Skip to main content
 
นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ในระยะยาวเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความรุนแรงที่มีความหมายของการนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ใช้กระบวนการสันติวิธีเป็นทางการและเปิดเผย กลุ่มที่พูดคุยเป็นตัวจริง อย่างน้อยบีอาร์เอ็นก็เป็นกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหว มีข้อมูล และการที่มาเลเซียเข้ามาช่วยเหลือ มาเลเซียย่อมรู้ดีว่าใครจริงใครปลอมและเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้มากกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อคือทำอย่างไรที่จะมีหลักประกัน มีกติกา ในการพูดคุย รวมทั้งควรเปิดให้มีการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆด้วย เช่น กลุ่มพูโล และควรมีหลายฝ่าย เช่น ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีข้อเสนอ ข้อเรียกร้องหลายประเด็นเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพในพื้นที่ อีกทั้งเป็นหลักประกันให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นต่อกัน
 
นายพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา
 
อยากให้ดูในแง่ของภาพรวมก่อนว่าตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาลักษณะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกก็ดีเช่นกรณีไออาร์เอ อัฟริกาใต้ จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจบด้วยการพุดคุยไม่มีที่ใด ที่จบด้วยการใช้กำลังอาวุธ เมื่อหันกลับมาดูในส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 ถ้านับเหตุการณ์ความไม่สงบวันที่ 4 มกราคม จนถึงวันนี้ประมาณ 9 ปีเศษ รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยพยายามมีการปรับเปลี่ยนยุทธ์วิธี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการปกครอง เหตุการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าจะสงบ บางครั้งเหมือนจะดีขึ้น บางครั้งก็เห็นภาพของความรุนแรง เพราะฉะนั้นตนยังไม่กล้าที่จะบอกว่ามันล้มเหลว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าความรุนแรง ถ้าไม่มีการพูดคุยก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องตลอดเวลา
 
ผมคิดว่าการที่รัฐบาลได้เปิดใจกว้าง สิ่งหนึ่งที่อยากให้พี่น้องได้ตระหนักคือคิดว่าคนไทยเหล่านี้ ที่ออกไปต่อสู้คงไม่มีใครที่อยากเหนื่อยอยากออกไปต่อสู้ท่ามกลางป่าเขาหรือที่ต่างประเทศ เขาคงมีความอึดอัดหรือมีความขัดข้องใจ ทำให้เกิดมีความแตกต่าง ถ้าเรามองกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่เป็นคนไทยอยู่ในชาติเดียวกัน ผมคิดว่าจะทำให้จิตใจเราเปิดกว้าง สิ่งที่รัฐบาลทำในฐานะที่ตนอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เกิดอยู่ใน จ.ยะลา วันนี้ได้มีโอกาสดูแลบ้านเมืองในฐานะผู้ปกครองท้องถิ่น เป็นสิ่งที่น่ายินดีและเป็นจุดเริ่มต้นเป็นความหวังของคนในสามจังหวัด เพราะว่าทุกคนอยู่ด้วยความเอือมระอา ไม่ได้เห็นแสงสว่างอะไรมากนัก แม้วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นตนคิดว่าถ้าทุกคนมีความจริงใจกันเปิดใจเข้าหากัน มีมุมมองความคิดที่กว้างขึ้นก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
 
วันนี้คงเป็นการเพียงลงนามว่าทุกฝ่ายยินดีที่จะมีการพูดคุยกัน ไม่อยากใช้คำว่าการเจรจา เพราะบางครั้งคนที่อยู่ต่างประเทศมาหลายๆปีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเทศอาจจะขาดแคลนบ้าง ฝ่ายรัฐเองก็ไม่เคยมีการพูดคุยโดยตรงอาจไม่มีความเข้าใจ การที่รัฐบาลมาเลเซียแสดงตัวที่เป็นประเทศที่เป็นกลางอำนวยความสะดวกในการพบปะพูดคุย คงต้องตั้งคณะทำงานที่จะต้องมาพูดคุยในแต่ละประเด็น กลุ่มขบวนการเองก็ต้องมีความชัดเจนว่าในช่วงของการพูดคุยนั้น เหตุความรุนแรงต่างๆต้องยุติเพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์ความไม่สงบได้หยุดชั่วคราว เพื่อให้เห็นเป็นกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ รัฐเองก็ต้องแสดงความจริงใจให้กับคนในพื้นที่ หลายๆมาตรการก็ต้องผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
 
นายอับดุลอาซิซ ตาเดอิน
ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
 
ในเบื้องต้นถือเป็นแนวทางที่ดีมาก ภาคประชาชนเห็นด้วยอย่างมากในการเริ่มต้นเจรจา แต่รัฐบาลควรคุยกับฝ่ายทหาร หรือ กอ.รมน.ให้ชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในส่วนของภาคประชาชนเรียกร้องมาโดยตลอดให้แก้ปัญหาโดยสันติวิธีเจรจาพูดคุย เนื่องจากทั่วโลกใช้วิธีเจรจาในการแก้ปัญหา เบื้องต้นรัฐบาลใช้การพูดคุยอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย เพราะฉะนั้นที่เป็นไปได้คือน่าจะกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มอบให้คนพื้นที่ดูแลการปกครอง การบริหารงบประมาณการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมาโดยตลอดคือการ กระจายอำนาจ มีการปกครองตนเองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศไทย พยายามที่จะให้ทหารกลับกรมกองให้ได้ หมายถึงถอนทหารออกไป สิ่งนี้จะมีความสงบเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันถึงมีทหารอยู่ 9 ปีก็ยังมีปัญหาอยู่
 
ผศ.อับดุลรอซะ วรรณอาลี
นักวิชาการ
ความรุนแรงน่าจะลดลงและน่าจะยุติด้วย ส่วนตัวแทนกลุ่มที่จะเข้าไปเจรจาในโอกาสต่อไปน่าจะมีภาคประชาสังคม ฝ่ายความมั่นคง ทหาร รัฐบาล ภาคประชาชนเองก็ดำเนินการเรื่องสันติภาพมานาน ในการที่จะเรียกร้องสู่โต๊ะเจรจา สำหรับกลุ่มบุคคลที่ออกมาเจรจายืนยันว่าเป็นผู้แทนของขบวนการบีอาร์เอ็นจริง ถือเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องชาย แดนใต้ ถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว
 
 
หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดและมติชน ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2556 (กรอบบ่าย)