อัสรา รัฐการัณย์
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
แม้ 8 ปีแห่งเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4,557 ราย และบาดเจ็บ 8,096 ราย หากแต่ในวันนี้ ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่พร้อมจะลุกขึ้นทำงานช่วยเหลือเยียวยาท่ามกลางความยากลำบากนานัปการ เพราะไม่ยอมที่จะเป็นเพียง ‘เหยื่อ’ จากสถานการณ์บ่อนทำลายชีวิตปกติดังกล่าว
ทำไมต้องเยียวยา?
ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ที่ยังคงเกิดขึ้นตลอดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี และดูเหมือนจะยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดมีผู้สูญเสียมากมาย อีกทั้งยังมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า ที่ต้องให้การช่วยเหลือดูแล การมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก จึงทำให้ต้องมีการเยียวยาหรือการให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวด แล้วลุกขึ้นยืนได้
งานเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเป็นภารกิจที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมริเริ่มดำเนินการก่อนที่รัฐจะเห็นความสำคัญ หรือในอีกแง่หนึ่งคือก่อนที่รัฐจะมีจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ในปี 2548
การเยียวยาของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในช่วงแรกๆ จะไม่มีกฎเกณฑ์กติกามากมาย ใช้หลักมนุษยธรรม มีลักษณะเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากลำบาก พ่อเด็กเป็นใครไม่สนใจ แต่ว่าเมื่อตายหรือเมื่อติดคุกไปแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่คือภรรยาและลูกๆ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาเดือดร้อน พวกเขาได้รับผลกระทบ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆ กลุ่ม จึงเข้าไปเยี่ยมเยียน พูดคุย ให้กำลังใจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเยียวยา แบบไม่เลือกฝ่าย
ดังนั้น การเยียวยาขององค์กรภาคประชาสังคมในช่วงเวลาแรกๆ จึงครอบคลุมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่รัฐจะช่วย อย่างเช่นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน กลุ่มครอบครัวผู้ต้องขัง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาจิตใจที่ไปช่วยลดความคับแค้นขมขื่น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอยู่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังเน้นการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ส่งเสริมให้เขามีการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือเยียวยากันเอง ทั้งในเรื่องของอาชีพและเรื่องของจิตใจ
คุณลม้าย มานะการ คณะทำงานผู้ประสานงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกขึ้นมาทำงานเยียวยาในยุคแรกๆ ได้ให้ความสำคัญของงานเยียวยาว่า “คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความทุกข์ที่สุด กลุ่มนี้ถือว่าความทุกข์ซ้ำซ้อนมาก นี่คือเหตุผลสำคัญควรจะมีเพื่อนดูแลเขา ให้เขาได้เข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง แล้ววันหนึ่งเขาจะยืนขึ้นมาได้ แล้วอาจจะได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย”
ผู้ที่ทำงานในด้านการเยียวยาล้วนเชื่อว่า การเยียวยาเป็นเรื่องจำเป็นในพื้นที่ความขัดแย้ง หลายคนที่ทำงานด้านเยียวยาเชื่อว่า งานด้านนี้จะลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
คุณนารี เจริญผลพิริยะ นักฝึกอบรมสันติวิธี และเป็นประธานคณะทำงานประสานงานหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ภายใต้คณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “เวลาที่ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ไม่เยียวยาไม่ได้ เพราะว่าทุกฝ่ายบาดเจ็บ นอกจากทางร่างกายแล้ว มันบาดเจ็บทางจิตใจด้วย การเยียวยาทางจิตใจ มันก็จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกี่ยวเนื่องไปในอนาคตได้ด้วย”
คุณโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย ก็มีความเห็นเหมือนกันว่า “งานเยียวยาเป็นงานสันติวิธีอย่างหนึ่ง เป็นการบรรเทา ไม่ใช่แค่เฉพาะความโศก ความเศร้า แต่ว่าเป็นการบรรเทาความคับแค้น ความขมขื่นของคนที่เขารู้สึกว่าเขาถูกกระทำอย่างไร้เหตุผล และก็ยังช่วยระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย”
คุณปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ ผู้อำนวยการกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หรือ We Peace ก็แสดงความเชื่อมั่นในพลังของการเยียวยาว่า “การทำงานเยียวยา เหมือนการสร้างให้คนที่ได้รับผลกระทบ มีพลังที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น อันนั้นคือเป็นกำลังที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย”
แม้วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่า เหตุการณ์มันจะยุติลงเมื่อไหร่ แต่เชื่อเหลือเกินว่า เราทุกคนสามารถระงับการสูญเสียไม่ให้ขยายวงกว้างไปกว่านี้ ด้วยการเยียวยา และให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย งานภาคประชาสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
เสียงสะท้อนจากครอบครัวผู้สูญเสีย
“อยู่แต่ในบ้าน ไม่อยากพบใคร ไม่อยากพูดคุยกับใคร”
“เครียด แล้วก็คิดมาก ไปไหนมาไหน รู้สึกว่าไม่มีพลัง”
“ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงสามีเรา เพราะว่าสามีเราเป็นคนดี ไม่มีศัตรูกับใครที่ไหน รู้สึกแย่มาก เพราะว่าเราเป็นแม่บ้าน ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง รายได้เราก็ไม่มี รู้สึกว่าเครียดมากตอนนั้น ถึงขั้นต้องพึ่งยานอนหลับ”
“ทางด้านจิตใจมีมาก ในช่วงนั้นคือรู้สึกว่าครอบครัวตัวเอง เจอกับความสูญเสียที่ซ้ำซากมาก ใจมันหดหู่ และมองโลกในแง่ร้าย มองโลกในแง่ลบหมดเลย”
เสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับการเยียวยา
คุณดวงสุดา นุ้ยสุภาพ สูญเสียปู่และพ่อจากเหตุร้ายรายวันไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา แต่มาวันนี้ เธอได้ก้าวข้ามความเจ็บปวดและความยากลำบากจนสามารถขับเคลื่อนงานและมาช่วยกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ อีกทั้งยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสารเรื่องราวเพื่อสร้างความเข้าใจสู่ชุมชนและสังคม
ดวงสุดากล่าวว่า “ตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เครียดแล้วก็กลัวชาวมุสลิมที่อยู่ในหมู่บ้าน เรารู้สึกว่ายังมองในด้านลบอยู่ แต่พอหลังจากที่ได้รับการเยียวยาจากหลายๆ กลุ่ม ความรู้สึกด้านลบตรงนั้นมันก็เริ่มหายไป จิตใจเราสามารถดึงความรู้สึกที่มีความผูกพันสมัยก่อน ทำให้เรากับครอบครัวรู้สึกว่าได้ออกมาสู่โลกกว้างได้มีทัศนคติที่ดีต่อสังคมรอบข้าง”
“การเยียวยาที่ได้รับจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ก็มีทั้งลักษณะการเยียวยาทางด้านอาชีพ เยียวยาทางด้านจิตใจ และเข้ามาช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษาให้กับน้องๆ มันเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย”
คุณมารีนา ดือเระ เป็นอีกคนหนึ่งที่สูญเสียสามีจากเหตุร้ายรายวัน เธอบอกว่า “ถ้าสมมุติไม่มีการเยียวยา เราจะอยู่ในโลกมืด คิดคนเดียวทำคนเดียว เราก็ไม่มีที่ปรึกษา แต่เมื่อการเยียวยาเข้ามา เขาเป็นที่ปรึกษาให้เรา เขาพาเราออกสู่สังคม มองเห็นในโลกกว้างที่ว่ายังมีชีวิตอีกหลายๆ ชีวิตที่ว่าประสบกับเหตุการณ์ที่แย่กว่าเรา”
“เราจะเห็นว่าการที่เรามีเพื่อนฝูงให้กำลังใจเรา ทำให้เรามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตของเรา มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของเราต่อไป”
จากเหยื่อสุ่คนทำงานภาคประชาสังคม
วันนี้ เราจะเห็นว่ามีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบตั้งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเยียวยากันเองหลายกลุ่ม นอกจากนั้นบางคนที่เขาเข้มแข็งแล้ว ก็พร้อมที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองสู่ชุมชนสังคม
คุณสม โกไศยกานนท์ สูญเสียสามีที่เป็นตำรวจตั้งแต่ปี 2547คุณสม ตระหนักดีว่าผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ก็ล้วนมีความทุกข์ยากร่วมกัน เธอจึงก่อตั้ง “กลุ่มหัวอกเดียวกันแบ่งปันน้ำใจ” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นหญิงหม้าย โดยไม่แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย หรือแบ่งศาสนา งานที่กลุ่มทำคือสร้างอาชีพให้แก่หญิงหม้าย และออกเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน
คุณสมทำงานด้านนี้มา 5-6 ปีแล้ว เธออยากเห็นคนทำงานด้านนี้ขยายวงให้กว้างขึ้นอีก เพราะเชื่อว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออีกเยอะ เธอคิดว่าการช่วยเหลือคนอื่น ก็คือ การเยียวยาตัวเองไปด้วยในตัว
“อย่างน้อยเราก็ได้ดูแลคนรอบข้าง และมีความรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ทำ เพราะตรงนี้เราทำด้วยใจ ด้วยจิตอาสา เราไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครมาจ้าง แต่เราต้องทำด้วยใจ ซึ่งอยากจะฝากให้กับเพื่อนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ว่ามีโอกาส อยู่สบายแล้ว ไม่เดือนร้อนแล้ว น่าจะเผื่อแผ่โอกาสที่ตัวเองมีอยู่ ดูแลช่วยเผื่อแผ่คนรอบข้างด้วย เพราะว่า ยังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกเยอะมาก”
ทุกวันนี้ คุณสม ยังทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ๆ เธอได้รับมอบหมายให้เป็นประธานผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา เป็นคณะกรรมการกองทุนด้วยรักและห่วงใยของตำรวจ และยังเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้อีกด้วย
คุณแยน๊ะ สะแลแม เคยเป็นผู้ประสานงานคดีตากใบ มีลูกชายต้องโทษในคดีตากใบ (อัยการได้มีคำสั่งถอนฟ้องไปแล้ว) และยังสูญเสียสามีไปจากเหตุร้ายรายวันเมื่อปี 2550
ก๊ะแยน๊ะ บอกว่า “แรกๆ เราไม่สนใจเลย เพราะว่าเรารู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบมา เราก็คิดถึงเรื่องที่ผ่านมา เราก็ไม่ยอมรับเขามาเยียวยาเรา หลังจากนั้น หลายๆ เดือนมา หลายๆ ปีมา เราก็รู้สึกว่า เออ ดีนะ ที่เขามาเยียวยาเรา ทำให้เราได้ประสบการณ์ ได้เยียวยาคนอื่นอีก เราจึงมีแรงบันดาลใจมากที่อยากจะช่วยคนยากลำบาก หรือว่าคนจนๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น สามีเขาถูกยิง แล้วสรุป 3 ฝ่ายว่าคดีส่วนตัว คนเหล่านี้ไม่ได้รับเงินเยียวยา หรือว่าทุนการศึกษาเด็ก”
ทุกวันนี้ก๊ะแยน๊ะยังคงทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงหลายคดี และเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
จากวันนั้นถึงวันนี้ ก๊ะแยน๊ะเป็นผู้รู้จักของบุคคลมากมาย มีรางวัลเป็นเครื่องการันตีการทำงานและความเสียสละ ดังเช่นในปี 2550 ก๊ะแยน๊ะได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนในปี 2552 ได้รับรางวัลพลเมืองคนกล้า
ท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เรายังมีคนพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก นั่นเพราะเราไม่ยอมจำนน ไม่ยอมพ่ายแพ้ และไม่ยอมที่จะเป็นเพียงเหยื่อจากสถานการณ์
สถิติข้อมูลความสูญเสีย ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รายงานสรุปตัวเลขความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,557 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,910 ราย นับถือศาสนาอิสลาม 2,520 ราย ไม่ระบุศาสนา 127 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 8,096 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,040 ราย นับถือศาสนาอิสลาม 2,555 ราย และไม่ระบุศาสนา 501 ราย ตัวเลขนี้ไม่รวมเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิตแล้วก็บาดเจ็บสูงมากกว่าหนึ่งหมื่นสองพันกว่าราย ถ้าจะว่าไปแล้ว กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบน่าจะสูงมากกว่านั้น หากนับจำนวนคนที่อยู่ในครอบครัวของผู้เป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ภรรยา ลูก หรือญาติพี่น้อง ผู้ได้รับผลกระทบอาจสูงมากถึงประมาณ 50,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากเว็บไซต์ deepsouthwatch.org ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหล่านี้นั้นต้องขาดที่พึ่งและผู้นำในการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะภรรยาและลูกของผู้ที่เสียชีวิต
สำหรับข้อมูลตัวเลขเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีทั้งสิ้น 4,455 คน แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 1,691 คน จังหวัดยะลา 1,027 คน จังหวัดนราธิวาส 1,586 คน และจังหวัดสงขลา 150 คน
ส่วนตัวเลขสตรีหม้ายที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีทั้งสิ้น 2,295 ราย แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 849 ราย จังหวัดยะลา 657 ราย จังหวัดนราธิวาส 714 ราย และจังหวัดสงขลา 75 ราย
สถิติคดีความมั่นคง นับถึง เดือนกรกฎาคม 2554 มีคดีอาญารวม 87,147 คดี เป็นคดีความมั่นคง 8,043 คดี เฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 6,133 คดี คิดเป็นร้อยละ 76.25 รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,910 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.75 จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,372 คดี คิดเป็นร้อยละ 17.06 ผู้ต้องหาหลบหนี 538 คดี การดำเนินคดีความมั่นคงจำนวน 8,043 คดี
ในชั้นพนักงานสอบสวน สั่งงดสอบสวนมากถึง 5,473 คดี คิดเป็นร้อยละ 68.05 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง 1,606 คดี คิดเป็นร้อยละ 19.97 สั่งไม่ฟ้อง 228 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.83 อยู่ระหว่างดำเนินคดี 736 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.15
ชั้นอัยการมีคดีอยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 7,307 คดี สั่งงดสอบสวน 4,959 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.08 สั่งฟ้อง 676 คดี หรือร้อยละ 11.33 สั่งไม่ฟ้อง 334 คดี หรือร้อยละ 5.60 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,338 คดี หรือร้อยละ 18.31
ชั้นศาล พิพากษาแล้ว 262 คดี จำเลย 484 คน ลงโทษ 143 คดี จำเลย 243 คน คิดเป็นร้อยละ 54.58 ของคดีทั้งหมดที่พิพากษาแล้ว ยกฟ้อง 119 คดี จำเลย 241 คน คิดเป็นร้อยละ 45.42
ในจำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เป็นโทษประหารชีวิต 21 คดี จำเลย 21 คน จำคุกตลอดชีวิต 40 คดี จำเลย 56 คน จำคุก 50 ปีลงมา 82 คดี จำเลย 166 ข้อมูลจากเว็บไซด์ศูนย์ข่าวอิศรา
จากการศึกษา ข้อมูลสถิติคดีและและประมวลผลคดีความมั่นคง ภายใต้โครงการการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลคดีความมั่นคงที่ผ่านการพิพากษาของศาลชั้นต้นระหว่างปี 2553 ถึงต้นปี 2554 จำนวน 100 คดี ข้อสรุปที่สำคัญคือในจำนวนคดีที่ศึกษาทั้งหมดนั้น มีถึง 72 คดีที่ศาลสั่งยกฟ้องด้วยเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ มีเพียง 28 คดีที่ถูกพิพากษาลงโทษ