Skip to main content

ไชยยงค์   มณีพิลึก

          แม้เวลาจะผ่านไปอีก 1 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหา “ฆาตรกร” ที่ฆ่าหมู่ผู้ปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ใหญ่ยิ่งกว่าการตายหมู่ 78 ศพ จากการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และใหญ่กว่าการตายหมู่ในมัสยิดกรือเซะ เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์ มีคำตอบถึงที่มา ที่ไป ของเหตุการณ์ แต่สำหรับการฆ่าหมู่ที่มัสยิดอัลฟุรกอน กลับไม่มีคำตอบจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่ต้องการรู้มากที่สุด

          และยิ่งการสืบสวนสอบสวนไม่มีความคืบหน้า ยิ่งทำให้ “ไฟแค้น” ในใจของคนส่วนหนึ่งยิ่งลุกโพลง เพราะคนส่วนนี้เชื่อไปแล้วว่า “ใคร” เป็นผู้ที่เป็นฆาตกร โดยมีการเผยแพร่รายชื่อไปทั่วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ และชื่อของกองกำลังติดอาวุธไร้สังกัด

          นอกจากนี้การที่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีคำตอบว่าใครคือ “ฆาตรกร”  ยิ่งเป็นผลดีต่อขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ในการจะจะใช้ “เงื่อนไข” ที่เกิดขึ้น ไปทำการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดมให้ ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่และปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกระหว่างผู้คนในพื้นที่ซึ่งนับถือศาสนาต่างกัน

          วันนี้เสียงของผู้คนในพื้นที่ มีการพูดถึงกองกำลังติดอาวุธไร้สังกัดดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อความรุนแรงหลายครั้งและแต่ละครั้ง หน่วยงานของรัฐไม่เคยจับกุมฆาตกรมาลงโทษตามกฎหมาย โดยปล่อยให้เวลาเป็นเครื่อง “กลืนกิน” ปัญหาให้ผู้คนลืมเลือน แต่สำหรับผู้สูญเสีย และผู้คนในพื้นที่ นอกจากจะไม่ลืมเลือนแล้ว ยังเท่ากับว่ารัฐเพาะไฟแค้นให้ลุกโชนขึ้น จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

          วิธีการดับไฟใต้ที่ถูกที่สุดคือการดับไฟแค้นในใจของผู้คน นั่นคือรัฐต้องเร่งเปิดข้อมูล ข้อเท็จจริงถึงผลการสืบสวนสอบสวนในกรณีมัสยิดอัลฟุรกอนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องสืบสวนว่ากองกำลังไร้สังกัดที่ถูกกว่าหาว่าเป็นเครื่องมือให้คนบางพวกบางกลุ่ม ใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้ายว่าเป็นความจริงหรือไม่ และหากเป็นความจริง จะต้องดำเนินการอย่างไรให้ไม่มีในพื้นที่ เพราะถ้ายังมีกองกำลังไร้สังกัดอยู่  แม้หน่วยงานของรัฐจะให้คำตอบได้ว่า ใครคือฆาตกรที่กระทำต่อผู้คนในมัสยิดอัลฟุรกอน  แต่ในอนาตคกองกำลังไร้สังกัดที่ยังมีอยู่ย่อมต้องก่อเหตุร้ายให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่า เราดับไฟได้กองหนึ่ง แต่มีผู้จุดไปขึ้นมาอีกกองหนึ่ง ซึ่งไม่มีวันที่จะดับไฟได้หมดอย่างที่ต้องการ

          โดยความเป็นจริงของการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารับบท “พระเอก” นั้น แนวรบด้านการเมืองและการทหาร ยังไม่ได้แย่งชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบต่อขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ยิ่งแนวร่วมด้านสงครามข่าวสาร ยิ่งนานยิ่งไม่เห็นหนทางที่จะเป็นฝ่ายมีชัยต่อขบวนการการ

          และสงครามข่าวสารคือสงครามที่ทำลายขวัญ สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ จนหมดความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ เช่นการปล่อยข่าวว่าจะมีการฆ่าครูในพื้นที่ 50 คน หรือต้องตัดหัวเสียบประจานคนใน อ.ธารโต จ.นราธิวาสให้ครบ 11 คน ล้วนเป็นการสร้างสงครามข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ที่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ยังไม่เคยคิดสูตรในการตอบโต้ สงครามข่าวสารได้สำเร็จ

          และที่น่าสงสารที่สุดคืองานการข่าวของ หน่วยข่าวในพื้นที่ ซึ่งยังคงล้มเหลวในการเข้าถึงแหล่งข่าวของฝ่ายตรงข้าม ข่าวที่หน่วยข่าวได้มาจาก “แหล่งข่าว” ส่วนมากเป็นข่าว “จินตนาการ” ที่แหล่งข่าวคาดคะเนเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะนักการข่าวที่อาศัยเปิดปฏิทิน เพื่อดูว่าวันที่เท่านั้นเท่านี้ ตรงกับวันก่อตั้ง วันสถาปนา วันสำคัญทางศาสนา แล้วรายงานข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งล่าสุด มีการแจ้งเตือนว่า จะมีการก่อวินาศกรรม ย่านบันเทิง และย่านชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกลายเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้น และเป็นการสร้างความ “หายนะ” ให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่โดยไม่ตั้งใจ

          งานการข่าวในพื้นที่ซึ่งใช้งบลับจำนวนมหาศาล โดยนายทหารระดับสูงจะได้งบการข่าวไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อคน แต่ละคนนำเงินจ่ายค่าตอบแทน “สาย” ของตนคนละ 1,500 บาท ถึง 2,000 บาท ต่อเดือน เงินจำนวนเท่านี้ จะหวังให้ได้ข่าวลึกที่เป็น “ข่าวจริง” ได้อย่างไร ดังนั้น “ข่าว” ที่ได้มา จึงมักเป็นข่าว “ฉาบฉวย” และเป็นเรื่อง “จินตนาการ” มากกว่าข้อเท็จจริง หรือแม้กระทั่งข่าวจาก “การข่าว” ที่เป็นคนของรัฐเอง ที่ถูกบังคับให้ต้องรายงานข่าวเป็นจำนวน “ชิ้น” ต่อเดือน แต่เจ้าหน้าที่ผู้น้อยได้ค่าตอบแทนเดือนละ 2,000  บาท ข่าวที่หน่วยเหนือได้รับย่อมเป็นข่าวที่ เท็จบ้างจริงบ้าง ซึ่งเรียกกันว่าเป็นการส่งข่าวตาม “หน้าที่” เท่านั้น

          และอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ทั้งที่ทุ่งทั้งงบประมาณและกำลังพลอย่างมหาศาลคือ สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการเรากลับไม่ให้ แต่เราให้ในสิ่งที่เราต้องการ เช่น คนส่วนใหญ่รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นผู้นำศาสนา และฝ่ายปกครองต้องการใช้เป็น “อาวุธ” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบใหม่ หรือ สบ.ชต. แต่กลับไม่ยอมให้ 

          หรือประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามต้องการใช้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นแต่อย่างใด แต่เราก็ไม่ให้และทำเป็นไม่เข้าใจ

          เช่นเดียวกับการทุ่มงบพัฒนาจำนวน 60,000 ล้านบาท ล้วนเป็นความต้องการของรัฐบาลที่อยากจะให้  และคิดเอาเองว่าคนในพื้นที่ยากจน ว่างงาน และคุณภาพชีวิตย่ำแย่ ที่จะต้องเข้าไปยกระดับให้ดีขึ้น นี่คือตัวอย่าง เล็กๆ น้อย ที่เกิดขึ้น และถูกคนในพื้นที่วิพากษ์ วิจารณ์ อยู่ในขณะนี้

          ความพ่ายแพ้ของรัฐที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดในการดับไฟด้วยการ “ซื้อน้ำ” มาดับไฟ ยิ่งไฟติดมากยิ่งต้องใช้งบในการ “ซื้อน้ำ” มากขึ้น ในขณะที่ฝ่าย กอ.รมน. หรือ กองทัพมีงบในการซื้อน้ำร่วม 100,000 ล้านบาท ท่ามกลางความ “ตาโต” ของหน่วยงานอื่นๆ รัฐบาลจึงเอาอย่างบ้างด้วยการตั้งงบผูกพัน 60,000 ล้าน เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่และประชาชน โดยอ้างว่านี่คือแนวทางดับไฟที่ถูกต้อง ทั้งที่วิธีการดับไฟใต้ที่ถูกต้อง คือการ “ชักฟืน” ออกจาก “เตา” ซึ่งไม่จำเป็นต้อง “ซื้อน้ำ” มาดับ ไฟก็สามารถดับได้อย่างถาวร แต่การดับไฟโดยการ “ชักฟืน” ออกจาก “เตา” ที่ถูกนำเสนอจากองค์กรต่างๆ กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองจากกองทัพและรัฐบาลแต่อย่างใด

          ดังนั้นหากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังใช้วิธีการ “ซื้อน้ำ” เพื่อดับไฟในพื้นที่สามจังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โอกาสที่จะเห็นไฟมอดดับคงจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เบื่อหน่ายและเลิกลาแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดนไปเอง