Skip to main content

minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;
mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:minor-bidi">โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลเยียม บางมุมมองที่ผมสัมผัส

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ชมรมแพทย์ชนบท

นักศึกษาปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์

 สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองแอนเวิร์ป ประเทศเบลเยียม

 

(สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งเมืองแอนเวิร์ป ที่ผมไปเรียนนั้น  ได้จัดกิจกรรมพานักศึกษาไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ที่ตั้งห่างจากตัวเมืองออกไปราว 30 กิโลเมตร  เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2554  จึงเก็บเรื่องราวมาเขียนบอกเล่าสู่กันฟัง พร้อมความคิดเห็นในแบบมุมมองหมอ)

ประเทศเบลเยียมมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง รวมมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 7 เตา ผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 55%ของทั้งหมด ที่เหลือพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 40% และพลังงานสะอาดยังมีไม่มากนัก  แต่รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มพลังงานสะอาดให้มีสัดส่วนถึง 13%ในปี 2020 ปัจจุบันที่นี่มีประชากร 11 ล้านคน  ใช้ไฟฟ้าปีละ 91 TWh ขณะที่ประเทศไทยมี 67 ล้านคน ใช้ไฟฟ้ารวม 103 TWh คิดต่อคนแล้วฝรั่งเขาใช้ไฟฟ้ามากกว่าเราราว 6 เท่า แต่ใช่ว่าเราควรจะตามอย่างเขา  สิ่งที่เราควรจะทำคือรักษาระยะห่างให้มากขึ้นไปอีก เราทำได้หากไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ตั้งอยู่ริมแม่น้ำใกล้ทะเล ห่างจากเมืองแอนเวิร์ปราว 30 กิโลเมตร หากข้ามแม่น้ำไปก็เป็นประเทศเนเธอร์แลนด์  มีเตาปฏิกรณ์ 4 เตารวมกำลังการผลิต 2,911 เมกะวัตต์  ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ สร้างทีหลัง มี 3 เตาปฏิกรณ์ กำลังการผลิตราว 3,000 เมกะวัตต์

ภาพปล่องสูงที่มีไอน้ำออกมาตลอดเวลานั้นเป็นเพียงปล่องระบายความร้อนของระบบหล่อเย็น  โดยใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรงมาหล่อเย็น   แต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นอยู่ภายในอาคารที่มีหลังคาเป็นโดมกลมสีขาว ที่นี่มี 4 หลังแสดงว่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่  4 เตา อาคารที่คลุมเตาปฏิกรณ์นี้เป็นอาคารกำแพงหนาชั้นละเป็นเมตรรวมสองชั้นไม่ติดกัน  เพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสีหรือการก่อวินาศกรรมจากภายนอก  เช่นป้องกันแรงกระแทกจากเครื่องบินชนแบบเหตุการณ์ 911ได้

 

หลักการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติคือ ใช้พลังงานจากการแตกตัวของอะตอมยูเรเนียมจากปฏิกริยานิวเคลียร์มาต้มน้ำ เพื่อให้ไอน้ำไปดันกังหันเพื่อปั่นไดนาโมให้เกิดกระแสไฟฟ้า  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากๆ  ดังนั้นหนึ่งในการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือการช่วยลดโลกร้อน  เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดตราบใดที่ไม่มีการรั่วไหลของกัมมันตรังสีที่มีการป้องกันอย่างดี   

 

 

 

 

เตาปฏิกรณ์เครื่องแรกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel เดินเครื่องในปี 1975 และเตาที่ 4 ซึ่งเป็นเตาสุดท้ายเดินเครื่องในปี 1984 ตามระบบวิศวกรรมความปลอดภัย เขาอนุญาตให้ใช้ได้เตาละ 40 ปี นั่นหมายความว่า เตาปฏิกรณ์แรกจะหมดอายุในปี 2014 แต่ด้วยแรงกดดันด้านความต้องการพลังงานที่ทำให้หยุดการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่หมดอายุไม่ได้  รัฐบาลจึงได้ขยายต่ออายุเตาตัวแรกให้ใช้ได้จนถึงปี 2025 และจะหมดอายุพร้อมเตาตัวที่ 4 หลังปี 2025 สถานการณ์ยังมืดมน เพราะรัฐบาลได้ออกกฎหมายในปี 2003 ว่าจะไม่สร้างโรงงานนิวเคลียร์อีก  แต่ด้วยการใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาล เชื่อว่าการต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของที่นี่  ประดุจเอาประชาชนและความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นตัวประกัน เพราะการสร้างใหม่คงมีแรงต้านอย่างเข้มข้น ที่นี่เขารณรงค์ว่า “ทำไมต้องรอให้รั่วแล้วจึงค่อยปิด ปิดก่อนที่จะเกิดความผิดพลาดที่มิอาจฟื้นฟูได้มิดีกว่าหรือ”

 

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์คือยูเรเนียม 235 ซึ่งนำเข้าจากประเทศอัฟริกาใต้ ในรูปของยูเรเนียมไดออกไซด์ที่มียูเรเนียม 4% ในการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์นั้น ใช้ยูเรเนียมไดออกไซด์เพียงปีละ 27 ตันเท่านั้น กากยูเรเนียม 27ตันนี้ จะส่งไปแปรสภาพที่ฝรั่งเศสให้เป็นพลูโตเนียมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะเหลือกากจริงๆเพียง 1 ตัน/ปีเท่านั้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิตเดียวกันต้องใช้ถ่านหินถึงปีละ  3 ล้านตัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ  7 ล้านตัน และฝุ่นอีกมหาศาล 

 

 

 

 

 

 

การกำจัดกากนิวเคลียร์นั้นเบื้องต้นเขาก็จะเก็บไว้ในส่วนพักใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ราว 8 ปีเรียกว่า wet storage  หลัง 8 ปีก็เอาใส่ถังโลหะหนาและปิดตาย เรียกว่า dry storage  ขนไปแปรสภาพ แต่เป็นที่น่าตกใจคือ หลังจากฝรั่งเศสออกกฎหมายว่ากากนิวเคลียร์ที่หลงเหลือหลังการแปรสภาพต้องส่งกลับประเทศนั้นๆ  รวมทั้งหลักการร่วมของสหภาพยุโรปหรือ EU เรื่องกากนิวเคลียร์คือ ของประเทศใครประเทศมัน ไม่มีการเอาไปฝากไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน (เดิมอย่างน้อยฝรั่งเศสเคยรับ) ดังนั้นหากประเทศใดใจถึงทำธุรกิจอสังหารับทิ้งกากนิวเคลียร์ รับรองว่ารวยแน่นอน เพราะหลายประเทศที่นี่เขาปวดหัวเรื่องสถานที่ทิ้งกากนิวเคลียร์มากๆ  จนมีคนเสนอให้ทิ้งในอวกาศ  ซึ่งที่ไม่ทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะกลัวอวกาศจะสกปรก แต่เพราะกลัวความไม่แน่นอนในการส่งจรวจบรรทุกกากนิวเคลียร์ออกนอกโลกต่างหาก หากระเบิดกลางอากาศขึ้นมาจะทำอย่างไร

 

รัฐบาลเบลเยียมเองก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรเพราะที่นี่ไม่มีที่ทิ้งกากนิวเคลียร์และคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหน  กากนิวเคลียร์จึงยังคงเก็บใต้น้ำข้างเตาปฏิกรณ์ต่อไปอย่างไร้ทางออก  ในบ้านเราเอาขยะทั่วไปจากเขตเทศบาลไปทิ้งในเขต อบต.ก็ปวดหัวมากแล้ว  กากนิวเคลียร์ที่ต้องขนข้ามประเทศไปทิ้งฝรั่งเศส เยอรมัน หรืออเมริกาเขาก็ไม่รับ จึงน่าปวดหัวหนัก   แล้วหากประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากจะสร้างจังหวัดไหนแล้ว อีกโจทย์ใหญ่คือกากนิวเคลียร์จะไว้ที่จังหวัดไหนดี  อันนี้ใครจะช่วยตอบที

 

 สำหรับบ้านเราหากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อันตรายจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีนั้นมีความน่ากังวลอยู่มาก  เพราะมันอาจรั่วตั้งแต่งบประมาณ รวมถึงความย่อหย่อนในขั้นตอนต่างๆ  รวมทั้งความไม่เป็นมืออาชีพในการป้องกัน รักษา และกู้ภัย กับแนวคิดแบบไม่เป็นไรตามสบายหรือหยวนๆ ตามการมองโลกตามความเป็นจริงแบบไทยๆ  ในทางวิชาการแล้ว การให้ความสำคัญกับ context หรือบริบท คือหัวใจของความสำเร็จหรือล้มเหลว  เพราะบริบทที่แตกต่างคือตัวปราบเซียนของจริง และแบบไทยๆไม่มีในตำราเสียด้วย  

 

 

ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์หนึ่งตัวผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนกังหันพลังงานลมหนึ่งตัวผลิตได้ 2 เมกะวัตต์ กังหันลม 500 ตัวเท่ากับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หนึ่งเตา ด้วยต้นทุนที่พอๆกัน  อันไหนน่าสนใจกว่ากันคงแล้วแต่มุมมอง  แต่ด้วยการลงทุนที่เท่าๆกัน ให้ผลผลิตเท่าๆกัน แต่รัฐไม่ต้องประกันความเสี่ยงและหาที่ทิ้งกากกัมตรังสี  กังหันลมผลิตไฟฟ้าจึงน่าสนใจยิ่ง

 

 สำหรับประเทศเบลเยียมนั้นสัดส่วนของพลังงานทางเลือกนั้นยังมีสัดส่วนน้อยคือ พลังงานลมมีสัดส่วนราว 3% ในปี คศ. 2009 โดยมีกังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมชุดใหญ่สองชุดกลางทะเล และในพื้นที่บนบก เราก็สามารถพบเห็นกังหันลมเช่นในรูปกระจายอยู่ทั่วไป มักจะอยู่กันเป็นชุดๆละหลายๆตัว เรียกกันว่า wind farmหรือฟาร์มลม ซึ่งสวยงามและให้ความรู้สึกที่สะอาดปลอดมลพิษ  ประเทศเบลเยียมเขาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดคือลมและแสงอาทิตย์ จากปี 2009 ที่มีสัดส่วนเพียง 3.3% จะให้ได้ 13% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศในปี คศ.2020  เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานที่จะไม่พึ่งพาพลังงานจากนิวเคลียร์มากเกินไป ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ถูกต้อง   

 


สำหรับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็คิดในตรรกะเดียวกัน คือจะลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติโดยหันมาเพิ่มสัดส่วนในการใช้ถ่านหินแทน แต่ก็ชวนให้งงว่าตอนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติก็บอกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สะอาด แต่พอจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บอกเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว  ชวนให้งงด้วยตรรกะที่กลับไปกลับมา 

 

 

 

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งของเบลเยียม มีบริษัทเอกชนชื่อ electrobel เป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่า รัฐบาลทำสัญญาให้เอกชนคือบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ บริหารแบบมืออาชีพ เพราะความมั่นคงทางพลังงานนั้นสำคัญ อีกทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นธุรกิจผูกขาด ที่ไม่มีใครมาแข่งขันได้ ทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น (invisible  hand) ของอดัม สมิธ ที่เชื่อในกลไกการแข่งขันเสรีในตลาดจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้นศักยภาพในการต่อรอง การตกลงสัญญา การควบคุมกำกับของรัฐต่อบริษัทผลิตไฟฟ้าเช่นนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความผาสุกของประชาชน  ดูเหมือนที่นี่จะทำได้ดี มองเมืองไทยกับการจะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น รัฐพร้อมแล้วจริงหรือในการควบคุมกำกับ แล้วยิ่งถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใครจะเป็นเจ้าของ ใครจะควบคุมกำกับอย่างไร อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก

 

เมื่อผมไปดูงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังแล้วก็เคลิบเคลิ้มไปกับความสำเร็จของเขา โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ก็น้อยมากๆ หากไม่รั่วไม่มีอุบัติเหตุก็เป็นพลังงานที่สะอาดน่าใช้อย่างยิ่ง  พอดีระหว่างเดินกลับมาขึ้นรถผมเกิดสะดุดก้อนหิน  ทันใดนั้นผมก็ตื่นพร้อมกับคำถามที่ลืมถามเขาไปว่า ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ผู้คนในรัศมี 30 กิโลเมตรนี้ราว 5-6 แสนคนรอบโรงไฟฟ้านี้จะอพยพไปไหนอย่างไร 

 

 

 

 

วันนี้สำหรับยุโรปภูมิภาคที่บริโภคพลังงานมหาศาลเช่นนี้  ผู้คนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงกันไปก่อน จนกว่าพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) จะได้รับการพัฒนาและเข้ามาแทนที่ในอนาคต อีกไม่เกิน 20 ปีเตาปฏิกรณ์ที่นี่ก็จะถูกปิดตายตามพันธะสัญญาของรัฐบาลต่อประชาชน พื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Doel ก็จะกลายเป็นพื้นที่จำกัดการเข้าถึง เพราะเชื่อว่ากากนิวเคลียร์ที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์นั้นคงไม่สามารถหาที่ทิ้งได้โดยง่าย

 

 

ประเทศในยุโรปทยอยปิดโรงงานนิวเคลียร์ไปทีละเตาสองเตา  แต่เมืองไทยเรากลับสนใจจะเอาเทคโนโลยีสะอาดอันแสนอันตรายมาใช้   คิดแล้วสำหรับเมืองไทย แผ่นดินไทยปนเปื้อนยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงยังถูไถไปได้ แต่หากเปื้อนกัมมันตรังสี คนตายแผ่นดินร้าง ไม่คุ้มกัน แม้โอกาสเกิดน้อย แต่วิธีเดียวที่ไม่ให้โอกาสนั้นเกิดเลยก็คือ  อย่าไปสร้างมันเลยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 



๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑