อระยะเวลาผ่านพ้น 30 วัน และสถานะสามีได้ถูกเปลี่ยนจาก “ผู้ต้องสงสัย” เป็น “ผู้ต้องหา” ตามกระบวนการยุติธรรม
เราเคยคิดไหมว่า ข้อหาความมั่นคง ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน เพียงเพื่อแลกกับศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนๆ หนึ่ง บางคนต้องทุ่มหมดหน้าตัก เพียงเพื่อให้สามีได้รับการประกันตัว แม้จะรู้ดีว่า มันเป็นเพียง “การซื้ออิสรภาพ” ชั่วคราวแค่ข้ามคืน
เราเคยรู้บ้างไหมว่า หลายคนต้องแสร้งทำเป็นเข้มแข็ง แม้จิตใจจะบอบช้ำมากเพียงใด เพียงเพื่อให้ลูกๆ สามารถเติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ อย่างไม่ย่อท้อและสิ้นหวัง
เราเคยเห็นบ้างไหมว่า ผู้หญิงหลายคนต้องผันตนเองมาเป็นเสาหลักและที่พึ่งของครอบครัวแทนสามี ให้รอดจากการอดอยากหิวโหย เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพโดยลำพัง ด้วยสองมือและแรงกายของตนเอง
เราเคยเข้าใจไหมว่า ความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่มันหนักหนาสาหัสเพียงใด กับการที่ต้องตอบคำเดิม ซ้ำๆ ว่า “แม่จ๋า พ่ออยู่ไหน ทำไมไม่กลับมา ? ทำไมพ่อไม่มารับหนูที่โรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ ฯลฯ ”
เพียงแค่นึกถึงภาระที่หนักอึ้ง ผู้หญิงเหล่านั้นกลับไม่มีสิทธิแม้จะเรียกร้องความเห็นใจจากรัฐไทยหรือใครๆ สิ่งเดียวที่เขาอาจทำได้ยามที่ใจท้อแท้และสิ้นหวัง คือ การแอบไปร้องไห้คนเดียวทุกคน
ความเจ็บปวดแค่นี้ มากเกินพอไหม.........สำหรับคนๆ หนึ่งที่ต้องเป็นทั้ง “ภรรยา” “แม่” และ “พ่อ”ในคราวเดียวกัน ภายใต้ความพิเศษของ พรก.ฉุกเฉิน
และเหตุผลแค่นี้ เพียงพอไหม.....ที่พวกเขาจะเรียกร้องให้เอา พรก. ออกไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
เอา พรก.ออกไป คืนเสรีภาพให้ประชาชน