Skip to main content

 

นายอิบรอเฮง   ดอหมินารอ
Activists  Media
กลุ่มสื่อกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
กลุ่มนักศึกษาปาตานี ชูป้ายสันติภาพกลางสนามกีฬากลาง มอ.หาดใหญ่ ในโครงการกีฬาศรีตรังเกมส์ นักกิจกรรมชมรมสันติศึกษาเผยเพื่อต้องการให้คนไทยทั้งประเทศรู้ถึงความต้องการของชาวปาตานี อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ชาวอินเดียชี้เป็นการแสดงความเห็นที่ดี ไร้ความรุนแรง ตัวแทนนักศึกษา มอ.หาดใหญ่ แนะควรเปิดโอกาสให้ชาวปาตานีกำหนดแนวทางสันติภาพของตนเอง นักเตะคณะศิลปะศาสตร์ อดีตนักกีฬาฟุตบอลเยาวชน จ.ปัตตานี วิ่งรอบสนามหลังยิงเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม ถอดเสื้อโชว์ข้อความ “RSD” และ “SATU PATANI” 
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มนักศึกษาปาตานี ร่วมกับชมรมสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่ ประมาณ 30 คน ชูป้ายเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงความต้องการของชาวปาตานีกลางสนามกีฬา ระหว่างการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ ในโครงการกีฬาศรีตรังเกมส์ มอ.หาดใหญ่
 
โดยเขียนข้อความว่า “ ประชาชนปาตานีต้องการกำหนดชะตากรรมของตนเอง – Save PATANI With RSD” และข้อความ “สันติภาพอย่างไรที่ประชาชนปาตานี...ต้องการ – Right to Self Determination of PATANI People” และระหว่างการแข่งขันนั้นมีนักเตะคณะศิลปะศาตร์ ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาฟุตบอลเยาวชน จ.ปัตตานี วิ่งรอบสนามพร้อมถอดเสื้อออกโชว์ข้อความบนเสื้อในด้วยคำว่า “RSD” และ “SATU PATANI” หลังยิงเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามท่ามกลางเสียงเชียร์ดั่งกึกก้อง   
 
นายธีรวัฒน์ ปัทมเมธิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ประธานฝ่ายกีฬา องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มอ.หาดใหญ่ เปิดเผยว่า “กีฬาศรีตรังเกมส์ เป็นกีฬาของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ที่จัดร่วมกับ คณะต่างๆทั้ง 15 คณะ และชมรมกีฬาอีก 13 ชมรม 
 
ซึ่งการจัดการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้มีทั้งหมด 13 ชนิดกีฬาด้วยกัน อีกทั้งยังมีการประกวดสแตนเชียร์จากคณะต่างๆด้วย โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬา สร้างนักกีฬารุ่นใหม่ๆของมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างความสามัคคีในหมู่คณะของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยด้วย” นายธีรวัฒน์   กล่าว
 
นายอามีรุล เจะตาเฮร์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 กรรมการฝ่ายวิชาการ ชมรมสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่ กล่าวว่า “ในฐานะที่ผมเองเป็นนักศึกษาปาตานี ขอมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ โดยขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ คิดว่าแนวทางสร้างสันติภาพวันนี้ควรเปิดโอกาสให้ชาวปาตานีกำหนดเองว่าต้องการอย่างไร
 
ทุกคนในประเทศควรจะให้โอกาสแก่พวกเราเลือกกำหนดอย่างเสรีตามหลักประชาธิปไตยภายใต้สิทธิพลเมือง แต่หากทุกคนรับไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการเราจึงจำเป็นต้องขอใช้สิทธิพลโลกในการกำหนดเอง” นายอามีรุล กล่าว
 
 รูปภาพ นักกีฬาฟุตบอลคณะศิลปะศาสตร์ ถอดเสื้อโชว์ข้อความ
“RSD” และ “SATU PATANI”หลังยิงเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม
 
อาจารย์ชิมเรย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นอาจารย์จากประเทศอินเดีย กล่าวว่า “ความจริงแล้วอาจารย์เองก็พอทราบมาบ้างว่าที่ปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภายใต้เกิดอะไรขึ้น อาจารย์คิดว่าสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้พวกคุณทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติวิธี โดยไม่เลือกใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธในการแสดงความคิดเห็น
 
อาจารย์ชิมเรย์กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในประเทศอินเดียเองก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย แต่ก็พอหาทางออกได้ เพราะผมเชื่อในแนวทางของมหาตมะ คานธี และแนลสัน แมนเดลลา ซึ่งพวกเขายึดมั่นในแนวทางสันติวิธีในการสร้างสันติภาพ” อาจารย์ชิมเรย์ กล่าว
 
นางสาวภัทชฎาพร สายเบาะ นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มอ.หาดใหญ่ กล่าวว่า “เป็นอะไรที่แปลกดีที่มีกิจกรรมในรูปแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ อย่างน้อยพวกเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ สามารถพูดได้ ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อออกมาได้ หนูเองก็อยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในปาตานีโดยเร็ว เพื่อให้ลดการสูเสียเพิ่มมากขึ้นอีก” นางสาวภัทชฎาพร กล่าว
 
นายมุสัลลิม หะยีอาแว นักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติ ชั้นปี 3 รองประธานฝ่ายการเมือง กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้ มอ.หาดใหญ่ หรือที่รู้จักกันในนาม [KAWAN-KAWAN] กล่าวว่า “ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมของชมรมสันติศึกษาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่พี่น้องประชาชนในปาตานี
 
เข้าใจว่ากิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อต้องการแสดงถึงเจตจำนงของตนเองในการยุติสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับขบวนการปลดแอกรัฐปาตานี ตลอดระยะเวลา 10 ปี” นายมุสัลลิม กล่าว
นางสาวนุชรี คุปติการณ์กุล นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 กรรมการฝ่ายกิจกรรมสตรี กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้ มอ.หาดใหญ่ [KAWAN-KAWAN] กล่าวว่า “หนูเองก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าปาตานีจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หนูคิดว่ามันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราและคนปาตานีทุกคนเองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
 
เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีผ่านไป สถานการณ์บ้านเราก็ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การแก้ปัญหาโดยรัฐบาลเองก็ยังแก้ไม่ตรงจุดสักที ตัวเราเองก็อยากแก้ปัญหาในจุดๆนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะดำเนินการโดยเร็ว เพราะเราก็เป็นเพียงแค่ประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งทำได้ก็แค่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไปเพื่อกระตุ้นนักศึกษาและนักกิจกรรมให้ออกมามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป” นางสาวนุชรี กล่าว
 
นางสาวขนิษฐา ไข่ริน นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มอ.หาดใหญ่ กล่าวว่า “เป็นกิจกรรมที่ดีมาก แสดงความเห็นถึงแนวทางการสร้างสันติภาพ การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องช่วยเหลือกัน และต้องให้ความสำคัญให้มาก เพราะสันติภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันของสังคม” นางสาวขนิษฐา กล่าว
 
นายอับดุลเลาะมาลิก หมัดเระ นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปะศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มอ.หาดใหญ่ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปี ยังมองไม่เห็นถึงแนวทางที่จะนำไปสู่แสงสว่างของสันติภาพ คิดว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังมาจากอำนาจส่วนกลางซะโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขของความสูญเสียทั้งชีวิตคนในพื้นที่ และงบประมาณที่เป็นมหาศาล
 
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการยุติสงครามครั้งนี้ ผมคิดว่าต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างจริงๆจังๆ รัฐต้องยอมรับและเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ในกำหนดชะตากรรมของตนเอง ซึ่งคิดว่าแนวทางที่ประชาชนต้องการนั้นแหละ คือ “สันติภาพที่แท้จริง” นายอับดุลเลาะมาลิก กล่าว