Skip to main content
 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
เชาวเลิศ ล้อมลิ้ม
สวัสดิ์ ไหลภาภรณ์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 
 
ความรุนแรงที่ยึดเยื้อเรื้อรังกับผลในทางเศรษฐกิจการเมือง
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านห้วงเวลานานถึง เกือบ 8 ปี หรือโดยประมาณ 94 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2554 เมื่อเวลาผ่านไป “ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง” ก็แสดงอาการให้เห็น เพราะมีความต่อเนื่องของความรุนแรงทุกวัน ทุกเดือน ประกอบด้วยทั้งการก่อเหตุด้วยการยิงสังหารผู้คนกลุ่มต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การก่อเหตุด้วยการวางระเบิดในที่สาธารณะและระเบิดโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การโจมตีฐานที่ตั้งของทหารตำรวจหรือกองกำลังอาสาสมัคร การปะทะกันด้วยกองกำลังอาวุธในการปราบปรามจับกุม ปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งการสังหารผู้บริสุทธิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ
 
สถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล่าสุดของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี สรุปในเดือนพฤศจิกายน 2554 ชี้ให้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบเจ็ดปีกว่าหรือ 94 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุความไม่สงบรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,265 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันจำนวนประมาณ 13,207 ราย แยกเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 4,943 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บรวม 8,264 ราย
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (2011) ได้วิเคราะห์ว่าการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบดูเหมือนจะลดลงตามที่รัฐพยายามอธิบาย ถ้านับจากจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ระดับความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มลดลง แต่ทว่า นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีความพยายามก่อเหตุความไม่สงบในลักษณะที่ดำรงรักษาเป้าหมายเอาไว้ และยังทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวมีระดับความรุนแรงพุ่งสูงมากขึ้นหลายๆ ครั้ง เป็นช่วงๆ
 
ดังนั้น ในระยะหลังนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีลักษณะแบบแผนความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและกระโดดสูงขึ้นเป็นบางครั้ง สะท้อนให้เห็นภาพตัวแทนของสถานการณ์ความรุนแรงอันไม่มีวันจบสิ้น ความไม่มีเสถียรภาพ สภาพการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ขึ้นๆ ลงๆ แกว่งไกวสูงต่ำตลอดมา 
 
 
ภาพที่ 1: เปรียบเทียบเหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนกับจำนวนผู้บาดเจ็บรายเดือนมกราคม 2547 – สิงหาคม 2554 [ที่มา: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (2011)]
 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นพลวัตแห่งความต่อเนื่องของสถานการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อการบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐในระยะยาว นักวิชาการด้านความขัดแย้ง เช่น Christopher R. Mitchell (Berghof Handbook Dialogue Series, 15) มองว่าความขัดแย้งที่ซับซ้อนและยึดเยื้อยาวนานว่าจะนำไปสู่จุดที่ความสัมพันธ์ของความขัดแย้งจะมีความเกาะเกี่ยวต่อเนื่องกันเหมือนลูกโซ่ จนเกิดปฏิสัมพันธ์ความรุนแรงที่ซ้ำซาก เป็นความรุนแรงที่แลกเปลี่ยนตอบโต้กันจนกลายเป็นพลวัต และมีความเสถียร ถ้าความรุนแรงยึดเยื้อดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไป อาจจะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การต่อชีวิตตนเองของความขัดแย้ง (conflict perpetuation)
 
สอดคล้องกับที่ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาด้านความขัดแย้ง Dennis Sandole (1999) ได้อธิบายให้เห็นว่า ความขัดแย้ง (ที่ยึดเยื้อเรื้อรัง) มักจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่มาจากสาเหตุเบื้องต้นน้อยลง แต่จะกลายเป็นการติดกับดักความต่อเนื่องของความรุนแรงในแบบโต้ตอบกัน (action-reaction sequence) ความขัดแย้งและความรุนแรงในวันนี้ เกิดจากความขัดแย้งที่เกิดเมื่อวานนี้และตอบโต้กันไป
 
สภาพดังกล่าวนำมาสู่โจทย์ของการศึกษาในครั้งนี้ เพราะความสงสัยที่ว่าความรุนแรงที่ยึดเยื้อเรื้อรังจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร? มากน้อยเพียงใด? โดยเฉพาะจากการที่รัฐบาลทุ่มเงินนับเป็นแสนล้านบาทในรอบ 7 ปีกว่าที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรัพยากรและงบประมาณดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายหรือไม่และอย่างไร? นอกจากนี้แล้ว นโยบายการพัฒนาในเขตพิเศษดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่อย่างไร? นี่คือคำถามการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สะท้อนความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการเมือง/ความขัดแย้ง ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนา
 
กรอบและวิธีการวิจัย
 
การวิจัยครั้งนี้มุ่งจะเพื่อศึกษาผลกระทบของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจชุมชน โดยประเมินข้อมูลภาวะทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และความยากจนในครัวเรือน รวมทั้งภาวะทางสังคมของประชาชนอย่างละเอียด และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และความยากจนในครัวเรือน รวมทั้งภาวะทางสังคมของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยมีขอบเขตด้านเนื้อหาเป็นการศึกษาและประเมินผลกระทบของสถานการณ์ความไม่สงบกับภาวะทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และความยากจนในครัวเรือน รวมทั้งภาวะทางสังคมของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาข้อเสนอแนะในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในระยะต่อไป
 
ในกระบวนการศึกษาวิจัย ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลด้านประชากร โดยใช้กลุ่มตัวอย่างการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) และวิธีการสุ่มตัวอย่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการศึกษาโดยใช้ระยะเวลาในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล 8 เดือนแรกของปี 2554 การดำเนินการได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากข้อมูลเอกสาร ข้อมูลการสำรวจแบบสอบถาม ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม กล่าวในทางวิธีวิทยากาวิจัย ผู้วิจัยได้วิธีการผสมผสานเทคนิคเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งในทางมหภาคและจุลภาค
 
ภาพรวมลักษณะภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจและประชากร
 
          การสำรวจตัวอย่างประชากรในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 3,032 คน ผู้วิจัยพบลักษณะประชากรตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นลักษณะทั่วไปของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเด่นชัด  เช่น ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 74 ส่วนประชากรที่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 25 อีกด้านหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน มีประมาณร้อยละ 47 พูดภาษาไทยร้อยละ 30 พูดภาษามลายูและภาษาไทยร้อยละ 21 สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาไทย
 
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่พูดภาษาไทยก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเมื่อรวมคนที่พูดภาษาไทยและพูดภาษามลายูกับภาษาไทยก็มีจำนวนใกล้เคียงกันกับกลุ่มที่พูดภาษามลายูอย่างเดียว นอกจากนี้ เมื่อระบุทักษะในการใช้ภาษาจริงๆ แล้ว การมีทักษะในการพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยกลับเป็นสิ่งที่ถูกระบุจากกลุ่มผู้ตอบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 85 รองลงมาคือทักษะในการพูดภาษามลายูร้อยละ 49 ส่วนผู้ที่สามารถมีทักษะการอ่านและเขียนภาษามลายูมีอยู่ประมาณร้อยละ 47 
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมทวิภาษาซึ่งเป็นจุดโดดเด่นในทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าเมื่อมองจากภายนอก ดูเหมือนว่าคนมลายูมุสลิมส่วนมากจะพึงพอใจกับการใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาในครอบครัว และในชีวิตประจำวันตามลักษณะอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ก็มีกลุ่มคนเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถและทักษะการใช้ภาษาไทยในระดับสูงด้วยเช่นกัน
 
ทักษะในการใช้ภาษาไทยดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าทักษะการใช้ภาษามลายูด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองสามารถพูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้ อันเป็น “ทักษะภาษา” ในระดับที่สูงกว่าการใช้ภาษามลายูซึ่งคนจำนวนมาก ระบุว่ามี “ทักษะการพูด” ได้เท่านั้น พลวัตทางสังคมวัฒนธรรมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาต่อไป
 
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านภูมิหลังการศึกษา คนส่วนใหญ่ยังจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 44 ชั้นมัธยมศึกษาร้อยละ 21 มัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 20 ส่วนปริญญาตรีประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลในส่วนของโครงสร้างอาชีพของคนในพื้นที่ซึ่งสะท้อนมาจากกลุ่มตัวอย่าง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์และประมงประมาณร้อยละ 57 แต่กลุ่มที่มีอาชีพข้าราชการซึ่งรวมเอาทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน รัฐวิสาหกิจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักการเมืองท้องถิ่นประกอบกันเป็นร้อยละ 9 ในขณะที่กลุ่มขายเครื่องอุปโภค ขายสินค้าบริโภคและธุรกิจขนาดย่อมรวมกันประมาณร้อยละ 11 ส่วนพนักงานเอกชนและรับจ้างประมาณร้อยละ 7 นอกนั้นเป็นอาชีพอื่นๆ
 
          ข้อมูลด้านอาชีพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าในส่วนของขนาดทางเศรษฐกิจ สัดส่วนของมูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจสาขานอกภาคเกษตรจะมีขนาดใหญ่กว่าภาคเกษตรกรรม แต่แรงงานภาคเกษตรกรรมยังเป็นคนส่วนใหญ่และมีจำนวนมากกว่า กระนั้นก็ตาม แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมก็กำลังอยู่ในสภาวะขยายตัว โดยเฉพาะในแรงงานรับจ้าง และภาคการบริการ
 
นอกจากนี้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมที่กำลังขยายตัวมากเป็นพิเศษคือการจ้างในภาครัฐบาลซึ่งเกิดจากการขยายตัวของกองกำลังและบุคลากรในภาคของรัฐโดยการขยายกำลังพลในหมู่คนท้องถิ่น เช่น ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครและบัณฑิตอาสาสมัคร ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างแรงงานและอาชีพที่กำลังขยายตัวเช่นเดียวกันคือภาคการค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม นี่อาจจะเป็นพลวัตทางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าจับตามองในการวิเคราะห์ต่อไปเช่นกัน
 
          นอกจากลักษณะทางเศรษฐกิจสังคมและประชากรแล้ว ข้อมูลการสำรวจยังสะท้อนภาพทั่วไปในทางการเมือง ความรุนแรง และปัญหาที่สำคัญอื่นๆ ในทางนโยบายสาธารณะด้วย โดยเมื่อพิจารณาที่ผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบ จะเห็นได้ว่าในด้านของประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กลุ่มผู้ที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ หรือหายตัวไปจากปัญหาความไม่สงบมีมากถึงร้อยละ 25 ซึ่งนับมาเป็นจำนวนไม่น้อย แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 7 ปีกว่านั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อคนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีผลในทางจิตวิทยาสังคม อีกด้านหนึ่ง ประเด็นปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดยาเสพติดก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สะท้อนออกมาโดยมีคนที่ระบุว่ามีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชนจำนวนมากและมากที่สุดประมาณร้อยละ 65 ของผู้ตอบทั้งหมด
 
 
ภาพที่ 2: ประสบการณ์ของประชากรกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ
 
 
 
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชนโดยทั่วไป ปัญหาที่ถูกระบุมากที่สุดก็คือการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งมีน้ำหนักคะแนนสูง ร้อยละ 73 รองลงมาคือปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 48 ปัญหาความยากจนมีน้ำหนักคะแนนประมาณ ร้อยละ 39 และปัญหาการก่อความไม่สงบถูกระบุประมาณร้อยละ 22 หรือเป็นลำดับที่ 4
 
แต่ในอีกด้านหนึ่งอิทธิพลของปัญหาความไม่สงบก็มีน้ำหนักอย่างมาก และมีความหมายที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน เพราะมันมีผลกระทบอย่างแรงในเรื่องการทำมาหากินและอาชีพ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่คนจำนวนค่อนข้างมากยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 59-60 ของผู้ตอบบอกว่าปัญหาความไม่สงบมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างมากถึงมากที่สุด
 
 
ภาพที่ 3: ปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชน
 
 
 
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่ผลกระทบทางด้านนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ คนจำนวนมากประมาณร้อยละ 70 บอกว่าพอใจและพอใจมากต่อการที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณกว่า 63,000 ล้านบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อให้ประชาชนประเมินกลยุทธ์และแผนงานของแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปี 2553 ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด จากคะแนนเต็ม 10 ปรากฏว่าผลการประเมินอยู่ในระดับกลางคือประมาณ 5.9
 
แต่เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจระหว่างชนชั้นนำหรือผู้มีตำแหน่งในชุมชนกับประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำรงตำแหน่งในชุมชน กลุ่มชนชั้นนำมีแนวโน้มพึงพอใจมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คะแนนความพอใจของกลุ่มผู้นำเท่ากับ 6.08 ส่วนผู้ที่ไม่มีตำแหน่งมีคะแนนความพึงพอใจเท่ากับ 5.89 ความแตกต่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
 
ตารางที่ 1: เปรียบเทียบระดับความพึงพอใจต่อกลยุทธ์และแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (คะแนนเต็ม 10)

 
เปรียบเทียบระดับความพึงพอใจต่อกลยุทธ์และแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (คะแนนเต็ม 10)
 
N
Mean
Std. Deviation
 
ท่านคิดว่ากลยุทธ์และแผนงานของแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จชต.ประสบความสำเร็จเพียงใด
 
3029
5.98
1.780
 
หลังจากท่านเข้าร่วมโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จชต. ท่านมีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพียงใด
 
3018
5.95
2.099
 
 
 ภาพที่ 4: ปัญหาความไม่สงบมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงใด? (ร้อยละ)
 
 
 
 
ภาพที่ 5: ความพึงพอใจต่อการที่รัฐทุ่มเงิมากกว่า 60,000 ล้านบาท มาพัฒนาพื้นที่ (ร้อยละ)
 
 
การที่ผู้นำมีความพึงพอใจต่อแผนและโครงการพัฒนาฯของรัฐมากกว่าประชาชนทั่วไป สอดคล้องกับข้อมูลที่สะท้อนทัศนะที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไม่ประสบความสำเร็จ?
 
จากปัญหาหลายๆ ปัญหาที่ถูกระบุโดยประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม ปัจจัยที่ถูกระบุว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือ ผู้นำชุมชนจัดสรรผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ให้กับเครือญาติและพวกพ้องของตัวเองก่อน คะแนนมากที่สุดร้อยละ 24
 
ปัจจัยประการที่สอง คือ การคอรัปชั่นของข้าราชการ/นักการเมือง คะแนนร้อยละ 19 ปัจจัยที่สาม คือ การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ได้คะแนนร้อยละ 13 สาเหตุประการที่สี่ คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในโครงการและการวางแผน คะแนนร้อยละ 11 ปัจจัยที่ห้า คือ โครงการขาดความต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 10
 
ดังนั้น ภาพสะท้อนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการที่โครงการพัฒนาไม่ได้ผลเท่าที่ควรเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในการกระจายทรัพยากรที่กลุ่มชนชั้นนำในชุมชนมักจะได้ผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาของรัฐมากกว่าประชาชนทั่วไป ประกอบกับปัญหาที่ประชาชนมองว่าเกิดความไม่โปร่งใสในการทำงานของข้าราชการและการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพทำให้ความสัมฤทธิผลของโครงการรัฐมีปัญหามาก
 
 
ตารางที่ 2: สาเหตุที่ทำให้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไม่ประสบความสำเร็จ 

 
สาเหตุที่ทำให้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไม่ประสบความสำเร็จ
 
N
%
Std. Deviation
ผู้นำชุมชนจัดสรรผลประโยชน์จากโครงการต่างๆให้กับเครือญาติและพวกพ้องของตัวเองก่อน
3031
24
.429
การคอรัปชั่นของข้าราชการ/นักการเมือง
3031
19
.426
การบริหารไม่มีประสิทธิภาพ
3031
13
.348
ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในโครงการและการวางแผน
3031
11
.312
โครงการขาดความต่อเนื่อง
3031
10
.294
ปัญหาการก่อความไม่สงบทำให้พัฒนาไม่ได้
3031
09
.285
โครงการไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน
3031
08
.275
เจ้าหน้าที่ทำงานให้พ้นไปเป็นวันๆ
3031
04
.197
เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
3031
02
.132
เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ในงานที่ทำ
3031
02
.201
 
          อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของประเด็นปัญหากลับอยู่ตรงที่ว่า แม้จะมองว่านโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ประชาชนก็ยังแสดงความต้องการให้รัฐแก้ปัญหาที่สำคัญประมาณสาม/สี่เรื่อง ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการว่างงาน ความยากจน ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวหรือระหว่างกลุ่มในชุมชน
 
ผลกระทบของการโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐต่อประชาชนในด้านจิตวิทยาสังคมนั้นจึงค่อนข้างจะผสมผสาน สะท้อนทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ โดยเฉพาะผลต่อความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการทำงานในด้านการพัฒนาและในด้านความมั่นคงของรัฐจึงปรากฏให้เห็นว่า องค์กรที่ถูกจัดลำดับความไว้วางใจสูงคือรัฐบาล (อภิสิทธิ์) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน แต่ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการอำนวยความเป็นธรรมนั้นจะยังคงอยู่ที่ผู้นำศาสนาเช่นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด รัฐบาล และศูนย์ทนายความมุสลิม
 
          ความสำเร็จของโครงการพัฒนายังต้องดูจากการนำไปนโยบายหรือโครงการไปสู่การปฏิบัติ (Policy implementation) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นเจ้าร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนา เมื่อถามเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนให้น้ำหนักต่อโครงการของหน่วยงานเรียงตามลำดับ คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลหรือ อ.บ.ต. เป็นต้น กรมการปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข/โรงพยาบาล/อนามัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น เกษตร ประมง ป่าไม้ เป็นต้น และ ศอ.บต.
 
ข้อมูลนี้แสดงว่าหน่วยงานที่เข้าไปทำกิจกรรมอย่างมาก คือ ฝ่ายปกครองท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง ที่ตามมาก็คือ หน่วยงานรัฐฝ่ายสาธารณสุขก็เข้าไปทำกิจกรรมมากเช่นกัน สิ่งที่สะท้อนตามมาอีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อถามว่าหน่วยงานรัฐหน่วยใดที่เข้ามาพบปะพูดคุยและช่วยแก้ปัญหาชาวบ้านในชุมชน คำตอบที่ได้ เรียงตามลำดับความสำคัญระดับสูงที่ประชาชนเลือกก็คือ สาธารณสุข หมอ พยาบาล และอนามัย ฝ่ายปกครอง จังหวัด อำเภอ อบต. หรือ อบจ. หรือ เทศบาล และฝ่ายทหาร
 
 
ภาพที่ 6: การเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ร้อยละผู้ตอบ)
 
 
 
เพื่อให้เห็นรูปธรรมของตัวโครงการพัฒนาที่ลงไปในพื้นที่จำนวนมากมายจากหลายหน่วยงาน ประชาชนถูกถามให้ระบุตัวโครงการที่ตนเอง “เคยได้เข้าร่วมกิจกรรม” ด้วยตนเองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โครงการที่ประชาชนระบุว่ามีประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ โครงการคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้าน (พนม.) ประมาณร้อยละ 58 โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (พนพ.) ร้อยละ 53 โครงการเกี่ยวกับสาธารณสุขในชุมชน ร้อยละ 51 โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์/โอท๊อป ร้อยละ 29 โครงการพัฒนาหรือส่งเสริมการปลูกพืช (ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา) ร้อยละ 28 โครงการส่งเสริมหรือพัฒนาศักยภาพด้านปศุสัตว์ ร้อยละ 27
 
จากภาพรวมข้อมูลทั้งหมด สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนข้างมากยังเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และโดยทั่วไปประชาชนมีความพอใจระดับปานกลางต่อโครงการพัฒนาของรัฐในรอบปีที่ผ่านมา แม้จะมองเห็นจุดอ่อนในเรื่องการกระจายโอกาสการได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาความโปร่งใสและปัญหาการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา การประเมินความสำเร็จของกลยุทธ์และแผนงานของแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษจึงอยู่ในระดับปานกลาง ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไปนัก
 
เมื่อประเมินว่าหลังจากได้เข้าร่วมโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษแล้ว ทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง ไม่พอใจมากนัก แต่กลุ่มชนชั้นนำในพื้นที่ที่ได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนามากกว่าก็มีแนวโน้มว่าจะพอใจมากกว่าประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้น ผลกระทบของการโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐต่อประชาชนในด้านจิตวิทยาสังคมนั้น มีทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจคือหน่วยงานที่ลงทำงานโครงการพัฒนาในระดับชุมชนค่อนข้างมากก็คือการปกครองท้องถิ่น ฝ่ายปกครองและหน่วยงานสาธารณสุข
 
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานพัฒนาภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และฝ่ายทหาร แม้จะมองว่านโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ประชาชนก็ยังแสดงความต้องการให้รัฐแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่น ยาเสพติด การว่างงาน และความไม่สงบ เมื่อประเมินระดับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ โครงการที่คนเข้าร่วมกิจกรรมมากก็คือโครงการในระดับชุมชน เช่น พนม. และ พนบ. โครงการเกี่ยวกับสาธารณสุข โครงการอาชีพเสริมเช่นโอท๊อป และโครงการเกี่ยวกับอาชีพหลักทางการเกษตรหรือปศุสัตว์
 
โครงการพัฒนาในพื้นที่พิเศษกับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและความเป็นธรรม
 
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาในปัจจุบันของรัฐบาลในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การวิจัยได้อาศัยกรอบของแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2552-2555 เพื่อประเมินผลกระทบนโยบายในแง่เศรษฐกิจมหภาค แผนดังกล่าวได้จัดทำขึ้นภายใต้คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) โดยยึดนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ประกอบกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวโน้มสถานการณ์ ศักยภาพ ภูมิสังคมที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่โอกาส และข้อจำกัดการพัฒนาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ มาใช้ในการกำหนดกรอบนโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์ มาตรการ และบูรณาการแผนงานโครงการที่สำคัญให้ตอบสนองต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาความไม่สงบ เสริมสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั่วถึง อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข
 
เป้าประสงค์ของนโยบายดังกล่าว คือ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เสริมสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นต่อรัฐในการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรมและรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน พัฒนาคุณภาพคน และยกระดับมาตรฐานบริการสังคม และฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน และพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศ เพื่อนบ้านและนานาชาติ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาในพื้นที่พิเศษดังกล่าว การวิจัยได้กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดเพื่อประเมินสภาพทางเศรษฐกิจไว้ 5 ตัวหลัก คือ
 
1.   การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต
 
ในด้านการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งในช่วงสิ้นปี 2547 อัตราการเจริญเติบโตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการทุ่มงบประมาณทางการทหารเพื่อควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกัน อัตราการเจริญเติบโตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่ายังคงรักษาการขยายตัวเอาไว้ได้แต่ก็เป็นการขยายตัวในอัตราที่น้อยลง
 
แต่ในปี 2550 อัตราการเจริญเติบโตของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ลดลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิตโดยเฉพาะน้ำมัน ความหวั่นเกรงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และการยกระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้
 
ในปี 2551 อัตราการเจริญเติบโตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตของภาคใต้ยังคงรักษาอัตราการเจริญเติบโตได้ในระดับเดิม ในปี 2552-2553 น่าสังเกตว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวในระดับคงที่ประมาณปีละ 2% เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มขึ้นและเริ่มมีการใช้แผนพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
ภาพที่ 7: การเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีภาคใต้และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2543 – 2553 [ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ]
 
 
 
สถานการณ์เฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตภาคการเกษตรจากที่เคยขยายตัวในระดับสูง กลับขยายตัวอยู่ในระดับต่ำสลับกับการหดตัว หรือการเติบโตในอัตราลบ แต่ภาคเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอยู่ก็คือสาขานอกภาคเกษตรซึ่งก็หมายความถึงกิจกรรมในภาครัฐหรือรายจ่ายการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขอันเป็นกิจกรรมในภาครัฐ
 
 
ภาพที่ 8: แสดงผลิตภัณฑ์มวลรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปรียบเทียบระหว่างภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ปี พ.ศ.2543-2553 (ราคาคงที่ ปี 2531) [ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ]
 
 
 
 
ภาพที่ 9: แสดงสัดส่วนผลิตภัณฑ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ปี พ.ศ.2543-2552 (ราคาคงที่ ปี 2531) [ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการคำนวณ]
 
 
 
อาจสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาจากภาพของเศรษฐกิจมหภาคการที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรักษาระดับการขยายตัวอยู่ได้เล็กน้อยและไม่ถึงกับภาวะชะงักงันหรือล่มลงจากวิกฤตการณ์สถานการณ์ความไม่สงบและความผันผวนของเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น วิกฤตราคาน้ำมันสูงขึ้น เป็นต้น สาเหตุหลักก็คือรายจ่ายภาครัฐ ดังนั้น แม้เศรษฐกิจจะยังอยู่ในสถานภาพที่คงขยายตัวได้แต่ผลในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเศรษฐกิจหลักหรือโครงสร้างที่แท้จริงในการผลิตการเกษตรไม่ได้ขยายตัวไปด้วยดังจะได้เห็นในการวิเคราะห์ต่อไป
 
2.   การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน
 
การที่ระบบเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายตัวเล็กน้อยและไม่ถึงกับภาวะชะงักงันหรือล่มลงเพราะรายจ่ายของภาครัฐ ทำให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการขยายตัวภาคเกษตรติดลบ ในขณะที่การผลิตทางเศรษฐกิจสาขานอกภาคเกษตรจะมีขนาดใหญ่กว่าภาคเกษตรกรรม สาขาที่ใหญ่ในนอกภาคเกษตรกรรมคือการขายปลีกและขายส่ง การบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันประเทศและการศึกษา การอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม
 
แต่ควรสังเกตด้วยว่า แรงงานภาคเกษตรกรรมยังเป็นคนส่วนใหญ่และมีจำนวนมากกว่า แรงงานนอกภาคเกษตรกรรม แต่แรงงานนอกเกษตรกรรมอยู่ในสภาวะขยายตัว โดยเฉพาะในแรงงานรับจ้าง และภาคการบริการ นอกจากนี้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมที่กำลังขยายตัวมากเป็นพิเศษคือการจ้างงานในภาครัฐบาลซึ่งเกิดจากการขยายตัวของกองกำลังและบุคลากรในภาคของรัฐโดยการขยายกำลังพลในหมู่คนท้องถิ่น มูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจสาขานอกภาคเกษตรจึงมีขนาดใหญ่กว่าภาคเกษตรกรรมเล็กน้อย สาขาที่ใหญ่ในนอกภาคเกษตรกรรมคือการขายปลีกและขายส่ง การบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันประเทศและการศึกษา การอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม
 
ภาพที่ 10: แสดงอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของแต่ละโครงสร้างย่อยในการผลิตนอกภาคเกษตรเปรียบเทียบระหว่างปี 2543-2546 กับ ปี 2547-2553 [ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการคำนวณ]
 
 
 
ดังนั้น ข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่าในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะทำได้เล็กน้อยจากการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น หากขาดการลงทุนของภาครัฐ เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะล้มละลายและวิกฤตมากกว่านี้
 
3.   การพัฒนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
การลงทุนด้านคมนาคมและการขนส่ง ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอาจจะเป็นฐานทางเศรษฐกิจภายในและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่การลงทุนด้านคมนาคมขนส่งทำให้การค้าภายในขยายตัวในระดับท้องถิ่นมากกว่า โครงสร้างแรงงานและอาชีพที่กำลังขยายตัวคือภาคการค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดย่อมซึ่งอาจจะเป็นพลวัตทางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ความรุนแรงที่น่าจับตามอง แต่ในด้านความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อบ้านนั้นยังไม่อาจจะประเมินผลได้เพราะโครงการก่อสร้างโครงสร้างด่านชายแดนกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
 
4.   การอำนวยความเป็นธรรม
 
สาเหตุที่ทำให้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไม่ประสบความสำเร็จ จากปัญหาหลายๆปัญหาที่ถูกระบุโดยประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม ปัจจัยที่ถูกระบุว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือการที่ผู้นำชุมชนจัดสรรผลประโยชน์จากโครงการต่างๆให้กับเครือญาติและพวกพ้องของตัวเองก่อน มีน้ำหนักคะแนนมากที่สุด ปัจจัยประการที่สอง คือ การคอรัปชั่นของข้าราชการ/นักการเมือง ปัจจัยที่สาม คือ การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ สาเหตุประการที่สี่ คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในโครงการและการวางแผน ปัจจัยที่ห้า คือ โครงการขาดความต่อเนื่อง
 
แม้รัฐจะพยายามเป็นอย่างมาก แต่การที่โครงการพัฒนาของรัฐไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควรเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในการกระจายทรัพยากรที่กลุ่มชนชั้นนำในชุมชนมักจะได้ผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาของรัฐมากกว่าประชาชนทั่วไป ประกอบกับปัญหาที่ประชาชนมองว่าเกิดความไม่โปร่งใสในการทำงานของข้าราชการและการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพทำให้ความสัมฤทธิผลของโครงการรัฐเป็นปัญหามาก และมีผลต่อความเป็นธรรมในการดำเนินโครงการของรัฐ
 
พิจารณาในแง่ความชอบธรรมของรัฐ (State’s legitimacy) ปัญหาในกระบวนการดังกล่าวมีผลทั้งสองทาง ทางหนึ่งซึ่งเป็นข้อดีก็คือประชาชนมองว่ารัฐยังมีความชอบธรรมในการจัดการปัญหาหลายปัญหาที่สำคัญอยู่ แต่ข้อเสียก็คือประชาชนมีความรู้สึกแฝงเร้นที่ยังไม่ไว้วางใจรัฐอยู่ไม่น้อยเช่นกันเนื่องจากโครงการไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งไว้ การพัฒนาจึงยังไปถึงประชาชนไม่เต็มที่
 
ความรู้สึกในด้านความเป็นธรรมอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความชอบธรรมของรัฐในสถานการณ์ความไม่สงบ ในที่นี้จะพิจารณาในด้านความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผลปรากฏว่า ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อกระบวนการยุติธรรมในระดับที่ต่ำ ขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่จำเป็น รวมทั้งขาดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และสิทธิของประชาชนให้กับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
 
กล่าวในด้านความเชื่อมั่นต่อการได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐและกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และไม่มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติงานอย่างเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ความไม่ชัดเจนในบทบาทการอำนวยความยุติธรรมของรัฐยังแสดงให้เห็นในการลำดับความสำคัญของหน่วยงานรัฐที่เข้ามาทำงานในชุมชนที่ประชาชนเป็นผู้ประเมินซึ่งหน่วยงานเกี่ยวกับความยุติธรรมของรัฐอยู่ในระดับท้ายๆ ต่างจากศูนย์ทนายมุสลิมที่ได้รับการยอมรับในลำดับสูง
 
ภาพที่ 11: แผนภูมิแสดงร้อยละของประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
 
 
 
 
ภาพที่ 12: ท่านมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยมากน้อยเพียงใด?
 
 
 
 
ภาพที่ 13: สัดส่วนประชาชนที่เชื่อว่าตนเองจะได้รับความเป็นธรรม หากร้องทุกข์หรือแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ)
 
 
 
 
ภาพที่ 14: ระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจหน่วยงาน องค์กร และผู้นำ (คะแนนเต็ม 5)
 
 
 
5.   การพัฒนาคุณภาพคน
 
การพัฒนาคุณภาพคนก็ไม่บรรลุเป้าหมายเช่นกัน ในด้านอนามัยของมารดาและทารก จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราการตายของทารกและมารดาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับภาคมาก และค่าสถิติของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ด้านสุขภาพร่างกายของประชาชน อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ของประชากรมีค่าสถิติต่ำกว่าระดับภาค แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปี 2552 มีค่าใกล้เคียงกับระดับภาค ด้านสุขภาพกายและจิตของประชาชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีค่าสถิติต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับภาค
 
และเมื่อพิจารณาในทุกตัวชี้วัดแล้วพบว่ามีแนวโน้มจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านความผิดปกติทางอารมณ์ การทำร้ายร่างกายตนเอง และการฆ่าตัวตาย ด้านทรัพยากรบุคคลด้านการแพทย์และการพยาบาลมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับภาคอย่างมาก การพัฒนาคนจีงยังไม่บรรลุเป้าหมาย ข้อมูลด้านการศึกษาก็ชี้ให้เห็นว่า จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากร และอัตราการจบการศึกษาภาคบังคับของประชากรพื้นที่ยังมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับภาคมและระดับประเทศมาก
 
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดในการศึกษาหลายตัวก็ไม่ผ่านเกณฑ์ของประเทศ เช่น คนอายุ 15-60 ปีเต็มอ่านเขียนภาษาไทยได้และคิดเลขอย่างง่ายได้ เด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี แต่ไม่ได้เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายฯ และเด็กอายุ 6-15 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เป็นต้น ปัญหาการหย่าร้างและการมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาจากรากฐานของสังคมที่ควรจะมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกิจกรรมในชุมชน
 
แนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ในครัวเรือน และภาวะทางสังคม
 
          เมื่อดูจากตัวชี้วัดทั้ง 6 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐแม้จะพยุงสภาพทางเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ก็ไม่สามารถยกระดับการลงทุน การฟื้นฟูและพัฒนาคนและสังคมตามเป้าหมายได้ เนื่องจากโครงการย่อยต่างๆ ไม่สามารถเพิ่มรายได้อย่างเป็นระบบ ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนและไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณรัฐในการป้องกันราชอาณาจักร ตัวกลางทางการเงิน บริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ ตามลำดับ
 
          ทั้งหมดล้วนเป็นเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร แต่ในภาคการเกษตรกลับมีอัตราเพิ่มเป็นลบ แสดงว่าแผนพัฒนาล้มเหลว อัตราการขยายตัวช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแค่ปี 2547 แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีทรัพยากรจากรัฐจาก 3 ส่วนนี้ เศรษฐกิจสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าหยุดหรือลดรายจ่ายภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้น่าจะล้มลงในทันที
 
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องทำให้เงินลงทุนของรัฐลงมาถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตที่แท้จริง คือ ภาคการเกษตรกรรม ซึ่งมีกำลังแรงงานส่วนใหญ่ให้ได้เพื่อให้มูลค่าภาคการเกษตรดีดตัวสูงขึ้น ในตอนนี้ภาคการผลิตเกษตรฟุบ ต้องทำให้ขยายตัวในอัตราบวกให้ได้
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกาะติดในพื้นที่ ยังสามารถลงทำงานในพื้นที่ได้พอสมควร และชาวบ้านยังยอมรับในการทำงานระดับหนึ่ง แม้จะยังมีความระแวงแต่มีพลวัต จึงต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและโครงการพัฒนาต่างๆ เงินงบประมาณจึงลงมาถึงข้างล่างและมีพลังสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาต้องมีส่วนร่วม มีการตรวจสอบและประเมินผลอย่างจริงจัง
 
          ข้อเสนอทางเลือกในระดับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ในโครงการผลไม้ โครงการปาล์ม โครงการยาง และโครงการอุตสาหกรรมฮาลาล มีทางเลือก 3 ตัวแบบคือ
 
แนวทางที่หนึ่ง แนวทางที่เน้นความสำคัญของชุมชนอย่างเต็มที่ โดยรัฐต้องส่งเสริมการสร้างกลุ่มชุมชน กลุ่มการลงทุน/สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อลงทุนทางการเกษตรแบบเน้นรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อดำเนินการแบบมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
 
แนวทางที่สอง สร้างรูปแบบรัฐวิสาหกิจในการเกษตรกรรม กล่าวคือรัฐต้องให้การสนับสนุนชาวบ้านทำงานในองค์กรพัฒนาที่เป็นของรัฐจนกว่าจะมีผลผลิตมากพอและมีตลาดค้าขายผลผลิตมากพอที่จะขยายตัวในภาคเอกชน
 
แนวทางที่สาม อาจจะใช้รูปแบบผสมในแบบที่หนึ่งและแบบที่สอง เริ่มจากการรวมกลุ่ม มีการสร้างแกนนำ สร้างโรงงานหรือสร้างนิคม โดยรัฐสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือให้เงินทุนสนับสนุน ก้อนแรก เป็นแนววิสาหกิจชุมชน สร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วม ป้องกันปัญหาเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบและทรัพย์สินขององค์กรถูกทำลายหรือถูกเผาโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีการประเมินร่วมกัน
 
แนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสวนผลไม้ คือต้องสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้านอาหาร การมีรายได้ที่เพียงพอกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีสังคม และชุมชนที่ดี มีการบริหารจัดการองค์กรของเกษตรกรที่เป็นระบบมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ มีการบริหารการจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน รู้จักใช้ภูมิปัญญาแก้ปัญหาและลดการพึ่งพาจากภายนอกชุมชน ประชาชนต้องการให้ทางหน่วยงานได้มีการส่ง เจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพผลไม้ อย่างต่อเนื่องและทั่วถึงทุกชุมชน มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ เพื่อที่เกษตรกรที่สนใจพัฒนาสวนผลไม้ ให้ได้มาตรฐานที่มีคุณภาพและได้ราคา เพื่อยกระดับชุมชนให้ดีขึ้น และการจัดอบรมชาวบ้านในพื้นที่และอาจจะนำไปศึกษาดูงานบ้างและนำความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับปรุงให้ดีขึ้น มีการเปิดตลาดกลางภายในอำเภอ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การประกันราคาผลผลิตให้มีราคาเป็นกลาง
 
ส่วนแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาปศุสัตว์คือ ควรให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นในการนำเสนอว่าสัตว์ปีกที่สมควรจะแจกมาเลี้ยงในพื้นที่สามจังหวัดนั้นควรเป็นพันธุ์ประเภทไหน และราคาหรือซื้อได้ที่ไหน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานควรมีระดับการศึกษาทางด้านปศุสัตว์โดยตรง ควรดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง มีอาสาสมัครทางเกษตรด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน และควรมีการอบรมความรู้แก่ชาวบ้านอย่างทั่วถึง อบรมเรื่องการประเมินผลให้กับอาสาสมัครปศุสัตว์ (อสม.สัตว์ปีก/เกษตร) มีเบี้ยเลี้ยงและค่าใช้จ่าย เพิ่มการมีส่วนร่วม ร่วมวางแผน
 
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับโครงการอุตสาหกรรมฮาลาล มีข้อเสนอว่าควรให้มีการจัดตั้งกองทุนฮาลาลเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ที่มอบเงินให้กองทุนและกองทุนจะมอบให้ประชาชนบริหารจัดการเงินเองโดยที่รัฐไม่เข้าไปก้าวก่าย และการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนหรือกิจการในครัวเรือนต้องพิจารณาถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพื้นที่และชุมชนเพื่อให้ทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับวิถีของชาวบ้านและชุมชน จากนั้นจึงสังเคราะห์เป็นตัวแบบที่จะนำร่องหรือเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ เข้ามาศึกษา การพัฒนาสังคมและชุมชนต้องสอดคล้องกับบริบท หากฝืนสภาพจะไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์หรือบรรลุผลอย่างไม่ยั่งยืนเมื่อสิ้นสุดโครงการการ และอาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชนที่มีมาแต่เดิมด้วย
 
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ความไม่สงบอันเป็นปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิตและการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวในระดับต่ำ ภาคอุตสาหกรรมที่หยุดชะงัก แต่การขยายตัวเของเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะในภาคการบริหารราชการของรัฐกลับมีผลอย่างสำคัญต่อการพยุงมิให้เศรษฐกิจมหภาคหยุดชะงักหรือล่มสลาย ระบบเศรษฐกิจโดยรวมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรักษาระดับการขยายตัวอยู่ได้เล็กน้อยและไม่ถึงกับภาวะชะงักงันหรือล่มลงจากวิกฤตการณ์สถานการณ์ความไม่สงบและความผันผวนของเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น วิกฤตราคาน้ำมันสูงขึ้น เพราะสาเหตุหลักก็คือรายจ่ายภาครัฐ แต่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การสร้างและอำนวยความยุติธรรมก็ไม่บรรลุเป้าหมายเช่นกัน สภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองจึงอยู่ในความไร้เสถียรภาพและเปราะบางสภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความมั่นคงของรัฐในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้