Skip to main content
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
 
หมายเหตุ: รายงานชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ และ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ในระหว่างเข้าศึกษาในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เมื่อปี 2552 (กรุณาคลิกดูบทสังเคราะห์รายงานใน “เปิดรายงานข้อเสนอ ‘ดับไฟด้วยการเมือง’ ” หรือคลิกดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ ที่นี่)
 
 
บทนำ
 
ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นสถานการณ์ความมั่นคงที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐไทย เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นโจทย์ปัญหาความมั่นคง ที่ท้าทายภูมิปัญญาทางการเมืองการปกครองที่แหลมคงยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่รู้ ไม่เข้าใจสถานการณ์การอย่างลึกซึ้งและประสบความล้มเหลวในการแก้ไข ประเทศก็อาจถึงขั้นต้องเสียดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปกับเหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้ก็เป็นได้
 
            ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาโดยตรง นักวิชาการผู้ที่สนใจศึกษาและประชาชนทั่วไปจึงควรใช้สติ เหตุผลและองค์ความรู้ ตั้งใจพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อที่จะได้เข้าใจสถานการณ์การอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ได้มาซึ่งความคิดที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การกำหนด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพ เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วเกิดประสิทธิผล ทำให้ความรุนแรงลดระดับลงจนสถานการณ์การกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในที่สุด
 
ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ
 
            ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จากผลการศึกษาพบว่า ปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่นั้นมี 3 ระดับคือ
 
1. ระดับปัญหาหลัก ได้แก่ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากปฏิบัติการก่อเหตุร้ายรายวันหรือการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทย ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่นำโดยกลุ่ม BRN Co-ordinate
 
2. ระดับปัญหารองได้แก่สภาพการที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขพื้นฐานในการดำรงอยู่ของสถานการณ์ความรุนแรง ทั้งในด้านปริมาณและด้านคุณภาพ ได้แก่
 
·                  การจัดการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพและด้อยคุณภาพ
·                  การแพร่ระบาดของสิ่งเสพติด
·                  พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ
·                  ความล้มเหลวของกลไกรัฐในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
·                  ความไม่เป็นเอกภาพทางความคิดและการปฏิบัติของบุคลากรระดับต่างๆ ในส่วนราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา
·                  ความไม่ยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
 
3. ระดับปัญหาเสริม ได้แก่ สภาพที่ก่อให้เกิดผลการเพิ่มระดับความรุนแรงของสถานการณ์และเพิ่มความยุ่งยากในการแก้ไขให้แก่ปัญหาระดับหลักและระดับรอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก่
 
·                  การเมืองการปกครอง
·                  มุมมองต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
·                  การค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย
·                  การคอรัปชั่นและการประพฤติผิดคิดมิชอบในวงราชการ
·                  สภาพทางสังคมจิตวิทยา ด้านลบระหว่างกลไกรัฐกับประชาชนและกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม
·                  การต่างประเทศ
·                  การกำหนดนโยบายและการจัดทำแผนพัฒนาสังคมในพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
·                  ความยากจน
·                  การดำรงอยู่ของอำนาจมืดและอิทธิพลท้องถิ่น
·                  การแย่งชิงผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองระดับต่างๆ
 
·                  การกำหนดกฎเกณฑ์ ทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
·                  การสร้างกระแสชาตินิยมและแบ่งแยกสังคม โดยยึดโยงกับจิตสำนึกทางเชื้อชาติความศรัทธาในศาสนาและความรู้สึกร่วมทางประวัติศาสตร์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นประเด็นอุดมการณ์ในการต่อสู้กับรัฐไทย
 
ปัญหาทั้ง 3 ระดับ ดังกล่าวปัญหาหลักเป็นปัญหาใจกลางที่ต้องให้น้ำหนักในการแก้ไขมากที่สุดและในการดำเนินการแก้ไขจะต้องทำพร้อมกันและทำทันทีจะทำโดยวิธีลำดับก่อนหลัง ตามกำลังงบประมาณและความพร้อมในภาวะปกติไม่ได้ เพราะทุกระดับปัญหาจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนส่งผลกระทบ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งกันและกันทั้งระบบ
 
รากเหง้าสาเหตุของปัญหา
 
            ในรายงานการนี้นำเสนอเป็นการให้ความเห็นต่อรากเหง้าสาเหตุของปัญหา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า เจ้าของบทบาทในการสร้างสถานการณ์การก่อความไม่สงบตัวจริงคือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN Co-ordinate เป็นแกนนำ เพราฉะนั้นเหตุผลทางทฤษฎีและการพิจารณารูปธรรมของปรากฏการณ์ในทางปฏิบัติจึงมีขอบเขตอยู่ในบริบทของสงครามแบ่งแยกดินแดน (Separatist Violence) เป็นสำคัญ
 
สงครามแบ่งแยกดินแดน ในทางทฤษฎีเป็นรูปแบบหนึ่งของสงครามกลางเมืองลักษณะ
สำคัญคือกลุ่มที่สู้รบกับรัฐบาล ไม่ได้มีเป้าหมายในการยึดอำนาจรัฐ เพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองและเศรษฐกิจ หากแต่มีเป้าหมายหลักในเชิงดินแดน คือต้องการแยกตนเองไปตั้งรัฐชาติใหม่ (Independence) หรือเรียกร้องการตั้งเป็นเขตปกครองตนเองภายในพื้นที่รัฐชาติเดิม (Autonomy) เดิมพันการต่อสู้ มิใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือระบอบการเมือง หากเป็นการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของรัฐ (Boundary) อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ชายขอบ
 
ในสงครามแบ่งแยกดินแดน คู่ขัดแย้งหลักมี สองฝ่าย คือ กลุ่มชาติพันธ์ที่มีการจัดตั้งทางการเมืองซึ่งต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมือง โดยการจัดตั้งรัฐใหม่ หรือตั้งเป็นเขตปกครองตนเองภายรัฐชาติที่ตนเองสังกัด ฝ่ายหนึ่งกับ รัฐบาลที่ต้องการรักษาอำนาจส่วนกลางของรัฐและบูรณภาพทางดินแดนอีกฝ่ายหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งกรณีการแบ่งแยกดินแดนไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความรุนแรงเสมอไป แต่สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก็คือในเงื่อนไขใด ที่ความขัดแย้งถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรง
 
สำหรับรากเหง้าสาเหตุของการแบ่งแยกดินแดนนั้น คำอธิบายหลักที่นักวิชาการหลายคนเสนอ คือระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การแบ่งแยกกีดกันทางชาติพันธุ์และภูมิศาสตร์ทางการเมืองงานชิ้นสำคัญของ Horowitz[1]  เสนอว่าส่วนใหญ่แล้วขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นในเขตที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้าหลัง ซึ่งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและถูกครอบงำทางการเมือง เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่นำไปสู่การต่อสู้แบ่งแยกดินแดนคือองค์ประกบทางชาติพันธุ์บนพื้นที่นั้นๆ
 
ในประเด็นนี้งานของ Monica Toft[2] เสนอว่าเงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดนในเกือบ
ทุกกรณีคือการกระจุกตัวของชาติพันธุ์ หนึ่งๆ อย่างหนาแน่นในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
 
            ในขณะที่ Sambauis and miladovic[3] เสริมว่าในกรณีที่พื้นที่นั้นอยู่ติดกับเขตแดนของอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งปกครองโดยกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน โอกาสที่จะเกิดการต่อสู้ เพื่อแบ่งแยกดินแดนยิ่งมีสูงขึ้น ส่วน Gurr ก็ได้เสนอว่า สงครามแบ่งแยกดินแดนนั้นเป็นการบรรจบกันของการเมืองในอดีตกับการเมืองปัจจุบัน เขาเสนอว่ามี 4 ปัจจัย สำคัญที่อธิบายสาเหตุและเงื่อนเวลาการต่อสู้ เพื่อแบ่งแยกดินแดนคือ
 
·                  ปัจจัยแรก คือความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่ผู้คนมีต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และศาสนากลุ่มของตน
·                  ปัจจัยที่สอง แรงจูงใจที่มีร่วมกันของชนกลุ่มน้อยอันเกิดจากการถูกกีดกัน หรือกดขี่จากรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่
·                  ปัจจัยที่สาม ความสามารถของกลุ่มดังกล่าวที่จะมีปฏิบัติการทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งมาจากการสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
·                  ปัจจัยที่สี่ เงื่อนไขทางการเมืองในสังคมใหญ่ที่เอื้ออำนวย เช่น การเปลี่ยนรัฐบาลการเปลี่ยนระบบการเมืองหรือวิกฤติทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยอธิบายการเกิดขึ้นของกระบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ก็มีข้อจำกัดนั่นคือไม่สามารถอธิบายว่าเหตุใดบางขบวนการเลือกใช้สันติวิธีในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ทางการเมือง ในขณะที่บางขบวนการใช้ความความรุนแรง เป็นหนทางในการต่อสู้
 
ดังนั้น ความรุนแรงในฐานะยุทธวิธีแก้ไขความขัดแย้ง อาจจะริเริ่มมาจากฝ่ายรัฐหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ได้
 
อย่างไรก็ตามจากการศึกษารายงานการวิจัยก็พบว่า ความรุนแรงมักจะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง จากฐานข้อมูลในโครงการ Minorities at Rirk (MAR)  ที่ Ted Gurr[4] เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่า ในทศวรรษ 1990 บรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดน 154 กลุ่มทั่วโลก มี 53  กลุ่มเลือกใช้วิธีการก่อสงครามกลางเมือง ในขณะที่ 31 กลุ่มเลือกใช้วิธีการก่อการร้าย หรือไม่ก็พยายามจำกัดการก่อกบฎให้อยู่ในระดับท้องถิ่น
 
ในขณะที่ 70 กลุ่มที่เหลือเลือกใช้การต่อสู้แบบสันติวิธีในบรรดา 42 กลุ่ม จาก 70กลุ่มนี้ใช้วิธีการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ในขณะที่อีก 28 กลุ่มที่เหลือเลือกใช้วิธีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ จากฐานข้อมูลเหล่านี้ หากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ยุทธวิธีที่แต่ละกลุ่มเลือกใช้และระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์กับเป้าหมายของขบวนการฯ อย่างชัดเจน
 
·        ขบวนการฯที่มุ่งแยกตัวเป็นอิสระ เพื่อไปสร้างรัฐชาติใหม่เลือกใช้วิธีการของสงครามจรยุทธ์และการสู้รบในเมืองเป็นหลัก
·        ในขณะที่กลุ่มที่มีเป้าหมายจำกัดกว่านั้น เช่น การเรียกร้องเขตปกครองตนเอง จะเลือกใช้ยุทธวิธีที่มีความรุนแรงในระดับที่ต่ำกว่าหรือใช้สันติวิธี
 
จากการเฝ้าสังเกตติดตามสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพิจารณาที่กลุ่มก่อการฯ พยายามสื่อสารต่อสาธารณะ เช่น แถลงการณ์ ใบปลิวโฆษณาในพื้นที่ปฏิบัติการเวบไซต์ของกลุ่มฯ เอง คำให้สัมภาษณ์ของผู้นำกลุ่มฯ ที่ปรากฏในสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลที่ได้จากการซักถามผู้ต้องหาหลายพันคนได้ปรากฏความจริงที่มีน้ำหนักเพียงพอจนเชื่อได้ว่า ตัวการที่แท้จริงของการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N. Co-ordinate เป็นแกนนำและเมื่อนำผลการศึกษาที่ได้จากรายงานการวิจัยของนักวิชาการซึ่งได้กล่าวไว้โดยสังเขปแล้วในตอนต้นมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะพบประเด็นที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ ดังนี้
 
·        สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะที่สอดคล้องกับงานวิจัยว่าด้วยสงครามแบ่งแยกดินแดน คือ กลุ่มที่สู้รบกับรัฐบาลมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ต้องการแยกตนเองออกไปตั้งรัฐชาติใหม่
·        เดิมพันของการต่อสู้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของรัฐและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน
·        คู่ขัดแย้งหลักของสงครามแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 ฝ่ายชัดเจน คือ กลุ่มชาติพันธุ์มลายูปัตตานีที่มีการจัดตั้งทางการเมืองซึ่งประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะดำเนินการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐใหม่ชื่อ “ปาตานีดารุสสลาม”
·        รากเหง้าสาเหตุปัญหาที่สำคัญของสงครามแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คือ
 
o   พลังจิตสำนึกประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีตระหว่างรัฐสยามกับรัฐปาตานีที่กลุ่มชาติพันธุ์มลายู ถ่ายทอดส่งต่อไปยังลูกหลานนับตั้งแต่สยามได้ปาตานีเป็นเมืองขึ้นและดำเนินการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว คือ ชาติไทย
o   จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการกระจุกตัวของกลุ่มชนชาติพันธุ์มลายูหนาแน่นเป็นพิเศษในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
o   จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ติดกับเขตแดนของประเทศมาเลเซียซึ่งปกครองโดยชาติพันธุ์เดียวกันกับกลุ่มชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
o   ชาวมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกแรงกล้าต่อการปกป้องอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและศาสนาในกลุ่มของตน
o   แรงจูงใจร่วมกันของชาวมลายูปัตตานี คือ ความรู้สึกที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ถูกครอบงำทางการเมือง ถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม ถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ในฐานะผู้ปกครอง ถูกหวาดระแวงและไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มคนในสังคมใหญ่
o   มีเงื่อนไขทางการเมืองของสังคมใหญ่ที่เอื้ออำนวย เช่น มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารประเทศระดับนโยบายและระดับควบคุมกลไกขับเคลื่อนในทางปฏิบัติในพื้นที่ไม่เข้าใจสภาพปัญหาอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ทำให้แนวคิดทางยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนเป็นเอกภาพ มีวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้การกำหนดนโยบายผิดพลาด การดำเนินการแก้ไขความรุนแรงทั้งระบบล้มเหลว มีลักษณะสอดคล้องกับทฤษฎีสงครามแบ่งแยกดินแดน คือ กลุ่มที่สู้รบกับรัฐบาล มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ต้องการแยกตนเองไปตั้งรัฐชาติใหม่
 
·        ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N. Co-ordinate เป็นแกนนำ เลือกใช้ยุทธวิธีสงครามจรยุทธ์และการสู้รบในเมือง เนื่องจากกลุ่ม B.R.N. มีพื้นฐานและประสบการณ์การต่อสู้มาจากยุทธศาสตร์สงครามประชาชนของเหมาเจ๋อตุง[5]ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในอดีตที่มีความเชื่อว่า อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืนและการต่อสู้ในรูปแบบของการจลาจลและสงครามกลางเมืองจากกลุ่มใช้ความรุนแรงในประเทศแถบตะวันออกกลาง
·        ยุทธวิธีการต่อสู้ในรูปแบบสงครามจรยุทธ์ในเมือง ขบวนการฯ เชื่อว่าเมื่อการต่อสู้เข้มข้นขึ้น สถานการณ์ก็จะพัฒนาเป็นการจลาจลและสงครามกลางเมืองไปเอง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การจัดตั้งรัฐใหม่ที่มีเอกราชและหลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของรัฐไทยได้
 
ผลจากการศึกษาพิจารณารายงานการวิจัยของนักวิชาการ เมื่อเทียบเคียงกับปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บทบาทของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นปัญหาใจกลางหลักในบริบทของสถานการณ์ความไม่สงบทั้งมวล ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน จึงต้องตระหนักและรวมศูนย์ความสนใจอยู่ที่ประเด็นนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนและประสบผลสำเร็จได้ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต
 
สภาพปัญหา/สถานการณ์ปัจจุบัน/แนวโน้มในอนาคต
 
            ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้สัมผัสปัญหาอย่างซึมลึก ต่อเนื่องและยาวนาน จะรู้สึกว่ามีโครงสร้างของปัญหาคล้ายกับปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยทั่วๆ ไป มีเพียงเรื่องเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมเท่านั้นที่มีลักษณะเป็นวิถีจำเพาะ อันเป็นอัตลักษณ์ของบุคคลและสังคมเฉพาะพื้นที่ที่คนในพื้นที่อื่นๆ เข้าใจได้ยาก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความหวาดระแวงของสังคมใหญ่ที่มีต่อสังคมพื้นที่ ช่องว่างนี้เองที่ทำให้เกิดลักษณะเลือกปฏิบัติ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกีดกันและเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา เกิดเจตคติด้านลบต่อสังคมใหญ่ สิ่งเหล่านี้เมื่อสะสมนานเข้าก็จะระเบิดออกเป็นความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
            แต่สำหรับคนที่สัมผัสสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างซึมลึก ต่อเนื่องและยาวนาน รับรู้ปัญหาความเป็นไปทางสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะไม่รู้สึกเช่นนั้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหญ่โตและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เป็นปัญหาการก่อกบฏของขบวนการชาตินิยมทางเชื้อชาติที่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนออกไปตั้งรัฐใหม่ที่มีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเอง
 
            รูปธรรมของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547-2552[6] มีเหตุร้ายเกิดขึ้นถึง 9,100 กว่าครั้ง แยกเป็นกรณียิงด้วยอาวุธปืนถึง 4,752 ครั้ง วางเพลิง 1,334 ครั้ง และวางระเบิด 1,453 ครั้ง เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมากที่สุดประมาณ 3,100 กว่าครั้ง ปัตตานีรองลงมา 2,800 กว่าครั้ง และยะลา 2,500 กว่าครั้ง ตามลำดับ เหตุร้ายรายวันดังกล่าวได้สร้างความสูญเสียแก่ประชาชนมากที่สุด คือ 2,880 กว่าศพ รองลงมาคือตำรวจ 213 ศพและทหาร 190 กว่าศพ
 
            ส่วนการบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ระยะเวลากว่า 5 ปี (2547-2552) ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามสืบสวน ค้นหาความชัดเจน ในจำนวน 6,262 คดี สามารถรู้ได้ชัดเจนถึงต้นสายปลายเหตุ 1,361 คดี พิพากษาแล้วผู้ต้องหารับโทษขั้นประหารชีวิต 15 ราย จำคุก 27 รายและยกฟ้อง 56 ราย ส่วนการตรวจค้นจับกุมอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้น เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ประมาณ 290 กระบอก แยกเป็น M16 จำนวน 82 กระบอก HK 11 กระบอก AK 47 กระบอก ปืนลูกซอง 34 กระบอก และปืนพกสั้น 121 กระบอก
 
            ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ในทางตรงข้ามกลับเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ การก่อเหตุได้สร้างความสูญเสียในปริมาณที่มากขึ้น รูปแบบของเหตุร้ายก็ยกระดับความเหี้ยมโหดและสยดสยองมากยิ่งขึ้น
 
            สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ขวัญและกำลังใจของข้าราชการในพื้นที่ตกต่ำลงอย่างหนัก การอพยพย้ายถิ่น เปลี่ยนงาน ขายบ้านและที่ทำกิน มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลยังตีโจทย์ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่แตก ไม่สามารถสร้างภาพอนาคตให้ประชาชนคนในพื้นที่เกิดความมั่นใจก็เชื่อได้เลยว่าอีกไม่เกิน 10 ปี คนไทยที่นับถือศาสนาอื่นไม่ใช่มุสลิมหรือเป็นคนมุสลิมแต่เลือกที่จะยืนข้างรัฐไทยจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ความสำเร็จของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N. Co-ordinate เป็นแกนนำ ก็จะเหนือกว่ารัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 คือการสร้างภาวะอันน่าสะพรึงกลัวให้เกิดขึ้นได้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของขบวนการฯ ก็ถึงวาระที่ต้องอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่ไป
 
            โดยสรุปก็คือ ในปัจจุบันฝ่ายรัฐยังไม่สามารถยุติเหตุร้ายรายวันได้ และยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานการเมืองที่เป็นการเมืองเนื้อหาเชิงคุณภาพได้ ถ้าจะกล่าวกันตามความจริงในเชิงยุทธศาสตร์ก็สามารถกล่าวได้ว่า ณ วันนี้ การทหารและการเมืองของฝ่ายรัฐยังอยู่ในขั้นตอนของ ขั้นยัน’ ไม่ได้ก้าวไปถึง ‘ขั้นรุก’แต่อย่างใดและหากคิดคำนวณโดยเอาต้นทุนหน้าตักเป็นตัวตั้งระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายก่อความไม่สงบแล้ว แม้คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านความมั่นคงก็พอจะมองออกว่าโดยเนื้อแท้แล้ว การต่อสู้ในปัจจุบันใครเป็นผู้แพ้และใครกันแน่ที่เป็นผู้ชนะ
 
กรอบคิดและทิศทางในการแก้ไขปัญหา
 
กรอบคิด
 
            การคิดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องคิดโดยเอาสถานการณ์จริงมาเป็นตัวตั้งว่าสถานการณ์จริงคืออะไร ปรากฏการณ์ความไม่สงบ ทุกรูปแบบทุกพื้นที่ มีใครเป็นผู้ปฏิบัติการ มีสาเหตุ/เงื่อนไข/แนวทาง/นโยบาย/ยุทธศาสตร์/และยุทธวิธีอย่างไร วัตถุประสงค์/เป้าหมายของกลุ่มก่อการคืออะไร หากเราสามารถรู้จนตอบคำถามต่างๆ ดังกล่าวได้ เราก็จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเช่นกัน จากการศึกษาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผู้รายงานมีความมั่นใจในการตอบโจทย์ความไม่สงบในประเด็นต่างๆ ดังนี้
 
  • สถานการณ์จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ คือ สถานการณ์สงครามจรยุทธ์ในเมืองระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N. Co-ordinate เป็นแกนนำ
  • สถานการณ์มีสาเหตุมาจากการปลุกเร้าจิตสำนึกประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต ซึ่งก็คือ กรณีที่ราชอาณาจักรสยามได้เข้ามาทำสงครามยึดครองรัฐปัตตานีเป็นเมืองขึ้น แล้วดำเนินการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มของเชื้อสายเจ้าผู้ปกครองรัฐปาตานีเดิมต้องแตกกระสานซ่านเซ็นกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในต่างประเทศ
 
จิตสำนึกการกู้ชาติของผู้ปกครองรัฐปัตตานีเดิมนี้ได้สืบทอดส่งต่อไปยังลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีเงื่อนไขเหมาะสมก็จะเกิดความไม่สงบหรือ ‘การต่อสู้ที่ปาตานี’ ขึ้นเมื่อนั้นทันที
 
  • เงื่อนไขสงครามสำคัญที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ 2 ประการ คือ
 
    • การปกครองท้องถิ่น โดยองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่นได้ ประกอบกับกลไกรัฐตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้านไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งบางส่วนยังได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก
    • การใช้กฎหมายอิสลาม สำหรับสังคมมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในปัจจุบัน กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรมไทย มีดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาหลักกฎหมายอิสลามในการตัดสินคดี แต่ความเห็นของชาวมุสลิมในพื้นที่ต้องการแยกออกมาเป็นศาลเฉพาะต่างหากที่เรียกว่า “ศาลชารีอะห์” มีคณะลูกขุนหรือที่เรียกว่า คณะอูลามะ (ผู้รู้ทางศาสนา) ที่ได้รับการสรรหามาโดยธรรมเนียมการสรรหาผู้นำศาสนาแบบดั้งเดิม เป็นคณะผู้ตัดสินคดีความ ซึ่งศาลชารีอะห์ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การดูแลของศาลสถิตยุติธรรมเช่นเดิม
 
  • แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มก่อความไม่สงบ
 
    • ในประเทศ ใช้แนวทางต่อสู้ด้วยอาวุธประสานกับการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐเอกราชที่ปกครองโดยชาวมลายูมุสลิม เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นรัฐอิสลาม
    • ในต่างประเทศ ใช้แนวทางการทำแนวร่วมกับองค์กรระดับสากลและกลุ่มประเทศมุสลิมเพื่อขอความสนับสนุนกระบวนการที่นำไปสู่การสถาปนารัฐเอกราช “ปาตานีดารุสสลาม”
 
  • นโยบาย กลุ่มก่อความไม่สงบฯ ได้ประกาศนโยบายต่อมวลชนไว้ 3 ประการ คือ
    • เชิดชูอัตลักษณ์ของชาวมลายูปัตตานี
    • ประกาศใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองรัฐปัตตานี
    • ปลดปล่อย “ปาตานี” เดิมให้กลับมาเป็นรัฐเอกราชที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง
 
  • ยุทธศาสตร์
ใช้รูปแบบการต่อสู้ด้วยอาวุธประสานกับการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ พัฒนาสถานการณ์ไปสู่สงครามกลางเมือง เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมในการปลดปล่อยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาปนารัฐปาตานีที่มีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเอง
 
  • ยุทธวิธี
กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีทั้งด้านการเมืองและการทหาร ดังนี้
 
ด้านการเมือง
    • จัดตั้งองค์กรและศูนย์การนำ
    • กำหนดขั้นตอนการต่อสู้ไว้ 7 ขั้น
    • สร้างความสับสนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและสังคมโดยกลยุทธการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง
    • สร้างข้อมูล (ชุดความจริงเทียม) สื่อสารสู่สังคม
    • ปลุกระดมทางการเมือง
 
ด้านการทหาร
    • จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธระดับต่างๆ
    • กระจายกำลังออกทำสงครามจรยุทธ์
    • อำพรางการปฏิบัติการ/ซัดทอดให้เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
    • ผลักดัน/ยกระดับการต่อสู้สู่สงครามกลางเมือง
    • ปฏิบัติการก่อเหตุร้ายรายวันด้วยรูปแบบที่หลากหลาย
 
  • เป้าหมายการต่อสู้
เพื่อสร้างสภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อแนวทางการต่อสู้ทั้งทางด้านการเมืองและด้านการทหารให้บรรลุเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสถาปนารัฐปาตานีที่มีเอกราชและอธิปไตยของตนเอง
 
ทิศทางในการแก้ไขปัญหา
 
            การกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการศึกษาผลการวิจัยและข้อมูลความจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปี (2547-2551) สามารถสรุปเป็นประเด็นเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ดังนี้
 
 
  • การแก้ไขปัญหาหลัก
 
คือการต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N. Co-ordinate เป็นแกนนำโดยดำเนินการด้วยแนวทางต่อไปนี้
 
ด้านการเมือง
 
  • ลดหรือทำลายเงื่อนไขพื้นฐานที่นำไปสู่แนวความคิดแบ่งแยกดินแดน
 
    • พัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองตามแนวคิดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
    • สนับสนุนให้จัดกิจกรรมเชิงสมานฉันท์ระหว่างชุมชนต่างวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ
    • สนับสนุนให้ชาวมุสลิมในพื้นที่ได้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเต็มที่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ
    • เร่งรัดพัฒนาพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของกลุ่มชนเชื้อสายมลายูอย่างหนาแน่นในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้มีความเจริญทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กิจการศาสนา เศรษฐกิจและสังคม โดยใช้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจุดขายโดยพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น
    • เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐชายแดนของมาเลเซียที่ติดต่อกับไทย เช่น กลันตัน ไทรบุรี ให้แนบแน่น เพื่อลดเงื่อนไขมิติด้านภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ เขตแดนที่บางรัฐของมาเลเซียปกครองโดยชนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
    • สนับสนุนส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมและให้เสรีภาพที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติตนตามหลักศาสนา ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม
    • ขจัดเงื่อนไขที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่มีต่อประชาชน เช่น การกีดกัน การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง การเลือกปฏิบัติ ความไม่เข้าใจและหวาดระแวงจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีต่อชนเชื้อสายมลายูส่วนน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
    • สร้างความเข้าใจอันดีต่อทุกประเทศในโลกมุสลิมเพื่อป้องกันการหนุนช่วยด้านยุทธปัจจัยจากภายนอกด้วยเหตุที่บางประเทศไม่เข้าใจ เพราะไม่ทราบความจริงหรือเพราะเข้าใจผิดจากข้อมูลบิดเบือนของกลุ่มก่อความไม่สงบ
    • งานการเมืองควรทำอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลส่วนกลางจะเปลี่ยนแปลงหรือมีปัญหาเพียงใด ก็จะต้องไม่ทิ้งการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เนื่องจากความอ่อนแอของรัฐบาลกลางจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ยกระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
ด้านการทหาร
 
            งานการทหารเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของงานการเมืองเป็นหลักประกันให้งานการเมืองก้าวรุดไปเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและอุปสรรคของงานการเมือง เมื่อใดงานการเมืองถึงจุดอับหรือทางตันไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ งานการทหารก็จะทำหน้าที่ทลายจุดอับหรือทางตันนั้นเปิดทางให้งานการเมืองเดินหน้าต่อไปได้
 
            เพราะฉะนั้นการเมืองกับการทหารจึงเป็นสิ่งเดียวกันที่เกิดจากความเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้าม ดังคำกล่าวที่ว่า งานการทหารเป็นความต่อเนื่องของงานการเมือง
 
            สำหรับในบริบทของการต่อสู้แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น งานการทหารก็เป็นปัจจัยที่สำคัญสูงสุดประการหนึ่งจะไม่เอาการทหารเลยนั้นไม่ได้ แต่จะใช้อำนาจทางการทหารเมื่อใดและอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องประเมินความเหมาะสมและพิจารณาความจำเป็นให้ละเอียดรอบคอบ คือ ต้องมีเงื่อนไขที่สุกงอมจริงๆ แล้วเท่านั้นถึงจะใช้งานการทหารเข้าไปจัดการกับปัญหาเฉพาะส่วนนั้นๆ  ได้มีคำถามจากสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สมควรที่จะใช้การทหารเข้ามาแก้ไขแล้วหรือยัง ถ้าใช้จะใช้เมื่อใดและใช้อย่างไรถึงจะเหมาะสม
 
            ความเห็นของผู้รายงานเห็นว่า การใช้อำนาจทางการทหารในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นควรพิจารณาดำเนินการในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
 
  • กองทัพจะต้องให้ความสำคัญกับงานข่าวกรองอย่างยิ่งยวด ข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำและทันเวลา จะเป็นหูเป็นตาต่อการปฏิบัติการของทหารและเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพราะการผิดพลาดทางการทหารเพียงครั้งเดียว อาจทำลายงานการเมืองให้พังทลายลงทั้งระบบได้
  • การต่อสู้กับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ งานความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รองลงมาคือ งานยกระดับความรู้สึกเชิงบวกของประชาชน งานความคิดเป็นงานทางทฤษฎี (ตรรกะ/ความเชื่อ/เจตคติ) ส่วนการยกระดับความรู้สึกเป็นงานภาคปฏิบัติ (ความเหมาะสม/เสมอภาค/ยุติธรรม/ชัดเจน/โปร่งใส/ตรวจสอบได้)
  • กองทัพควรจัดตั้งสำนักทฤษฎีขึ้นเพื่อรองรับการต่อสู้ทางความคิด บุคลากรหน่วยนี้ต้องน้อยคนแต่เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจสรรหามาจากผู้รู้ทางศาสนา นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์และนักการทหาร คนกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ ศึกษาค้นคว้า ผลิตชุดความคิดเพื่อตอบโต้ชุดความคิดเสมือนจริงของกลุ่มก่อความไม่สงบให้เป็นข้อยุติที่ลงตัวในด้านความคิดและจิตใจของประชาชน
  • กองทัพต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ที่สามารถสื่อสารต่อประชาชนและสังคมได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้านกว้างและด้านลึกอย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรม
  • กองทัพควรจัดอบรมและฝึกฝนกำลังพลทั้งระดับบัญชาการและระดับปฏิบัติให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องคำนึงเสมอว่า การปฏิบัติการทางทหารทุกครั้งต้องได้การเมืองทุกครั้ง การปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ได้การเมือง คือ การช่วยให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับชัยชนะเร็วขึ้นนั่นเอง
  • กำลังพลทุกสังกัด หน่วยรบทุกหน่วย ต้องเข้าใจพื้นฐานเดียวกันก็ว่าการต่อสู่ การดำเนินงาน การแก้ปัญหา และการพัฒนาทุกอย่างที่ใช้เหตุผล ใช้สติปัญญา ใช้ความเพียรพยายามและใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม คือ สันติวิธี การใช้อำนาจทางการทหารก็เป็นสันติวิธี ตราบใดที่การใช้อำนาจนั้นยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช้อารมณ์ และไม่ใช้อาวุธ การใช้อาวุธต้องเป็นทางออกและเครื่องมือสุดท้าย เมื่องานการเมืองหรือสันติวิธีใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น
 
โดยสรุปการแก้ปัญหา ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ของไทยนั้น ต้องใช้องค์ประกอบ 3 ส่วน เสมอกล่าวคือ ส่วนแรกผู้ที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาโดยตรง จะต้องศึกษาและวิเคราะห์แก่นแท้ของสถานการณ์ให้มีความชัดเจนว่า รากฐานของความรุนแรงมาจากหลายสาเหตุ แต่ในสาเหตุที่หลากหลายนั้น จะมีอยู่สาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักอันเป็นรากฐานของสาเหตุย่อยอื่นๆ สาเหตุนี้เองคือ รากฐานของปัญหา ที่รัฐจะต้องลดหรือขจัดเงื่อนไขลงให้ได้ ในกระบวนการลดหรือขจัดเงื่อนนี้เองที่จะต้องใช้องค์ประกอบที่สองและที่สามคือ งานการเมืองและงานการทหาร
 
งานการเมืองและงานการทหารดังกล่าว รัฐจะต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม หรือเป็นฝ่ายรุกตลอดเวลา การรุกต้องเริ่มจากการรุกทางการเมือง และตามด้วยการรุกทางการทหารทุกครั้งไป ทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มจะต้องไม่ทำด้วยอารมณ์ แต่จะต้องทำอย่างมีการเมืองนำอย่างพลิกแพลงและอย่างมีแผนการทุกครั้งที่กำหนดแผนไม่ว่าจะเป็นแผนระดับยุทธศาสตร์ ระดับยุทธการหรือระดับยุทธวิธี จะต้องดำเนินการด้วยความ รอบรู้ รอบคอบ และรอบด้านเสมอ งานแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงจะได้ผล อาจจะช้าไปบ้าง แต่ก็มั่นคงยั่งยืนและแก้ปัญหาได้จริง
 
 


[1] Donald Horowitz, The Deadly Ethnic Riot (Berkeley and Los Angeles: University of California Press, 2001),pp. 1-42
[2] Monica Duffy Toft, The Geography of Ethnic Violence: Identity, Interests, and the Indivisibility of Territory (Princeton, N.J.: Princeton University Press, 2003).
[3] Nicholas Sambanis and Branko Milanovic, “Explaining the Demand for Sovereignty,”
[4] Ted Robert Gurr, People versus States: Minorities at Risk in the New Century (Washington: United States Institute of Peace Press,2000).
[5] อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบุรุษนักยุทธศาสตร์ด้านการเมือง การทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
[6] สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าจังหวัดยะลา ปี 2552