Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
หากใครเคยเรียนวิชาทฤษฎีการสื่อสาร โดยเฉพาะตอนที่กล่าวถึงสำนักคิดเทคโนโลยีเป็นกำหนด (Technology Determinism) หรือสำนักโตรอนโต (Toronto School)คงพอจะจำกันได้ว่าการทำความเข้าใจไม่ง่ายนัก เพราะความคิดของเจ้าสำนักอย่าง มาแชล แม็คลูฮัน (M. McLuhan)นั้นแสนจะล้ำสมัย มองการณ์ไกล ซ้ำยังมีพื้นฐานการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษมาก่อนด้วยแล้ว ภาษาเขียนของเขาจึงรุ่มรวยลึกล้ำเกินปกติ นักเรียนที่พื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แข็งอย่างผม ได้แต่ถอนหายใจเฮือกใหญ่ มองปกหนังสือและนั่งทำตาปริบๆ
แม้จะยาก แต่งานของเขานั้นก็แสนจะเย้ายวน พวกเราซึ่งเป็นนักเรียนการสื่อสารมวลชนได้อาศัยงานเขียนในภาคภาษาไทย ที่พอจะหาอ่านงานของกูรูท่านนี้อยู่บ้างก็เห็นจะมีแต่งานเขียนของ ดร.กาญจนา แก้วเทพ เท่านั้น พอทำให้เราได้รับรู้ถึงความ “ล้ำ” ของเขา
แม็คลูฮัน เป็นคนพัฒนากรอบการมองแบบมาร์กซิสต์ที่เคยใช้แนวคิดเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสังคม เปลี่ยนมาเป็นการมองว่า “เทคโนโลยี” ก็พลังไม่ด้อยไปกว่าระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังมีอำนาจในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ข้อสรุปง่ายๆ ของสำนักคิดนี้ก็คือ “เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมก็จะเปลี่ยนตาม”

ตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายเสมอก็คือ การที่อาณาจักรโรมันยิ่งใหญ่ได้นั้น เพราะมีเทคโนโลยีที่สำคัญอยู่สองประการ คือ “รถศึก” และ “ถนน” ปัจจัยทางเทคโนโลยีทั้งสองของอาณาจักรโรมันก่อให้เกิด “ภูมิทัศน์ของการสื่อสารใหม่” เพราะสามารถสั่งการได้ตรงจากศูนย์กลางอำนาจ “ถนน” และ “ล้อรถศึก” คือเทคโนโลยีที่อาณาจักรอื่นไม่สามารถมีได้ทัดเทียมกับโรมัน ที่มีเครื่องมือทะลุทะลวงแผ่ขยายอาณาจักรให้โรมันแผ่กว้างไกลไปจนแทบสุดขอบโลก
แนวคิด “ล้ำๆ” ของแม็คลูฮัน ยังไม่หมด เขามีข้อเสนอว่าด้วยการสื่อสารเรื่อง “สื่อร้อน – สื่อเย็น”ไว้อย่างแหลมคม
เขาเสนอเกณฑ์ความเป็น “ร้อน – เย็น” มองผ่าน “ความรู้สึก” ของผู้รับสารว่าถ้าหากสื่อใดที่ผู้รับสารถูกกระตุ้นเร้าทางความรู้สึก จนไม่มีเวลามากพอที่จะได้ใช้ความคิด สื่อนั้นถือเป็น “สื่อร้อน” ในขณะที่ “สื่อเย็น” นั้นถูกเร้าทางความรู้สึกน้อยกว่าและพอมีเวลาที่ให้ผู้รับสารนั้นได้ครุ่นคิดกับเนื้อหาของสื่อนั้นๆ
            ครั้นเมื่อเราหันมามองในโลกถูกโยงใยด้วยโครงข่ายของอินเตอร์เน็ตและรองรับด้วยระบบเวบ2.0
            วันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้สองทางแลกเปลี่ยนและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นวันที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังถูกทำนายว่ากำลังเข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์ สั่นสะเทือนไปถึงวงการศึกษาด้านการศึกษาการสื่อสารถึงขั้นที่บางวงสัมมนาตั้งหัวข้อประมาณว่า “ฤาวารสารศาสตร์ ตายแล้ว”
            การตั้งหัวข้อแบบนี้ จุดโฟกัสทางความคิดย่อมเน้นในเชิงฐานทางธุรกิจเป็นหลัก บนเงื่อนไขของการพยากรณ์ว่า อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์นั้นจะไปรอดหรือไม่
            แต่ทว่าสิ่งที่เรายังไม่ได้เตรียมตัวการศึกษากันเลยก็คือเรื่องชุดความรู้แบบที่ แม็คลูฮัน เสนอเรื่อง “สื่อร้อน – สื่อเย็น” นี่แหละ เพราะยังไม่มีใครลองตั้งคำถามว่า เราจะอยู่กับการสื่อสารโดยการ “อ่าน” บนระบบอินเตอร์เน็ต ที่เปลี่ยน “สัมผัส” ต่อการ “รับรู้” ของร่างกายเราใหม่นี้อย่างไร?
            จากการอ่านหนังสือ ซึ่งเคยเป็น “สื่อเย็น” คนที่อ่านหนังสือนั้นมีเวลาที่ครุ่นคิด ขณะเดียวกันก็มีความเป็นปัจเจกสูง
            แต่ลักษณะพฤติกรรมการอ่านบนอินเตอร์เน็ต แม้จะมีลักษณะของการอ่านข้อความคล้ายกันหนังสือ แต่การอ่านมักถูกเบนความสนใจจากข้อความและลูกเล่นอันหลากหลายบนหน้าเวบนั้น ทำให้ผู้อ่านรีบอ่านแบบเอาความ บางครั้งแบบสแกนเร็วๆ ข้ามๆ จนไม่ทันได้ครุ่นคิด การอ่านตัวอักษรแม้จะดูเหมือนที่ดูอ้อยสร้อยเชื่องช้า พลันเมื่อเปลี่ยนมายังสื่ออินเทอร์เน็ต ก็กลับกลายเป็น “สื่อร้อน” ไปได้เหมือนกัน
            แต่ลางทีสิ่งที่กล่าวมาอาจเป็นทัศนะของคนรุ่นเก่าที่เคยชินกับอ่านตัวอักษรบนหนังสือเท่านั้น
            ในช่วงของรอยต่อ “กระดาษ” ไปสู่ “อิเล็กทรอนิกส์” ผู้ใหญ่ที่เคยชินกับสัมผัสแบบ “สื่อเย็น” อาจกังวล ในขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ อาจคุ้นเคยกับการแท็บเล็ตตั้งแต่ยังไม่ทันเข้า ป.1 การ “รับรู้” สัมผัสที่มีต่อเทคโนโลยีการอ่านแบบใหม่ๆ ทักษะการอ่านบนเครื่องมือการอ่านแบบใหม่ๆ ในเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร อาจเป็นสิ่งที่ไปไกล เกินกว่าคนรุ่นเก่าอาจยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจก็เป็นไปได้
จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องศึกษาค้นคว้ากันอีกมาก ทั้งเรื่องการรับรู้และผลกระทบ ณ รอยต่อของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ฉบับ 748 วันที่ 23 – 29 กรกฎาคม 2555