Skip to main content
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
15 มีนาคม 2555 ปัตตานี
 
จากการชักชวนของกลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา เราจึงได้ลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านชาวปูโละปูโยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555 ก่อนวันที่ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่แต่งตั้งโดยพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 จะจัดให้มีการประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 โดยจะจัดให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจที่ 4302 ยิงชาวบ้านขณะเดินทางบนรถกระบะอีซูซุ เลขทะเบียน บท 3104 ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตจำนวน 4 คนบาดเจ็บสาหัส 3 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 2 คนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555
ก่อนเดินทางเข้าหมู่บ้านเราได้ลองขับรถไปบนถนนเส้นที่เกิดเหตุ ได้เห็นได้ถึงความลาดชันของถนนไม่ลาดยางทางขึ้นทางหลวงแผ่นดินปัตตานี-ยะลาสายใหม่  ณ จุดที่เกิดเหตุการณ์ทหารยิงใส่รถชาวบ้านโดยเข้าใจว่าเป็นรถคนร้ายเมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 บ้านหลังที่ใกล้จุดเกิดเหตุห่างออกไปไม่เกิน 20 เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ยินเสียงปืนที่รัวสนั่นหวั่นไหวในคืนนั้น  ความตระหนกตกใจยังปรากฎอยู่แม้เวลาผ่านไปเดือนเศษ ความโศกเศร้ายังไม่จางลงไป ใบหน้าและสีหน้าของชาวบ้านเต็มไปด้วยความกังวลและหวาดกลัว ข้าพเจ้ามองเห็นหมอแกงขนาดใหญ่ที่หญิงชาวบ้านบรรจงผัดและปรุงบริเวณที่ลานโล่งข้างบ้านนายอิสมัน ดือราแม ซึ่งเป็นหนึ่งชายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ได้ความว่าชาวบ้านยังคงทำบุญทุกวันศุกร์ (อิสลาม) เพื่อรำลึกถึงคนที่เสียชีวิต อาจทำติดต่อกันไปตามกำลังจะมี..........จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ไม่มีคำตอบ เพียงแต่บอกว่าอยากทำบุญ
เราเริ่มพูดคุยและอธิบายถึงขั้นตอนทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการรายงานผลการตรวจสอบฯ จากทั้งชุดของแม่ทัพฯ และชุดของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แม้ผลการสอบข้อเท็จจริงจะออกมาเป็นเช่นไร ขั้นตอนทางกฎหมายก็ต้องดำเนินไป โดยได้ชี้แจงว่าทางเจ้าพนักงานตำรวจต้องทำสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ โดยจะมีการไต่สวนการตายในชั้นศาลและทางญาติผู้ตายจะสามารถแต่งทนายของญาติเพื่อเป็นผู้แทนทางกฎหมายในชั้นไต่สวนการตายได้ ญาติบางส่วนที่ร่วมพูดคุยด้วยยังไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้และอาจต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมายในอีกหลายขั้นตอน ทั้งนี้คงต้องเร่งให้ทางเจ้าพนักงานตำรวจทำสำนวนคดีชันสูตรฯ ส่งอัยการฯ โดยได้ให้ความเห็นเทียบเคียงกับคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็งว่าสำนวนไต่สวนการตายได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลจังหวัดนราธิวาสภายใน 6 เดือน สำหรับคดีนี้อาจจะมีระยะเวลาใกล้เคียงกันไม่ล่าช้าเหมือนคดีทั่วไปเพราะคดีเป็นที่สนใจของประชาชนและหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการใช้อาวุธยิงประชาชนในขณะปฏิบัติหน้าที่และเป็นสาเหตุให้มีการเสียชีวิตก็อาจอยากให้มีการไต่สวนการตายตามกฎหมายโดยเร็วก็เป็นได้ อีกทั้งญาติอาจดำเนินการทางกฎหมายได้โดยการฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครองได้ด้วยโดยทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยินดีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้ความจริงปรากฎในชั้นศาล รวมทั้งการเยียวยาชดใช้ที่พอเพียงเหมาะสมตามความประสงค์ของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
แนวทางนี้เป็นหนทางที่อย่างน้อยครอบครัวของอิหม่ามยะผา กาเซ็งได้รับความพึงพอใจที่ได้เดินตามกรอบของกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม  แม้ในท้ายที่สุดจะยังไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ตามกฎหมาย    แต่ความจริงที่ปรากฎต่อชั้นศาลถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าผู้ใดทำให้อิหม่ามยะผาฯ เสียชีวิต และการไกล่เกลี่ยในคดีแพ่งที่ญาติได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้วจำนวน 5.2 ล้านบาทก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความสงบสันติสุขได้ระดับหนึ่ง โดยในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2555 นี้ทางญาติของอิหม่ามฯ ก็จะได้จัดให้มีการรำลึกและจัดงานครบรอบ 4 ปีการจากไปของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่การเข้าถึงความยุติธรรมยังเกิดขึ้นได้และด้วยความร่วมมือของฝ่ายทหารที่ยินดีชดใช้และได้กล่าวขอโทษปรากฎในรายงานกระบวนพิจารณาคดีจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย ทั้งนี้คดีอาญายังไม่สิ้นสุดยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในศาลทหาร
เวลาเริ่มบ่ายคล้อย ระหว่างนั้นมีญาติของเด็กนักเรียนชั้นม. 6 หนึ่งในผู้เสียชีวิตเข้ามาร่วมวงสนทนาธรรมชาติบนแคร่ไม้ไผ่กับพวกเราเพิ่มอีกคน  เธอเหล่าให้ฟังถึงว่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาไปร่วมงานรับประกาศนียบัตรของเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนที่โรงเรียนมูลนิธิชุมชนอิสลามศึกษาของนายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี อยู่ที่บ้านกาหยี หมู่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ. ปัตตานี น้องชายของเธอที่เสียชีวิตในวันเกิดเหตุนี้ด้วยว่าเธอกับแม่ร้องไห้จนน้ำตาไหลเป็นปีบๆ ทำมือให้เราดู บอกว่า “ อดร้องไม่ได้จริง ๆ ก๊ะ เห็นเด็กคนอื่นๆ คนขึ้นรับประกาศนียบัตรก็คิดถึงเขา (น้องชาย) ” และยังมีคำถามที่ตอบยาก ถามกลับเรามาอีกว่า “จะทำอย่างไรเสียดายเขา ทำไมไม่จับไปสอบสวนถ้าคิดว่าเป็นคนร้าย เราไม่มีอาวุธ มีพยานบอกว่าตอนที่ฮอลิปคอเตอร์บินวนหลังเกิดเหตุ น้องชายยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล สุดท้ายมาเสียชีวิต”  
            ทำให้นึกถึงการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บรายหนึ่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้บาดเจ็บและญาติที่โรงพยาบาลปัตตานีพร้อมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม โดยผู้บาดเจ็บรายหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำ เพราะผู้บาดเจ็บรายนี้เป็นนักศึกษากำลังเรียนอยู่ที่กรุงเทพ เพียงกลับมาเยี่ยมบ้านและอยู่ร่วมในรถกระบะวันเกิดเหตุนั้นด้วยว่า “วันนั้นจะไปละหมาดศพกันที่ทุ่งโพธิ์ นั่งอยู่กระบะหลัง ได้ยินนายอุสมานตะโกนว่าอย่ายิง ก็ได้ยินเสียงปืนเลย มีแสงสว่างจากที่สูง แล้วก็ถูกยิงที่ท้องตอนหมอบคว่ำหน้าอยู่ ยิงที่ขากระดูกขาขวาแตก เสียงปืนหยุดลง ได้ยินเสียงฮอลิคอปเตอร์ และก็ได้ยินเสียงปืนยิงซ้ำอีกครั้ง ตอนนี้รู้สึกถูกยิงที่ข้างหัว”   ชายหนุ่มเล่าต่อ “ผมแกล้งตายครับพี่ ตอนนั้นมีนักข่าวมาผมก็เลยยกมือผมจับมือเขา เขาถึงรู้ว่าผมยังไม่ตาย”
จากข้อเท็จจริงจากการสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในที่เกิดเหตุ มีทหารห้ามไว้ซึ่งอาจเป็นเพื่อคุมสถานการณ์และรักษาสถานที่เกิดเหตุ จนกระทั่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองได้เข้าไปที่เกิดเหตุ 21.00 น. มีนักข่าวมา และทางทหารได้บอกชาวบ้านว่าให้ไปรอรับศพและรอพบผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาล โดยมีการนำผู้บาดเจ็บเข้ามาถึงที่โรงพยาบาลเวลา 23.50 น. ทั้งๆ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ยิงเป็นเวลา 20.30 น. ระยะเวลาห่างกันกว่าสามชั่วโมง ทั้งที่ผู้ได้รับบาดเจ็บควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีน่าจะต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการนำนักข่าวหรือสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว อาจสามารถช่วยชีวิตได้และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้านมากขึ้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฎว่าณ ที่เกิดเหตุรถลื่นไหล หรือเป็นการขับรถเพื่อพยายามหลบหนี
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฎหรือไม่ว่ามีคนร้ายและมีรถมอเตอร์ไซด์คนร้ายขับตามรถกระบะคันเกิดเหตุมาด้วยหรือไม่
ไม่ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าการยิงชาวบ้านโดยอาวุธสงครามจะเป็นการติดตามจับกุมคนร้ายจริงหรือไม่อย่างไร
ไม่ว่าคำพูดที่ว่า “...มันตายหมดหรือยัง ยิงให้ตายให้หมด...” จะเป็นคำกล่าวอ้างที่เป็นจริงหรือไม่
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องประเภทอาวุธปืนกี่ประเภท หรือกระสุนปืนจะมี 20 นัด 50 นัด 100 นัด ก็ตาม หรือมีการยิงปะทะกันระหว่างคนร้ายกับเจ้าหน้าที่หรือไม่
ไม่ว่าข้อเท็จจริงที่ว่ามีทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียง 4 นายและมีเพียงบางนายเท่านั้นที่มีส่วนในการลั่นไกกระสุน
มีบทสรุปตรงกันว่าความจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีหลายชุดความจริงหลาย ๆ เรื่องที่ปรากฎอยู่เหมือนตาบอดคล้ำช้าง ด้วยทัศนคติและความรู้เข้าใจคนละชุด แต่มีข้อเท็จจริงหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะเวลา 8 ปีว่ามีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปด้วยความโกรธแค้น ล้างแค้น เลือดเข้าตาไปมากต่อมาก แม้เหตุการณ์หลายเหตุการณ์อาจเป็นเหตุสุดวิสัยหรือการกระทำที่เกินกว่าเหตุอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัยอันนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์จึงย่อมต้องแก้ไขเยียวยาด้วยความจริงและความเป็นธรรม การปกปิด ปิดบังซ่อนเร้นความจริงที่ขัดต่อความรู้สึกของสาธารณะชนและต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามสื่อมวลชนแล้วนั้นย่อมนำมาซึ่งความโกรธแค้นชิงชัง การกระทำด้วยความโกรธแค้นตอบโต้กลับโดยกลุ่มไม่หวังดีย่อมจะนำมาสู่ความสูญเสียเป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรประนาม  เหตุการณ์ 4 ศพปูโละปูโยจะจบหรือไม่จบอย่างไรขึ้นอยู่ที่ผู้คนในสังคมรวมทั้งบทบาทของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ร่วมกันหักล้างถางพงอคติต่อกัน ปล่อยให้กลไกยุติธรรมดำเนินไปโดยไม่ขัดขวาง และร่วมกันสร้างเส้นทางสู่ความเป็นธรรมอย่างน้อยตามแนวทางที่กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็งได้เดินลุยไว้  ดังท่าทีของทางพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่า  “จากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพบกขอแสดงความรับผิดชอบและขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียในครั้งนี้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และหวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ลุกลามบานปลายสร้างให้เกิดความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ” แม้ไม่ง่ายแต่ก็สามารถนำเราไปสู่ความเป็นธรรมได้ถ้าเราเชื่อมั่น เหมือนวลีที่นักสันติวิธีผู้เชื่อมั่นได้กล่าวไว้ว่า Give Peace a chance ขอโอกาสให้สันติภาพได้บังเกิดขึ้นเถิด……………..