Skip to main content

นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ [WARTANI]

 สงครามระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย ต้นเหตุมาจากการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ ใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครอง [Divide and rule.] นายพลอองซาน สัญญาหลังได้รับเอกราช 10 ปี ให้ปกครองตนเอง อูนุ ไม่ให้แยกออกเป็นอิสระ ยึดมั่นในความเป็นเอกภาพภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน นายพลเนวิน ปฏิวัติรัฐบาลพลเรือน พม่าก็กลายเป็นดินแดนแห่งการสู้รบจนถึงปัจจุบัน  

สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เป็นสงครามที่ยืดเยื้อมาช้านานจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นับตั้งแต่สมัยที่พม่าได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษในปี ค.ศ. 1948 

ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติภายในพม่านี้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันเกิดจากการปกครองประเทศพม่าในสมัยรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษโดยการใช้นโยบาย แบ่งแยกและปกครอง ปัญหาของความขัดแย้งสามารถแบ่งออกได้หลายประเด็น ประเด็นหลัก คือ สภาพภูมิประเทศกลุ่มชาติพันธ์แยกออกจากกันด้วยเทือกเขาสูง แม่น้ำและป่า ไม่เอื้ออำนวยในการติดต่อระหว่างกันและกัน

ด้านภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ก็แตกต่างกัน ไม่มีการผสมผสานกันเพื่อการเรียนรู้และยอมรับซึ่งกันและกัน ต่างกลุ่มต่างคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของตนเองไว้ ถ้าย้อนหลังกลับไปมองการปกครองของแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศพม่าในอดีต แต่ละกลุ่มจะปกครองอิสระกันเป็นเวลานาน ทำให้ไม่เกิดสำนึกร่วมของพลเมืองในประเทศเดียวกัน

อีกทั้งในช่วงรัฐบาลกลางของพม่าตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะรวมกลุ่มต่างๆที่อยู่กระจัดกระจายเพื่อความเป็นเอกภาพไว้เลยในทางกลับกันอาณานิคมอังกฤษยิ่งส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆแยกออกจากกัน และใช้ระบบการปกครองในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน

ก่อนที่อาณานิคมอังกฤษจะให้เอกราชแก่พม่า อาณานิคมอังกฤษยังได้ให้ความหวังกับรัฐชนกลุ่มน้อยต่างๆด้วยว่า จะได้ปกครองตนเองเป็นอิสระจากรัฐบาลพม่าหลังจากที่ตนเองออกจากพม่าไปแล้ว หลังจากนั้นอาณานิคมอังกฤษก็ออกจากพม่าอย่างกะทันหัน พร้อมกับทิ้งปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยให้กับรัฐบาลพม่า

เริ่มจากนายพลอองซาน (บิดาของนางอองซาน ซูจี), ฯพณฯ อูนุ, และนายพลเนวิน ทุกรัฐบาลต่างก็มีทัศนคติที่เหมือนกัน นั่นก็คือ ความเป็นเอกภาพของทุกกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศพม่า

 นายพลอองซาน

 นายพลอองซาน แก้ไขปัญหาด้วยการสัญญากับผู้นำชนกลุ่มน้อยว่าจะให้อิสระในด้านการปกครองตนเองหลังจากได้เอกราชครบ 10 ปีโดยการทำสนธิสัญญา ปางหลวงหรือ ป๋างโหลง ที่นายพลอองซาน เป็นผู้ร่างขึ้นในการประชุม3 ของตัวแทนจากพม่า ไทยใหญ่ ชิน และคะฉิ่น ณ เมืองปางหลวง ในรัฐไทยใหญ่ตอนใต้ ส่วนกะเหรี่ยงนั้นได้ปฏิเสธข้อตกลงและแยกตัวออกตั้งขบวนการ KNU (Karen National Union) เพื่อต่อต้านการรวมกับดินแดนพม่า

หลังจากนั้นแม้ว่าเรื่องราวดูเหมือนจะจบลงได้สวย แต่ความเป็นจริงแล้วสนธิสัญญาปางหลวงไม่ใช่สิ่งที่พึงพอใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองและทหารบางกลุ่มที่เห็นแก่ตนมากกว่าส่วนรวม มักใหญ่ใฝ่สูง ความไม่พอใจดังกล่าวส่งผลให้นายพลอองซาน ถูกลอบสังหาญ4 ในช่วงเช้าของวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ในระหว่างการประชุมสภาบริหาร มีมือปืนลึกลับได้บุกเข้าไปกราดยิงใส่ผู้ที่นั่งประชุมจนเสียชีวิต ส่งผลให้นายพลอองซาน นายบาวิน พี่ชายของนายพลอองซาน และข้าราชการระดับสูงกับผู้ช่วยอีก 4 คน เสียชีวิตทันที5

แต่สุดท้ายก็สามารถจับตัวฆาตกรได้ในบ้านของ อูซอ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และทนไม่ได้ที่มีเด็กเมื่อวานซืนอย่าง นายพลอองซาน ขึ้นมาเป็นผู้นำ เพื่อหวังที่จะได้เป็นประมุขของรัฐบาลพม่าแทน แต่แล้วความหวังของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ก็พังทลายเมื่อเขาถูกตัดสินประหารชีวิต

สรุปก็คือนายพลอองซาน ได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ตกลงกันไว้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ6

ต่อมา ฯพณฯ อูนุ มารับตำแหน่งผู้นำแทน ก็ไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิม ไม่ได้สานต่อตามคำมั่นสัญญาของ นายพลอองซาน เนื่องจาก ฯพณฯ อูนุ ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆแยกออกเป็นอิสระ โดย ฯพณฯ อูนุ ยึดมั่นในเรื่องความเป็นเอกภาพภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน7 ฯพณฯ อูนุ ได้ฉีกข้อตกลงปางหลวงทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพียงการทำสัญญาระหว่างชนกลุ่มน้อยกับนายพลอองซานเท่านั้น

การฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดกองกำลังชาติพันธ์ต่างๆเพื่อกดดันรัฐบาล ฯพณฯ อูนุ ให้ปฏิบัติตามสัญญาเดิมที่ นายพลอองซาน เคยให้ไว้8 เพราะปัญหาดังกล่าวของรัฐบาล ฯพณฯ อูนุ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 จนถึง ค.ศ. 1960

รวมทั้งต้องเผชิญกับการรบกวนของพรรคคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจก็ล้มเหลว ส่งผลทำให้รัฐบาลพลเรือนของพม่าประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง9

พอถึงช่วงวิกฤตทำให้คณะนายทหาร นำโดย นายพลเนวิน ทำการปฏิวัติรัฐบาลพลเรือนของ ฯพณฯ อูนุ นับแต่นั้นมา พม่าก็ได้กลายเป็นดินแดนแห่งการสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าจนถึงปัจจุบัน

ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านทรัพย์สินเงินทอง ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์เป็นจำนวนมาก ประเทศชาติขาดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เนื่องจากรัฐบาลต้องทุ่มเทกับการทำสงครามภายในประเทศมากกว่า 4 ทศวรรษ จนทำให้ประเทศพม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนนับแสนล้านคน รัฐบาลจำเป็นต้องปราบปรามเพื่อรักษาความสงบ

ต่อมาหลังจากประเทศชาติเข้าสู่ภาวะปกติก็เกิดรัฐบาล SLORC (State Law and Order Restoration Council) หรือ สภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มนายทหารกลุ่มเดิม

โดยมีนโยบายเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าจากการใช้วิธีการสู้รบมาเป็นการเจรจาหยุดยิงเพื่อต้องการรวมดินแดนเป็นหนึ่งภายใต้การบริหารของรัฐบาลเพียงรัฐบาลเดียว

จาการเจรจาก็ได้รับการตอบรับจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยเป็นอย่างดี เพราะต่างฝ่ายต่างก็รู้สึกอ่อนล้ากับการทำสงครามมาเป็นเวลานาน อีกอย่างทุกฝ่ายก็ต้องการความสงบกลับมาสู่ดินแดนของตน เหลือเพียงแต่กองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง หรือ KNU กลุ่มเดียวที่ปฏิเสธในการรวมตัวกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ช่วงสมัยรัฐบาลนายพลอองซาน และยังต่อสู้เพื่อความอิสรภาพของตนจนถึงปัจจุบัน1 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • พรพิมล ตรีโชติ. ชนกลุ่มน้อย กับ รัฐบาลพม่า. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
  • ทีมข่าวต่างประเทศมติชน. ออง ซาน ซู จี บนกระดาน การเมืองโลก หมากเกมส์แห่งอำนาจ มิอาจกั้นขวางจิตวิญญาณเสรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552.
  • วิลาศ มณีวัต. ชีวิตพิสดาร ออง ซาน ซู จี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2540.
  • อลัน คลีเมนต์ และ เลสลี คีน. วิญญานปฏิวัติแห่งพม่า การต่อสุ้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพและ เกีรยติภูมิ. สำนักพิมพ์ ไวท์ออรคิต.

  1. พรพิมล ตรีโชติ, ชนกลุ่มน้อย กับ รัฐบาลพม่า, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542), หน้า
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.
  3. ทีมข่าวต่างประเทศมติชน, ออง ซาน ซู จี บนกระดาน การเมืองโลก หมากเกมส์แห่งอำนาจ มิอาจกั้นขวางจิตวิญญาณเสรี, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552), หน้า 198.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 199.
  5. วิลาศ มณีวัต, ชีวิตพิสดาร ออง ซาน ซู จี, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2540), หน้า 51.
  6. เรื่องเดียวกัน, หน้า 53.
  7. พรพิมล ตรีโชติ, ชนกลุ่มน้อย กับ รัฐบาลพม่า, หน้า 2.
  8. ทีมข่าวต่างประเทศมติชน, ออง ซาน ซู จี บนกระดาน การเมืองโลก หมากเกมส์แห่งอำนาจ มิอาจกั้นขวางจิตวิญญาณเสรี, หน้า 199.
  9. อลัน คลีเมนต์ และ เลสลี คีน, วิญญานปฏิวัติแห่งพม่า การต่อสุ้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และ เกีรยติภูมิ, (สำนักพิมพ์ ไวท์ออรคิต) หน้า 14.
  10. พรพิมล ตรีโชติ, ชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า, 2.