Skip to main content

หลักเจตนารมณ์แห่งกฏหมายอิสลาม: ว่าด้วยอัตลักษณ์และศักดิ์ศรี

Anwar Koma
อัตลักษณ์ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในการพูดคุยในวงวิชาการที่เกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันอย่างแพร่หลายในประเทศตะวันตกในบริบทของมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่เข้าไปอาศัยในประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา[1] การปรับตัวของมุสลิมชนกลุ่มน้อยจึงเป็นสาระสำคัญและเรื่องน่ากังวลสำหรับรัฐเป็นอย่างยิ่ง เพราะมุสลิมเหล่านี้จำนวนมากไม่เพียงแต่เป็นกำลังสำคัญของการสร้างเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมิติใหม่ๆ ทางด้านสังคมและการเมืองให้กับรัฐชาติที่พวกเขาไปอยู่อาศัยอีกด้วย[2] ดังนั้นชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่เพียงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ทั้งในด้านระบบการเมืองการปกครอง ภาษา สังคม เศรษฐกิจและการศึกษาเท่านั่น หากแต่ต้องรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตัวเองด้วยเช่นกัน การปรับตัวและรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองจึงกลายเป็นประเด็นใหม่ในยุคร่วมสมัยนี้ไม่ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นประเด็นใหม่ที่สร้างความท้าทายระหว่างรัฐและประชาชน ระหว่างคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงและการคงอยู่ ระหว่างการซื่อสัตย์และการทรยศต่ออัตลักษณ์ของตัวเอง ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย และระหว่างความหมายของศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของตัวเอง หากมองในมุมกว้างแล้ว นี้คือความท้าทายร่วมกันของทุกคนที่อาศัยอยู่ในรัฐเดียวกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงภาษา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ได้ถูกรวมอยู่ในทฤษฎีเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม (Maqasid al-Shariah) อย่างน่าสนใจ ในทฤษฎีมะกอศิดอัชชะรีอะฮ์ แบบ “คลาสลิก” ได้จำแนกการดำรงรักษาไว้ซึ่งห้าประการ นั่นคือ การดำรงไว้ซึ่งศาสนา (Faith) ชีวิต (Soul) สติปัญญา(Intellect) สายเลือด(Progeny) และทรัพย์สิน (Wealth) นอกจากนั้นมีนักวิชาการในยุคร่วมสมัยหลายท่านได้เพิ่มการรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Dignity) เป็นประการที่หก[3] ดังนั้นในหกประการนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายสากลขั้นพื้นฐานเพื่อปกป้องรักษาจากการถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์เอง[4] นอกจากนั้นนักปราชญ์หลายท่านใด้ให้ทัศนะว่าความยุติธรรมคือหัวใจและหลักการที่อยู่ในทุกประการของเป้าหมายขั้นพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้น
หากเราพิจารณาทฤษฎีมะกอศิดอัชชะรีอะฮ์ แบบคลาสสิกข้างต้น เราจะพบว่า “อัตลักษณ์” ได้คาบเกี่ยวกับการรักษาไว้ซึ่งศาสนา ชีวิต สติปัญญา สายเลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรี เหตุที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะในอัตลักษณ์ของคนๆ หนึ่งประกอบไปด้วยอย่างน้อยหกประการสำคัญนี้ ยกตัวอย่างเช่น คนๆ หนึ่งเกิดในประเทศไทยชื่อ “อับดุล” นับถือศาสนาอิสลาม ได้รับการศึกษาจากสถาบันปอเนาะ เป็นคนมลายูโดยกำเนิด มีฐานะร่ำรวย และมีสิทธิและเสรีภาพโดยเท่าเทียมกันเหมือนกับประชาชนชาวไทยคนอื่นๆ ดังนั้นนายอับดุลเป็นคนมุสลิมโดยศาสนา มลายูโดยชาติพันธ์ เป็นเศรษฐีโดยฐานะทางเศรษฐกิจ ไทยโดยสัญชาติ ซุนนะฮ์ (ซุนนี่) โดยความแตกต่างภายในศาสนาอิสลาม ชาฟีอีฮ์โดยสำนักความคิดทางศาสนา หรืออื่นๆ ในฐานะอุดมการณ์ นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความเป็นอับดุลในมุมมององค์ประกอบรวม[5] และปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีถ้าหากเราหรือใครก็ตามพยายามจะลดความเป็นอับดุลให้เหลือเพียงแค่ความเป็นไทย หรือมลายู หรือชาฟีอีย์ หรือคณะเก่า-ใหม่เท่านั้น[6] ดังนั้นหากมองจากมุมนี้จะเห็นว่าปัญหาด้านอัตลักษณ์คือการ “ลดคุณค่าความเป็นคน” (value reduction) ของเราให้เหลือเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการใช้ชีวิตในยุคศตวรรตที่ 21 อย่างเห็นได้ชัด และนี่คือรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย แต่ทุกๆ สังคมที่ไม่สามารถเผชิญกับความท้าทายและความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์[7] ในสังคมมุสลิมประเทศไทยเราจึงเห็นปัญหาระหว่าง “คณะเก่า” กับ “คณะใหม่” ระหว่าง “ซุนนี่” กับ “ชีอะ” ระหว่าง “มลายู” กับ “ไทย”[8] ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่สามารถแก้ได้หากเราจำเป็นต้องลดความเป็นตัวเราให้เหลือแค่มิติใดมิติหนึ่งในการใช้ชีวิตแห่งความเป็นจริง
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เราพอจะเห็นภาพของปัญหาที่เกี่ยวกับ “เราเป็นใคร” คือปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในคำสอนของอิสลาม มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเหมือนกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด[9] และเกียรติที่สูงส่งกว่านั้นที่เราในฐานะมนุษย์ได้รับคือ “ความศักดิ์สิทธ์ของชีวิตหรือวิญญาน” ของมนุษย์ทุกคน[10] และด้วยความศักดิ์สิทธ์นั้น ผู้สร้างได้ห้ามการฆ่ากันระหว่างมนุษย์ปราศจากความยุติธรรม[11] และพระองค์ได้ทรงบัญญัติหน้าที่อันสูงส่งให้กับมนุษย์ชาติด้วยการเป็น “ตัวแทนของพระองค์” ในการบริหารกิจการแผ่นดินด้วยความยุติธรรม[12] ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใด “เรา” สามารถเข้าใจได้ว่า ชีวิตของเราทุกคนมีค่าและมีความศักดิ์สิทธ์ และค่าที่อยู่ในตัวเราไม่สามารถลดระดับลงมาเหลือเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใดได้ฉันใด ความศักดิ์สิทธ์ของชีวิตเราก็ไม่สามารถถูกละเมิดได้ฉันนั้น หากเรา (รัฐและทุกฝ่าย) จริงจังและจริงใจในการหาทางออกให้กับสังคม ทางออกของเราคงไม่ใช่การลดคุณค่าความเป็นคน บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจำกัดอัตลักษณ์ของความเป็นเราไว้เพียงแค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น อัตลักษณ์และศักดิ์ศรีคือสองคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากอัตลักษณ์ถูกทำลาย ศักดิ์ศรีก็ถูกบั่นทอนไปด้วย และหากอัตลักษณ์ได้รับการส่งเสริม การให้เกียตริและศักดิ์ศรีจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่มีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ หาก “พหุอัตลักษณ์” คืออัตลักษณ์ของสังคมที่ได้รับการส่งเสริมและตระหนักจาก “รัฐและประชาชน” เกียตริและศักดิ์ศรีของความเป็นคนจะเป็นพลังด้านบวกในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและทุนทางสังคมในการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์อย่างมีนัยยสำคัญ   ดังนั้นถ้าหากเราต้องการที่จะมีศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ไปพร้อมๆ กันโดยไม่ต้องละทิ้งหลักการและคุณค่าความเป็นคน ทั้งรัฐและประชาชน (รวมถึงทุกฝ่าย) จำเป็นต้องมีบทบาทในการสร้าง “อัตลักษณ์ใหม่” ในบริบทที่แตกต่างกัน
หน้าที่หลักของรัฐคือออกนโยบายแบบ “ครอบคลุม” และมีพลวัต ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ไม่ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาชน และดำเนินตามนโยบายการสร้างอัตลักษณ์ใหม่โดยไม่ลดคุณค่าความเป็นคน ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่ของรัฐไม่ใช่การส่งเสริมภาษามลายูแต่เป็นการไม่ปิดกั้นการใช้และพัฒนาภาษามลายูมากกว่า[13] ส่วนหน้าที่ของรัฐโดยตรงคือการส่งเสริมภาษาไทยให้คนมลายู เพราะนี้คือปัญหาหลักทางด้านการสื่อสารและการเป็นพลเมืองในประเทศไทย[14] หากรัฐยังสับสนระหว่างการส่งเสริมในฐานะหน้าที่ กับการไม่ปิดกั้นในฐานะการให้สิทธิ มันสื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐขาดบุคลากรด้าน “คลังสมอง” (Think Tank)ในการร่างและกำหนดนโยบายการแก้ใขปัญหา และต้องเร่งรีบแก้ใขในจุดนั้นเป็นการด่วน หากมิฉะนั้นแล้ว “โรคพร่องนโยบาย” จะกลายเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงความลมเหลวของรัฐอย่างไม่รู้จบ[15] ส่วน (ภาค) ประชาชนจำเป็นต้องตระหนักว่า “คุณค่าความเป็นคน” มีความเป็น “พหุมิติ” และ “พลวัต” อยู่ในตัวของมัน ยกตัวอย่างเช่น คนมลายูไม่จำเป็นต้องพูดมลายูได้อย่างเดียว คนมลายูสามารถพูดภาษาไทย อาหรับ อังกฤษ จีน หรือรัสเซียได้ และนี้คือการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง การเพิ่มอัตลักษณ์ในการเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้ล้วนเป็นผลดีต่อการทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนของพระเจ้า” บนโลกใบนี้ (คอลีฟะตุลลอฮ์)  หากเรายังยึดติดว่าเราเป็นคนมลายูและต้องพูดมลายูเท่านั้น หรือเป็นคนไทยต้องพูดไทยเท่านั้น ไม่สามารถใส่คุณค่าอื่นๆ เข้ามาในตัวเราได้ จำกัดตัวเองอยู่แค่คำจำกัดความเดิมๆ ปิดกั้นการพัฒนาตัวเอง และไม่กล้ายอมรับความจริง “อัตลักษณ์ใหม่” ของความเป็นเราก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในเมื่ออัตลักษณ์ใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้น ความขัดแย้งก็ไม่สามารถทุเลาลงได้ ปัญหาจึงไม่มีทางออกทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ดังนั้นบทสรุปขั้นพื้นฐานสำหรับทั้งสองฝ่าย (รัฐและสังคม) คือการสามารถให้คำตอบทางนามธรรมในความสำเนียกของตัวเองว่า “อัตลักษณ์ใหม่ของเรา” สามารถเปิดรับคุณค่าที่หลากหลายของความเป็นคนได้หรือไม่ หากคำตอบในความสำเนียกของเรายังให้คำตอบกับคำถามพื้นฐานนี้ไม่ได้ เส้นทางสู่สันติภาพในสังคมและการซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าก็ยังมืดมน ไม่สามารถหาจุดเชื่อมได้ และความพยายามในการแก้ใขความขัดแย้งอาจจะไม่บรรลุผลในที่สุด
ดังนั้นบทสรุปขั้นพื้นฐานของประเด็นเรื่องอัตลักษณ์นั้นจำเป็นต้องเข้าใจจากมุมมองการศึกษาเชิงลึก มุ่งเน้นการเข้าถึง “คุณค่าความเป็นคน” และขุดมันออกมาทำการเจียระไน และบูรณาการคุณค่าเหล่านั้นในบริบทใหม่ทางสังคม การเข้าใจถึงคุณค่าความเป็นคนในมุมมองอิสลามสามารถใช้แนวทางการศึกษาจากทฤษฎีเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม (Maqasid al-Shariah) เพื่อเข้าใจถึงแก่นแท้ สารัตถะ และเป้าหมายของความเป็นมนุษย์ และตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ชีวิต สติปัญญา สายเลือด (เชื้อสาย) ทรัพย์สิน และศักดิ์ศรี การปกป้องรักษาและพัฒนาหกประการเหล่านี้อย่างน้อยสามารถการันตีสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และความเป็นพลเมืองในยุคร่วมสมัยนี้ได้อย่างลงตัว ทฤษฎีมะกอศิดอัชชะรีอะฮ์นี้ถือได้ว่าเป็นประตูบานใหม่ในการเข้าใจปัญหาเดิมๆ ในมุมมองใหม่ๆ จากโลกทัศน์อิสลาม เปิดพื้นที่ทางความคิดให้มุสลิมและต่างศาสนิกได้เข้าใจการผันแปรของโลกและเผชิญหน้ากับความเป็นจริงได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใดแต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างคือการลดคุณค่าของตัวเองลงเหลือเพียงแค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น และในนามของศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์เราต้องกล้าใส่คุณค่าใหม่ๆ ให้กับตัวเองเพื่อพัฒนาความเป็นเราในบริบทใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 อย่างภาคภูมิใจ หากมิเช่นนั้นแล้วเราอาจจะต้องใช้ชีวิตของเราทั้งชีวิตอยู่ในความขัดแย้งทางปัญญาและสังคมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ปราศจากชัยชนะทั้งระยะสั้น (โลกนี้) และระยะยาว (โลกหน้า)
 

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง 

“หลักเจตนารมณ์” แห่งกฏหมายอิสลามและการแสวงหาฉันทมติที่ทับซ้อน  http://www.deepsouthwatch.org/node/4174

“ชาริอะฮ์ = ความยุติธรรมที่ครอบคลุม” เสียงเรียกร้องของนักวิชาการอิสลามอันเป็นสากล

 



[1]Ramadan, T. (1999). To Be a European Muslim. Leicester: The Islamic Foundation.;Ramadan, T. (2004) Western Muslims and the Future of Islam. New York: Oxford University Press.; Ramadan, T. (2009). Radical Reform: Islamic Ethics and Liberation. New York: Oxford University Press.
[2] Roy, O. (2004). Globalized Islam. New York: Columbia University Press.
[3] Ibn Arshur, M. (2006), Ibn Arshur Treatise on Maqasid al-Sharia. London: The International Institute of Islamic Thought.; Raysuni, A. (2006). Imam al-Shatibi’s Theory of the Higher Objectives and Intents of Islamic Law. Kuala Lumpur: Islamic Book Trust. ; Attia, G. (2010). Towards Realization of the Higher Intents of the Islamic Law. Kuala Lumpur: Islamic Book Trust & ISTAC.; Auda, J. (2004). Maqasid al-Shariah: A Beginner's Guide. London: IIIT.; Auda. J. (2008). Maqasid al-Shariah as Philosophy of Islamic Law. London: IIIT; Nyazee, I. (2003). Islamic Jurisprudence (Usul al-Fiqh). Selangor. The Other Press & ISTAC.
[4]เป้าหมายขึ้นพื้นฐานที่พระเจ้าได้ประทานบทบัญญัติต่างๆ มาเพื่อปกป้องรักษาจากการถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์เอง นั่นหมายความว่า 6 ประการข้างต้นนี้ถือเป็นความจำเป็นของการมีอยู่ของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
[5]ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ System approach และ  Maqasid al-Shariah ได้ที่  Auda. J. (2008) Maqasid al-Shariah as Philosophy of Islamic Law. London: IIIT.
[6] Imtiyas, Y. (2007). Faces of Islam in Southern Thailand. East-West Center. (p. 4-5).  www.eastwestcenter.org. Retrieved December 5, 2012, from http://www.eastwestcenter.org/publications/faces-islam-southern-thailand
[7]อ้างแล้ว Roy (2004); Tariq (1999, 2004, 2009); Imtiyaz (2007).
[8]McCargo (2008). Tearing  Apart the Land. London: Cornell University Press.
[9]และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม” คัมภีร์อัลกุรอาน (17:70) http://www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp retrieved on 17/10/12.
[10]ดังนั้น เมื่อข้าได้ทำให้เขามีรูปร่างสมส่วน และได้เป่าวิญญาณจากข้าเข้าไปในตัวเขาฉะนั้นพวกเจ้าจงก้มลงสุญูดต่อเขา (คัมภีร์อัลกุรอาน 29:15, 38:72, 17:33)
[11] (คัมภีร์อัลกุรอาน 17:33, 5:45, 5:32)
[12]คอลีฟะตุลลอฮ์ฟิลอัรด์ (คัมภีร์อัลกุรอาน 2:30)
[13]เพราะการพัฒนาภาษามลายูควรเป็นหน้าที่ของภาคประชาชน หรือสถาบันศึกษาในการพัฒนาภาษาของตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นการเพียงพอสำหรับรัฐในการให้อิสระในการใช้ภาษาท้องถิ่นของสังคมใดสังคมหนึ่ง  
[14] พึ่งเนตร, ป., & เจะฮะ, น. (2012, พ.ย 8). การศึกษาชายแดนใต้วิกฤติจบป.3 อ่านไม่ออก 33% นร.นับแสนไม่ได้ต่ออุดมศึกษา. Retrieved 11 8, 2012, from ศูนย์ข่าวภาตใต้: http://www.isranews.org/south-news/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99/67-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%8
[15] วะสี. ป. (2552) กระบวนการนโยบายสาธารณะ (Public Policy Process). นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)