Skip to main content

 

                                                    เรื่องชายแดนภาคใต้: บนโลกไซเบอร์ “youtube”[ต้น] 

 

ในยุคของโลกาภิวัตน์การสื่อสารที่ไร้พรมแดนได้ทำให้ทุกๆอย่าง สามารถรับรู้ได้รวดเร็ว และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในทางการเมือง เป็นพื้นที่ทางด้านการเมือง ที่ทุกๆคนสามารถมาอาศัยร่วมใช้กันได้อย่างเสรีภาพ ซึ่งแน่นอน ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็ได้รับความสนใจจากที่ต่างๆทั่วโลก ยิ่งหากพิจารณาความเป็นอุมมะฮฺ (Ummah) ของโลกมุสลิมด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ได้รับการติดตามอย่างน้อยในนามของความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาเดียวกัน

 

งาน  The Political of Cyber conflict ของ Athina Karazogianni ได้อธิบายเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ในเหตุการณ์ที่อเมริกาบุกสงครามอิรัก ทั้งฝ่ายรัฐบาลบุชเองที่ได้ออกแถลงการณ์ส่งตามเว็บไซด์ต่างๆที่ตัวเองมีเครื่องข่ายอยู่ หรือฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม ก็ใช้พื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตในการรวบรวมรายชื่อเพื่อต่อต้านสงครามอิรัก จนกระทั่งฝ่ายที่เป็นนักรบมูจาฮิดีนทั่วโลกได้เรียกร้องเชิญชวนให้สหายพี่น้องมุสลิมได้ร่วมสงครามครั้งนี้ โดยถือว่า เป็นการญิฮาด ผลกระทบที่เหมือนว่าส่งผลให้คนรู้สึกว่าฝ่ายทหารอเมริกาเพลี่ยงพล่ำมากที่สุด ก็คือ ได้มีคลิปวีดีโอจากมือถือ ที่ทหารอเมริกา ได้ทารุณ ทรมาน นักโทษอิรัก แล้วมีการปล่อยคลิปลงในเว็บไซด์ ยูทูป (youtube) แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ฝ่ายที่ต่อต้านอย่างเดียว เพราะได้มีการลงภาพเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตของทหารอเมริกาในอิรักด้วย  แน่นอนย่อมออกไปในทิศทางบวก

ความพิเศษเฉพาะของภาพเคลื่อนไหวหรือคลิปก็คือ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษากันก็ได้ คุณจะอ่านหนังสือออกหรือไม่ ไม่สำคัญ เท่ากับถ้าตาคุณสามารถมองเห็น และที่พิเศษมากกว่าโทรทัศน์ก็คือ มันสามารถย้อนกลับมาดูซ้ำได้ตลอด ถ้าไม่ถูกบล็อกหรือลบทิ้งไป

 

งานสัมมนา 5ปี ไฟใต้ สงคราม ความรู้ ความสับสน แล้วไงต่อ ? ได้มีการนำเสนองานเขียน มุสลิมชายแดนภาคใต้ในชุมชนเสมือนความเป็นจริง ของ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งที่น่าสนใจ แพรได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะคติของผู้คนบนโลกไซเบอร์ ต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยา/ความรู้สึก ที่ได้รับข่าวสาร แล้วมาปล่อยลงในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่ต้องตอแล อยากจะบอกว่า เกลียด โกรธ สงสาร หรือขั้นยกดินแดนให้เลย (อันนี้คงยาก) โดยไม่มีใครไปสอดส่องหรือดูแลเป็นพิเศษ เหมือนบางกรณีที่ต้องไปปิดเว็บให้วุ่นวาย

 

แต่ทว่า ด้วยนิสัยส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบอ่าน comment การแสดงความคิดเห็นต่อท้ายบทความหรือข่าวสักเท่าไร และยิ่งคิดต่อไปด้วยว่า นิสัยของคนไทย มักจะชอบดู หรือฟังข่าว มากกว่าอ่านอย่างแน่นอน ผมจึงเห็นว่า การไปนั่งดู/อ่าน ความรู้สึกผ่านการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซด์ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าสนใจ หรือตื่นเต้น เท่าได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวจริงๆ และมีเสียงให้ฟัง ที่จะมานำเสนอ ซึ่งได้อรรถรสมากกว่าการนั่งอ่านความคิดเห็นที่บางครั้งฟหรือบ่ายครั้ง การแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับเรื่องที่นำเสนอ หรือเนื้อหาของข่าวสักเท่าไร จึงทำให้เสียเวลา

 

ในเว็บไซด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในเรื่องของคลิปวีดีโอ ก็คือ www.youtube.com สำหรับเรื่องชายแดนภาคใต้ของไทย ก็ได้ใช้พื้นที่เว็บนี้เป็นจำนวนมาก เริ่มด้วยการค้นหาคำว่า patani ก็จพบคลิปเพลงชาติปาตานี ซึ่ง ได้มีคนเข้าฟังจำนวน17,984 ครั้ง (ซึ่งไม่ใช่คน) ซึ่งแน่นอนด้วยการค้นหา คำว่า patani โดยใช้ t ตัวเดียว หรือจะใช้ pattani แบบ t สองตัว ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปัตตานี หรือ แม้กระทั่งเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือ มีคลิปบางส่วน มีภาพการตัดหัวเกิดขึ้น  หรือชาวบ้านที่ถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ หรือสถานการณ์กรือเซะ แต่ที่น่าสนใจบางคลิป ก็จงใจที่จะดัดแปลงภาพ เสียง หรือการบรรยาย ต่างๆ เพื่อให้ตรงเป้าประสงค์ที่จำนำเสนอ อย่างเช่น การบรรยายประวัติศาสตร์ปาตานีทั้งสามารถเห็น/ฟังเป็นภาษาอังกฤษ มลายู  ภาษาไทย หรือที่ทันสมัยกว่านั้น ก็คือได้มีการสร้างรูปแอดมิดชั่น ภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวเป็นรูป ท่านฮัจญีสุหรง หรือบางคลิป เป็นรุปคล้ายๆ โต๊ะครู กล่าวถึงประวัติศาสตร์ปาตานี หรือการต่อสู้ที่ปัตตานี 

 

คำถามที่น่าสนใจ ก็คือ พื้นที่ทางด้านการเมืองที่พวกเขาหรือใครก็ตามที่สามารถสื่อสารได้เสรีอย่างนี้ สามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ในชีวิตประจำวันของคนมลายูมุสลิม เช่นหากมันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่ความรุนแรงแบบตัดหัว แล้วนำคลิปมาเผยแพร่ทาง web youtube  หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการสื่อสารให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง

 

และหากพิจาณาเรื่องคลิปชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นใน youtube เราก็จะได้เห็นภาพการบรรยายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาคใต้ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นทหาร เพราะภาพบางภาพที่นำมาเสนอ ถือได้ว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ไมสามาถเข้าถึงได้ การบรรยายสรุปความมีภาพนำเสนอ การตัดศีรษะพระ หรือ คำบรรยายได้กล่าวทำนองว่า ประเทศไทยต้องเสียดินแดนให้พวกมุสลิม เราจำเป็นต้องปกป้อง ตอนนี้ อบต. อบจ. เป็นของมุสลิมหมดแล้ว กล่าวโดยสรุป ก็คือ มีการนำเสนอภาพที่ทหารต่างๆที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างอยู่ในพื้นที่ หรือภาพที่เกี่ยวข้องการระเบิดในชายแดนภาคใต้

 

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ และเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นในชายแดนใต้ก็คือ เกิดมีคลิปภาพทหารซ้อม ทำลายร่างกายผู้ชายวัยรุ่นมลายูมุสลิมคนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าระดับที่รับผิดชอบได้ออกมายอมรับแล้วขอโทษ โดยอธิบายว่าภาพเคลื่อนไหว(คลิป)ที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งได้ลงโทษเหล่าทหารที่ได้ทำเรียบร้อยแล้ว

 

ซึ่งในโลกของยุคโลกาภิวัตน์พื้นที่ของเว็บไซด์ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางด้านการเมืองอย่างหนึ่ง ในทางทฤษฎีการระดมทรัพยากร ของการเคลื่อนไหวทางสังคม แน่นอน ทุกๆคนสามารถเข้าไปใช้ได้ อย่างเสรี หากไม่โดนบล็อกจากหน่วยงานรัฐบาล อย่างเช่น การปิดเว็บไซด์ต่างหลังจากการรัฐประหาร หรือกรณีเว็บที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันชั้นสูงของสังคมไทย

พื้นที่ทางโลกไซเบอร์ ก็จะเป็นพื้นที่/เครื่องมือ ในการต่อสู้ ทางด้านความรู้สึก ที่มีประสิทธิภาพ อนุภาพส่งผลสะท้อนอย่างมากชนิดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนมันขึ้นอยู่ที่ข้อมูลข่าวสารของแต่ละฝ่ายที่ได้มา หรือขึ้นอยู่กับภาพเคลื่อนไหว/คลิป ที่สามารถเป็นข้อพิสูจน์ของการกระทำของแต่ละฝ่าย ซึ่งหากคิดไปไกลมากกว่านั้นอาจจะเป็นพื้นที่ของการความขัดแย้งพื้นที่ใหม่ทางโลกของชนชั้นกลาง ที่ชอบท่องเว็บ และไม่ยอมที่จะศึกษาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างตัดสินด้วยแค่ภาพก็เพียงพอ  แต่ทว่า โลกใบนั้น เป็นโลกของความไม่ยอมศึกษาทำความเข้าใจมากพอ เพราะในปัจจุบันเราตัดสินอะไรต่างๆก็แค่ภาพเท่านั้นก็เพียงพอ !!!

 

 

แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม

The Political of Cyber conflict , Athina Karazogianni, Routedge,2006.