เผยแพร่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555
(See english version click here)
จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555
เรื่อง ขอให้สืบสวนสอบสวนกรณีคนหายล่าสุด นายนาซือลัน ปิ
เรียน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สิ่งที่ส่งมาด้วย รายชื่อบุคคลสูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 35 ราย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลนิธิฯได้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชายขอบให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงขอเรียนเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีดังต่อไปนี้
1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมและยินดีที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้แสดงเจตจำนงที่จะดำเนินมาตรการต่างๆดังนานาอารยประเทศในการต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการที่จะทำให้อาชญากรรมดังกล่าวเป็นความผิดอาญาโดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) หลังจากที่เคยยอมรับภาระผูกพันทางวาจาต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลของ ฯพณฯ ดำเนินการตามภาระผูกพันดังกล่าว มูลนิธิใคร่ขอเรียนว่า อาชญากรรมการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและถือเป็นอาชญากรรมสากลนั้น ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และพื้นที่สี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ทั้งก่อนและหลังกรณีสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตรเมื่อปี พ.ศ.2547 รวมทั้งกรณีที่เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 นายอิบรอเฮง กาโฮง และนายดุลหามิมะแร ที่ได้หายไปหลังจากที่ไปติดต่อขอรับเรือจากค่ายตำรวจตระเวนชายแดนในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการร้องเรียนถึงหลายหน่วยงานให้สืบสวนสอบสวนกรณีนี้แต่จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าและไม่มีข้อมูลว่าราษฎรทั้งสองคนอยู่ที่ใด ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายร้องเรียนต่อ ฯพณฯ ในเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 แต่ก็ยังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าแต่อย่างใดเช่นกัน กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกบังคับให้สูญหาย ได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ หรือกระทั่งนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล หน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง หรือดำเนินการอย่างขาดความโปร่งใส ลูบหน้าปะจมูก โดยเฉพาะเมื่อกรณีเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นอกจากนี้แล้วรัฐก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นใดต่อครอบครัวของผู้สูญหายนอกจากเมื่อประมาณปี 2550 รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวผู้สูญหายประมาณ 16 กรณีเท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นการเยียวยาที่เหมาะสมและเพียงพอ ยังมีครอบครัวผู้สูญหายอีกหลายรายที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลยจากรัฐทั้งๆที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ได้รับการบันทึกไว้และร้องเรียนต่อทางราชการไปแล้วอย่างน้อย 36 กรณี
2. ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 นายนาสือลัน ปิ ได้ถูกลักพาตัวไปจากร้านน้ำชาใกล้กับบ้านของตน เลขที่ 99/1หมู่ที่ 5 ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยมีชาย 2 คนแต่งกายชุดทหาร มีอาวุธประจำกาย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ลงมาจากรถและได้เข้าไปหานายนาสือลันในร้านน้ำชาและได้ถามว่าชื่อนาสือลัน ใช่ไหม นายนาสือลันตอบว่า ใช่ หลังจากนั้นก็ได้นำตัวนายนาสือลันไปที่รถ แล้วชายทั้งสองคนดังกล่าวได้กดศีรษะและบังคับให้นายนาสือลันขึ้นไปบนรถและนำตัวออกไป ปัจจุบันครอบครัวยังไม่ทราบชะตากรรมของนายนาสือลันแต่อย่างใด แม้จะได้แจ้งความไว้กับพนักงานตำรวจในพื้นที่ให้สืบสวนสอบสวนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าใดๆ มูลนิธิฯจึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ท่านได้โปรดเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งกับปัญหาการไม่สามารถเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่ออาชญากรรมบังคับบุคคลให้สูญหายหรือเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจกับการก่ออาชญากรรมดังกล่าว การปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลนอกจากเป็นการละเลยในการแก้ไขเยียวยาการกระทำผิดแล้ว ยังถือว่ารัฐได้ละเลยหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย หากรัฐปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก โดยที่ไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดได้แล้ว ก็ไม่อาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากถือว่ารัฐไม่เต็มใจที่จะดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด และถือว่ารัฐได้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมบังคับให้บุคคลสูญหายเสียเอง และจะถือได้ว่าประเทศไทยได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของตนที่มีอยู่ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
4. การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาน และการที่รัฐละเลยโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดลอยนวลพ้นผิดได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นยิ่งก่อให้เกิดความโกรธแค้นและความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการเพื่อให้รัฐสภาให้สัตตยาบันอนุสัญญาอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และกำหนดให้อาชญากรรมดังกล่าวเป็นความผิดอาญาตามกฎหมาย ทั้งขอให้รัฐบาลของ ฯพณฯ ดำเนินมาตรการทุกประการที่จำเป็นเพื่อยุติการก่ออาชญากรรมบังคับบุคคลให้สูญหาย เยียวยาเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อโดยการนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษและให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวดังกล่าว ทั้งในด้านการเงิน จิตใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมโดยด่วนด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม