Skip to main content
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
 
            ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองอุรุมฉีในเขตปกครองตนเองซินเกียงของจีนกลายเป็นจุดสนใจของทั้งชาวไทยและสังคมโลก หลังเกิดเหตุจลาจลและปะทะนองเลือดระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์กับชาวจีนฮั่น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 184 คนและบาดเจ็บอีกกว่าพันคน[1] ทางการจีนจำต้องเร่งระดมกองกำลังจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ ขณะที่ประชาชนหลายพันคนพยายามอพยพออกจากพื้นที่ความรุนแรง การจลาจลและการปะทะกันอย่างรุนแรงดังกล่าวสั่นคลอนมายาคติว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจีน ที่แม้แต่หน่วยงานภาครัฐของไทย รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยพากันไปศึกษาดูงานเพื่อหวังจะให้เป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมาแล้ว
 
            หากพิจารณาเปรียบเทียบปรากฏการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเกียงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยย่อมเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากความแตกต่างของผู้คนในพื้นที่ ทว่าเป็นผลมาจากปมเหตุในระดับโครงสร้างซึ่งถูกทำให้เข้มข้นชัดเจนขึ้นเพราะความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาและความเข้าใจทางประวัติศาสตร์[2]
 
            อันที่จริงความขัดแย้งระหว่างจีนและชาวมุสลิมในซินเกียงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าหยั่งลึกในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ต่างกันกับปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กล่าวคือ ซินเกียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน อีกทั้งยังเคยมีความเจริญสูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบนี้ บรรดาสุลต่านแห่งนครทั้งหลายพากันเรียกขานดินแดนแห่งนี้ของพวกเขาว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” ทว่าในศตวรรษที่ 18 จีนแข่งขันกับรัสเซียแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียกลาง จึงมีนโยบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเกียง เส้นเขตแดนระหว่างประเทศถูกเขียนขึ้นล้อมอาณาจักรจีน ตัดขาดชาวมุสลิมในซินเกียงกับมุสลิมในเอเชียกลางและอำนาจปกครองถูกรวบไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงปักกิ่ง[3]
 
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนครปัตตานีเกิดขึ้นพร้อมกับกำเนิดของรัฐชาติสมัยใหม่เมื่อสยามปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง อีกทั้งการลงนามในสนธิสัญญา Anglo-Siamese Treaty เมื่อ พ.ศ.2452 ก็ส่งผลให้ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรปัตตานีถูกแยกออกเป็นสองส่วน ด้านเหนือกลายเป็นภาคใต้ของรัฐสยามและด้านใต้ตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของบริติช มลายา[4]
 
อาจกล่าวได้ว่าเส้นอาณาเขตความเป็นรัฐที่ขีดแบ่งแยกลงบน “ความเป็นชาติ” นี้นำไปสู่การมองประวัติศาสตร์ได้จากสองมุม กล่าวคือ จากทัศนะของศูนย์อำนาจเช่นปักกิ่งและกรุงเทพ ประวัติศาสตร์ของซินเกียงและปัตตานีเป็นประวัติศาสตร์ของการขบถ ทว่าหากมองประวัติศาสตร์เดียวกันนี้จากมุมมองของกลุ่มชนชายขอบย่อมจะมองเห็นเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู่เพื่อความเป็นอิสระและพิทักษ์รักษาอัตลักษณ์ของตน
 
            นอกจากนี้ ขณะที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) วินิจฉัยเหตุของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อันได้แก่ ความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมและลักษณะการปกครอง ปัญหาความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการแย่งชิงทรัพยากร รวมทั้งปัญหาอันเนื่องมาจากการจัดการศึกษาในท้องถิ่น[5] งานศึกษาเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองซินเกียงก็สะท้อนให้เห็นบทสรุปที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ นับแต่อดีต จีนส่งขุนนางจากปักกิ่งไปปกครองซินเกียงแทนชาวมุสลิม ทางหนึ่งก็เพื่อลงโทษขุนนางเหล่านั้นให้ไปลำบากในแดนไกล ทว่าการอยู่ห่างไกลเมืองหลวงกลับยิ่งเปิดช่องให้ขุนนางพวกนี้กดขี่ประชาชน ขูดรีด ทุจริต ไม่เคารพต่อประเพณีมุสลิมและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน เป็นเหตุให้ชาวมุสลิมเกลียดชังรัฐบาลจีนและก่อเหตุรุนแรงต่อต้านทางการนับครั้งไม่ถ้วน[6]
 
แม้ต่อมารัฐบาลจีนจะพยายามลดแรงกดดันด้วยการประกาศให้ซินเกียงเป็นเขตปกครองตนเองในปี 2498 โดยตั้งนครอุรุมฉีเป็นศูนย์กลาง ทว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงใช้ความเด็ดขาดในการปกครองและควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด[7] อีกนัยหนึ่ง แม้ชาวอุยกูร์จะดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของซินเกียงในปัจจุบัน หากอำนาจการปกครองที่แท้จริงกลับอยู่ในมือของเลขาธิการท้องถิ่นจากพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นชาวจีนฮั่น[8]
 
            ในด้านเศรษฐกิจ ซินเกียงเป็นที่ตั้งของแอ่งทาริมซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ทว่าประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน ถึงแม้รัฐบาลจีนจะพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการบรรจุแผนพัฒนาซินเกียงในแผนพัฒนาประเทศปี 2539 ทว่าการกระจายโอกาสให้กับประชาชนก็ยังคงเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงเพราะปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่[9] โอกาสงานและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมักตกอยู่กับกลุ่มชาวจีนฮั่นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในซินเกียงโดยการสนับสนุนของรัฐบาลจีน และสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ดีกว่า[10]ขณะที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ได้และมีฐานะยากจน ไม่มีงานทำและด้อยโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาโดยรัฐบาลจีนจึงกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มช่องว่างและความแตกต่างระหว่างผู้คนมากยิ่งขึ้น
 
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เป็นผลมาจากความตกต่ำในภาคเกษตรทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของบรรดาเขตปกครองที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน “หมู่บ้านสีแดง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางทรัพยากรสูง เป็นไปได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางทรัพยากรไม่มากก็น้อย[11]
 
            นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทบไม่แตกต่างจากนโยบาย “รัฐนิยม” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวคือ มีการสั่งห้ามสอนภาษาเตอร์กให้แก่เยาวชนอุยกูร์ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและบังคับให้ใช้ภาษาจีนในระบบการศึกษา อีกทั้งยังประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นสิ่งต้องห้าม มัสยิดถูกทำลายหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้ามไม่ให้แต่งกายในชุดแบบมุสลิมหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นชนชาติอุยกูร์ อีกทั้งยังเปลี่ยนชื่อโบราณสถานต่างๆ ในซินเกียงเป็นภาษาจีนซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะลบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น[12]
 
            ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความขุ่นเคืองและการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลจีนของชาวอุยกูร์นับตั้งแต่อดีต ทว่ากลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลจีน ทำให้ชาวมุสลิมล้มตายเป็นจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้คนหนุ่มที่สิ้นหวังจำนวนมากหันเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายเพื่อมุ่งตอบโต้โดยใช้ความรุนแรง นับตั้งแต่การวางระเบิดสถานที่ราชการและสถานีรถโดยสาร การลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ การบุกโจมตีที่ทำการเทศบาลและสถานีตำรวจ ไปจนถึงการเผาโรงงานที่เป็นวิสาหกิจของรัฐและกลุ่มทุนเอกชนชาวจีน[13] ทั้งหมดนี้หมายความว่า นโยบายที่เน้นการใช้ความรุนแรงปราบปรามและกดขี่อัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นมีแต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายรุนแรงมากขึ้นไปอีก กระทั่งการศึกษาบางชิ้นเกี่ยวกับซินเกียงระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มจะปะทุขึ้นก่อนหน้านี้มานานแล้ว[14]
 
ในทางหนึ่งการลุกฮือขึ้นต่อสู้และแก้แค้นกันเองระหว่างชาวมุสลิมอุยกูร์และชาวจีนฮั่นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐจากประชาชนทั้งสองฝ่าย บทวิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงที่ กอส. เคยนำเสนอไว้ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจกำลังกลายเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลไม่แพ้กันสำหรับสถานการณ์ในซินเกียงปัจจุบัน กล่าวคือ ความขุ่นเคืองและความรุนแรงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมยิ่งส่งผลให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมหวาดระแวงกัน มองอีกฝ่ายเป็นศัตรูและแยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที[15]
 
ภาพการเดินขบวนตามท้องถนนของชาวจีนฮั่นและชาวมุสลิมอุยกูร์นับร้อยพร้อมอาวุธที่พอจะจัดหากันได้เองเพื่อมุ่งล้างแค้นกันและกันอาจไม่ต่างจากปรากฏการณ์ปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการจัดตั้งกองกำลังพลเรือนติดอาวุธ ทั้งกลุ่มทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อ้างว่าภายในสิ้นปี 2551 มีกองกำลังพลเรือนติดอาวุธที่ผ่านการฝึกฝนภายใต้โครงการของกระทรวงมหาดไทยไปแล้วกว่า 30,000 คน[16] อีกทั้งมีข้อมูลว่าอาวุธปืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายภายในปี 2551 ก็มีจำนวนมากกว่า 159,445 กระบอก[17]
 
หรือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเองทั้งในเขตปกครองตนเองซินเกียงและจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ทั้งสองอาจจะยิ่งเลวร้ายอันตรายมากขึ้นในอนาคต หากปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไขอย่างเร่งด่วน
 
            ประสบการณ์นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของความรุนแรงทั้งในซินเกียงและจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมจะเป็นบทเรียนสำคัญแก่ความพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงอันมีพื้นฐานมาจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ของกันและกันได้บ้าง กล่าวคือ แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นเรื่องปกติในบรรดารัฐและสังคมพหุวัฒนธรรม ทว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีแนวโน้มจะปะทุเป็นความรุนแรงได้จากความไม่เป็นธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบายกดขี่อัตลักษณ์ของผู้คนต่างวัฒนธรรม
 
ที่สำคัญ ความเป็นจริงจากทั้งสองพื้นที่ความขัดแย้งนี้ย่อมจะสามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าความพยายามรับมือกับความขัดแย้งด้วยมาตรการรุนแรงไม่ว่าจะโดยรัฐหรือสังคมไม่เคยนำไปสู่ข้อยุติอย่างสันติและยั่งยืนได้เลย
 


เชิงอรรถ
[1] ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552
[2] คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์. (กรุงเทพ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549), 2-3.
[3] จันทร์จุฑา สุขขี, “จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง” ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 กันยายน 2548, 7.
[4] คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์, 32-33.
[5] ดูรายละเอียดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์, 17-28.
[6] จันทร์จุฑา สุขขี, “จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง”, 7.
[7] เพิ่งอ้าง.
[8] Michael Dillon, “Uighur resentment at Beijing's rule” in BBC News, http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8137206.stm (accessed July 11, 2009)
[9] จันทร์จุฑา สุขขี, “จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง”, 7.
[10] Michael Dillon, “Uighur resentment at Beijing's rule”
[11] คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์, 23-24.
[12] กิ่งกนก ชวลิตธำรง, “กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในเขตปกครองพิเศษ ซินเจียงของประเทศจีนและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” การทดลองบรรยายของผู้สมัครอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552.
[13] จันทร์จุฑา สุขขี, “จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง”, 7.
[14] Michael Dillon, “Uighur resentment at Beijing's rule”
[15] คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์, 53.
[16] Diana Sarosi and Janjira Sombutpoonsiri, Rule by the Gun: Armed Civilians and Firearms Proliferation in Southern Thailand. (Bangkok: Nonviolence International Southeast Asia, 2009), 12.
[17] Ibid., 17.