Skip to main content

หมายเหตุ  : เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จัดเสวนา-เวทีคลังสมองเครือข่ายแก้ไขปัญหาภาคใต้  ‘5 ปี ไฟใต้ : สงคราม : ความรู้ : ความสับสน :...แล้วไงต่อ?' ณ โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 


                                                            (ภาพ : ตูแวดานียา มือรีงิง)
000
  

ความสัมพันธ์/ความรู้สึกของคนในพื้นที่

"เราพยายามแก้ปัญหาแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาการแบ่งแยกในใจคน ซึ่งรู้สึกแบ่งแยกกันไปเรียบร้อยแล้ว"

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

นักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

มุสลิมชายแดนใต้ในความรู้สึกของชุมชนไทยเสมือนจริง'

วัดความรู้สึกจากการเข้าไปดู 9 เว็บไซต์ซึ่งมีกระดานสนทนา จากกรณีที่มีการตั้งกระทู้พูดถึงยิงรถตู้โดยสารจากหาดใหญ่ไปเบตง มีคนไปสนทนาข่าวในนี้ 1,317ข้อความภายใน วัน สิ่งที่เห็นชัดคือความโกรธเกลียด คนแรกที่แสดงความเห็นคือผู้ก่อการร้าย แต่หลายข้อความไม่ระบุว่าคือใคร แต่หลายข้อความระบุว่าผู้ก่อการร้ายคือมุสลิม ความรู้สึกโกรธเกลียดจึงเกิดกับคนนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อโจรถูกจับจึงรู้สึกสะใจ และก็ยังมีความรู้สึกเห็นใจไทยพุทธที่เสี่ยงอันตราย ไม่ได้รับการป้องกันใดๆ  เขารู้สึกว่าคนไทยพุทธไม่ได้มีอภิสิทธิ์เท่ากับคนมุสลิม จึงไม่จำเป็นต้องไปสมานฉันท์อะไรกับคนมุสลิมอีกแล้ว

บางส่วนแสดงความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ และโมโห คือรู้สึกต่อรัฐบาล ทำไมไม่ทำอะไรสักอย่าง รู้สึกว่าเข้าข้างคนมุสลิมมากกว่าคนไทยพุทธ นอกจากความรุนแรงที่ทำให้รู้สึกโกรธเกลียดแล้ว มีปัจจัยเสริมคือ ผู้มาแสดงความเห็นในเว็บบอดร์ดเห็นว่าคนมุสลิมไม่รักชาติ และยังรู้สึกไม่เข้าใจศาสนาอิสลามว่าทำไมมาแบ่งแยกดินแดนหรือมาทำร้ายคนศาสนาอื่น

ข้อเสนอและทางออกที่ปรากฏในเว็บไซต์คือการใช้ความุรนแรงตอบโต้ความรุนแรง เช่น ให้ประหารชีวิต หรือลงโทษอย่างรุนแรง ที่น่ากลัวคือการใช้ศาสนามาล้อเล่น ส่วนความเห็นสันติวิธีมีอยู่บ้าง แต่ความรู้สึกแบ่งแยกกันมีเรียบร้อยแล้ว คือรู้สึกว่าเราคือคนไทย พวกแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่คนไทย แบ่งคนออกเป็นขั้วตรงข้าม เหมารวม ประทับตรา เป็นพวกไม่รักชาติ ไม่สำนึกบุญคุณ เป็นพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา...พวกมันสมควรตาย

มันแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่แยกแยะความรู้สึกของผู้คน การมองเป็นขั้วตรงข้ามจึงทำให้มองไม่เห็นว่าเราเป็นคนเหมือนกัน

นอกจากนั้น ความเห็นแสดงความรู้สึกว่าคนไทยพุทธในพื้นที่ไม่มีปากมีเสียง แต่พอไปดูในเว็บบอร์ดกลับพบว่าไม่มีเสียงคนมุสลิมเลย สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ เขามองว่าคนไทยพุทธ ทหาร ตำรวจ เป็นเหยื่อความุรนแรง ทั้งที่ข้อมูลงานวิจัยของอาจารย์ศรีสมภพระบุว่าการตายมีจำนวนเท่าๆกัน อาจเป็นเพราะข่าวสารมันบดบัง ทำให้มองไม่เห็นการตายของคนมุสลิม

เราพยายามแก้ปัญหาแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาการแบ่งแยกในใจคน ซึ่งรู้สึกแบ่งแยกกันไปเรียบร้อยแล้ว

 

มุมมองต่อผลการศึกษา

"การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ดึงมาจากเว็บไซต์ใช้การตีความซึ่งอาศัยพื้นฐานความรู้สึกมากเกินไป มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือการตีความหรือการอธิบายความหมายเกิดจาการอธิบายของผู้วิจัย"

ผศ.ปิยะ กิจถาวร

นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

วิธีการของบทความเหล่านี้ คำถามแรกคือ ความรู้สึกที่อ้างถึงในการศึกษาเป็นความสนใจส่วนบุคคลของผู้วิจัยหรือไม่ และเรื่องสอง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ดึงมาจากเว็บไซต์ใช้การตีความซึ่งอาศัยพื้นฐานความรู้สึกมากเกินไป มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ การตีความหรือการอธิบายความหมายเกิดจาการอธิบายของผู้วิจัย

 

"เป็นการนำเสนอความรู้สึกที่ดีมาก แต่บางข้อความอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา"

บาบออับดุลอาซิส ยานยา

ประธานชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนใต้

เป็นการนำเสนอความรู้สึกที่ดีมาก แต่บางข้อความอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา เช่น ความเห็นที่ว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมด ความรู้สึกอย่างนี้เป็นเรื่องน่ากลัว และไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา และจะทำให้ปัญหาบานปลายเกินไป ในมิติที่ดี เราต้องเก็บความรู้สึกเหล่านี้ไว้ก่อน ไม่น่าจะเผยแพร่ความรู้สึกเหล่านี้ให้ใครฟัง โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม ถ้ารุนแรงขนาดนี้อาจเกิดความรู้สึกรุนแรงเข้าไปอีก

ขอแก้ความหมายของคำว่า "ซีแยร์" และ "มลายู" คิดว่าจากโบราณมา ในสังคมมุสลิมที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ไม่ใช่เรื่องภาษาหรือชาติพันธุ์อย่างเดียว แต่มีความหมายเกี่ยวพันเรื่องศาสนาด้วย การใช้คำทั้งสองคำถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีปัญหาอะไร แต่หมายถึงไทยพุทธและมลายูมุสลิมเท่านั้น จึงอยากขอให้รัฐและเจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องพยายามหาทางกลับสู่ความดั้งเดิมของสังคม หันกลับไปหาความดั้งเดิมของภาษาที่ใช้ เช่น ภาษามลายู ชื่อหมู่้บ้าน เพราะบางทีรัฐในอดีตเปลี่ยนชื่อจากภาษามลายูไปแปลงเป็นภาษาไทย จึงเสนอให้มีการเอาภาษาดั้งเดิมมาใช้ เขียนเป็นภาษาไทยไม่เป็นไร แต่ต้องเป็นการนำภาษามลายูมาใช้

 

"นี่คืองานหลักหรือยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม "

อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์

ปัญญาชนท้องถิ่น

หลายครั้งที่พูดกันจะพูดถึงยุทธศาสตร์ของเรา แต่ไม่พูดถึงยุทธศาสตร์ของเขา แต่เราจะเอายุทธศาสตร์ของเราไปแก้ยุทธศาสตร์ของเขา อย่างงานของอาจารย์แพร ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่สนใจ แต่ว่านี่คืองานหลักหรือยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม  

 

000

การซ่อมสร้างหลังความรุนแรง การลดผลกระทบจากความรุนแรง งานเยียวยา'

"จากข้อมูลและแนวโน้มจากความบาดเจ็บในเชิงปริมาณดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ต้องดูรายละเอียดในเชิงคุณภาพของความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ด้วย"

นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย

หน่วยระบาดวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การที่สถานีอนามัยที่อำเภอกะพ้อถูกเผา เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ทำงานด้านสาธารณสุขต้องปรับตัวจากที่เคยคิดว่าปลอดภัยจากสถานการณ์ไฟใต้ เมื่อสถานการณ์มันงวดเข้า มือที่ช่วยเหลือเยียวยาก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เช่นเดียวกัน ทำให้เริ่มต้นถอดองค์ความรู้ด้านการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยจากต่างประเทศมาปรับใช้และทบทวนข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่

ปัญหาที่พบคือ ข้อมูลขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ มีความซ้ำซ้อนแต่ไม่ครบถ้วน ยากต่อการจัดการเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวม ทำให้ยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและ ม.สงขลานครินทร์พัฒนาระบบเฝ้าระวัง VIS ขึ้นมาโดยรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บเสียชีวิตตั้งแต่ ม.ค. 2550 เพื่อให้เอื้อต่อการนำไปใช้ควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ พัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินและช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสีย

เมื่อมีคำถามว่าเหตุการณ์ไฟใต้ดีขึ้นจริงหรือ จากข้อมูลแนวโน้มเชิงปริมาณในภาพรวมดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ต้องดูรายละเอียดในเชิงคุณภาพของความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ด้วย น่าสังเกตว่าผู้บาดเจ็บที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้สูงอายุก็มีจำนวนไม่น้อย ในขณะที่สตูลแม้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ก็ยังเฝ้าระวังด้วยและใช้ข้อมูลนี้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

 

"ศวชต. จะทำหน้าที่ในการถักทอสายสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนจากผู้รับให้กลายเป็นผู้ให้ให้ได้"

ดร.เมตตา กูนิง

ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชยแดนใต้ (ศวชต)

การซ่อมสร้างหลังความรุนแรง การลดผลกระทบจากความรุนแรง งานเยียวยา'

จากการทำงานในปี 2549 มีกลุ่มสตรีได้รับผลกระทบหรือกลุ่มหญิงม่าย 310คน จึงได้ทำหน้าที่จัดเวทีเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกัน

นอกจากนี้ ยังได้ทำงานกับกลุ่มเด็กผู้ได้รับผลกระทบ ในปี 2547 -2550 กลุ่มนี้เฉพาะจังหวัดปัตตานีมี 109 คน แต่บางคนต้องเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บางครอบครัวไม่ต้องการให้เข้าเยี่ยม มีเด็ก 60 % พบพ่อแม่ถูกทำร้ายต่อหน้าต่อตา กลุ่มนี้มักมีสุขภาพจิตที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไป เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับกรมสุขภาพจิตเพื่อเยียวยาจิตใจ ในปี 2551 ได้ทำงานกลุ่มผู้พิการและทุพลภาพและลงพื้นที่เยี่ยมแล้ว 72ราย ทั้งนี้ ศวชต. จะทำหน้าที่ในการถักทอสายสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนจากผู้รับให้กลายเป็นผู้ให้ได้

 

"สิ่งที่ควรเกิดขึ้นใน ปีต่อไปคือจะต้องสร้างกระบวนการเยียวยาเชิงคุณภาพให้ได้"

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ

เยียวยาไฟใต้ ข้อเสนอเพื่อก้าวข้ามจากเชิงปริมาณสู่คุณภาพ'

ตัวเลขด้านสาธารณสุขที่นำเสนอซ่อนเรื่องราวเชิงคุณภาพไว้ เพราะการเยียวยาหลายกรณีทำเพียงลดทอนความดือดร้อนเฉพาะหน้า การเยียวยาต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบลุกขึ้นยืนได้ และมีโอกาสใหม่เข้าไปให้ แต่สิ่งเหล่านี้ไปไม่ถึง

การเยียวยาปัจจุบันเน้นเชิงปริมาณ เยียวยาทางการเงินเป็นหลัก เน้นความเท่าเทียมกันซึ่งเป็นสิ่งที่ถูก แต่การเยียวยามิติอื่นแม้มีบ้างแต่ไม่เป็นตัวนำเพราะมีหลายส่วนที่ควรได้รับการเยียวยาด้วยแต่ไม่ได้เข้าระบบ นอกจากนี้ กลุ่มที่ทำด้านการเยียวยาเป็นส่วนที่ภาครัฐไม่ได้ทำ

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นใน ปีต่อไปคือจะต้องสร้างกระบวนการเยียวยาเชิงคุณภาพให้ได้และต้องไม่อยู่ในกำกับของรัฐ อาจเป็นการรับงบประมาณจากทุกภาคส่วนมาทำกระบวนการเชิงคุณภาพ ซึ่งนักจิตวิทยาในพื้นที่รู้ว่าใครควรทำการเยียวยาอย่างไร มิฉะนั้นความคิดว่าลูกจะต้องไปฆ่าคนที่ฆ่าพ่อจะไม่ถูกลบล้างไป  

 

การวิจารณ์ผลการศึกษาเรื่องการซ่อมสร้างหลังความรุนแรง

"ไม่มีการบริการแบบ one stop service ทำให้เกิดความยากลำบาก"

พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา

ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตเขต 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ในฐานะลูกหลานของผู้ได้รับผลกระทบ นายเด่น โต๊ะมีนา ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเยียวยาจากรัฐไทย และได้เงินช่วยเหลือด้านการศึกษา แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล การเยียวยาก็หยุดไป ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าการเยียวยาในปัจจุบันดีกว่าในสมัยก่อนมาก แต่รัฐบาลต้องไปให้ไกลกว่าการเยียวยาเชิงปริมาณ นโยบายการทำงานของรัฐบาลแต่ละยุคต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจแก้ไขปัญหาภาคใต้แค่ไหน

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้เสียหายที่ต้องการการเยียวยาต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เพราะแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบคนละหน้าที่ ไม่มีการบริการแบบone stop service ทำให้เกิดความยากลำบาก อีกทั้งรัฐก็ยังขาดการติดตามประเมินผลการดำเนินการเยียวยา ควรจะต้องมีการพัฒนาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักเกณฑ์การทำงาน

ปัญหาที่สำคัญอีกกรณีหนึ่งคือขาดเจ้าภาพรับผิดชอบในการดำเนินการเยียวยา ที่ผ่านมาต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในพื้นที่ แต่กลับไม่ค่อยมีเวทีเปิดให้เอ็นจีโอในพื้นที่แสดงความคิดเห็น และอีกปัญหาหนึ่งคือการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิประโยชน์ในการเยียวยา มีข้อมูลและเอกสารจากทางรัฐบาลออกมามากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้สิทธิของตัวเอง จึงต้องฝากให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามต่อด้วย ส่วนข้อเสนอส่วนตัวคิดว่าต้องทำให้การเยียวยามีความหมายมากกว่าการแจกของและให้เงินเท่านั้น