อนุกูล อาแวปูเตะ
คำพิพากษาคดีตากใบของศาลจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ที่ผ่านมา ในสายตาของหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นการปิดฉากคดีเหตุการณ์ตากใบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในความเป็นจริง คดีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวพันไปถึงความพยายามในการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลของคดีก็อาจจะพูดได้ว่ากระทบกว้างไกลไม่ว่าจะต่อคดีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ รวมทั้งต่อความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ตลอดไปจนถึงวิธีคิดของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้วยซ้ำ
คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาดังกล่าวนี้เป็นคำสั่งในคดีไต่สวนการตาย 78 ศพ อันเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ นราธิวาส ในเหตุการณ์หนนั้นคงจะยังจำกันได้ว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะถูกยิงตายในที่เกิดเหตุ 6 ราย และเจ้าหน้าที่ได้จับกุมชาวบ้านที่เข้าร่วมการชุมนุมกว่าพันคน ทหารได้ขนย้ายผู้ถูกจับกุมจำนวนนี้จากตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารในจังหวัดปัตตานี ในการบรรทุกผู้คนไปยังค่ายอิงคยุทธฯ นั้นผู้ถูกควบคุมตัวถูกมัดมือไพล่หลังและนอนทับซ้อนกันหลายชั้นบนรถบรรทุกซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดอาการขาดอากาศหายใจ มีผู้ถึงแก่ความตายถึง 78 คน
ตามกฎหมาย ในกรณีใดๆ ก็ตามที่ผู้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวเสียชีวิตลงในขณะที่ถูกควบคุมตัวจำเป็นจะต้องมีการไต่สวน ในกรณีนี้ก็เช่นกัน พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อขอให้ศาลไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อพิจารณาสาเหตุการชีวิตของบุคคลทั้ง 78 คน ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ นอกจากนั้นในกรณีนี้พนักงานอัยการยังได้ขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีโอนคดีไปพิจารณาในศาลอาญาหรือศาลอื่นในกรุงเทพมหานครโดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในของรัฐ เกี่ยวพันกับความสงบสุข ความรู้สึกของประชาชนและเหตุผลด้านความมั่นคงตลอดจนความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะอาจมีการขัดขวางการพิจารณาคดี หรืออาจจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายแรงอื่นๆ ตามมา
อย่างไรก็ตามสภาทนายความโดยคณะทำงานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้จัดทนายความจากทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ไปช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของญาติผู้ตาย ได้เล็งเห็นถึงความยากลำบากของบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตที่จะต้องติดตามการดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกล อาจต้องสูญเสียทั้งกำลังทรัพย์และเวลามากขึ้นไปอีกในการติดตามคดี จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการโอนคดีไปรับการพิจารณาในกรุงเทพฯ ในที่สุดศาลฎีกาก็ได้มีคำสั่งให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลาแทน
ในขณะที่ด้านหนึ่งมีการไต่สวนสาเหตุการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 78 คนนั้น อีกด้านก็มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ไปร่วมชุมนุมคนอื่นๆ นอกเหนือจากผู้ที่เสียชีวิตดังกล่าวแล้ว ในหมู่ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งถูกควบคุมตัวและส่งไปรับการสอบสวนที่ค่ายทหารต่างๆ หลายแห่ง เช่นที่นครศรีธรรมราช ชุมพร บุคคลเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้รับการปล่อยตัว ในกลุ่มนี้จำนวน 58 คนได้ถูกพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฎิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะ ข้อหาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นข้อหาฉกรรจ์ทั้งสิ้น พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหา 58 คนต่อศาลจังหวัดนราธิวาสในเวลาต่อมา
การเสียชีวิตของผู้คนจำนวน 78 คนและการแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มผู้ไปร่วมชุมนุม 58 คนทำให้ในหมู่ชาวบ้านเกิดความสับสน มีการตั้งคำถามซึ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นก็คือเรื่องที่ว่า ในขณะที่ชาวบ้านที่ถูกจับในที่เกิดเหตุ ถูกนำไปควบคุมตัวโดยวิธีการทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมจนถึงขนาดล้มตาย บ้างก็บาดเจ็บสาหัส เช่น ขาหักต้องใช้ไม้เท้า ทั้งหลายคนในกลุ่มนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายดำเนินคดีด้วยข้อหาที่รุนแรง แต่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจที่ “ปฏิบัติหน้าที่” ในเหตุการณ์ดังกล่าวจนมีผู้เสียชีวิต 78 คนนั้นกลับไม่ถูกดำเนินคดีเลยแม้แต่คนเดียว
ที่ผ่านมาคณะทำงานของสภาทนายความ โดยทนายความจากศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ชาวบ้านต่อกระบวนการยุติธรรมโดยอธิบายแก่พวกเขาว่า เหตุการณ์การจับกุมและขนย้ายจนมีคนตายในค่ายอิงคยุทธฯ เป็นกรณีที่จะต้องมีการไต่สวนสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นอันเป็นโอกาสที่ญาติผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรม ในขณะที่อีกด้านพวกเขาก็ต้องยอมรับว่า พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจในการที่จะดำเนินคดีผู้ที่ไปร่วมชุมนุม 58 คนนั้นได้ คณะทำงานได้ขอให้ชาวบ้านเชื่อมั่นด้วยว่า ทนายความจะทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองต่อศาลสถิตยุติธรรม
ในส่วนของความเสียหายของญาติจากกรณีที่สามีหรือบุตรถึงแก่ความตาย ทนายความของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง โดยได้ฟ้องหน่วยงานของรัฐ คือ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อจะให้ชดเชยความเสียหายในส่วนของค่าปลงศพ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยการดำเนินคดีกระทำเยี่ยงคนอนาถา
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ตากใบนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายต่างๆ ที่มองยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อความรู้สึกของชาวบ้านที่สร้างภาพลบอย่างชัดเจนต่อรัฐ รัฐบาลภายใต้การนำของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรได้พยายามลดแรงกดดันทางสังคมอันเกิดจากความไม่พอใจดังกล่าวด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งต่อมาได้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ อีกด้านหนึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ที่นำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าวเช่นกันและได้นำเสนอไปยังรัฐบาลให้ดำเนินมาตรการด้านยุติธรรม เพื่อจะเรียกศรัทธาจากประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้กลับคืนมา
การที่หลายฝ่ายในเวลานั้นตระหนักว่าความสงบนั้นต้องเริ่มต้นที่การสร้างความเป็นธรรม ทำให้กระแสของแนวทางการแก้ปัญหาด้วยความสมานฉันท์ได้รับการยอมรับ และอาจจะด้วยเหตุนี้ทำให้ในเวลาต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกคำสั่งให้พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสพิจารณาทบทวนคดีที่ได้ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 58 คน และต่อมาก็ได้มีบัญชาให้พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสถอนฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ผลของการดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความปลาบปลื้มและปิติยินดีแก่จำเลยและสาธารณะชนทั่วไปที่เห็นว่าพนักงานอัยการในฐานะทนายของแผ่นดินได้มองเห็นถึงความสำคัญของประชาชนในสามจังหวัด พร้อมกับใช้หลักเมตตาธรรมเป็นเครื่องมือในการทำงาน มีความกล้าหาญในการใช้อำนาจเชิงตุลาการเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเดินหน้าในแนวทางสมานฉันท์เริ่มขึ้นด้วยมาตรการดังกล่าว
ในขณะเดียวกันในคดีที่ญาติผู้ตายยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายที่ศาลจังหวัดปัตตานี รัฐก็แสดงความพร้อมในอันที่จะประนีประนอมโดยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ การกระทำดังกล่าวอาจจะนับได้ว่าเป็นการ “ซื้อใจ” ชาวบ้านผู้สูญเสียเพราะได้ช่วยทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาในการทำมาหากินไปในการต่อสู้คดีและขึ้นศาล ท่าทีดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการยอมรับและแสดงอาการสำนึกผิดทั้งยังพร้อมที่จะรับผิดชอบในการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สุดท้ายทนายความซึ่งเป็นคณะทำงานของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับญาติของผู้ตายในฐานะที่เป็นโจทก์ ซึ่งผลของการประชุมนั้นได้นำไปสู่การเจรจากับเจ้าหน้าที่และในที่สุดมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างญาติผู้เสียหายกับเจ้าหน้าที่ ศาลจังหวัดปัตตานีก็ได้มีคำพิพากษาตามสัญญายอมความดังกล่าวในเวลาต่อมา
สัญญาประนีประนอมที่ญาติของผู้ตายได้ตกลงกับหน่วยงานของรัฐที่ศาลจังหวัดปัตตานีนั้น ถือเป็นการตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นในอนาคตโดยที่คู่กรณีสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างยอมโอนอ่อนผ่อนผันให้กันและกัน ข้อตกลงนี้เป็นเหตุให้มีการระงับข้อเรียกร้องทางแพ่งเพื่อชดเชยความเสียหายจากฝ่ายญาติผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 852 ญาติของผู้ตายในเหตุการณ์ตากใบจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องความเสียหายใดๆ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ดังกล่าวได้อีก เพราะหลักของการดำเนินคดีในคดีแพ่งนั้นยึดหลักของการทำความตกลงกันเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ระบุว่า “...โจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น...” ส่วนที่ข้อตกลงมีผลในการระงับคือเฉพาะส่วนของคดีทางแพ่งเท่านั้น แต่ในส่วนของคดีอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 10 บัญญัติไว้ว่า “....คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้องและพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น...” ซึ่งก็หมายความว่า ในคดีไต่สวนการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้น เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้วก็ให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นที่สุดและคู่กรณีไม่สามารถจะอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ทั้งนี้เป็นไปเฉพาะกับคำสั่งของศาลในคดีไต่สวนการตาย ไม่มีผลเป็นการตัดสิทธิการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ทำให้สามี บุพการี หรือผู้สืบสันดานในฐานะที่มีอำนาจในการจัดการแทนผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เพราะพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ใช้วิธีการมัดมือไพล่หลังแล้วให้นอนทับซ้อนกันหลายๆ คนระหว่างการควบคุมตัว แม้จะไม่ได้มีเจตนากระทำให้ถึงตายแต่ก็เป็นการกระทำที่อาจเล็งเห็นผลได้ ในทางคดีอาญาญาติหรือผู้เกี่ยวข้องจึงยังมีสิทธิในอันที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ได้อยู่ แม้ว่าพวกเขามีภาระตามกฏหมายที่จะต้องพิสูจน์ผลจากการกระทำนั้นๆ ให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยก็ตาม
และในคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตายก็ถือว่าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน แม้ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าฝ่ายผู้เสียหายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดี แต่ข้อตกลงอันนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้จะต้องระงับการดำเนินคดีอาญา แต่อย่างใด เพราะข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ซึ่งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ตระหนักดีถึงข้อนี้ แต่ต่างก็ยินยอมทำข้อตกลงทั้งนี้เพื่อจะแสดงความบริสุทธิ์ใจและผลักดันให้รูปธรรมของการสมานฉันท์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับญาติผู้ตายในขณะนั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้ตกลงประนีประนอมกันดังกล่าว
ปัญหาอยู่ที่ว่าหากจะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ผู้ชุมนุม 78 คนถึงแก่ความตาย ญาติของผู้ตายเหล่านี้พร้อมที่จะเป็นผู้เสียหายเพื่อฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ความผิดหวังของพวกเขาอาจจะส่งผลให้พวกเขามองเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นของที่เอื้อมไม่ถึง ที่สำคัญคือปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะสามารถจัดหาทนายให้กับผู้เสียหายจำนวนมากหลายขนาดนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะสำหรับศูนย์ทนายความเพราะลำพังการเป็นทนายต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในคดีความมั่นคงต่างๆ เพื่อจะช่วยให้มีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขา แค่นี้งานก็ล้นมือจนรับแทบไม่ไหวแล้ว
แต่การวางมือไม่ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพราะถูกความจำเป็นในทางปฏิบัติบีบบังคับก็มีแต่จะไปขับเน้นความรู้สึกของชาวบ้านที่ว่า พวกเขาไม่มีหนทางการต่อสู้ในกลไกปัจจุบันให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น หากจะต้องถูกหัดดิบให้จบลงแบบนี้คงจะทิ้งคำถามคาใจไว้กับชาวบ้านอีกมากมายนัก คำถามอย่างหนึ่งสำหรับนักกฏหมายและผู้เกี่ยวข้องก็คือ พวกเขาจะมีบทบาทช่วยหาทางออกให้กับเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร