Skip to main content
วลักษณ์กมล จ่างกมล
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
 
บทเสวนาในเวทีเสวนาสาธารณะ “บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้”
วันที่ 5 มีนาคม 2556 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
----------------------------------------------------------
 
วันนี้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าว ที่กรุงเทพมหานครมีการมอบรางวัลประเภทต่าง ๆ ให้กับผู้สื่อข่าว และที่คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เราก็จัดงานเพื่อมอบภารกิจสำคัญคือ ภารกิจเพื่อสันติภาพให้กับสื่อ
 
ก่อนอื่นขอใช้โอกาสนี้ชื่นชมปฏิกิริยาตอบกลับเชิงบวก ความพยายามที่จะชี้แจงและเยียวยาของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสต่อการท้วงติงการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ว่ามีความเชื่อมโยงกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในมุมวิชาการดิฉันมองว่าเป็นการสร้างมาตรฐานความรับผิดชอบใหม่ของวิชาชีพให้กับสื่ออื่น ๆ  ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นว่าสื่อจะรับปฏิกิริยาเชิงบวกต่อการร้องเรียนนัก 
 
สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือในกระบวนสันติภาพเราต้องการเพื่อนร่วมกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อ ซึ่งเราถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเป็นเวทีกลางของกระบวนการสันติภาพ เราจำเป็นต้องมีสื่อเป็นเครือข่าย หากเราไม่ต้องการให้สื่อเหมารวม เราก็ต้องไม่เหมารวมว่าการนำเสนอข่าวที่สุ่มเสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวจะทำให้องค์กรสื่อองค์กรนั้นล้มละลายทางจริยธรรมไปโดยสิ้นเชิง กระบวนการสันติภาพคือการให้โอกาสฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ได้มีบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น โดยไม่มีอคติต่อกัน
 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอสนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเพียงปรากฏการณ์ตัวแทนของรูปแบบการทำงานของสื่อไทยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่สื่ออื่นจะไม่เคยทำอะไรแบบนี้ แต่พอเกิดกับไทยพีบีเอส ที่เป็นสื่อสาธารณะที่คนคาดหวัง และผู้รับสารในสังคมก็เติบโตเพียงพอขึ้นที่จะลุกขึ้นมาโต้แย้ง ดิฉันเห็นว่าความผิดพลาดการทำงานเกิดได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าหลังจากที่ได้รับการโต้ตอบร้องเรียนแล้วมีการจัดการกับความผิดพลาดนั้นอย่างไร ประเด็นที่นำเสนอในวันนี้จะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ไทยพีบีเอสอย่างเดียว แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าข้อควรระวังในการทำงานของสื่อไทยที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการสันติภาพ และตอกลิ่มความรุนแรงในเหตุการณ์ภาคใต้ยิ่งขึ้นนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง
 
ในการเสวนาวันนี้ ดิฉันขอยืมคำและข้อความบางส่วนมาจากหนังสือคู่มือการสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง ที่เขียนโดย รอส โฮเวิร์ด เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น “ความไหวรู้ของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ซึ่งโดยสรุปดิฉันเห็นว่าสื่อควรมีประเด็นความไหวรู้ในด้านต่าง ๆ คือ
 
  1. ความไหวรู้ในเรื่องของข้อมูลที่อยู่ในมือ เป้าหมายของการสื่อข่าวไม่ใช่เพียงแค่การหาข้อมูลข้อเท็จจริง แต่ต้องถามว่าข้อมูลเหล่านั้นมันถูกต้องมั้ย ข้อมูลเหล่านี้คือเรื่องทั้งหมดหรือไม่ มีมุมไหนที่หายไปจากข้อมูลนี้บ้าง ซึ่งนี่เป็นเรื่องของการประเมินความมีประโยชน์ของข้อมูลและความหมายของข้อมูลต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง สิ่งสำคัญที่ต้องการนำเสนอในประเด็นนี้ก็คือ ผู้สื่อข่าวที่ดีไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้คลี่คลายความขัดแย้งแต่บ่อยครั้งการสื่อข่าวที่ถูกต้องครบถ้วนช่วยให้ความขัดแย้งลดลง
  2. ความไหวรู้ในเรื่องของแหล่งข้อมูลข่าว ซึ่งอันนี้จะเชื่อมโยงกับรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อหรือ Propaganda model ในกรณีความขัดแย้งนั้นมักจะเห็นผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งอยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้น สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอความคิดเห็นหรือสมมุติฐานต่อฝ่ายตรงข้ามของผู้มีส่วนอยู่ในความขัดแย้ง (ซึ่งดิฉันจะไม่ใช้คำว่าคู่ความขัดแย้ง เพราะมันเหมือนกับว่ามีแค่สองฝ่าย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ ในความขัดแย้งแทบทุกเรื่องมักจะมีผู้อยู่ในวงจรความขัดแย้งมากกว่าสองฝ่ายเสมอ) โดยไม่ให้ดูเหมือนว่าเป็นการนำเสนอความจริง นี่เป็นที่มาว่าทำไมหลายฝ่ายถึงเรียกร้องการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งประเด็นนี้อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของจริยธรรมในการปกปิดแหล่งข่าวที่ถูกอ้างถึงจากสื่อ แต่จริง ๆ แล้วระดับของการอ้างอิงแหล่งข่าวในกรณีความขัดแย้งนั้น อาจไม่ได้จำเป็นต้องลงลึกถึงระดับตัวบุคคลที่ให้ข้อมูล หากว่าการนำเสนอเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อแหล่งข่าว แต่อย่างน้อยจะต้องมีระดับขององค์กรหรือหน่วยงาน เพราะสิ่งที่หนึ่งที่เป็นหลักการสำคัญในการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็คือ การเปิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ
  3. ความไหวรู้ในเรื่องของการใช้ภาษาในการนำเสนอข่าว การใช้วาทกรรมแบ่งแยก “พวกเรา” “พวกเขา” เป็นสิ่งที่จะตอกย้ำให้เห็นถึงการต่อสู้ที่ต้องเอาชนะคะคานกัน หาผู้แพ้ผู้ชนะ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ ถ้าสื่อเลือกที่จะยืนข้างใดข้างหนึ่ง ความชอบธรรมในการทำหน้าของการเป็นเวทีกลางจะหายไป
  4. ความไหวรู้ในเรื่องเป้าหมายหรือผลลัพท์ของการนำเสนอข่าว เป้าหมายหลักที่สื่อถูกคาดหวังในสถานการณ์ความขัดแย้งคือ การสร้างโอกาสให้เกิดความเข้าใจ และการสร้างทางเลือกของการออกจากความรุนแรง ถ้าสื่อชัดในเป้าหมายอันนี้ก็จะประเมินการทำงานของตัวเองได้เสมอว่าควรจะนำเสนอข้อมูลอะไรบ้างในข่าว และจะนำเสนอแบบไหน
 
ขอเรียนย้ำประเด็นที่สำคัญอีกครั้งว่า ในกระบวนการสร้างสันติภาพนั้น เราต้องการเพื่อนร่วมเส้นทางที่เป็นสื่อ เพื่อเป็นเวทีกลางในการมองหาทางเลือกและหาทางออกจากความรุนแรง และถ้าสื่อเข้าใจในบทบาทนี้ของตนเอง ภาคประชาสังคมจะหนุนสื่อไปพร้อม ๆ กับการตรวจสอบสื่อ เหมือนบรรยากาศที่เกิดขึ้นในวงเสวนาของเราในวันนี้