Skip to main content
เผยแพร่วันที่   ๒๐ เมษายน   พ.ศ. ๒๕๕๕  
 
สำนักนายกฯ อุทธรณ์ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายคดีนายรายู ตามคำสั่งศาลปกครอง
กรณีเหยื่อถูกทรมานได้รับความเสียหาย เหตุการณ์วันเดียวกับกรณีอิหม่ามยะผา
 
            เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๔/๒๕๕๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘/๒๕๕๕ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น(ศาลปกครองสงขลา) ที่พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าเสียหายให้แก่นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๔๖,๖๒๑ .๕๖ บาท และยกฟ้องกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑   กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓  
            ศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔  ส่วนหน้า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี   ในคดีที่นายรายู ดอคอ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑   กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต่อศาลปกครองสงขลา เรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมและควบคุมตัวนายรายู ดอคอ พร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง   นำตัวไปแถลงข่าวว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และแถลงว่านายรายู ฆ่าผู้อื่น โดยไม่เป็นความจริง ทั้งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่นำตัวประชาชนไปทำการแถลงข่าวดังกล่าว แล้วนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ และถูกซ้อมทรมาน ด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายและจิตใจ  และอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถึงแก่ความตาย  เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๙-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ต่อเนื่องกัน
            อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๕  ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้รับมอบอำนาจของนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นที่ศาลยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้แก่  กระทรวงกลาโหม  กองทัพบก  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ ให้ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดสังกัดหน่วยงานทั้งสาม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อหน่วยงานทั้งสามมาโดยตลอด ดังนั้น หน่วยงานทั้งสามซึ่งมีหน้าที่สั่งการ บังคับบัญชา และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (ภายใต้ กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔   ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี  ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน ได้สำรวจตรวจสอบและควบคุมดูแลการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในสังกัดไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนี้อีกต่อไป และผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ในประเด็นค่าเสียหายด้วย เนื่องจากศาลได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้น ๒๔๖,๖๒๑ .๕๖ บาท ดังกล่าวข้างต้นนั้น ถือว่าต่ำเกินไป ไม่เหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำต่อผู้ฟ้องคดี
           คดีนี้ ศาลปกครองสงขลารับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปแถลงข่าวทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยินยอมโดยไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีให้กระทำเช่นนั้นได้ และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายรายู ดอคอ จริง ตามผลการตรวจของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ (International Rehabilitation Council for Torture Victims - IRCT) รวมทั้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีที่ฝ่ายทหารแต่งตั้งขึ้น    จึงพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า  กอ.รมน. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย การได้รับความทุกขเวทนาต่อจิตใจ  ความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพ เป็นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ เป็นเงินจำนวน ๑๐,๘๐๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๒๑๐,๘๐๐ บาท และเมื่อหนี้ดังกล่าวเกิดจากการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิด โดยดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นเวลา ๘๒๗ วัน เป็นเงิน ๓๕,๘๒๑.๕๖ บาท และต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓
            คดีที่นายรายู ดอคอ ฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาดังกล่าวนี้ เริ่มจากนายรายู ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อมามีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล  ศาลแพ่งและศาลปกครองสงขลา เห็นพ้องกันว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสงขลา   ศาลแพ่งจึงได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาลแพ่ง นายรายู จึงได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓  
            จากการอุทธรณ์คดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายดังกล่าวข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีต่อไป และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด
สำหรับเหตุการณ์เดียวกัน ในคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ภรรยาและบุตรของอิหม่ามยะผา ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง มีการไกล่เกลี่ย คู่ความประนีประนอมยอมความตกลงกันได้ โดยทางกองทัพบกยินยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวอิหม่ามยะผา เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของอิหม่ามยะผา ผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน ๘๗,๐๐๐ บาท และค่าขาดไร้อุปการะภรรยาและบุตรรวม ๔ คน เป็นจำนวนเงิน ๔,๖๒๔,๐๐๐ บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๕,๒๑๑,๐๐๐ บาท คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น.