Skip to main content

 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

          เก็บความคิดจากเวทีเสวนา ‘สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ’ จัดโดยโครงการวิชาการสาธารณะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี ระหว่างแนวคิด ‘ความมั่นคง’ ที่มุ่งหมายปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยรัฐกับจิตวิญญาณแห่ง ‘สิทธิเสรีภาพ’ อันเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ยังคงไม่ตกผลึกบนพื้นที่แห่งการที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างร้อนแรง ขอบเขตและความเหมาะสมควรอยู่ตรงไหนกันแน่


          ศูนย์เฝ้าระวังชายแดนใต้ ตอนที่ 2  ขอนำเสนอบทวิเคราะห์และข้อเสนอจาก 2 นักวิชาการในสถานการณ์ไม่ปกติ ลองอ่าน..เพราะมันอาจเป็นทางกลับสู่สถานการณ์ปกติที่ทุกคนปรารถนา   


000

“จุดหมายของสิทธิมนุษยชน คือ การนำไปสู่สิ่งที่ระบบประชาธิปไตยให้คำมั่นกับสัญญากับประชาชนก็คือการให้คนส่วนใหญ่ปกครองตนเองได้ เพราะฉะนั้นการพูดถึงเรื่องสิทธิในสังคมปัจจุบันต้องนำไปสู่การให้อำนาจการปกครองของคนส่วนใหญ่”


รศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์

          พยายามนึกว่าสถานการณ์ไม่ปกติคืออะไร ตามความเข้าใจของผม รัฐปกติ คือ ระบบการปกครองหรือระบบสังคมต่างๆ มันเป็นไปตามกลไกของมัน เหมือนติดเครื่องแล้วเดินไปเรื่อยๆ คนที่ขับก็เพียงแต่ทำตามกลไกของมัน ทีนี้ถ้ารัฐไม่ปกติต้องตรงข้าม คือ ระบบโดยรวมโดยเฉพาะระบบการเมืองการปกครองไม่ดำเนินไปตามกลไกที่มันควรจะเป็นและใช้เครื่องภายนอกเข้ามาขับเคลื่อนแทน หลักใหญ่ๆ ก็คือระบบการปกครองไม่สามารถดำเนินระบบกฎหมายตามปกติได้ ซึ่งรัฐต้องมีระบบกฎหมายมิฉะนั้นต่างประเทศไม่รับรอง และกฎหมายต้องออกมาตามเตนารมย์ของกฎหมายของคนส่วนใหญ่

          ถ้าเกิดสภาวะรัฐไม่ปกติ สิ่งที่กระทบกระเทือนแน่ๆ คือระเบียบทางสังคม ปกติเรามักปฏิบัติตามสามัญสำนึก หรือพิธีการที่ทำกันมา รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายที่อยู่สงบและเจริญขึ้นมาได้ คิดว่าอาศัยความเข้าใจร่วมกัน มากกว่าเข้าใจหรือทำตามกฎหมาย สังเกตว่ารัฐไหนที่คนมีความสุขเขามักอยู่ด้วยมีความเข้าใจของเขาที่เหมือนคนอื่น

          ปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในความคิดเก่าพูดถึงเรื่องอำนาจที่คนสามารถปฏิบัติกิจกรรมหรือผลประโยชน์บางอย่าง รัฐก่อนรัฐสมัยใหม่ สิทธิๆ เป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ชาวบ้านหรือไพร่ไม่ต้องมีเพราะเป็นผู้รับความสงบสุข ผลประโยชน์ต่างๆ เมื่อผู้ปกครองเป็นธรรมเขาจะให้เรา

          แต่แนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนเมื่อเกิดระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่บอกว่าอำนาจปกครองหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนใหญ่หรือคนธรรมดาไม่ใช่เป็นของผู้นำส่วนน้อยแบบแต่ก่อน แต่ในหลายสังคมที่พัฒนามาตอนหลังและพัฒนาเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแนวคิดนี้ยากที่จะแปรมาเป็นรูปธรรมหรือแนวทางปฏิบัติ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนจะคุ้นกับสิทธิในแนวคิดเก่า คือ เป็นอำนาจของคนที่ปกครอง

          เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมากมันจึงเท่ากับไปท้าทายอำนาจของผู้ปกครอง แต่สำหรับอเมริกาตีโจทย์นี้แตกตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีชนชั้นศักดินา แต่เป็นพวกชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางที่อพยพจากยุโรปเข้าไป มันเหมือนสร้างข้อทดลองอันใหม่ที่ทุกคนอ้างอธิปไตยได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือ การกระจายอำนาจให้คนทุกคนสู้กัน ต่อรองกัน ผลสุดท้ายที่ออกมาจากสิทธิคือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่วิธีแบบอเมริกาทำยากมากในประเทศอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และอีกหลายอย่าง

          หลายคนมองสิทธิว่าคือการเรียกร้อง แต่ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งที่เรียกว่าสิทธิมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ เป็นกระบวนการการต่อรองอำนาจในการปกครองและอำนาจในการถูกปกครอง ในระบบไพร่ หรือระบบทาส สิทธิของไพร่หรือทาสคือการที่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าอยู่กับนายเก่าแล้วไม่ได้รับความสุขก็มีโอกาสหรือสิทธิในการย้ายนายไปหานายคนอื่น พอนานเข้าผู้ปกครองที่มีอำนาจจะพบว่าถ้าไม่ให้สิ่งที่เขาต้องการเขาก็ปฏิวัติและถูกต่อต้าน ชุมชนและสังคมไม่สงบ ผลประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เต็มที่ นายที่ฉลาดก็จะให้ในสิ่งที่ต้องการ

          ในปัจจุบัน จุดหมายของสิทธิมนุษยชน คือ การนำไปสู่สิ่งที่ระบบประชาธิปไตยให้คำมั่นกับสัญญากับประชาชนก็คือการให้คนส่วนใหญ่ปกครองตนเองได้ เพราะฉะนั้นการพูดถึงเรื่องสิทธิในสังคมปัจจุบันต้องนำไปสู่การให้อำนาจการปกครองของคนส่วนใหญ่

          รูปธรรมตัวอย่างในพื้นที่โดยมองจากผู้ถูกจับและผู้ต้องหา ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย เรื่องที่เกิดขึ้นมันมีความไม่ปกติตรงที่กระบวนการ แม้จะมีบัญญัติไว้แต่ขั้นปฏิบัติเดินไปหรือไม่ไปบ้างหรือไปอย่างช้าๆ ซึ่งความล่าช้าทางกฎหมายมันไม่ได้เกิดเฉพาะที่นี่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการต่อสู้ถ้าฝ่ายรัฐมีจุดหมายอันหนึ่งและไม่เห็นด้วยกับผู้ต้องหา การทำให้เรื่องมันช้าภายใต้กระบวนการตามกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการทำให้วุ่นวาย ถ้าคนบริสุทธิ์จริงๆ ก็ไม่อยากเข้าไปอยู่ในกระบวนการเพราะสูญเสียเสรีภาพทุกอย่างไป

          ในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในอเมริกา ช่วงปี 1956 ที่มีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นผู้นำการต่อสู้ เขาสู้ด้วยเครื่องมือเดียวกันกับอำนาจรัฐคือการใช้กฎหมาย เขาเรียน ศึกษากฎหมาย ยอมให้ถูกจับ ชาวบ้านมีการตั้งกลุ่มศึกษากฎหมาย สุดท้าย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็ถูกจับ นี่ขนาดในอเมริกาที่มีความเป็นธรรมมากกว่าประเทศใดในโลก คนผิวดำก็ถูกปฏิบัติไม่ต่างจากคนใน 3 จังหวัด 

          เมื่อ มาร์ติน ถูกจับในคุกแล้วเขียนจดหมายออกมา มีประโยคหนึ่งว่า “ความยุติธรรมที่ถูกทำให้ล่าช้า ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม ” หมายความว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรมโดยรัฐ เพราะฉะนั้นก็คือปัญหาที่กระบวนการนี้เกิดความไม่ปกติขึ้น

          ในกรณีที่ว่า 400 กว่าคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้อง แต่ไม่มีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องร้อง ในขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่ามีการลงโทษ แต่ทำไมจึงไม่เกิดคดีหรือมีการฟ้องร้อง หรือมีแต่ไม่การบอกให้รู้ นี่คือข้อมูล 2 ชุด ซึ่งตรงข้าม เป็นปัญหาความไม่ปกติที่ค่อนข้างเยอะในพื้นที่ที่ทำให้มองปัญหาไม่เหมือนกัน

          ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่ามีขบวนการเพื่อแบ่งแยกดินแดน ฟังทั้งหมดแล้วถ้ารัฐไทยไม่รู้สึกอะไรก็คงประสาทแข็งมาก คิดว่าโดยรูปการทั้งหมดเหมือนกับวิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ใช้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ กองกำลัง พคท.ไม่สามารถทำได้ถึงครึ่งในสิ่งที่ปรากฏใน 3 จังหวัดตอนนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหารบ้านที่ไม่ขึ้นกับกองกำลังหลัก การจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนรัฐในหมู่บ้าน ซึ่งถ้าทำถึงขั้นนี้ได้ ในแง่สงครามประชาชนมันคือขั้นสุดท้าย คือขั้นยึดอำนาจรัฐ ใช้ชนบทล้อมเมืองกำลังจะยึดอำนาจแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเป็นสงครามกลางเมืองจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริ

          แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง กฎอัยการศึกหรือกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินมันก็จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้าเป็นสงครามขั้นสุดท้ายใครจะยอม และเรื่องการสร้างสันติ สิทธิในระบบกฎหมายมันก็คงจะต้องเอาไว้พูดวันหลัง เพราะไฟกำลังไหม้บ้านหรืออยู่ในห้องนอนไม่มีทางที่จะพูดกันได้เรื่องสิทธิ

          ถ้าหากมุมมองของรัฐเชื่อเรื่องการจัดตั้งเป็นขบวนการแบบนี้จริง ผมคิดว่าโลกทัศน์หรือทัศนะในการมองปัญหา มองเรื่อง มองคน มันถูกแบ่งด้วยเส้นแบ่งที่ชัดมากจนไม่มีสิ่งที่เรียกว่าต่อรอง สิทธิ ความเป็นธรรมต่างๆ มันต่อรองไม่ได้เพราะมันหมายถึงการแพ้ – ชนะ ความตาย – เป็น

          ความคิดอันนี้ คำตอบอย่างเดียวคือต้องทำลาย คำถามคือมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าพูดอย่างนี้มันเหมือนสมัยนาซีที่มองเป็นศัตรูทั้งหมดและทำลายได้ เขาคิดขนาดนั้นเลยหรือไม่ ผมว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคนก็ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร ไม่รู้จักกันเลยเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสงครามแบบสงครามเย็น อเมริกา รบโซเวียต ไม่ต้องรู้จักตัวคนโซเวียตก็เกลียดกันได้เพราะถูกฝังอุดมการณ์ในหัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์

          ทำไมแนวคิดของการมองปัญหากลายเป็นความแตกต่างที่ตรงกันข้าม ไม่มีทางประนีประนอมได้ วิธีการมองฝั่งตรงข้ามแบบเป็นวิทยาศาสตร์ มีมูลเหตุเหมือนหมอวินิจฉัยโรค มองว่าขบวนการเหมือนมะเร็งก็ต้องทำลายมะเร็ง แต่คำถามคือปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องของเชื้อโรคที่ต้องทำลายหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ไวรัสที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้นก็หายไปได้

          การคิดว่าต้องเปลี่ยนความคิดใน 30 วัน คิดว่าการเปลี่ยนความคิดนั้น 30 ปีก็ยังน้อยไป ผมดูมาหลายปี จนเลิกที่จะเปลี่ยนความคิดคนแล้ว เพราะความคิดคนมันเปลี่ยนยาก ยิ่งถ้าเปลี่ยนทั้งสังคม ทั้งประเทศอย่าไปคิดเลยมันเป็นที่มาของสงครามล่าอาณานิคม ยิ่งปัจจุบันเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ 100 ปีที่แล้วเรื่องอัตลักษณ์คนไม่รู้ ไม่แคร์ แต่ตอนนี้ความรู้ทำให้คนอยากเป็นตัวของตัวเอง ลูกสาวผม 10 ขวบก็มีอัตลักษณ์แล้ว  

          เรากำลังเข้าสู่ทางหลายแพร่ง โลกมันเกิดทางเลือกมากขึ้น แต่ว่าอดีตที่ผ่านมาเราพัฒนามาเป็นทางสายเดี่ยว มันง่ายต่อการควบคุม สร้างความสงบ แต่พอสถานการณ์มันเปลี่ยน ความคิดเรามันรับไม่ได้ ชาตินิยมในประเทศมีหลายชาตินิยมได้หรือไม่ เรามักคิดว่าประเทศไทยต้องมีชาตินิยมไทย อเมริกาก็ชาตินิยมอเมริกา ถ้าถามกลับไปว่ามีชาตินิยม เขมร มอญ กะเหรี่ยง รวมทั้งชาตินิยมมลายูอยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ได้หรือไม่

          ผมคิดว่ามันท้าทายและอยากจะตอบว่ามันน่าจะอยู่ได้ แต่มันต้องเงื่อนไข มีการแลกเปลี่ยนต่อรองกันมากและมันต้องมาพร้อมกับการกระจายอำนาจ ชาตินิยมของหลายชาติพันธุ์จะอยู่ด้วยกันได้จะต้องไม่มีชาตินิยมไหนเหนือชาตินิยมอื่นเกินที่จำเป็น ถ้าหากอำนาจส่วนกลางกระจายลงไปอย่างมาก คิดว่าชาตินิยมนานาชาติจะอยู่ได้ คือผลประโยชน์แท้ๆ เลย

          ผมคิดว่าคนไม่สนใจชาตินิยมมากเท่ากับสิ่งที่ตัวเองได้ คำว่าชาตินิยมนั้นจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เป็นการเชื่อตามความเข้าใจของตนเองแต่ไม่ได้คิดถึงคนอื่น สังเกตเวลาพูดถึงชาตินิยมไทยมันต้องตามมาด้วยการปฏิเสธชาติอื่น เราไม่ได้พูดเพื่อให้คนอื่นมีผลประโยชน์ร่วมกับเรา ประเด็นมันก็จะวนเวียนอยู่กับการสร้างระบบการปกครอง

          เราต้องยอมรับจุดหมายร่วมกันเสียก่อน ถ้าหากบางกลุ่มคิดว่าต้องการอำนาจปกครองที่ควรอยู่กับคนบางคน มีลำดับขั้นก็คือเป็นประชาธิปไตยแบบจำกัด แต่บางกลุ่มอาจมองว่าถ้าประชาธิปไตยต้องให้คนส่วนใหญ่ได้ ต้องเป็นของคนจำนวนมาก ถ้าจุดหมายต่างกันก็เถียงกันอีกนานขอฝากตรงนี้ไว้


000

“ยอมรับว่ากฎหมายพิเศษมันยังจำเป็นแต่ต้องจำกัดเวลาและลดพื้นที่ลง ไม่ใช่จะอยู่กันแบบนี้ต่อไปอีก 4-5 ปี มิฉะนั้นผู้บริสุทธิ์จะได้รับผลกระทบไปด้วย”


ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

          สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภาวะไม่ปกติจะเกี่ยวข้องกับระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าต้องการแค่ไหน ทั้งการคงกำลังทหาร เรื่องของกฎหมายพิเศษ ประเด็นแรก อยากพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องจัดกลุ่มประชาชนก่อนว่าแต่ละกลุ่มต้องการระดับสิทธิเสรีภาพในระดับที่เท่ากันหรือไม่

          กลุ่มแรกคือประชาชนที่ไม่ต้องการให้มี พ.รก.ฉุกเฉินหรืออัยการศึก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการตรวจค้นจับกุม หรือถูกซ้อมบ้าง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือมีนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์คนหนึ่งพาแนวร่วมคนหนึ่งมาพบเพื่อขอให้หาทุนให้เรียนต่อ ที่ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัย เพราะว่าในสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่เป็นเรื่องปกปิดอีกแล้ว ในมหาวิทยาลัยหรือทุกๆ แห่งมันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ทั้งพื้นที่จึงไม่จำเป็นต้องรักษาภาพเพราะมันเป็นเรื่องปกติ

          นักศึกษาคนนี้มีเพื่อนซึ่งเคยเข้าอยู่ในขบวนการด้วยกัน แต่อยากกลับมาใช้ชีวิตปกติก็เป็นคนให้ทุนไปเรียน กศน. หลังจากที่ไปเรียนเขาถูกตำรวจไปศูนย์วิวัฒน์สันติเป็นเวลา 1 เดือนเนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนในการเอาผิด ปัญหาคืออีก 1 ปีผ่านไป เมื่อเขาไปเรียนรามฯ แล้วก็ถูกทหารจับอีกในข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

          สิ่งที่พลาดที่สุดคือเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลเดิม แบล็กลิสต์เดิมโดยไม่ได้ล้างบัญชีรายชื่อจึงสอบถามไปยังทั้งทหารตำรวจ เขาบอกว่า เมื่อรุ่นพี่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อต้องทำอะไรซักอย่างก็ไปเอาบัญชีรายชื่อเดิมมาใช้ หลายคนที่อยู่ในสภาพนี้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการข่าวที่ลอกข่าวเมื่อวันวานซ้ำไปซ้ำมา นี่คือตัวอย่างของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ

          แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวอย่างของคนที่ยอมเสียสิทธิบางประการเพื่อแลกกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้สัมภาษณ์นักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง พ่อเป็นกำนันมุสลิมถูกยิงในบ้านต่อหน้าแต่หนีออกมาทางหน้าต่างจึงรอดชีวิตได้ เขาได้เงินจากมหาดไทย 800,000 บาท แม่ทำงานที่อำเภอด้วยโครงการจ้างงานได้เงิน 4,500 บาท

          อีกคนหนึ่งเป็นไทยพุทธเพิ่งจบ ม.6 การมาโรงเรียนทุกวันจะมีทหารพาเด็กมาส่งตามโรงเรียน เขาว่าวันหนึ่งรถกระบะที่ผู้หญิงไทยพุทธนั่งเกือบทั้งหมดถูกกราดยิง แล้วมีสองสามคนยังไม่ขาดใจตาย คนขับรถกระบะผู้ชายผ่านมาก็ช่วยเหลือนำผู้หญิงไทยพุทธ 2 คนมาวางที่ตัก คนหนึ่งเสียชีวิตต่อหน้า อีกคนก็รอดชีวิต เธอบอกว่าช่วงที่เรียนก็ไปมากับทหารจนมาเข้าเรียนรัฐศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เกิดกับเด็กๆเหล่านี้ซึ่งเราเห็นว่ามีตัวตนจริง

          ดังนั้น ประชาชนสองกลุ่มนี้ต้องการสิทธิเสรีภาพในระดับที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อเรามองในสายตาสังคมข้างนอกโดยยืนหยัดหลักสิทธิเสรีภาพหรือหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลก็ยังมีบางคน บางกลุ่มพอใจที่จะเสียสิทธิบางประการและยังพึงพอใจที่จะอยู่กับอำนาจรัฐ เพราะว่าการต่อสู้ ณ วันนี้  แม้มีกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกรัฐกระทำ แต่ขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมก็ใช้วิธีที่ไม่เป็นธรรมและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นผู้บริสุทธิ์กลุ่มนี้ยังต้องการอำนาจรัฐอยู่

          ถ้ามีองค์กรหรือกลุ่มใดสามารถเรียกร้องหรือร้องขอต่อผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในอดีตให้ต่อสู้โดยวิธีที่สง่างามและไม่ใช้ความรุนแรง คงมีจำนวนมากสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอย่างแน่นพื้นที่ แต่ตอนนี้พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะตองถามว่าบรรทัดฐานของการแสดงออกมันได้ดุลกันหรือไม่ สิทธิเสรีภาพในสถานการณ์ที่ไม่ปกติควรอยู่ในระดับไหนสังคมต้องช่วยกันหาทางออกให้ได้ดุลตรงนี้ด้วย

          ประเด็นที่สอง เราพูดถึงการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งปี 2548 มีการกราดยิงในร้านน้ำชาบ่อยมากแต่หาผู้กระทำไม่ได้ มี 2 กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย คือบอกว่าขบวนการยิงหรือเจ้าหน้าที่ยิงจึงมีการประกาศเคอรฟิวด้วยเหตุผลที่ได้จาก พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย (รองแม่ทัพภาคที่ 4) ว่าเพราะไม่สามารถเอากำลังไปคุ้มครองได้ตลอดเวลา หลังละหมาดหัวค่ำแล้วจึงประกาศเพื่อไม่ให้ไปนั่งในร้านน้ำชาแล้วเสี่ยงถูกยิง แต่มีการเรียกร้องจากทั้งนอกและในพื้นที่ว่ามันเป็นการขัดต่อวิถีชีวิตและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพบางประการ

          อันนี้เป็นข้อพิจารณา 2 มิติ คือมิติในเรื่องของสัญชาตญาณในการป้องกันชีวิตตนเองในสถานการณ์ที่ค่อนข้างเป็นสงครามกับการเลือกดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมและมีสิทธิเสรีภาพเท่าพื้นที่อื่น ณ วันนี้ อาจจะโดนระเบิดทุกวันนี้แต่ในพื้นที่กำลังขาดสัญชาตญาณในการป้องกันชีวิตตนเองหรือไม่ เราให้ความร่วมมือกับการดูแลเราหรือไม่ มีตัวอย่างนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่งถูกกราดยิงที่หน้าเทศบาลเพราะกินก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อน แต่อีก 3 วันก็กลับมากินใหม่ เพราะเขาคงไม่สามารถอยู่ภายใต้ความกดดันในบ้านได้ เลยมาใช้ชีวิตตามปกติ ดังนั้นสัญชาตญาณของการรักษาชีวิตตนเองควรมีหรือไม่

          สิ่งที่เป็นปัญหาของกฎหมายพิเศษคือการละเมิดของเจ้าหน้าที่อาจเพื่อป้องกันประชาชน แต่วิธีการดำเนินงานไม่สุภาพหรือเกินกว่าเหตุในการใช้ความรุนแรง การใช้กฎหมายอาจละเลยต่อหลักปฏิบัติในบางกรณี บางกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐผิดพลาดขึ้นมาถึงแม้จะทำดีมาตลอด อย่างไรก็ตามกรณีที่ผิดพลาดจะถูกนำมา Repeat ใหม่ในภาพรวมทั้งหมด เช่นในกรณีของอิหม่ามยะผา เป็นต้น

          อีกประเด็นหนึ่ง การคงกำลังทหารไว้จำนวนมากเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพเพราะไม่อาจควบคุมความประพฤติของผู้ปฏิบัติในระดับล่างได้ มันก็มีคำถามค้างคาใจ อย่างกรณี 9/11 โลกทั้งใบมองว่าการควบคุมสถานการณ์การก่อการร้ายต้องใช้กำลังจำนวนมากสนับสนุนในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน แต่เมื่อเดือนผ่านมาผู้บัญชาการทหารสูงสุดขอเพิ่มกำลังทหารจากบารัก โอบามา จากที่มี 40,000 ในอัฟกานิสถาน 30,000 นายโอบามาตอบว่า จงอธิบายว่าการมีกำลังทหารอยู่จำนวนมากคำตอบคืออะไร ก็ให้ไปกำลังทหารไปอีก 18,000 นาย และว่าการมีกำลังทหารจำนวนมากในท้องถิ่นในระยะเวลายาวนานนอกจากจะหาคำตอบไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าชัยชนะจะหยุดวันไหน จะลงเอยเมื่อไหร่ เหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งที่สูญเสียคือจิตวิทยาของประชาชนในท้องถิ่นแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงต้องทบทวนว่ามีมาตรการอื่นใดบ้างที่ทำให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้นกว่าการใช้กำลังมากๆ

          ในพื้นที่ในยุคกองกำลัง พตท.43 (ก่อนหน้าการยุบ ศอ.บต. เมื่อปี 2545) มีกองกำลังไม่เกิน 3,000 คน แต่วันนี้มีเจ้าหน้าที่ใน กอ.รมน.จำนวน 70,000 คน เป็นตำรวจ 18,000 คน กองทัพไทย 800 คน กองทัพบก 35,000 คน ทหารเรือ 3,000 คน ทหารอากาศ 700 คน พลเรือน 7,000 คน กระจายในกระจายอยู่ตาม  ศอ.บต. หรือในศูนย์สันติ ในอัตรา 70,000 คนแต่มีพลเรือน 7,000 คน ต้องอธิบายว่าเป็นการเมืองนำการทหารอย่างไร หรือทหารทำการเมืองเองก็ต้องมีวิธีอธิบายว่าทหารทำการเมืองอย่างไร

          ปัจจุบันมันถึงประเด็นจุดหักในการตัดสินใจในการปรับลดกำลังทหารลงหรือไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีข้อพิจารณาเพราะทางฝ่ายความมั่นคงได้รายงานต่อรัฐบาลว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ขอกำลังเพิ่ม งบประมาณเพิ่ม ดังนั้นดีอย่างไรหรือแค่ยันสถานการณ์อยู่ต้องอธิบาย และจะคงกองกำลังเหล่านี้อีกนานเท่าใด วันใดที่พลเมืองจะเข้ามาดูแลได้ เมื่อไหร่ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ เมื่อไหร่จะหยุดใช้อำนาจพิเศษจะต้องมีคำตอบว่าวันไหน แต่ต้องไม่ใช่อธิบายว่าทุกวันนี้ที่ใช้อย่างนี้สถานการณ์ดีขึ้น สถานการณ์ต้องไม่ฉุกเฉินตลอดไป

          ช่วงที่รัฐบาลเข้ามาใหม่ๆ เป็นที่ผิดหวังสำหรับคนทั่วไปมาก ในฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์ทำรื่องภาคใต้ ซึ่งตัดสินใจต่ออายุ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลว่าไม่มีข้อมูลชัดเจนและปัญหาการเมืองในประเทศก็มาก ฝ่ายความมั่นคงรายงานว่าการมีอำนาจตรงนี้รักษาชีวิตประชาชนได้ แต่ถ้าถอนกำลังทหารออกไปหรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วมีอะไรเกิดขึ้นต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เป็นการตัดสินใจที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน
 
          ขณะเดียวกันการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนเม.ย.นี้นายกรัฐมนตรีพูดในที่ประชุมว่าให้มีการทบทวนข้อดี ข้อเสีย แต่ก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะต่อหรือไม่และมีแนวโน้มต่อสูงมาก และปัจจุบันปัญหาอื่นมีข้อต่อรองที่เหนือกว่าภาคใต้ เสถียรภาพของรัฐบาลวันนี้ยังต้องการการสนับสนุนจากกองทัพพอสมควร

          ในเรื่องของแนวทาง ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่รู้ว่าการต่อสู้จะกระจัดกระจายไปไหน เพราะชี้ตัวไม่ได้ ความชัดเจนไม่มี การใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงยังจำเป็นอยู่แต่ควรจะจำกัดบริเวณที่แคบลง เช่นเมื่อสืบข้อมูลชัด การข่าวแม่น ปฏิบัติการรวดเร็วแล้วก็ประกาศเป็นพื้นที่ปกติรวดเร็วจะลดทอนความกดดันของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศพื้นที่กว้างขวางมากเนื่องจากไม่สามารถชี้ชัดว่าขบวนการอยู่ตรงไหนเพราะนี่คือการก่อการร้าย เป็นสถานการณ์รูปแบบใหม่ ถ้าทำพื้นที่ให้แคบลง แต่ทำเป็นจุดๆ แล้วก็ปล่อยเป็นพื้นที่ปกติอาจจะดูดีขึ้นก็ได้ ยอมรับว่ากฎหมายพิเศษมันยังจำเป็นแต่ต้องจำกัดเวลาและลดพื้นที่ลง ไม่ใช่จะอยู่กันแบบนี้ต่อไปอีก 4-5 ปี มิฉะนั้นผู้บริสุทธิ์จะได้รับผลกระทบไปด้วย

          อีกประเด็นคือการลดกำลังทหารลง ควรสนับสนุนกองกำลังประจำถิ่นให้เข้มแข็ง เช่น กองทัพภาคที่ 4 ที่ถูกมองจากส่วนบนว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอ ถ้าคิดแบบนี้เมื่อไหร่กองทัพภาคที่ 4 จะเข้มแข็งทั้งที่กองกำลังประจำถิ่นจะต้องอยู่กับประชาชนต่อไปในโครงสร้างปกติ จึงต้องมีงบประมาณ มีประสิทธิภาพเพียงพอในการดูแลสถานการณ์ไม่ปกติได้ในขนาดที่เหมาะสม เพราะการที่กองกำลังประจำถิ่นอยู่กับประชาชนในระยะเวลาที่ต่อเนื่องก็จะเข้าใจ ทำงานร่วมกัน การละเมิดน้อยลง และเห็นใจในคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

          อีกประเด็นคือสัดส่วนพลเมือง มีศักยภาพ มีความสามารถพร้อมทดแทนกองกำลังที่ต้องหายไปจำนวนมากแล้วหรือยัง ต้องถามว่าตอนนี้พลเรือนทำงานไปบรรลุเป้าหมายอะไรแล้ว หรือมีแนวโน้มในการสถาปนาความเข้มแข็งมาบ้างหรือไม่ ตำรวจเองก็ต้องทำงานให้ได้สัดส่วนกับทหาร แต่ทุกวันนี้งบประมาณตำรวจน้อยมากๆ เมื่อเทียบต่อสถานการณ์ก่อการร้าย ดังนั้นการจัดภารกิจของแต่ละหน่วยงานต้องได้ดุลด้วย

          ถ้าไม่ใช้กำลังทหารจำนวนมาก สังคมไทยมีทางออกให้หรือไม่ถ้ามองว่าปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ มีการบันทึกข้อมูลผู้ซื้อยาในร้ายขายยาที่จะประกอบสารเสพติดหรือมีการทำข้อมูลการซื้อส่วนประกอบที่จะนำมาประกอบวัตถุระเบิดหรือไม่ มันต้องครอบคลุมทั้งระบบจากต้นทางพื้นที่อื่น ต้องคลุมทั้งประเทศ แต่สังคมตระหนักแล้วหรือไม่ ถ้าทำตรงนี้ได้จะช่วยลดภาระของการมีกำลังเจ้าหน้าที่มหาศาลได้ การที่จะนำเสนอแนวทางบางอย่างออกไปต้องมีรูปธรรมมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก  


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สิทธิเสรีภาพในสถานการณ์ไม่ปกติ [1] : ตรงข้ามความคิด นักสิทธิฯ - ทหาร