Skip to main content
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

 

          สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ที่ดูราวว่าจะถูกลืมเลือนไปจากการรับรู้และสนใจของสังคมไทย  แต่ก็กลับกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่งในพื้นที่สื่อสารมวลชนต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับแต่เหตุการณ์มุ่งโจมตีและเผาทำลายร้านค้าต่างๆ ในตัวเมืองยะลา การลอบทำร้ายครูและโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูในพื้นที่ต่างๆ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงการเปิดภาคเรียนใหม่ เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์คาร์บอมบ์ใน อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

          และล่าสุดที่น่าสลดใจและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดเป็นอย่างยิ่ง คือ เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเข้าไปยิงชาวบ้านขณะกำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง เช่น ปาเลสไตน์ มาแล้ว

          คงมีคำตอบที่หลากหลายในการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยก็มีคำอธิบายสองชุดที่จะปรากฏออกมาสู่สาธารณชน ชุดแรกคงเป็นคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบการแก้ปัญหา กับอีกชุดหนึ่งเป็นคำอธิบายจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คำอธิบายทั้งสองชุดตรงกัน

          ประเด็นดังกล่าวคงไม่น่าสนใจเท่ากับความรู้สึกของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ณ ช่วงเวลานี้ หากพิจารณาประชาชนในพื้นที่ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป สำหรับกลุ่มแรกคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความรุนแรงกำลังทดสอบความอดทนอดกลั้นของพวกเขาอยู่ หากสถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทางออกที่อาจเป็นไปได้ คือ รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างแรงกดดันบีบให้รัฐบาลใช้มาตรการที่เด็ดขาดหรือในทางตรงกันข้ามก็คือการย้ายออกจากพื้นที่เพื่อแหล่งทุนใหม่ที่มีความมั่นคงมาก

          สำหรับประชาชนทั่วไปในกลุ่มที่สอง ทางเลือกคงมีไม่มากเท่ากับคนกลุ่มแรก ความรุนแรงคงผลักให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะเอาตัวรอดในสถานการณ์เฉพาะหน้า นั่นคือถอยห่างจากรัฐหรือกลไกของรัฐมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนถ่างกว้างยิ่งขึ้น ประการต่อมาผลของความรุนแรงจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมและศาสนาเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ท้ายสุดก็จะบานปลายเป็นปัญหาความมั่นคงของสังคมในอนาคต

          เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ คำถามก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งพุทธและมุสลิม ทั้งนักธุรกิจผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ ครู ทหาร ตำรวจ รวมทั้งชาวบ้านประชาชนทั่วไป กำลังพยายามสื่อสารอะไรกับสังคม หรือส่งถึงรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

          เพื่อเป็นการลองทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ บทความชิ้นพยายามวิเคราะห์นัยสำคัญของเหตุการณ์ เพื่อชวนให้สังคมได้คิดวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น

          เป็นไปได้หรือไม่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นตอกย้ำให้ช่องว่างของการมาตรการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน นับแต่เกิดเหตุการณ์รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงพยายามลองถูกลองผิดกับวิธีการคลี่คลายปัญหา มีการนำมาตรการทางการทหารควบคู่กับมาตรการทางการเมืองมาใช้ในพื้นที่ มีการใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และคุณภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วง กลายเป็นคำถามที่สร้างความไม่มั่นใจต่อแนวทาง มาตรการ และเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงจะลดลง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อภาพรวมของสถานการณ์ที่ความหวาดกลัวซึ่งเป็นผลพวงของความรุนแรงยังเกาะกุมครอบคลุมแทบทุกพื้นที่

          ล่าสุดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาประเมินผลการปฏิบัติใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและมีแนวโน้มว่าเครื่องมือพิเศษชนิดนี้กำลังจะถูกแทนที่ด้วยยาขนาดใหม่ที่ชื่อว่า พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือกฎหมาย กอ.รมน.ที่รัฐบาลภูมิใจเสนอ

          หากลองให้เดาใจผู้ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ หลายฝ่ายก็คงยินดีต้อนรับเครื่องมือพิเศษชนิดใหม่นี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังคงทำให้รัฐและหน่วยงานต่างๆ สามารถประวิงเวลาให้แรงกดดันต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือแม้กระทั่งในแวดวงวิชาการที่มีการพูดคุยถึงการออกแบบการปกครองที่เหมาะสม สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่

          กระนั้นก็ตามหากรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ วิเคราะห์ความรุนแรงอย่างลึกซึ้งในรอบสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยิงประชาชนในมัสยิดและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น สามารถสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นในกลุ่มประเทศประชาคมมุสลิม เพราะคงมีการหยิบฉวยเหตุการณ์นี้ไปเป็นประโยชน์ในการเรียกร้องกลุ่มประเทศเหล่านั้นหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มาสนใจเหตุการณ์ในภาคใต้ และสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยต่อวิธีการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจจะถูกรุกจากแรงกดดันหลายๆ ด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้โจทย์จึงตกอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

          ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มากกว่าเครื่องมือพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการนิยามการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ด้วยจิตนาการที่สร้างสรรค์ (creativity) และข้ามผ่านมุมมองความคิดแบบยึดติด (rigidity) กรอบความคิดแบบชาตินิยมสุดขั้ว

          คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และภาคประชาชนต้องนั่งลงคิดร่วมกันเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่กับประชาชนในพี้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก่อนที่ความรุนแรงจะผลักดันให้ทุกฝ่ายเข้าสู่จุดอับทางตันของความอดกลั้น