Skip to main content
 
ภาพร้านรวงพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปิดเงียบในวันศุกร์ สร้างบรรยากาศที่วังเวงและน่าหวาดหวั่น
 
สำรวจการค้าขายของพ่อค้า-แม่ค้าชาวไทยมุสลิมที่ตลาดพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา พบว่ากว่า 90% พากันปิดร้านหยุดจำหน่ายสินค้า ทำให้ตลาดสดเงียบเหงา
 
เป็นผลจากใบปลิวที่แจกในพื้นที่ ให้ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดทำงาน หยุดค้าขายทุกวันศุกร์ และจะไม่รับประกันในความปลอดภัยคนที่ฝ่าฝืน
 
และเคยเกิดเหตุระเบิดเตือนมาแล้วด้วย
 
ที่ไปที่มาของการบีบให้ "หยุดวันศุกร์" ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า การข่มขู่ให้หยุดทำงานในวันศุกร์ เป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้ในทางการเมืองอย่างหนึ่งของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่พยายามเน้นมิติในเชิงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของพื้นที่ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังมีศักยภาพอยู่
 
และยังเป็นการตอบโต้กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาบอกว่าช่วงนี้พื้นที่เกิดเหตุรุนแรงมีเพียงแค่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่พื้นที่ที่มีเหตุรุนแรง
 
แต่การข่มขู่ครั้งนี้ปรากฏว่าทำให้ประชาชนกลัวไปทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่ที่หยุดงานน่าจะมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
 
อย่างไรก็ตาม ควรที่จะมีการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะกันอย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วการทำงานหรือการหยุดในวันศุกร์ควรเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร
 
การข่มขู่ลักษณะนี้แม้ประชาชนจะทำตาม แต่ก็ไม่ใช่เพราะเห็นด้วย แต่ทำไปเพราะกลัว การทำตามลักษณะนี้ไม่มีความยั่งยืน เหตุที่กลัวเพราะรัฐไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ ดังนั้น ต้องมาคุยกันว่าจะเอาอย่างไร
 
ด้าน "ซากีย์ พิทักษ์คุมพล" อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชี้ว่า การหยุดงานในวันศุกร์ก็มีการปฏิบัติกันอยู่บ้างในประเทศมุสลิม โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง
 
เพียงแต่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่สมัครใจที่จะไม่ทำการค้าขายในวันดังกล่าว เท่าที่ทราบไม่มีประเทศมุสลิมใดออกกฎหมายบังคับใช้ให้มีการหยุดปฏิบัติงาน
 
ในประเทศซาอุดีอาระเบียเอง ร้านค้าก็จะหยุดในช่วงเช้า แต่หลังจากละหมาดวันศุกร์แล้วเสร็จ ทุกคนก็กลับไปทำธุรกิจเช่นเดียวกับวันอื่นๆ หรือแม้แต่ในประเทศมาเลเซียเองก็ตาม
 
หากไปดูในรัฐกลันตันเองซึ่งมีลักษณะทางสังคมที่ใกล้เคียงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีการปฏิบัติงานหรือทำธุรกิจกันในวันศุกร์
 
ดังนั้น การใช้ความรุนแรงเพื่อกดดันให้มีการหยุดทำธุรกรรมต่างๆ ในวันศุกร์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคงเป็นเรื่องสุดโต่งทางความคิด
 
ขณะที่ความเป็นจริงของสังคม มีคนหลากหลายอาชีพหลากหลายความต้องการ อาศัยอยู่ด้วยกัน
 
แน่นอนว่าการใช้กำลังและความรุนแรงบีบบังคับคงส่งผลกระทบกับประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมเอง ในความเป็นจริง หากคนในพื้นที่ต้องการให้มีการหยุดวันศุกร์จริงก็สามารถทำได้ ด้วยความสมัครใจไม่ใช่จากการบีบบังคับกัน
 
ขณะที่ "อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง" นักวิชาการอิสระ มองว่า กระแสให้มีการหยุดงานในวันศุกร์สร้างความรู้สึกที่ขาดความปลอดภัยอย่างมาก
 
เนื่องจากมีการวางกองกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธมากมายในบางพื้นที่ ไม่ได้สร้างความรู้สึกที่มีความปลอดภัยแม้แต่น้อย ในเวลาเดียวกันก็เกิดความหวาดผวาและหวาดกลัวสารพัด
 
"ผมคิดว่ารัฐจะต้องแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐจะต้องไม่นำมาเป็นข้ออ้างสำหรับการของบประมาณเพิ่ม การเสริมเขี้ยวเล็บด้านอาวุธ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และการคงอยู่ของกองกำลังต่างๆ หรือการปฏิบัติการใดๆ ที่จะเค้นหาข้อมูลหรือปิดล้อม หรือจับกุมหรือออกหมายเชิญบุคคลเพื่อสร้างความชอบธรรมกับตนเอง
 
"การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกในทางเลือกอื่น ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน หากสถานการณ์เช่นนี้ปรากฏขึ้นอีก รัฐบาลจะยิ่งอยู่อย่างลำบากอย่างยิ่ง"
 
โดยภาพรวม ข้อเสนอและทรรศนะจากผู้สังเกตการณ์ปัญหาไฟใต้ ก็คือ ยังมีหนทางที่รัฐจะแก้ไขตอบโต้การข่มขู่ดังกล่าว แต่จะต้องใช้ "การเมือง" เข้าไปแก้ปัญหาด้วยความละเอียดอ่อน
 
เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมและชีวิตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ไปพร้อมกัน
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2555 (กรอบบ่าย) หน้า 13