สมัชชา นิลปัทม์
สาขาวิชานิเทศศาสตร์
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เรื่องราวความขัดแย้งอันยืดเยื้อของ ‘ไฟใต้’ ได้เข้าไปสัมพันธ์กับผู้คนหลายระดับ ผลสะเทือนไม่อาจจำกัดวงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองเท่านั้น แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ได้ขยายวงและนำพาผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลากหลายตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกำลังพลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนลงมาดูแลพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ ไม่ได้มาจากกองกำลังประจำถิ่นอย่างกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้นหากต้องอาศัยกองกำลังจากกองทัพภาคอื่นๆ เข้าเสริมอีกด้วย ทำให้กองกำลังขนาดใหญ่อย่างกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีภารกิจหลักในการดูแลพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จำต้องเข้ามามีส่วนในการดำเนินภารกิจครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
การมาของกองทัพภาคที่ 2 ได้นำพา ‘ชายฉกรรจ์’ ชาวบ้านธรรมดาสามัญจากภาคอีสานที่อายุเพิ่งครบ 20 บริบูรณ์ ถูกส่งมาประจำการในดินแดนอันแสนไกลเรื่องราวอันเร้นลับของเทือกเขาบูโด พี่น้องมลายูมุสลิมที่มีความแตกต่างทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกันอย่างสิ้นเชิงจากเด็กหนุ่มชาวบ้านธรรมดาๆ เมื่อต้องสวมเครื่องแบบ จับปืนถูกส่งมาประจำการถึงชายแดนภาคใต้อาจเป็นเรื่องไกลเกินกว่าจะจินตนาการของทหารลูกชาวบ้านคนหนึ่ง ที่กองทัพอาจไม่ได้อบรมให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงปมความขัดแย้งอันยาวนานว่ามาจากเหตุอันใด พวกเขาอาจมาเพราะภารกิจที่มิอาจปฏิเสธ พกพาความแปลกแยกเจือด้วยความหวาดกลัวและความหวังว่าวันหนึ่งหลังผลัดเปลี่ยนกำลังพล พวกเขาจะได้ ‘กลับบ้าน’ อย่างปลอดภัย
การมาของพวกเขาจึงไม่ได้มี ‘อุดมการณ์’ ชาตินิยมอย่างเข้มข้น พวกเขามาเพราะภารกิจในฐานะกลไกของรัฐระดับล่างสุด ที่ไม่ได้ลึกซึ้งกับความขัดแย้งในครั้งนี้มากนัก การดำเนินชีวิตของพวกเขาจึงขอแค่พาชีวิตให้รอดและมีความหวังสูงสุดคือการได้ ‘กลับบ้าน’ เท่านั้น
กับชีวิตที่ต้องเสี่ยงเป็น เสี่ยงตายเช่นนี้ ก่อนมาปักษ์ใต้ญาติพี่น้องอาจมอบเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ไว้คุ้มครองตัว หน่วยงานต้นสังกัดอาจเลี้ยงส่งและเสริมขวัญกำลังใจเขาด้วยการคล้องพวงมาลัย ในขณะที่ขากลับอาจไม่แน่นอน เขาอาจกลับไปอย่างเรียบง่ายหลังปลดประจำการหรือเลวร้ายกว่านั้นหากพวกเขาต้องกลับบ้านอย่างเอิกเกริกพร้อมธงไตรรงค์คลุมหีบศพ
เพลงของ ‘หนุ่มตามฝันจากบ้านมาไกล’
เพลงสั้นๆ ง่ายๆ อย่างเพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ ของ ‘ไผ่ พงศธร’ เป็นบทสะท้อนของความรู้สึกของพลทหารไกลบ้านที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นอย่างดี เพลงนี้เคยได้รับความนิยมอย่างสูงสุดมาแล้ว สามารถทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ของชาร์ต ‘มหานครชาร์ต’ ประจำวันที่ 23 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยตัวของ ‘ไผ่ พงศธร’ นั้นถูกวางภาพลักษณ์ให้เป็น ‘หนุ่มตามฝันจากบ้านไกล’ จากต้นสังกัด ‘แกรมมี่โกลด์’ อยู่แล้ว ผลงานเพลงร้องที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานผลัดถิ่นจากอีสาน อย่างเพลง “คนบ้านเดียวกัน” อันโด่งดัง องค์ประกอบนี้จึงทำให้เพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ ติดหูคนได้ไม่ยาก
เพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ แต่งเนื้อร้องโดย ‘วสุ ห้าวหาญ’ นักแต่งเพลงหน้าใหม่ไฟแรงของค่ายแกรมมี่โกลด์ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนแรงบันดาลใจของเขาต่อเพลงนี้ว่า
“ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ปีที่แล้ว (2552) ผมนอนดูโทรทัศน์ เห็นข่าววางระเบิดรถฮัมวี่ มีทหารเสียชีวิต ก็มาอ่านจากหนังสือพิมพ์ และมีรายการโทรทัศน์เขาไปสัมภาษณ์ชีวิตทหารจากภาคอีสานที่มาประจำการภาคใต้ เลยคิดว่ามีประเด็นน่าจะหยิบมาเขียนเป็นเพลง ผมนึกถึงทหารที่ถูกระเบิด ความคิดของเขาคงจะเหมือนจ่าเพียร อยากกลับบ้าน ชีวิตเขาแขวนอยู่บนเส้นด้าย เขาคงคิดถึงพ่อแม่ คนรักของเขา
“ผมอยากเขียนเพลงถึงทหารชั้นผู้น้อย เคยฟังรายการวิทยุที่ทหารเขาโทรมาขอเพลงกับดีเจ เขาเล่าให้ฟังว่า เขาไม่ได้ขัดแย้งกับคนในพื้นที่ ขับรถผ่านบ้านยังขอข้าวขอน้ำกินกัน ไม่ได้เป็นปรปักษ์กัน เขาทำภารกิจต่างหน้าที่ มาจากต่างภูมิลำเนากัน ผมว่าถ้าตัดเรื่องสิ่งที่ห่อหุ้มออกไป เราก็ต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน เอื้ออาทรกันได้”
วสุ ยังเผยว่า เขายังประทับใจกับเพลงแนวนี้ที่เขียนถึงเหล่าทหารหาญอย่างเพลง ‘จดหมายจากแนวหน้า’ ผลงานของครูชลธี ธารทอง ที่แต่งให้ ยอดรัก สลักใจ ขับร้องมาตั้งแต่ตนเองยังเด็ก ซึ่งเป็นทำให้เป็นแรงบันดาลใจต่อการเขียนเพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ ว่ายังไม่เคยเขียนในประเด็นนี้โดยคิดว่า ถ้าคนเราไม่ยึดเรื่องทัศนคติ ความเชื่อ เราก็ไม่เกลียดชังกัน คนจากต่างภูมิลำเนาก็อาจพบรักกันได้
เรื่องเล่าของ ‘ทหารไกลบ้าน’
โครงเรื่องของเพลงนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนตามแบบฉบับเพลงลูกทุ่ง ที่เล่าเรื่องอย่างง่ายๆ ตรงๆ ของทหารเกณฑ์อีสานไกลบ้าน ซึ่งอาจจะพบรักกับสาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ และหวังว่าเสร็จภารกิจจะได้ ‘กลับบ้าน’ ซึ่งอาจจะเรียกพล๊อตแบบนี้ว่าเป็นสูตรแบบ ‘โฮมซิค–พบรัก’
เพลงในท่อนแรกพูดถึงการที่ทหารชาวนาอีสานถูกเกณฑ์เข้ามาในกรมทหาร นัยของคำว่า ‘ทบ2’ หมายถึงพลทหารประจำการสังกัดกองทัพบกผลัดที่ 2 ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อระงับเหตุที่เขาเองอาจไม่รู้ถึงสาเหตุของความขัดแย้ง แต่ต้องจำใจมาด้วยภารกิจที่ไม่อาจจะปฏิเสธ ในท่อนนี้สะท้อนความรู้สึกของเขาต่อการมาในเมืองที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สายตาของคนรอบข้างที่ไม่มีความไว้วางใจ เป็นความรู้สึกของความ ‘แปลกแยก’ ผ่านความรู้สึกว่า ‘ว้าเหว่’ ดังคำอุปมาที่ใช้ในเพลงว่า ‘ชีวิตดั่งเรือลำน้อยลอยเล’ และ ‘ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย’
ในเพลงยังเล่าถึงภารกิจหลักที่ต้องทำคือการ “ลาดตระเวน” โดยเฉพาะภารกิจในเวลากลางคืน ซึ่งยังคงได้ยินเสียงของปืนแว่วมาจากชายเขา แน่นอนว่าในระหว่างการปฏิบัติภารกิจใจของพวกเขายัง ‘คิดถึงบ้าน’ ซึ่งหวังว่าคนที่บ้านคงนอนหลับฝันดีกันอยู่
นอกจากนี้เพลงยังเล่าเรื่องเชิงรักกระจุ๋มกระจิ๋ม ของชายหนุ่มทหารเกณฑ์พลัดถิ่น กับสาวมลายูในพื้นเมืองว่าให้ผู้ฟังพอเคลิ้มๆ ลืมเสียงปืนสักชั่วครู่ว่า “ในวันดีๆ ที่ไม่มีสถานการณ์” นั้น มีการแสดงไมตรีต่อกัน โดยตัวเองมีความเชื่อว่า หากอยู่ในแผ่นดินเดียวกันก็หมายถึงการเป็น “คนไทย” ด้วยกัน นอกจากนี้ยังเล่าอีกว่าหากได้ปลดประจำการเมื่อไหร่ เบอร์โทรศัพท์ที่ได้จะลองโทรศัพท์มาพูดคุยสานความสัมพันธ์กันต่อ
ในท่อนสุดท้ายของเพลง สะท้อนความไม่เข้าใจใน “สงคราม” ที่เขาต้องมามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ว่า “เทือกเขาบูโด ทาบทะมึนไกลมากมายความลับ กี่ดวงชีวิตที่มอดดับ สังเวยความเชื่อแย่งดินแบ่งฟ้า” ซึ่งเขาไม่รู้ถึง “รากเหง้า” ของ “ปัญหา” ดีนัก จึงทำได้แค่กอดปืนยามดึก ขณะที่ที่ใจต้องหวนคำนึงถึงบ้าน
เมื่อลอง‘อ่าน’ ชุดคำที่ถูกประกอบขึ้นมาในเนื้อเพลงเราก็จะพบกลุ่มคำที่สะท้อนความรู้สึกต่อไปนี้
แปลกแยก:ว้าเหว่, ชีวิตดั่งเรือน้อยลอยเล (ทะเล- ผู้เขียน), เดือนเหงาดาวตก, เสียงหัวใจครวญ, คิดฮอดบ้าน (คิดถึงบ้าน- ผู้เขียน), เสียงแม่โอล่ะเห่ , ลึกลับ: ทะมึนไกล, มากมายความลับ, เสี่ยง: แขวนบนเส้นด้าย, มอดดับ, สังเวย, มาตุภูมิ: บ้าน, เมืองนอน, ภูมิลำเนา, กลับบ้าน
เพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ จึงเป็นภาพสะท้อนของคนนอกพื้นที่ๆ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งในสามจังหวัดมากมายนัก อาจเป็นเรื่องราวและภารกิจคนธรรมดาๆ ซึ่งเหมือนกับผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยัง “งุนงง” และไม่รู้ว่าความ “ขัดแย้ง” ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาของใครกันแน่การมาของพวกเขาในระยะเวลาสั้นๆ จึงเป็นภารกิจจำเป็นและหวังเพียงวันหนึ่งจะได้ ‘กลับบ้าน’ เท่านั้น