หากจะใช้ "พื้นที่ชุมชนเสมือนจริง" เป็นส่วนหนึ่ง เป็นข้อต่อ หรือพื้นที่เชื่อมโดยซ้อนทับขนานไปกับ "ชุมชนจริง" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็น "พื้นที่ทางการเมือง" หรืออีกพื้นที่สาธารณะในการเผยข้อเสนอบางประการ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้นำไปสู่การสานเสวนาระหว่างคู่ขัดแย้งหลักได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องท้าทายและน่าสนใจมิใช่น้อย บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "มาราธอน" แหล่งรวบรวมบทความและบทสนทนาว่าด้วยอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม และวัฒนธรรม จากกิจกรรมที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้มีส่วนร่วม ในช่วงปี 2010 ถึง 2011 ซึ่งเป็นสองปีที่สังคมไทยได้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมปรากฏอย่างชัดเจนกว้างขวางบนพื้นที่ออนไลน์ที่เชื่อมกับออฟไลน์ ตั้งแต่การชุมนุมและการสลายการชุมนุมเมื่อต้นปี 2010 ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปและน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 |
เล่าเรื่อง: 'สื่อใหม่' เปิดพื้นที่การเมืองและข้อเสนอต้องห้าม 'นครปาตานี'
ฐิตินบ โกมลนิมิ
ศูนย์เฝ้าระวัสถานการณ์ภาคใต้
ชุมชนเสมือนจริง (virtual community) กลายเป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ของผู้คนรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และสร้างพื้นที่สาธารณะ เป็นทั้งพื้นที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง หรืออีกทางหนึ่งอาจเป็นพื้นที่สร้างความขัดแย้งได้ (แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง, 2551) และหากจะใช้พื้นที่ชุมชนเสมือนจริงเป็นส่วนหนึ่ง เป็นข้อต่อ หรือพื้นที่เชื่อมโดยซ้อนทับขนานไปกับ "ชุมชนจริง" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็น "พื้นที่ทางการเมือง" หรืออีกพื้นที่สาธารณะในการเผยข้อเสนอบางประการให้นำไปสู่การสานเสวนาระหว่างคู่ขัดแย้งหลักได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องท้าทายและน่าสนใจมิใช่น้อย
สื่อใหม่กับความรุนแรงชายแดนใต้
ก่อนเกิดเหตุความรุนแรงชายแดนใต้ ปี 2547 (อิ่มจิต เลิศพงศ์สมบัติ,2544) เคยสำรวจทัศนคติต่อเทคโนโลยีการสื่อสารอินเตอร์เน็ตใน 3 จังหวัดชายแดนใต้: ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พบว่า กลุ่มผู้นำทางความคิดส่วนใหญ่ (ได้แก่ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และกลุ่มสตรี) ไม่รู้จักและไม่เคยใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ทราบแต่เพียงว่าเป็น "สื่อไม่ดี" ชักนำอันตรายมาสู่เยาวชน ทั้งเรื่องการคุกคามทางเพศ เป็นแหล่งรวมสื่อลามกอนาจารที่ขัดต่อหลักศาสนา และการติดเกมส์ออนไลน์ทำให้เสียการเวลาเรียน ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากกลุ่มเยาวชนที่มีประสบการณ์การใช้มาก่อน คิดว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นใช้สืบค้นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้และทำกิจกรรมชุมชน เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นแหล่งติดต่อสื่อสารระหว่างชุมชนกับผู้บริหารชุมชน หน่วยงานรัฐได้
หลัง4 มกราคม 2547 ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นมิติใหม่ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ “ความไม่สงบ”เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งการ ซุ่มยิง โจมตี ระเบิด และการรบกวนโดยวิธีต่างๆ สร้างการสูญเสียชีวิต นองเลือด และบาดเจ็บจำนวนมาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ รายงานสถานการณ์ 7 ปี (ระหว่างมกราคม 2547-2554) มีเหตุการณ์รุนแรง 10,585 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 4,572 ราย บาดเจ็บรวม 7,404 ราย รวมทั้งนำไปสู่การไม่ไว้วางใจระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน สร้างรอยแผลบาดลึกเกินกว่าจะเยียวยาระหว่างคนไทยพุทธและมลายูมุสลิมในพื้นที่
ขนานไปกับพื้นที่ความรุนแรงดังกล่าว พื้นที่สื่อก็เป็นพื้นที่สงครามข่าวสารจากทุกฝ่ายอีกระนาบหนึ่ง กล่าวเฉพาะในโลกอินเตอร์เน็ต (เอกรินทร์ ต่วนศิริ, 2552) ระบุว่า ใน Youtube มีการปล่อยคลิปเหตุการณ์รุนแรงภาพการตัดหัว ภาพชาวบ้านที่ถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ ที่น่าสนใจบางคลิปจงใจดัดแปลงภาพ เสียง หรือการบรรยายต่างๆ เพื่อให้ตรงเป้าประสงค์ที่จะนำเสนอ เช่น การบรรยายประวัติศาสตร์ปาตานีที่ดูและฟังเป็นภาษาอังกฤษ มลายู และไทยได้ หรือที่ทันสมัยกว่านั้นได้มีการสร้างแอนนิเมชั่นเป็นรูปท่านฮัจญีสุหรง บางคลิปเป็นรูปคล้ายโต๊ะครูกล่าวถึงประวัติศาสตร์ปาตานี หรือ "การต่อสู้เพื่อปาตานี" แน่นอนว่า เรื่องราวเหล่านี้เราจะไม่เห็นปรากฎในพื้นที่ทางการเมืองในชีวิตประจำวันของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ด้านฝ่ายรัฐ และทหารเองก็เปิดเว็บไซต์จำนวนไม่น้อยเพื่ออธิบาย โต้แย้ง ตอบโต้ และทำประชาสัมพันธ์เชิงจิตวิทยาไปพร้อมกันอีกทางหนึ่งด้วย
ในแง่นี้แล้ว 'สื่อ' ก็ยิ่งตกเป็นจำเลยว่าเป็นส่วนสำคัญในการขยายความรุนแรงถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวจากผู้ก่อความรุนแรงจากทุกฝ่าย จนกระทั่ง ปี 2548เกิดการปฏิรูปสื่อครั้งสำคัญอย่างเงียบๆและปักหมุดหมายแนวคิด "สื่อสันติภาพ" ไว้ เมื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง ผลักดันจนเกิด "ศูนย์ข่าวอิศรา": โต๊ะข่าวภาคใต้ นำเสนอข่าวสารเชิงลึกที่พยายามอธิบายต้นเหตุความรุนแรงและเสนอวิถีวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่ให้สังคมวงกว้างฟังอย่างเข้าใจ ผ่าน www.isranews.org และความน่าสนใจของของปฏิรูปสื่อครั้งนี้ ก็คือการนำเว็บไซต์/new media เข้ามาเชื่อมโลกมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ให้สังคมไทยและสังคมโลกได้รับรู้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากนั้นก็มีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างสมดุลย์ข่าวสารความรุนแรงในพื้นที่สื่อประเภทต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุชุมชนในพื้นที่ และการถูกนำไปอ้างอิงต่อโดยสำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลก
ต่อมา ปลายปี 2549 ก็เกิดศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นองค์กรประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภารกิจสำคัญ คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ความขัดแย้งและความรุนแรงในชายแดนภาคใต้โดยใช้ข้อมูลและการคิดค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์จากมิติต่างๆ พร้อมทั้งทำหน้าที่เตือนภัยต่อสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ของสังคม พร้อมทั้งให้สื่อมวลชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปช่วยกันเฝ้ามองปัญหาและเข้าใจปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
เดิมศูนย์เฝ้าระวังฯ ทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ตามวาระและเหตุการณ์สำคัญ เน้นขับเคลื่อนสังคมผ่านสื่อสารมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ซึ่งเป็น ‘สื่อกระแสหลัก’ หรือ ‘สื่อแนวดิ่ง’ จากส่วนกลางเป็นหลัก ใช้ประเด็นเป็นตัวเปิดพื้นที่ให้เกิดบทสนทนากับสังคมวงกว้างและผู้กำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ทว่าความยืดเยื้อของสถานการณ์ยิ่งยาวนาน มีผลให้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็น ‘เคียงข่าวการเมือง’ ประหนึ่ง 'เหตุการณ์รุนแรงปกติ' ระยะหลัง จึงต้องออกแบบการสื่อสารสาธารณะใหม่ โดยวิเคราะห์ประเด็น กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และเลือกใช้สื่อแต่ละประเภทให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย คู่กับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมไปในตัว รวมทั้งเปิดกว้างในการสร้างความรู้จากการทำงานของภาคประชาสังคมและเครือข่ายให้หลากหลายมากขึ้น กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ เป็นการวางยุทธศาสตร์ทำงานเชิงรุกใน ‘แนวราบ’ (กับสื่อประเภทต่างๆ ในชุมชนและนิวมีเดีย) เพื่อประสานกับสื่อแนวดิ่งในช่วงจังหวะที่เหมาะสม
โดยระยะ 4-5 ปีหลังความรุนแรงรอบใหม่นี้ นิวมีเดียเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ไม่น้อย อาทิ สำนักข่าวอามาน, กลุ่มบุหงารายา, southern peace media group ฯลฯ ที่อาจจะกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่น่าสนใจในอนาคตได้ เพราะ "เว็บไซต์เปิดโอกาสให้คนทำสื่อซึ่งอาจไม่มีประสบการณ์ จากที่เราเคยคิดว่าการทำงานสื่อเป็นเรื่องไกลตัว สื่อใหม่ทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับมันและเริ่มต้นทำสื่อเองได้ และเชื่อว่าสามารถพัฒนาเป็นมืออาชีพในอนาคตได้ ที่สำคัญสื่อใหม่ยังทำให้เราเป็นอิสระจากแรงบีบต่างๆ ที่สื่อกระแสหลักต้องเผชิญ ทำให้เราสามารถนำเสียงที่ไม่เคยถูกรับฟังออกไปข้างนอกได้ด้วย" มาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ นักข่าวพลเมือง จากกลุ่มพีช มีเดีย ระบุไว้ใน (รายงานการประชุมเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้, 2553)
อย่างไรก็ตาม คนผลิตสื่อใหม่ในพื้นที่นี้มีมากก็จริง แต่การเข้าถึงข้อมูลก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน เพราะการเปิดรับสื่อหรือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4อำเภอในจังหวัดสงขลา สำรวจโดยสถานความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เดือนมิถุนายน2553 พบว่า ประชาชนรับรู้สื่อจากโทรทัศน์ เป็นอันดับแรก รองลงมาคือวิทยุ สื่อจากมัสยิด คนในชุมชน ร้านน้ำชา คุยกับเพื่อน หอกระจายข่าว ตามลำดับ กล่าวคือ เน้นเสพสื่อในชุมชนเป็นหลัก
ดังนั้น การคาดหวังให้นิวมีเดีย "เปิดพื้นที่ให้เสียงต่าง" เพื่อเคลื่อนสังคมชายแดนใต้จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่เรียกว่า "เป็นความหวัง" นั้น ยังต้องติดตามกันไปอีกพอสมควร เพราะ "โครงสร้างสื่อก็รับอิทธิพลมาจากโครงสร้างสังคมหลัก ดังนั้นสื่อท้องถิ่นจึงเกิดยาก เพราะทุกอย่างต้องมาจากส่วนกลาง ถ้าส่วนกลางไม่เอาด้วย สื่อท้องถิ่นหรือสื่อทางเลือกก็ทำอะไรไม่ได้ อาจมีโอกาสในการนำเสนอข่าวแต่ไม่มีพลังพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างไปรวมอยู่ที่คนหรือความเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว” ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันข่าวอิศรา (2553)
เริ่มต้นพูดเรื่อง 'ต้องห้าม': นครปาตานี
ความรุนแรงที่ชายแดนใต้วางตัวเองอยู่บนปัญหาของความไม่ลงรอยระหว่างอำนาจของศูนย์กลางและพื้นที่ชายขอบ ในมุมของรัฐประชาชาติไทย/สยาม นี่คือการปกป้องอำนาจเหนือดินแดนและผู้คนอย่างถึงที่สุด มุ่งมั่นต่อต้าน “การแบ่งแยกดินแดน” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนานาประการ ในทางตรงกันข้าม เครือข่ายของผู้ก่อการที่เคลื่อนไหวใต้ดินและใช้ความรุนแรงเข้าต่อรองมองปฏิบัติการของตนเองเป็น “การต่อสู้” ที่ต้องการปลดปล่อย “ปาตานี” ออกจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคม โดยมีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนารองรับอย่างหนักแน่น ด้วยเหตุนี้ พวกเขากำลัง “กู้เอกราช” หาใช่เป็นการ “แบ่งแยกดินแดน” ไม่ (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2554)
แง่นี้เอง ความระหว่างบรรทัดของความรุนแรงชายแดนใต้ 7 ปีที่ผ่านมา บอกเราประการหนึ่งว่า รัฐไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้ความไม่มั่นคงของประชาชน และถึงเวลาต้องคลี่คลายมายาคติทางการเมืองการปกครองได้แล้ว เช่น การปกครองรวมศูนย์อำนาจที่เอ่ยอ้างถึงประชาธิปไตยโดยเกี่ยวข้องกับดินแดน ถึงเวลาพูดเรื่องต้องห้ามที่เคยเชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ระบุว่า “...ต้องคลี่คลายมายาคติต่างๆ เมื่อความมั่นคงของรัฐมีความหมายใหม่ คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องแก้ที่การเมืองการปกครอง เพราะความรุนแรงเป็นอาการของปัญหา การใช้กำลังพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่คำตอบ ความขัดแย้งกับปัญหาชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ ปัญหาไปด้วยกันไม่ได้ของกลุ่มชาติพันธุ์กับระบบรัฐที่เป็นอยู่ การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เป็นการกำหนดกติกาของการอยู่ร่วมกัน” (สำนักข่าวอามาน, 2552)
และเธอยังแนะนำว่าต้องมองเห็นภาพอนาคตอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการ คือต้องมีแผนที่นำทาง (Road Map) สำหรับการปกครองปัตตานี ในระยะ 5 หรือ 10 ปี ซึ่งคาดหวังว่าสามารถสร้างความสงบในพื้นที่ได้ อาจกล่าวได้ว่า นับจากนี้ไปอีกหลายปี ‘นครปัตตานี’ หรืออุปมาของ ‘Autonomy’ ก็จะเป็นประเด็นเคลื่อนไหวสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง อันส่งผลถึงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางระยะยาว รวมทั้งกลุ่ม ขบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สงบนี้ ที่จะต้องพยายามเชื่อมโยงตนเองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ปลายปี 2552 จึงนับเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ เข้ามามีบทบาทเชิงรุกร่วมกับเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองและองค์กรวิชาการ ซึ่งรวมทั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ จับกระแส “นครปัตตานี” มาขับเคลื่อนเป็นเวทีวิชาการสาธารณะ หัวข้อ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” วันที่ 10 ธันวาคม 2552 เพื่อทบทวนบทเรียนในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ ในบางประเทศ อีกทั้งยังเปิดเวทีสะท้อนเสียงของคนไทยพุทธในฐานะคนส่วนน้อยในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะการตั้งประเด็นเรื่องการออกแบบรูปแบบการปกครองเขตพิเศษโดยคนพื้นที่เอง
ทั้งนี้ ‘นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย’ เป็นอุปมาหนึ่งเพื่อพูดถึงรูปแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ ขาดแคลนคำศัพท์ที่เหมาะสมสำหรับอธิบายการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากคำว่า “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง” เป็นทั้งแนวคิดและคำที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก และบางครั้งการใช้คำว่า ‘Autonomy’ ดูจะใช้ได้ง่ายกว่า โดยเครือข่ายฯ เห็นร่วมกันว่า
“การทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จะต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจหน้าที่ของพลเมือง ตลอดจนความรู้พื้นฐานเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการจัดให้มีเวทีสาธารณะและการจัดเสวนาขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง" (2552)
ในเวทีวิชาการสาธารณะดังกล่าว อิสมาแอล อาลี อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี นิยามความเคลื่อนไหวผลักดันดังกล่าวว่าเป็น “การต่อสู้” อีกประเภทหนึ่งที่ยืนอยู่ในแนวทางของสันติวิธีที่มุ่งคลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรงโดยใช้องค์ความรู้ขับเคลื่อน หลังจากที่ข้อสรุปในรอบหลายปีที่ผ่านมาล้วนสะท้อนว่าโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจของรัฐไม่สามารถคลายความขัดแย้งได้ เขาประเมินในเบื้องแรกว่า แม้รัฐบาลอาจไม่รับฟังข้อเรียกร้อง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับ “หน้าที่” ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ และแม้ว่าจะไม่สำเร็จบรรลุผลในห้วงชีวิตของคนรุ่นหนึ่ง ก็จำเป็นที่จะต้องส่งทอดภารกิจเหล่านี้สู่คนรุ่นลูกต่อไป (2554)
สื่อใหม่ในฐานะพื้นที่ทางการเมือง
แนบชิดกับ "การต่อสู้" ข้างต้น สื่อใหม่ในฐานะเครื่องมือของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างสำคัญ ศูนย์เฝ้าระวังฯ ใช้ www.deepsouthwatch.org ทำงานเชิงรุกร่วมกับเครือข่ายปัญญาชนมุสลิมและนักข่าวพลเมืองจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ ‘ถ่ายทอดสด’ และบันทึกเทปเวทีสัมมนา “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” เพื่อนำภาพและเสียง รวมทั้งข้อเรียกร้องที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ ‘คนนอก’ พื้นที่ได้เข้าใจ การนี้นักข่าวพลเมืองยังได้สอบถามความคิดเห็นและความต้องการของ ‘คนใน’ จำนวนมากจัดทำเป็นคลิปวีดีโอ “ร้อยคนร้อยคลิป: การเมืองการปกครองชายแดนใต้ที่ควรจะเป็น” และภายหลังมีอาสาสมัครถอดความและแปลคลิปทั้งหมด ใส่เป็นคำบรรยายภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารได้กว้างขวางขึ้น ดังรูปประกอบ
ภาคปฏิบัติการของความคิดริเริ่มนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่ www.deedsouthwatch.org ทรัพยากรที่ถูกลงทุนเพื่อทดสอบการถ่ายทอดสดออนไลน์นี้ ได้ถูกวางแผนเชื่อมต่อเข้ากับเว็บไซต์เครือข่ายสื่อในภาคใต้ ได้แก่ สำนักข่าวอามาน กลุ่มบุหงารายา กลุ่มพีซมีเดีย และเสียงก็ถูกถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ได้ออกอากาศพร้อมกัน
เมื่อถอดประสบการณ์ออกเป็นการเรียนรู้ เราพบกระบวนการสื่อสารแนวราบ ที่เริ่มต้นจากการกำหนดประเด็นเคลื่อนไหว สู่การจัดเวทีสาธารณะที่ดึงผู้คนจากหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม มีการทำแผนที่เครือข่ายสื่อสามจังหวัดภาคใต้ อันนำไปสู่การวางแผนเพื่อถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์และวิทยุชุมชน (ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู) ขณะเดียวกันก็มีสื่อภาคพลเมืองคอยสื่อสารและสะท้อนความคิดเห็นของพลเมืองที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นให้กลายเป็นการสื่อสารสองทาง ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของแนวคิดสื่อสารมวลชนที่สื่อสารด้านเดียวแก่ผู้รับสาร
ภาคปฏิบัติการข้างต้น สอดคล้องกับ (กาญจนา แก้วเทพ, 2548) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สนใจวิเคราะห์อุดมการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางเลือกที่เน้นการสื่อสารในแนวระนาบ โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านที่มีรูปแบบการกระจายอำนาจ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของการสื่อสารที่เคยมุ่งเน้นการโน้มน้าวชักชวน มาเป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ถือเป็น “ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร” ก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสื่อสาร (Participatory communication) ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก และในเรื่ององค์ประกอบของการสื่อสารนั้น “ตัวสื่อ” ก็เป็น “สื่อผสมผสาน” (mixed media) ที่มีกลยุทธ์ด้านเนื้อหาสาร (message strategies) เข้ามาประกอบกัน
และผลจากการถ่ายทดสดออนไลน์เวที ‘นครปัตตานี’ ให้ ‘คนนอก’ ได้รับรู้ด้วยทำให้เรื่อง ‘เขตปกครองพิเศษ’ ถูกพูดถึงในพื้นที่สื่อกระแสหลักได้มากขึ้น เดือนมกราคม 2553 ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ได้นำเสนอ ‘ข้อเสนอต้องห้าม’ อย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผ่านรายการ ‘วาระประเทศไทย’ ต่อเนื่องกัน 5 ตอน และมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายปัญญาชนมุสลิม และตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคในรายการ ‘เปลี่ยนประเทศไทย’ อีก 5 ตอน จนเกิดความตื่นตัวทางการเมืองของคนในพื้นที่อย่างสูง และยกระดับนำไปสู่จินตนาการการสร้างทางเลือกของประชาชน เพื่อหารูปแบบการอยู่ร่วมกันในอนาคต โดยภายหลังคลิปวีดีโอรายการทั้งหมดถูกเผยแพร่ซ้ำที่ www.deepsouthwatch.org และยังมีการผลิตซ้ำเป็นดีวีดีแจกกระจายลงไปในชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก (video movement) ใช้เป็นเครื่องมือนำคุยเรื่องนี้มากขึ้นในที่สาธารณะต่างๆ
แม้ 'สื่อใหม่' และ 'สื่อชุมชน' รวมทั้ง "ทีวีสาธารณะ" จะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แนวคิดและข้อเสนอต่างๆ ได้แทงยอดสู่สาธารณะบ้างแล้ว กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่าในสนามความขัดแย้งดังกล่าวจะมีตัวละครอยู่เพียงสองฝักสองฝ่าย หากแต่ในพื้นที่ตรงกลางยังอุดมด้วยผู้เล่นอีกมากมายทั้งที่อยู่ในฐานะเหยื่อของความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนกลุ่มประชาสังคมที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในการต่อรองกับทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในขั้วขัดแย้งหลัก รวมทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในเวลาต่อมา (2554)
ต่อให้แนวทางการปรับโครงสร้างการปกครองในชายแดนใต้จะยังไม่มีหลักประกันว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะเลือกใช้หนทางการเมืองเข้าต่อรอง หรือแม้กระทั่งจะให้คำตอบว่าความรุนแรงจะยุติลงในทันที ทว่าการ 'เปิดพื้นที่' ให้มีการถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นว่า “การต่อสู้” ที่ชายแดนใต้ในแง่มุมเช่นนี้ก็ไม่สามารถผูกขาดความหมายได้เพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป
อย่างน้อยวันรัฐธรรมนูญ (ไทย) ก็กลายเป็นหมุดเวลาและสัญลักษณ์ของ "การต่อสู้" นี้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเวทีใหญ่ของ “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2553หลังจากพวกเขาจัดกระบวนการรับฟังและประมวลความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และอาชีพรวม 47 เวที เพื่อสะท้อนแง่มุมข้อจำกัดของโครงสร้างการปกครองที่เป็นอยู่ รวมถึงการแสวงหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่สอดคล้องต่ออัตลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่และอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอน การใช้สื่อใหม่ในการ "ถ่ายทอดสด" เหตุการณ์ก็เป็นมาตรฐานภาคปฏิบัติการของ "การต่อสู้" นี้ และจะเป็นไปเช่นนี้ทุกครั้ง
กระบวนการดังกล่าวเป็นที่มาของ “(ร่าง) รายงานผลการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนจากมุมมองของคนพื้นที่ (ร่างที่ 5)” ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไขผ่านการรับฟังความเห็นในเชิงลึกและขั้นตอนที่กำลังพัฒนายกร่างเป็นพระราชบัญญัติ และในอนาคตอันไม่ไกลนี้ เครือข่ายดังกล่าวจะใช้ช่องทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญ (2554)
แม้ในทางทฤษฎี ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังฯ บอกว่า ภายใต้สถานการณ์ขัดแย้งและรุนแรง หากมี "พื้นที่ทางการเมือง" มากขึ้น อำนาจการต่อรองจากกลุ่มฝ่ายต่างๆ ก็อาจส่งผลให้ความรุนแรงลดลงได้ ในทางผกผันกัน ถ้าพื้นที่ทางการถูกบีบแคบให้ลดลง ย่อมส่งผลให้การก่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ แง่นี้แล้ว คำถามที่ติดตามมาอย่างสำคัญคือ หาก "สื่อใหม่" มีนัยยะของการเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญในอนาคต ผู้ผลิตสื่อใหม่จะเพิ่มศักยภาพและออกแบบกระบวนการสื่อสารของตนเอง จนสามารถกำหนด "วาระการสื่อสาร" ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างไร.
เอกสารอ้างอิง
- กาญจนา แก้วเทพ. (2548). ก้าวต่อไปของการสื่อสารเพื่อการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
- แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2551). มุสลิมชายแดนใต้ในความรู้สึกของชุมชนเสมือนจริง. เอกสารประกอบการประชุม วิชาการ " 5 ปีไฟใต้: สงคราม: ความรู้: ความสับสน...แล้วไงต่อ?” , ม.ป.ป. จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ ภาคใต้ เว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/documents/04-520118.pdf
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2552). โครงการสัมมนาทางวิชาการ "นครปััตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” เว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/Project.pdf
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2552). ใช้ ‘สื่อสาธารณะ’ เชื่อมความรู้เคลื่อนการเมืองชายแดนใต้. ม.ป.ป.
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2553). รายงานการประชุมเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้. ม.ป.ป.
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2554). โมเดลจากพื้นที่: เผชิญแรงกดดันของไฟใต้และ “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ใน
- ฐานะกระบวนการหาทางออกทางการเมือง. เว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/node/1403
- สำนักข่าวอามาน. (2552). ภาคประชาชน-นักวิชาการเปิดตู้โชว์โมเดล "เขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ" เตรียม
- เปิดเวที 37 อำเภอชายแดนใต้ฟังเสียงประชาชน. จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/node/575
- อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ. (2544). การให้บริการและการใช้อินเตอร์เน็ตตำบลในสามจังหวัดชายแดนใต้: ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
- เอกรินทร์ ต่วนศิริ. (2552). เรื่องชายแดนภาคใต้: บนโลกไซเบอร์ “youtube” [ต้น]. จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/node/304.