สมัชชา นิลปัทม์
ผมมีโอกาสได้อ่านบทความที่ได้แบ่งปันผ่านเฟสบุ๊คกันในกลุ่ม “วารสารศาสตร์แห่งอนาคต” ซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดคุยกันเรื่อง “สื่อใหม่” และการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทั้งวิชาการและวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ว่าควรจะปรับตัวกันอย่างไร สมาชิกของกลุ่มท่านหนึ่งแนะนำให้อ่านแหล่งข้อมูลจากเวบไซต์ชื่อ www.mediahelpingmedia.org เป็นบทความที่พาดหัวไว้น่าสนใจชื่อว่า What editors look for when recruiting journalists.
บทความนี้เริ่มด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า หากคุณเป็นบรรณาธิการคุณจะเลือกคนแบบไหนมาร่วมงานและถามย้อนไปถึง ‘ว่าที่นักข่าว’ ด้วยว่า คุณควรมี ‘คุณสมบัติ’ แบบไหน อย่างน้อยๆ ก็พอให้นักศึกษาในโรงเรียนวารสารศาสตร์ได้เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้บ้างนะครับ
กองบรรณาธิการเวบไซต์ www.mediahelpingmedia.org ลงไปคุยกับนักวิชาการและนักวิชาชีพ 5 ท่าน 5 มุมมองด้วยคำถามข้างต้น ซึ่งพอจะจับได้สาระเรื่อง ‘คุณสมบัติ’ ที่พึงมีในนักข่าวรุ่นใหม่ดังนี้
1. มีทักษะชีวิต รอบรู้และมีพื้นฐานด้านมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์
ผู้ให้ความเห็นท่านแรกบอกว่า เขาต้องการเห็นนักข่าวรุ่นใหม่ที่มีทักษะชีวิต สามารถทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่สำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งยังต้องมีมุมมองในทางการเมืองอีกด้วย โดยในโลกที่หลากหลายนี้บรรณาธิการรุ่นใหม่ต้องการนักข่าวที่มีทักษะในการตีความปรากฏการณ์ทางสังคม พูดง่ายๆ ว่า สามารถมองเห็น ‘มุมข่าว’ ได้อย่างหลากหลาย มีความคิดในเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์ แต่ปัญหาใหญ่ของการศึกษาก็คือ “ทักษะชีวิต” นั้นไม่มีในมหาวิทยาลัย
2. ทักษะและความถนัดเฉพาะ คือ ‘แก่นสาระ’ของการเป็นนักข่าว
ผู้ให้ความเห็นท่านนี้เสนอว่า สิ่งที่ต้องการจากนักข่าวหาใช่ใบ ‘ปริญญา’ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ ‘ทัศนคติต่อวิชาชีพ’ ของคนที่อยากเป็นนักข่าว มีเซนส์ของการมองเห็นประเด็นข่าว ซึ่งวางอยู่บนฐานของความสนใจของสาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ผู้ให้ความเห็นท่านนี้เชื่อว่า คนที่จะมาเป็นนักข่าวนั้น ถูกกำหนดมาให้เป็นโดยกำเนิดมากกว่าที่ถูกสร้างให้เป็น(Journalists are born, not made)
3. มีความรู้เฉพาะและสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้จริง
สำหรับนักข่าวใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการ การจะให้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทันทีทันใดทันใด อาจจะยังเป็นเรื่องยาก โดยส่วนใหญ่คนที่กำลังจะจบการศึกษาอาจไม่เคยคิดเตรียมการมาก่อนว่าหากจะเป็นนักข่าวจะเป็นผู้ที่ถนัดด้านใด แต่สำหรับผู้ให้ความเห็นท่านนี้ซึ่งเป็นนักพัฒนาด้านการสื่อสารชี้แนะว่า นักข่าวใหม่ๆ ควรต้องวางเป้าหมายในวิชาชีพของตัวเองไว้ตั้งแต่เริ่มแรกว่า ในอนาคตตัวเองจะเป็นนักข่าวที่มีความถนัดเฉพาะเรื่องในด้านใดด้านหนึ่ง (Journalism is a vocational career and it depends on what kind of journalism you want to do)
4. ความรู้ด้าน ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ภาษา’ มีความสำคัญมากในอนาคต
ที่ปรึกษาด้านข่าวท่านต่อมาให้ความเห็นว่า นักข่าวรุ่นใหม่ๆ นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องรู้หลากหลายภาษา เพราะพื้นที่ของการทำงานข่าวนั้นกระจายตัวไปทั่วโลก นักข่าวควรมีความรู้ทางภาษาสำคัญๆ ของโลก เช่น จีนกลาง อราบิก ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย หรือแม้แต่สวาฮิลี ( ภาษาถิ่นแอฟริกา – ผู้เขียน) ที่สิ่งที่สำคัญไม่น้อย คือการทำงานที่ต้องมีความรู้ทางภูมิหลังของประเทศนั้นๆ ทั้ง ภูมิศาสตร์และสังคม ซึ่งแน่นอนว่าในโรงเรียนวารสารศาสตร์ อาจจะเน้นแต่ในทางปฏิบัติ การเรียนการสอนไม่ได้ถูกนักเรียนวารสารศาสตร์มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์หรือสืบค้นปูมหลังในเรื่องต่างๆ มากนัก
5. อยากรู้อยากเห็น มีความคิด‘วิพากษ์’ และ‘กระหาย’ ใคร่รู้อยู่เสมอ
คอมเมนเทเตอร์ท่านสุดท้ายเสนอว่า สัญชาตญาณพื้นฐานของงานข่าวพื้นฐานไม่ว่าจะเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปขนาดไหนแต่ นิสัยอยากรู้อยากเห็น ชอบวิพากษ์วิจารณ์และกระหายในข่าวอยู่เสมอ ยังเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น จากประสบการณ์ของเขาพบว่านักข่าวดาวรุ่งในวงการไม่ได้จบจากโรงเรียนวารสารศาสตร์เสมอไป หากแต่มีคุณสมบัติพื้นฐานข้างต้นที่น่าสนใจ ซึ่งเมื่อไปเพิ่มเติมคุณสมบัติอื่นๆ ที่จำเป็นเช่น จริยธรรมของการเป็นสื่อมวลชนที่ดี ก็จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้ไม่ยาก
มองความเห็นที่เสนอมาอย่างนี้แล้ว ทั้ง “คนเลือก” และ “คนถูกเลือก” รวมไปถึงผู้ต้องสร้าง “ผู้ถูกเลือก” ในบ้านเรา จะปรับจะเปลี่ยนหรือเตรียมตัวกันอย่างไรดี ก็ลองนำไปพิจารณากันเอาเองนะครับ
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ฉบับ 744 ประจำวันที่ 26 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2555