ความรู้เรื่องชายแดนภาคใต้ที่มักถูกวิพากษ์ว่าอยู่ใน ‘ภาวะขาดแคลน' นั้นเป็นจริงหรือเพียงแค่มายาคติยังประเด็นที่น่าขบคิด เพราะนับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา ความตื่นตัวทางวิชาการด้านปัญหาชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงมากขึ้น งานวิเคราะห์ที่มีอยู่ในรูปของ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ รายงานวิเคราะห์ กำลังพุ่งทะยานเข้าใกล้ตัวเลขที่ 500 ผลงาน
แม้ว่าความรู้จะถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลักไมล์บางแนวคิด บางทฤษฎี ขยับออกจากจุดเริ่มต้นยาวไกลไปต้นแล้วต้นเล่า แต่ขณะเดียวกันนโยบายการแก้ปัญหาที่ยังไร้ทิศทางและขาดเอกภาพก็ยังคงดำรงอยู่
คำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือว่า แนวคิดที่ถูกผลิตและผ่านการตรวจสอบความแม่นยำซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้ตอบโจทย์ที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้แล้วหรือไม่ เพราะหากมิได้สัมพันธ์กันแล้ว ‘ความรู้' นั้นก็มิอาจจะสถาปนา ‘อำนาจ' ในการอธิบายสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าได้เลย
ภายใต้ความรู้ที่ท่วมท้นเช่นนี้ สิ่งที่ชุมชนวิชาการต้องขบคิดก็คือประเด็นว่าด้วยสังคม ‘มลายูปัตตานี' ได้ผ่านพลวัตรคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะความรู้ในประเด็นนี้กลับหาทำยาได้ยากยิ่งในแวดวงวิชาการไทย
ลักษณะทางสังคมสำคัญเช่นไร นักยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดย่อมให้ความสำคัญต่อการให้คำนิยามต่อลักษณะทางสังคม เพราะยุทธศาสตร์ย่อมกำเนิดจากการวิเคราะห์สังคมที่เฉียบคม
นักยุทธศาสตร์ที่ดีย่อมไม่มองข้ามการวิเคราะห์สังคม หากเขาต้องการยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ‘เหมาเจ๋อตุง' วิเคราะห์ลักษณะสังคมจีนในช่วงก่อนการปฏิวัติว่าเป็นสังคม ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา' จนนำไปสู่การสร้างกฎแห่งสงครามการปฏิวัติเฉพาะของจีน
ในทางกลับกันกัน วิวาทะเรื่องสังคมไทยไม่ใช่สังคม ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา' จากข้อเสนอของ 'ทรงชัย ณ ยะลา' กลับสร้างผลสะเทือนต่อกระบวนการทางความคิดภายในพรรค ก่อนการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมิใช่หรือ
การอ่านสังคมจึงเป็นการอ่านลักษณะของสิ่งนั้นๆ สิ่งที่สัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ที่นำไปสู่การพิจารณาว่าควรทำอย่างไรและไม่สามารถทำสิ่งใดได้ การเข้าใจสภาพของสังคมที่แท้จริงต่างหากที่นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์
การรู้สัมพัทธภาพของสรรพสิ่งในสังคมต่างหากที่จะไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง และยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การกำหนดยุทธวิธีที่เหมาะสม อันเป็นบาทฐานที่ตั้งอยู่บนกฎอันจำเพาะสำหรับการสงครามหาใช่กฎสงครามทั่วไปไม่
สังคม ‘มลายูปัตตานี' สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมสมัยมีลักษณะแบบใด?