Skip to main content
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
 
เผยแพร่วันที่ 15 ธันวาคม 2554
ผู้ต้องหา 4 รายยื่นคำร้องต่อศาลนาทวี
ปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21
พรบ.ความมั่นคงฯ
 
นายอับริก สหมานกูด นายซุบิร์ สุหลง นายมะซับรี กะบูติง และนายสะแปอิง แวและ ราษฎรจากอำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้ยื่นคำร้องปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ตาม พรบ.ความมั่นคงฯ ต่อศาลจังหวัดนาทวีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ผู้ต้องหาระบุว่าถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนตามมาตรา 21 โดยไม่สมัครใจและไม่เข้าใจขั้นตอนของการเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหาและขอเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในคดีอาญาตามปกติเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อไป 
 
โดยในวันนี้พนักงานอัยการในฐานะตัวแทนกอรมน.ผู้ร้องแถลงขอเลื่อนการพิจารณาอ้างเหตุว่า ตามที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพและไม่ประสงค์เข้ารับการฝึกอบรมแห่งพรบ.ความมั่นคงฯ ตามคำร้องของผู้ต้องหาฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคมนั้น   พนักงานอัยการผู้ร้องได้รับทราบเรื่องดังกล่าวในวันนี้ ผู้ร้องขอนำเรื่องดังกล่าวปรึกษาผู้บังคับบัญชาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และจะแถลงให้ศาลทราบในวันที่ 23มค. 2554 เวลา 9.00 น. ศาลเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญพนักงานอัยการได้รับคำร้องจากผู้ต้องหาทั้ง 4 รายในวันนี้และได้รับทราบข้อเท็จจริงตามคำร้อง ประกอบกับทนายความฝ่ายผู้ต้องหาทั้ง 4 รายไม่คัดค้านเห็นควรให้โอกาสจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมตามที่พนักงานอัยการแถลงขอ
 
หมายเหตุ
 
เนื่องด้วยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 รายถูกจับกุมจากอำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาพร้อมผู้ต้องสงสัยรายอื่นรวมทั้งสิ้น 8 ราย  และผู้ต้องหาบางรายได้ถูกควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินฯ ตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี  แต่เหตุแห่งการจับกุมเป็นข้อสงสัยที่เกี่ยวกับพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน   จึงมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจึงนำมาสู่การตัดสินใจยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีดำที่ ฉฉ. 12-19 /2554 โดยศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินฯและมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 8 รายเมื่อวันที่ 29เมษายน 2554 เนื่องจากการใช้หมายจับพรก.ฉุกเฉินในพื้นที่ที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายพรก.ฉุกเฉิน
 
ต่อมาปรากฎว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งแปดรายได้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่ามีส่วนในการก่อเหตุระเบิดที่อำเภอเทพา เมื่อเดือนเมษายน 2554โดยผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มแรกจำนวน 4 รายได้ปฎิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น  ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มที่สองจำนวน 4 รายได้มายื่นปฏิเสธเข้าร่วมตามมาตรา21 ดังกล่าว