Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
www.deepsouthwatch.org

 

          ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ในระยะนี้จะยังคงต้องการคำอธิบายและการเปิดเผยข้อเท็จจริงอีกไม่น้อย เนื่องจาก “ความจริง” ที่ผู้คนเลือกจะเชื่อนั้นแตกต่างกันเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ความคลุมเครือของเหตุการณ์ยังคงต้องการคำอธิบายต้นรากของความรุนแรงที่ดำรงอยู่ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้นหาสาเหตุในภาพรวมดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อข้อเสนอในการแสวงหาแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งที่ปะทุออกมาเป็นความรุนแรงอันหลากรูปแบบและอาจจะหลายตัวแสดงผู้กระทำ

          กล่าวเฉพาะข้อเสนอดับไฟใต้ หลายปีที่ผ่านมาพบว่าการนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายของรัฐไทยและเผยแพร่ต่อสาธารณะนับไม่ถ้วน ความพยายามตีแผ่รากเหง้าของปัญหา ปรากฏการณ์ของปัญหา ตลอดจนการเสนอทางเลือกและทางออกให้กับสังคมยืนอยู่บนจุดยืนและมุมมองที่แตกต่าง แม้ว่าจะมีข้อเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการผลักดันก่อเป็นรูปธรรม แต่ในเมื่อความรุนแรงยังคงทำงานให้กับความขัดแย้งอยู่เช่นทุกวันนี้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ยังเรียกร้องข้อเสนออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          ข้อเสนอจากรายงาน “สถานการณ์ความไม่สงบและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ของประสิทธิ เมฆสุวรรณ กรรมการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการดีพเซ้าท์ บุกกาซีน ที่เสนอต่อ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุข รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ก่อนที่ทั้งสองจะจบจากหลักสูตรดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นหนึ่งในความพยายามนั้น

          ความแตกต่างจากข้อเสนอที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นการไล่เรียงรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ตามลำดับความสำคัญ อันได้แก่ ระดับปัญหาหลัก ที่มองว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นปฏิบัติการของขบวนการที่นำโดยกลุ่ม BRN Co-ordinate ระดับปัญหารอง ได้แก่สภาพการที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขพื้นที่ที่ทำให้คงไว้ซึ่งความรุนแรง และระดับปัญหาเสริม อันหมายถึงสภาพที่ก่อให้เกิดผลการเพิ่มระดับความรุนแรงและความยุ่งยากในการแก้ปัญหาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

          ความสำคัญของการแยกแยะดังกล่าวทำให้เราสามารถมองเห็นชั้นของปัญหาได้ละเอียดขึ้น มากกว่าก่อนหน้านี้ที่มุมมองโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากไม่เหมารวม “ปัญหาไฟใต้” ประหนึ่งข้าวยำที่คลุกเคล้ากันด้วยองค์ประกอบอันหลากหลายจนจับจุดไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นการสะท้อนปัญหาจากมุมมองเพียงด้านเดียวจนขาดความรอบด้าน

          รายงานชิ้นดังกล่าวยังได้แจกแจงหลักวิชาที่ว่าด้วยสงครามแบ่งแยกดินแดน (Separatist Violence) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของสงครามกลางเมืองที่มีเป้าหมายในการยึดอำนาจรัฐเฉพาะพื้นที่ ที่มักมีองค์กอบจากความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้าหลัง และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงสถิติที่น่าสนใจว่าในการสำรวจการเคลื่อนไหวเพื่อการแบ่งแยกดินแดนทั่วโลกในทศวรรษที่ 1990 พบว่าเกือบครึ่งเลือกใช้แนวทางต่อสู้แบบสันติวิธี หาได้มีเพียงการต่อสู้ด้วยวิธีการก่อสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายเท่านั้น ทั้งนี้ วิธีการเหล่านี้สัมพันธ์กับระดับของเป้าหมายในการเคลื่อนไหว

          ผู้จัดทำรายงานทั้งสอง ซึ่งคนหนึ่งเป็นคนไทยพุทธและมีวิชาชีพเป็นครูในเขตพื้นที่ที่ความรุนแรงหนาแน่น และอีกคนเป็นมลายูมุสิลมซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นได้สะท้อนในข้อเสนอของพวกเขาว่า การต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่ซึ่งพวกเขาระบุว่านำโดย BRN Co-ordinate นี้ ผลักดันโดยการปลุกเร้าจิตสำนึกประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต และประเมินว่าห้วงขณะนี้ฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐดังกล่าวมีชัยเหนือกว่ารัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุทธศาสตร์ระดับที่ 2 กล่าวคือ การสร้างภาวะอันน่าสะพรึงกลัวให้เกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่และผู้คน โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสถาปนารัฐเอกราชที่เป็นอิสระจากรัฐไทย

          การประเมินสถานการณ์ในมุมมองดังกล่าวมาจากการพิจารณาว่าแนวโน้มของสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ในทางตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึงการพุ่งสูงขึ้นของความสูญเสียในเชิงปริมาณ ในขณะที่รูปแบบของเหตุรุนแรงสู่ความเหี้ยมโหดและสยดสยองมากยิ่งขึ้น

          เขาทั้งสองเสนอว่าการต่อสู้ของรัฐไทยต้องดำเนินการที่นำโดยด้านการเมือง ในขณะที่ด้านการทหารที่รัฐไทยคุ้นเคยจำต้องสอดรับกับเป้าหมายทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายทางการจะตอกย้ำว่าจะใช้แนวทางการเมืองนำการทหารก็ตาม แต่พวกเขาประเมินว่าฝ่ายทางการยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานการเมืองให้บรรลุเป้าหมายในเชิงคุณภาพได้

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในตอนท้ายของรายงานเรียกร้องให้ “ลดหรือทำลายเงื่อนไขที่นำไปสู่แนวความคิดแบ่งแยกดินแดน” โดยหนึ่งในรูปธรรมที่น่าสนใจและแปลกใหม่ คือ การเสนอให้กองทัพจัดตั้งสำนักทฤษฎีเพื่อรองรับการต่อสู้ทางความคิด โดยเป็นหน่วยงานที่เน้นคนจำนวนน้อยที่เชี่ยวชาญ และผนวกหลอมเอาบุคลากรจากที่มาอันหลากหลายเพื่อศึกษาค้นคว้า ผลิตชุดความคิดเพื่อตอบโต้ชุดความคิดเสมือนจริงของกลุ่มขบวนการและผลักดันให้เป็นข้อยุติที่ลงตัวด้านความคิดและจิตใจของประชาชน

          ข้อเสนอเหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนต่อเหตุการณ์ร่วมสมัยในขณะนี้ที่ว่า ในสถานการณ์ที่ความรุนแรงผูกมัดให้ผู้คนในสังคมเผชิญกับวิกฤตความรู้สึก แต่ก็ไม่ควรละเลยต่อการแสดงหาทางออกด้วยเช่นกัน
 

อ่านรายงานฉบับเต็ม
File attachment
Attachment Size
ayub-prasit_paper.pdf (221.77 KB) 221.77 KB