หลัง ปี 1998
เหตุผลที่ทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับสาเหตุของความรุนแรงในอินโดนีเซียเมื่อไม่นานมานี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุโศกนาฏกรรมโจมตีอาคารเวิร์ลเทรดและอาคารเพนทากอนที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001และโดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดไนต์คลับที่บาหลีเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2002 นักวิเคราะห์สถานการณ์บางส่วนมีความเห็นว่า พื้นที่ในอินโดนีเซียเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มมุสลิมนิยมความรุนแรง (radical Islamists)ที่ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากเครือข่ายอัลกออิดะห์ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปัญหาของกลุ่มมุสลิมที่ใช้ความรุนแรง[1]เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่านั้นในบริบทการเมืองของอินโดนีเซีย คือ politik pecah-belah ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึงการเมืองแบบแบ่งฝักฝ่ายซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดลักษณะการแข่งขันระหว่างกลุ่มการเมืองมุสลิมขึ้นเท่านั้นแต่มรดกของการเมืองเช่นนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อประชาสังคม”ขึ้นในฝ่ายพลเรือนที่ยังมีการต่อสู้หรือเอาชนะกันด้วยกำลังอาวุธ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์ดังที่เกิดขึ้นในโมลุกกะ แถบกะลิมันตันกลาง สุลาเวลาใต้ อิเรียน หรือว่าปาปัว โดยเฉพาะความรุนแรงในแถบกะลิมันตันกลาง เกาะบอร์เนียว ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เคยมีชาวมุสลิมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เมาดูริสถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมากโดยกลุ่มชาติพันธุ์ดยักที่นับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่พื้นที่ในแถบพรมแดนของประเทศมาเลเซียชาวดยักไม่ได้มีความขัดแย้งกับชาวมุสลิมมาเลย์ด้วยกัน ซ้ำชาวมาเลย์เหล่านี้ก็ร่วมกับดยักในการสู้รบกับชาวเมาดูริสด้วย
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงบ่อยครั้งมากที่สุดในนามของการสู้รบกันระหว่างมุสลิมกับชาวคริสต์เกิดขึ้นในจังหวัดโมลุกกะทางตะวันออก ถูกขับเคลื่อนในเชิงความรุนแรงระหว่างศาสนา จากเดิมความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างมากระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมที่เมืองอัมบนอยู่บนฐานมิติความขัดแย้งในเชิงสังคมและการเมืองมากกว่า กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ 1980-90 เมื่อชาวมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์บูกินิส(Buginese) บูโตนิส (Butonese)และมากัสซารีส (Makassarese) ได้อพยพเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนใหญ่จังหวัดต่างๆ ที่มีชาวคริสเตียนอาศัยอยู่มาก ต่อมาในช่วงของทศวรรษที่ 1990 ผู้อพยพชาวมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เข้ามาสร้างเครือข่ายทางการค้า จนทำให้ชาวพื้นเมืองต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในช่วงทศวรรษของ 1990 อีกทั้งที่ผ่านมานโยบายในช่วงระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่เปลี่ยนไปสนับสนุนฝ่ายมุสลิมมากยิ่งเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มนายทหารระดับสูงที่ต่อต้านเขาในช่วงเวลานั้น เช่น มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นชาวมุสลิมเพื่อให้เข้ามามีอำนาจทางปกครองในโมลุกกะช่วง ค.ศ.1992[2]
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงของทศวรรษที่ 1990 เพราะความรุนแรงภายในภาคประชาสังคมค่อนข้างมีสาเหตุที่ซับซ้อนมากขึ้นสอดคล้องในประเทศต่างๆไม่ว่าในอินโดนีเซีย รวันดา หรือในสหรัฐอเมริกา ปัญหาต่างๆ มีความซ้อนทับเช่น ปัญหาทางศาสนา ชาติพันธุ์และเพศสภาพ ซึ่งแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1980 นักประชาธิปไตยจะมีความคาดหวังว่าภาคประชาสังคมจะสามารถเดินทางไปสู่การมีประชาธิปไตยมากขึ้นแต่หลายครั้งภาคประชาสังคมยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ จึงทำให้เราต้องกลับไปพิจารณาถึงบริบทที่มีความสลับซับซ้อนของรัฐและสังคม เพราะคนในชุมชนยังมีค่านิยมที่ยังคงยอมรับบทบาทการนำที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง เช่น ชุมชนแห่งความเชื่อ กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นกลางหรือชาตินิยม กระนั้นบทบาทของกองกำลังมุสลิมนอกแบบ (paramilitaries) ยังเป็นส่วนสำคัญที่ต้องศึกษา เนื่องจากพฤติกรรมการสร้างความรุนแรงในระยะที่ผ่านมามักลดทอนเสียงของกลุ่มการเมืองมุสลิมผู้นิยมแนวประชาธิปไตยและกลุ่มการเมืองมุสลิมอื่นๆ
เมื่อพิจารณาการศึกษาเรื่องของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่ง คือ Stanley J. Tambiah ให้ข้อสังเกตว่า ความรุนแรงที่กระจายอยู่ทั่วไปในระดับท้องถิ่น เป็นความขัดแย้งระดับชุมชน (communal violence) ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปและเป็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เหตุของความรุนแรงถูกลดทอนจากจุดต้นกำเนิดมาสู่การทำให้เป็นเหยื่อหรือปฏิปักษ์ กระบวนการแรก คือ การทำให้เกิดจุดเน้นร่วม (focalization) ซึ่งเป็นการลดทอนความรุนแรงในระดับท้องถิ่นมาสู่ลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในบริบทนั้นๆ ความรุนแรงเหล่านี้ดูเกินจริงและถูกประเมินแบบข้ามบริบท (transvaluation) มาสู่ประเด็นที่เข้าใจร่วมกัน เช่นจากปัญหากลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มชาตินิยมที่เกิดขึ้นในโมลุกกะ ค.ศ.1999 ทำให้ความทุกข์ทรมานของคนในท้องถิ่นถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นนามธรรมและถูกดึงเข้ามาสู่การปะทะกันระหว่างศาสนา ตัวอย่างความขัดแย้งในโมลุกกะก็เหมือนกับพื้นที่ความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่างๆ แต่หากเราพูดว่าความขัดแย้งทั้งหมดมีอำนาจของรัฐเป็นตัวต้นเหตุ และกล่าวโทษในเรื่องการใช้อำนาจรัฐมากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักแต่หากควรพิจารณาถึงความแตกแยกกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองในช่วงระหว่างต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายตนหรือ aliranisasi ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1965-66 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่นำไปสู่การฆ่าล้างอย่างมากมาย[3]
สิ่งที่ Tambiah อธิบายแนวคิดเรื่อง focalization และ transvaluation คือต้องการหาตัวแสดงที่มีความซับซ้อนในการใช้อำนาจและทรัพยากร รวมทั้งความชอบธรรมทางสังคมเพื่ออธิบายให้เห็นถึงความอันตรายที่เกิดขึ้นในชุมชนและความต้องการเสียงที่เป็นกลางซึ่งเคยถูกทำให้เงียบงันแสดงออกมาด้วย ความท้าทายของกระบวนการทั้ง focalization และ transvaluation เป็นสิ่งที่กลุ่มอิสลามการเมืองหลังยุคระเบียบใหม่ในอินโดนีเซียจะต้องเผชิญทั้งสองด้าน ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ มีดังนี้ [4]
โปรดติดตามตอนต่อไป
[1] ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาหลังจากการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ กลุ่มกองกำลังมุสลิมมากมายหลายกลุ่มเกิดขึ้นในเมืองใหญ่และเมืองต่างๆ แต่ในช่วงท้าย ค.ศ.1999 แม้กลุ่มต่างๆมีจำนวนลดลงเหลือกว่า 70 กลุ่ม แต่ทว่ากลุ่มกองกำลังนอกแบบที่ใหญ่ที่สุดมีจำนวนสมาชิกกว่าประมาณหนึ่งหมื่นกว่าคนซึ่งนับว่ามีสมาชิกจำนวนมากที่สุดนับแต่การมีการสังหารสมาชิกคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียช่วง ค.ศ.1965-66 ลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มกองกำลังมุสลิมนอกแบบกับรัฐในปัจจุบันไม่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุคก่อน เพราะสมัยก่อนรัฐสามารถอุปถัมภ์เครือข่ายกองกำลังมุสลิมนอกแบบกลุ่มใหญ่ๆได้เพื่อเป้าหมายในทางปราบปรามศัตรูทางการเมือง แต่หลังยุคระเบียบใหม่กลุ่มกองกำลังนอกแบบเล็กๆ กลับปฏิเสธความร่วมมือหลังยุคระเบียบใหม่แต่ต้องการบรรลุเป้าหมายของตนเอง
[2] Robert W. Hefner, “Muslim democrats and Islamist violence in post-Soeharto Indonesia”, in Remaking Muslim politics: pluralism, contestation, democratization, p.282.
[3] Ibid.,pp.282-283.
For further reading on focalization and transvaluation, see Stanley J. Tambiah , Leveling Crowds: Ethnonationalist Conflicts and Collective Violence in South Asia (Berkeley: University of Califonia Press,1966),81.
[4] Ibid.,p.283.