Skip to main content
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
 
หมายเหตุ: ทรรศนะของผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มประชาสังคมในชายแดนภาคใต้ดังต่อไปนี้บางส่วนเคยเผยแพร่มาแล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2555 ในรายงานที่ชื่อ “นักวิชาการหนุนเจรจาสร้างสันติใต้ ร่วมรับรู้รากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา”
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ทางสภาฯ ได้ออกแถลงการณ์ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดในวันที่ 31มีนาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนการกำหนดปัญหาใจกลาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากระยะกว่า 8 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม สภาฯ ยังได้แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของทุกกลุ่มและในทุกรูปแบบ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงโดยไม่ปล่อยให้นักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงผูกขาดการจัดการกับปัญหา ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด เพราะความรุนแรงจะนำมาซึ่งการตอบโต้ที่ในท้ายที่สุดแล้วประชาชนจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์
“สภาฯ ยังต้องการยืนยันด้วยว่าการเปิดพื้นที่กลางสำหรับให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมพร้อมทั้งสนับสนุนหลักการเจรจาระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” นายประสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกรณีที่มีการถกเถียงเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่า เป็นการเปิดพื้นที่หรือเวทีในการแสวงหาการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับกลุ่มเคลื่อนไหว และเป็นกระบวนการทางปัญญามากกว่าการใช้อำนาจและกำลัง ทั้งนี้ เนื่องจากว่าไม่มีสงครามใดๆ ในโลกที่จะบรรลุความสำเร็จได้ด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว ที่สุดแล้วการมานั่งโต๊ะร่วมกันคุยเพื่อกรุยทางสู่สันติภาพจะต้องเกิดขึ้น สำคัญว่ารัฐที่มีกำลังอำนาจมากกว่าจะยอมรับว่าคนเราคิดต่างกันได้และจะปล่อยเวลาต่อไปมากน้อยเพียงใดเท่านั้น
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า การพูดคุยเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหา มิได้หมายความว่าต้องต่อรองว่าใครได้น้อยหรือใครเสียมาก แต่ร่วมรับรู้ว่ารากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร กลุ่มผู้ต่อต้านอำนาจรัฐเขาคิดอย่างไร เขามีทางเลือกกี่ทาง แล้วสามารถหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายรับกันได้อย่างไร
“การพูดคุยจะได้ประเมินความร้อนแรงของอุณหภูมิทางการเมืองในทัศนะของผู้ต่อต้านอำนาจรัฐในประเด็นอะไร มีทางออกในส่วนที่เขาเสนอมีอะไรบ้าง มีอะไรแล้วบ้างที่รัฐได้ทำแล้ว หรือกำลังทำหรือมีนโยบายแต่ยังมีอุปสรรคในประเด็นใดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่ควรจะเป็น การพูดคุยจะเป็นการแสดงออกของความเป็นมิตรต่อพลเมืองในชาติมากกว่าการสร้างความรู้สึกความเกลียดชัง ดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน” นักวิชาการอิสระจากปัตตานีกล่าว
นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม ม.อ. ปัตตานี กล่าวว่า การเยียวยาเฉพาะหน้าที่เป็นการชดเชย ก็ต้องรีบดำเนินการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนที่มีต่อรัฐ ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐพยายามอย่างสุดความสามารถและทุกวิถีทางที่จะคุ้มครองความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เหตุรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะที่ผ่านมานั้น ประชาชนมีความรู้สึกว่ามาตรการในการรักษาความปลอดภัยและการข่าวของรัฐหละหลวม
นอกจากนั้น ต้องรีบสร้างความเข้าใจและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธ และมลายูมุสลิม เพราะเหตุร้ายครั้งนี้  ดูเหมือนพุ่งเป้าไปที่แหล่งที่อยู่อาศัยและธุรกิจคนไทยเชื้อสายพุทธและจีน ซึ่งจะสร้างความหวาดระแวงและบาดหมางให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเชื้อสายต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่  ดังนั้น ความขัดแย้งจะค่อยๆ ขยายจากคู่ขัดแย้งหลักที่เป็นฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี ไปเป็นความขัดแย้งในระหว่างประชาชนเชื้อสายต่างๆ  ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
หากการเยียวยายังคงดำเนินไป โดยละเลยมิติของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ถูกสถานการณ์พาไปหรือจัดวางให้รู้สึกว่าไม่สามารถเป็นมิตร หรือาศัยอยู่ร่วมกันได้เหมือนเดิม
ส่วนมาตรการหรือนโยบายต่างๆทางการเมืองที่เป็นสันติวิธี ที่รัฐได้ดำเนินการมาก่อนนี้ เช่น การพูดคุยกับฝ่ายขบวนการ การพยายามอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน การเปิดพื้นที่ให้มีการขยับเรื่องกระจายอำนาจ ก็ขอให้เดินหน้าต่อไป และพัฒนาให้มีความก้าวหน้า มิเช่นนั้นจะมีแต่การแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางการทหารและกฎหมายพิเศษอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายและมาตรการดังกล่าวก็ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น และอาศัยเวลา ระหว่างทางจะเผชิญกับแรงยั่วยุจากฝ่ายที่ต้องการให้กลับไปใช้ความรุนแรง แต่หากรัฐบาลเชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ก็ต้องมั่นคง กล้าหาญ และยืนยันในแนวทางที่ว่านี้ โดยไม่วกกลับไปสู่วังวนเดิมของการแก้ปัญหา
ในขณะเดียวกันฝ่ายขบวนการก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้ตน หรือบีบให้มีการเจรจา เพราะจะเสียความชอบธรรมในการต่อสู้ และฝ่ายรัฐก็จะอ้างได้ว่าไม่สามารถเปิดการพูดคุย หรือเจรจากับขบวนการที่ใช้วิธีการก่อร้ายได้ เพราะผิดกฎหมายหรือเท่ากับยกสถานะ นั่นเท่ากับจะทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพต้องชะงักและจะยิ่งไร้ทางออกและทางเลือกต่อไป