ตูแวดานียา ตูแวแมแง
จากที่ได้ร่วมในกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม และเยาวชนนักศึกษาในอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานการทำงานอยู่ในจาการ์ตาและอาเจะห์ ในช่วงระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 55 โดยมีมูลนิธิสนับสนุนสันติภาพซาซากาวาของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน
ทำให้ได้รู้ว่ารากเหง้าปัญหาของความขัดแย้งที่อาเจะห์และที่ปาตานี ต่างก็มีรากเหง้าปัญหาที่เหมือนกัน นั่นคือความเป็นประชาชนที่สัมพันธ์กับวิถีแห่งชาติพันธ์ (ชาด-ติ-พัน-ธะ) ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามาจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางสายเลือดที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน แต่หมายความว่าความสัมพันธ์อันแนบแน่นของผู้คนในสังคมเดียวกัน ที่มาจากพันธะร่วมกันในความเห็นชอบต่อแนวทางและบทบาทการแสวงหาความสุข จนกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของสังคมนั้นๆ ซึ่งมีนัยในเจตจำนงทางการเมืองภายในตัวของมันเอง โดยหวังที่จะกำหนดอนาคตตนเองด้วยการมีแนวทางการแสวงหาความสุขตามที่ตนเห็นชอบและมีสิทธิ เสรีภาพอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ถูกบีบบังคับและ ยัดเยียดเปลี่ยนกลายตัวเองให้ยอมรับความเป็นชาด-ติ-พัน-ธะใหม่ของความเป็นรัฐจักรวรรดินิยม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ยึดครองดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ไม่ละเว้น
ความเป็นตัวตนของคนอาเจะห์ที่หลอมรวมสังคมอาเจะห์จนมีพันธะร่วมกันในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากจักรวรรดินิยมจาการ์ตา มาจากคำสองคำแค่นั้นเอง นั่นคือคำว่าชาติกับคำว่ารัฐ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า อาเจะห์เพียงคำเดียว แสดงว่าคำว่าอาเจะห์ก็หมายถึงชาติและรัฐ ภายในตัวของมันเองจนเป็นเนื้อเดียวกัน และกลายเป็นหลักการว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและปวงชนคือชาติ” “ชาติ” ณ ที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าสายเลือดเดียวกัน แต่หมายถึง “ตัวบ่งชี้อาณาเขตของสิทธิความเป็นเจ้าของในดินแดนของคนอาเจะห์” ซึ่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียในปีค.ศ.1949 ปีที่อินโดนีเซียทำการปลดปล่อยจากการล่าอาณานิคมของฮอลันดาสำเร็จจนได้รับเอกราช ส่วนคำว่า “รัฐ” ณ ที่นี้ก็คือ “เครื่องมือที่สร้างความชอบธรรมอย่างเป็นทางการที่มีกฎเกณฑ์ของสังคมโลกรองรับความเป็นเจ้าของของแต่ละชาติต่อดินแดนที่มีอาณาเขตบ่งชี้อย่างชัดเจน”
ช่วงแรกๆ ของการต่อสู้ของชาวอาเจะห์โดยการนำของ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) แปลเป็นไทยว่าขบวนการอาเจะห์เสรี สถานะทางการเมืองของ GAM ไม่ต่างอะไรมากกับขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีในปัจจุบัน คือไม่เปิดเผยตัวเองและไม่แสดงเจตจำนงทางการเมืองโดยผ่านฝ่ายการเมืองหรือปีกการเมืองที่ถูกจัดตั้งและเปิดเผย สังคมสาธารณะจะค่อยๆ รับรู้ถึงเจตจำนงทางการเมืองของ GAM ด้วยตัวเองจากสถานการณ์ของการสู้รบกันอย่างยืดเยื้อ
จนมาถึงช่วงหลังจากรัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็จได้ถูกโค่นล้มโดยพลังของเยาวชนนักศึกษาและประชาชน GAM ก็ค่อยๆ พัฒนาสถานะทางการเมืองขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตยอินโดนีเซียที่ค่อยๆ เบ่งบานขึ้นเป็นคู่ขนานกัน จนในที่สุดสถานะทางการเมืองของ GAM เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล แม้ว่าในเวทีจาการ์ตาจะไม่ยอมรับก็ตาม
แต่ด้วยพลังของเครือข่ายประชาสังคมระหว่างประเทศที่สัมพันธ์แบบเชื่อมประสานกันอย่างมียุทธศาสตร์ร่วมที่ชัดเจนกับพลังเครือข่ายประชาสังคมอาเจะห์ที่มียุทธศาสตร์ร่วมกับ GAM ภายใต้ธงของ “ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” จึงทำให้เจตจำนงทางการเมืองของชาวอาเจะห์โดยการนำของ GAM เป็นที่พิจารณาของทั้งรัฐและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีจุดยืนในประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จนสามารถผลักดันให้เกิดการยุติการสู้รบได้ในที่สุด
แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสึนามิเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2005 การสู้รบระหว่างชาวอาเจะห์โดยการนำของ GAM กับรัฐอินโดนีเซีย ก็คงจะไม่ยุติลงในปีเดียวกันนั้น เพราะอุณหภูมิของการเจรจาก่อนหน้าเหตุการณ์สึนามิเพียงแค่สองปี ซึ่งจัดที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ทั้งรัฐอินโดนีเซียและ GAM ต่างก็มีจุดยืนที่แข็งขันซึ่งไม่สามารถหาทางลงร่วมกันได้ คือทางรัฐอินโดนีเซียเสนอจะให้ปกครองพิเศษที่ไม่มีรายละเอียดว่าพิเศษอย่างไรบ้าง ส่วนทาง GAM ก็มีจุดยืนหนักแน่นว่าถ้าอินโดนีเซียไม่ให้เอกราชก็รบกันต่อไป ซึ่งรวมทั้งตัวแทนประชาสังคมที่เข้าร่วมเจรจาด้วยก็มีจุดยืนเดียวกันกับ GAM
กลายเป็นว่าสึนามิที่กลืนชีวิตคนอาเจะห์ 3 แสนคน เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ให้ต้องยุติการสู้รบ ทั้งๆ ที่ภาวะของสถานการณ์ยังไม่สุกงอม แต่จำเป็นต้องหยุด เพราะคำว่า “มนุษยธรรม” จากการเรียกร้องของสังคมทุกมุมโลก คอยหลอกหลอนทั้งรัฐอินโดนีเซียและ GAM ถ้าขืนสู้รบกันต่อไปก็ขาดความชอบธรรมกันทั้งสองฝ่าย ซ้ำยังต้องถูกประณามจากทุกมุมโลกว่า “บ้าสงคราม” กันทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน และการหยุดการสู้รบที่สถานีที่ชื่อว่าสึนามิ ทำให้ทั้งสองฝ่ายรอดพ้นจากการรู้สึกว่าตัวเองเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ที่ทำตามจุดยืนของตัวเองไม่สำเร็จ เพราะโลกจะไม่สนใจประเด็นเสียหน้าไม่เสียหน้าแน่นอน ที่โลกสนใจก็คือ “พวกคุณจะฆ่ากันไปถึงไหน จะฆ่ากันถึงเหลือคนของตัวเองจนถึงคนสุดท้ายหรืออย่างไร”
การยุติการสู้รบที่เกิดขึ้นและหยุดอยู่ที่การได้มาซึ่งการปกครองตนเองของชาวอาเจะห์ โดยการนำของ GAM ภายใต้โครงสร้างใหม่ ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยบรรยากาศของความขัดแย้งระหว่างชาวอาเจะห์กับชาวอาเจะห์ด้วยกันเอง ซึ่งอารมณ์ความแค้นยังค้างคาใจอยู่ระหว่างมวลชนของรัฐกับมวลชนของ GAM และส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมที่เคยร่วมกันต่อสู้ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันกับ GAM วันนี้กลายเป็นคู่ขัดแย้งในจุดยืนทางการเมืองอย่างเปิดเผยของ GAM เพราะเข้าใจว่าGAM ไม่ได้สู้เพื่อชาวอาเจะห์ แต่สู้เพื่อตัวเอง
จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวอาเจะห์ดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับชาวปาตานีซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะความเข้มข้นของการสู้รบ ที่นับวันก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นโดยผ่านพัฒนาการของกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐไทยและขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีนั้น อาเจะห์น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ชาวปาตานีจะถามตัวเองว่า “ถึงเวลาแล้วหรือไม่” ที่จะให้ภาพในอนาคตของปาตานีเป็นอย่างไร จะให้เป็นเหมือนอย่างอาเจะห์หรือจะให้เป็นไปตามความพึงพอใจของชาวปาตานีเอง
ซึ่งภาพที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรนั้น คงหนีไม่พ้นคำตอบสุดท้ายที่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของชาวปาตานีเอง ส่วนจะมีขึ้นมาชัดเจนเมื่อไหร่นั้น ประสบการณ์อาเจะห์สอนว่า การเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตจะไม่เกิดขึ้น ถ้าภาวะของสถานการณ์ไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “จุดเปลี่ยน” อยู่ที่ว่าจะรอให้จุดเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นมาเองหรือจะสร้างมันขึ้นมา ถ้ารอให้เกิดขึ้นเองหรือสร้างแต่สร้างแบบเรื่อยๆค่อยเป็นค่อยไปแล้วแต่อารมณ์ ไม่แน่จุดเปลี่ยนชะตาชีวิตของชาวปาตานีอาจจะมาในรูปแบบของสึนามิอย่างอาเจะห์ ก็เป็นได้