หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อก FT MEDIA ที่ http://contentdiy.wordpress.com/2012/02/06/พลังขับเคลื่อนในสังคมช/ ซึ่งอัพโหลดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555
ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงอย่างไม่ลดละในพื้นที่สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มปริมาณความสูญเสียอย่างไม่หยุดยั้ง ยังมีคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านบวกอันเป็นผลสะท้อน อีกด้านหนึ่งที่มาจากความรุนแรง
อันเดียวกันนั้น หนึ่งในกลุ่มที่ยืนอยู่แถวหน้าของนักรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงและสันติภาพ ในภาคใต้ก็คือมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ที่หลายคนเรียกกันสั้นๆว่า อายุบ ผู้มีชื่อต้นสังกัดตามมามากมาย ไม่ว่าจะมติชน บางกอกโพสต์ ดีพเซาท์วอช กับอื่นๆอีกมากมาย ความที่อายุบมีส่วนไปเสียแทบจะทุกอย่าง (แน่นอนว่าน่าจะยกเว้นบางอย่าง) ทำให้เขามีทัศนะที่น่าสนใจเสมอ ความเป็นนักข่าวทำให้เขาจับปรากฏการณ์และทิศทางความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ต้องสงสัยที่ใครต่อใครที่จะไปทำงานที่ภาคใต้มักจะต้องไปเริ่มที่อายุบ นี่คือบุคคลที่อยู่ “ใน” กระแสความเคลื่อนไหวสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ContentDIY มีโอกาสร่วมพูดคุยสั้นๆกับอายุบเมื่อไม่นานมานี้ เขาพูดถึงบทบาทผู้หญิงที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนา บทบาทของประวัติศาสตร์ การกระจายอำนาจ สาระจากบทสัมภาษณ์นี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาปัญหาภาคใต้ จึงนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้
บทบาทผู้หญิงในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง
ถาม: การที่ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทนำมากขึ้น ชุมชนต่างๆ มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง
อายุบ: มองจากวิธีคิดแบบเดิมพยายามจะบอกว่า ผู้หญิงขึ้นไม่ได้ ผู้หญิงนำไม่ได้ แต่จริง ๆ โดยพื้นฐานของมุสลิมมลายูสามจังหวัดภาคใต้ ในระดับชุมชนผู้หญิงมีบทบาทในการนำอยู่แล้ว เช่น สอนกุรอ่านให้เด็กๆ เป็นอุสตาสผู้หญิงสอนโรงเรียนตาดีกา แล้วก็เป็น อสม. หรือแม้แต่ในกลุ่มโอทอป ผู้หญิงก็นำอยู่แล้วโดยพื้นฐาน เพียงแต่ว่าการจัดระบบให้นำอย่างเป็นกระบวนการแล้วก็มีการเคลื่อนที่ให้มัน ต่อเนื่องอาจจะไม่ค่อยมี แต่หลังๆ เรื่องนี้ก็พัฒนาขึ้น
ถาม: ผู้หญิงหลายคนบอกว่าที่ต้องขึ้นมาทำบทบาทนี้ เป็นเพราะว่าผู้ชายมีปัญหาหลาย ๆ เรื่อง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลลิดรอนบทบาทของผู้ชายลงหรือเปล่า
อายุบ: ผมคิดว่าไม่ เพียงแต่ว่ามันเป็นความหวาดกลัวที่ส่วนใหญ่ถ้าผู้ชายออกมาเคลื่อนไหว อาจจะถูกมองจากรัฐว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ผู้ชายก็เลยไม่ออกมาเคลื่อนไหว ผมว่ามันเป็นจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมของคนมุสลิมมลายู มันไม่เป็นระบบ และมันไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์ มีการขับเคลื่อนที่ดีหรืออะไรอย่างนี้มากกว่า มากกว่าเรื่องที่ว่าผู้ชายไม่กล้าออกมาแล้วทำให้ผู้หญิงต้องออกมา ผมว่าจริง ๆ มันไม่สัมพันธ์กัน ความอ่อนแอของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง พอมันไม่เคลื่อนอย่างเป็นระบบ มันทำให้ผู้หญิงออกมาเคลื่อนเอง จริง ๆ มันมีองค์กรนอกระบบ มีอยู่เยอะในพื้นที่ เพียงแต่ว่าการจัดระบบยังไม่เป็นระบบเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าในระยะผ่านจากนี้ มันเริ่มจะเรียนรู้มากขึ้น สังเกตว่าหลัง ๆ จะมีองค์กรที่รู้จักมารวมตัวกัน มาทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเครือข่าย อันนี้จะเป็นตัวช่วยได้
ถาม: มีผู้หญิงพูดถึงว่า ระยะหลังมีความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะความเครียดจากสถานการณ์ คุณอายุปคิดยังไงกับประเด็นนี้
อายุบ: ผมว่ามันทั้งสองประเด็น ประเด็นแรกคือ ความรุนแรงอาจจะมีส่วนทำให้เกิดความเครียด แต่ประเด็นหนึ่งผมว่าพื้นฐานทางครอบครัวของคนมลายูมุสลิม การเกิดความรุนแรงในครอบครัวมันสะท้อนให้เห็นว่า ความไม่เข้าใจในหลักการศาสนาของตัวเองมีอยู่สูง เพราะว่าในหลักการศาสนาสอนประเด็นนี้สูง อันที่สองผมคิดว่าครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าครอบครัวที่ไม่เข้าใจศาสนาอิสลาม เค้าจะไม่รู้บทบาทของความเป็นผู้ชายมันอยู่ตรงไหน บทบาทของความเป็นผู้หญิงมันอยู่ตรงไหน ผมว่าอันนี้มันสัมพันธ์กัน
ประวัติศาสตร์ ศาสนา กับปัญหาความขัดแย้ง
ถาม: เรื่องราวประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่ตีความต่างกัน มีผลต่อความขัดแย้งในสถานการณ์หรือเปล่า
อายุบ: อันนี้มีผลแน่นอน ประวัติศาสตร์เป็นอีกประเด็นหนึ่งของความขัดแย้ง นอกจากเรื่องเชื้อชาติ แน่นอนถ้าจะไม่ให้มันมีความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ จะต้องให้พื้นที่ ที่เค้าพูดถึงได้ด้วย ในขณะเดียวกันคนมลายูต้องยอมรับประวัติศาสตร์อีกส่วนของรัฐไทยที่บอก พูดง่าย ๆ คือประวัติศาสตร์ที่อยู่กันคนละชุด มันสามารถจะคุยกันได้ แต่ไม่ใช่คุยเพื่อจะมาบอกว่า ของตัวเองดี หรือของใครดี คุยเพื่อให้รู้สึกว่ามีพื้นที่สามารถคุยเรื่องประวัติศาสตร์ของตัวเองได้ ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่ยังคงมีพื้นที่ในการสื่อสารว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีมันเป็นอย่างนี้ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าที่ผ่านมา เราไม่ยอมให้เค้าใช้พื้นที่สื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ของเขา เขาก็เลยใช้พื้นที่แบบลงไปข้างล่าง สื่อสารในกลุ่มของเขาเอง อันนี้มันยิ่งอันตรายหนักขึ้นไปอีก ประวัติศาสตร์มันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่กระบวนการ dialogue (เสวนา/หารือ/การพูดคุยกัน) ประวัติศาสตร์จะช่วยแก้ปัญหาได้เรื่องความขัดแย้ง
ถาม: ถ้าคุณอายุปเสนอได้จะเสนอให้เริ่มต้นอย่างไร
อายุบ: ผมจะเริ่มต้นง่าย ๆ ว่าประวัติศาสตร์มันมีสองแบบ คือประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น กับประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ มันควรจะมีการ dialogue ระหว่างนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับนักประวัติศาสตร์ของประเทศ ควรจะมานั่งคุยกันในระยะแรก ที่ผ่านมาต่างคนต่างแยกกันไปทำ อันนี้ต้องจะต้องมาคุยกันเพื่อให้เห็นข้อมูลว่ามันมีความแตกต่าง แต่ในบางเรื่องมันก็มีด้านมืดของประวัติศาสตร์ของตัวเองอยู่ อันนี้ยังไม่ค่อยมีคนกล้าจะทำ อันที่สองที่เราเริ่มทำกันแล้วคือประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ไม่เป็นทางการมาก นัก แต่เน้นการให้มีการพูดคุยกันให้มากขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้มองเห็นว่าการพูดเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานี ไม่ได้เป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ได้เป็นความน่ากลัว ทุกคนสามารถพูดได้ แต่แบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วมันจะมาบรรจบกันเอง
จุดที่สำคัญของคนปัตตานีก็คือว่า แม้พวกเขาอาจจะไม่มีตำราที่เป็นเรื่องเป็นราว แต่สิ่งที่สำคัญคือ พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า เขาได้เห็นมัสยิดกรือเซะทุกวัน ไปทำงานพวกเขาก็ต้องผ่าน อันนี้คือประวัติศาสตร์จริง ๆ เค้าอยู่ในพื้นที่จริง ๆ จะไปลบออกจากหัวเขายาก อันนี้ถ้าบอกว่าเขาไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง สิ่งที่เห็นมันชัดเจน มันก็ยากนะที่จะไปบอกว่าพวกเขาไม่มี
เรื่องของคนพุทธ คนมุสลิม ไม่ใช่ประเด็นขัดแย้งทางศาสนา แต่ประเด็นเรื่องกฎระเบียบของรัฐ มันมีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา เพราะกฎระเบียบของรัฐส่วนใหญ่มันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทาง ศาสนาของมุสลิม ผมว่าประเด็นนี้อาจจะมีหลายเรื่องที่ต้องการแก้ไขกฎหมายให้มันสอดคล้อง ประเด็นนี้อยู่ในความรู้สึก หลายคนอาจจะไม่พูด เช่นสมัยก่อนสู้กันหนักเรื่องคลุมผม กว่าจะแก้ไขระเบียบกันได้ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมคิดว่า ต้องมีการแก้ไข เช่นคนมุสลิมในพื้นที่สามล้านคน วันหยุดก็เป็นปัญหา จากเดิมคนเก่าๆขอหยุดวันศุกร์ แต่ก็ยังหยุดไม่ได้ ต้องหยุดเสาร์ อาทิตย์ เหมือนกันทั้งประเทศ ทั้ง ๆ ที่วันศุกร์เป็นเรื่องหลักศาสนาของมุสลิม แล้วมุสลิมส่วนหนึ่งก็รับราชการ คนไม่พูด แต่ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพูด
ประเด็นที่สอง วันหยุดทางศาสนา หยุดได้เฉพาะคนสามจังหวัด มีวันหยุดสำคัญทางศาสนาเช่นวันฮารีรายอ แต่คนมุสลิมทั่วประเทศหยุดไม่ได้ จะต้องลา อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของกฎระเบียบ อันที่สามผมคิดว่าพิธีกรรมทางศาสนาบางเรื่องในระบบระเบียบราชการ บางเรื่องบางประเด็นก็มีความขัดแย้งอยู่ ซึ่งมันอาจจะต้องจัดพิธีกรรมให้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนมุสลิมในพื้นที่ อันนี้ก็เป็นประเด็นเช่น โรงเรียนสอนศาสนาหยุดวันศุกร์ แต่ระบบราชการหยุดเสาร์ อาทิตย์ มันเป็นปัญหาในระบบการจัดการ
ถาม: การที่วัดต่าง ๆ มีทหารเข้าไปอยู่ มีผลกระทบต่อคนบ้างไหม
อายุบ: ถ้ามองในความรู้สึกคนในพื้นที่ ในทางลบมีแน่นอน แต่ว่ามันก็ไม่มีทางเลือกสำหรับการคุ้มครอง คือถ้าไม่ทำอะไรเลยในการคุ้มครองพระในพื้นที่ ถ้าเกิดเหตุกับพระ มันมีผลกระทบต่อคนไทยพุทธทั้งประเทศ อันนี้ผมว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกมาก
ถาม: ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กระทบกับคนสองกลุ่มบ้างไหม
อายุบ: มันกระทบแน่นอน ยิ่งความรุนแรงคงอยู่ยาวนานเท่าไหร่ ความสัมพันธ์สำหรับคนต่างวัฒนธรรมมันจะเกิดวิกฤติทางความรู้สึกมากขึ้นเท่า นั้น อย่างเช่นจากเดิมเคยไปมาหาสู่กัน ผมว่ามันลดน้อยลง อันที่สองเห็นชัดว่าคนไทยพุทธ กับคนมุสลิม มีด่าน จากเดิมไม่ค่อยมี ตอนนี้จะมีมากขึ้น อันนี้มันเห็นผลกระทบชัด มันจะเกิดความรู้สึกว่า เราเริ่มรู้ไม่ปลอดภัยระหว่างกันแล้ว เห็นได้ชัดระหว่างชุมชนไทยพุทธ มุสลิม อย่างหกโมงเย็น ก็ปิดทางเข้าออก กันหมดแล้ว อันหนึ่งที่มีผลกระทบมากสำหรับผมคือพิธีกรรมทางศาสนามันจะถูกเปลี่ยนเวลา จากเดิมคนไทยพุทธ เวียนเทียนช่วงเย็นค่ำ แต่จากความรุนแรงทำให้ต้องมาเวียนเทียนกลางวัน ถามว่าต่างกับมุสลิมไหม ก็เหมือนกัน จากเดิมที่เคยตัดยางตอนตีสาม ตีสี่ ตอนนี้ไม่กล้าตัดยาง ต้องมาตัดตอนหกโมงเช้า พิธีกรรมทางศาสนาก็เหมือนกัน จากเดิมเคยอยู่มัสยิดนานหน่อยในช่วงค่ำ อันนี้ทำเสร็จก็ต้องรีบกลับ ผมว่ามันกระทบมาก
ถาม ผู้นำศาสนาจะทำอะไรได้บ้างไหม ในแง่การช่วยสร้างสันติภาพ
อายุบ interfaith (การแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มต่างศาสนา)เป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าเราทำน้อยมากระหว่างผู้นำศาสนา มันไม่เหมือนต่างประเทศ การทำ interfaith เค้าทำตลอด ทำมาจากข้างล่างถึงข้างบนเลย แต่ที่นี่เกิดเรื่องทีหนึ่งมีพระถูกยิงทีหนึ่งก็ทำ interfaith ทีหนึ่ง มีระเบิดทีหนึ่ง คนมุสลิมถูกยิงตายก็ทำ interfaith อันนี้ผมว่ามันไม่ได้ อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ผู้นำศาสนาต้องทำตลอด ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่เอาศาสนาไปผสมผสานกัน ผมว่าที่นี่เรื่องนี้ sensitive ถ้าเราเอาศาสนามาผสมผสานกันมันจะเป็นปัญหาใหญ่ คือศาสนาของใครก็ของมัน แต่ว่าในประเด็นของการเรียนรู้ในเชิง interfaith ผมว่าต้องสร้างแบบต่อเนื่อง เพราะว่ามันอ่อนไหวมากในสถานการณ์ความรุนแรง มันสามารถยกระดับเป็นประเด็นที่มันไปเป็นวิกฤติความรู้สึกด้านศาสนา ด้านอะไรได้
ตอนนี้ผมสบายใจเรื่องหนึ่ง คนเริ่มคุยกันมากขึ้นในสามเรื่อง มันสะท้อนทิศทางว่าภาคใต้มันจะไปได้ คือจากเดิมคนพูดเรื่องการรบ การปราบปราม การตรวจค้น การจับกุม ตอนนี้คนเริ่มมองเห็นว่าการปราบปราม การจับกุม การต่อสู้ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องภาคใต้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องความขัดแย้งที่มันหนักหนากว่าปกติ คนเริ่มพูดสามเรื่องที่ผมสนใจมากตอนนี้ คือมันจะไปเปลี่ยนวิธีคิดคนได้ คือหนึ่ง ต้องคุยกัน ต้องมี dialogue อันนี้คนพูดมากขึ้น ทั้งคนข้างนอกและคนข้างใน สอง ต้องปรับโครงสร้าง ต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น อันที่สามที่คนพูดมากขึ้นคือ เราต้องพูดเรื่องความยุติธรรมให้มากขึ้น ผมว่าสามตัวนี้ มันมีทำให้มีความหวังในการที่จะมองว่า ภาคใต้มันสามารถเปลี่ยนแปลงในทางสันติได้
ความรุนแรง การกระจายอำนาจ
เรื่องของความรุนแรง ถ้าเราไม่ขยายโครงสร้างการเมืองการปกครองให้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตคน ต่อให้เราไปคุยกับกระบวนการเพื่อให้เขายุติความรุนแรง โดยที่เราไม่ได้จัดการการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับคน ความรุนแรงก็ยุติยาก หรือเราไปคุยให้เขาวางอาวุธ แต่เราไม่สามารถจัดระบบการเมืองการปกครองที่สอดคล้องวิถีชีวิตคน มันก็ไม่ตอบโจทย์เรื่องการยุติความรุนแรง ผมคิดว่ามันต้องทำสองอย่าง คุยกับขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐมันก็ต้องปรับ เพื่อให้มันสอดคล้องและที่มันจับต้องจริงได้ด้วย มันต้องไปควบคู่กัน
ถ้ามองในกระบวนการแก้ปัญหา ต้องยอมรับก่อนว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงมีโอกาสเป็นไปได้สูง ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับขบวนการเปลี่ยนแปลง คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วม คนส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะกำหนดวิธีคิดในโครงสร้างการเมืองการปกครอง ผมว่ามันไปได้ แต่ถ้าที่ผ่านมาการกระจายอำนาจ มันเป็นการกระจายอำนาจในรูปแบบที่ว่า คนในมีพื้นที่ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดรูปแบบ การกระจายอำนาจ หรือรูปแบบการเมืองการปกครอง ผมว่าเรื่องนี้ยาว ดูจากความขัดแย้งทั่วโลก ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ หรือประเด็นเขตปกครองตนเอง ผมว่ามันเป็นจุดสุดท้ายที่แก้ปัญหาได้หมด ถึงแม้มันจะมีเหตุการณ์อยู่บ้างแต่ก็ลดลงไปเยอะ กรณีอาเจะ กรณีฟิลิปปินส์ เราดูได้จากทั่วโลก ที่อ่อนที่สุดคือรูปแบบการปกครองตนเอง มันตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง สามารถดูแลคนส่วนน้อยในพื้นที่ คนส่วนใหญ่ของประเทศก็สามารถเข้าใจคนส่วนน้อยในพื้นที่ได้ และมันไม่ใช่เป็นเขตปกครองตนเองหรือเขตปกครองพิเศษ มันไม่ได้เป็นความต้องการของคนส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่มันไปตอบโจทย์เรื่องการจัดการความขัดแย้งในทุกประเด็นได้ด้วย
by the Fine Tune Production for ContentDIY
Feb05, 2012