อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
สืบเนื่องจากกรณีกองกำลังนอกกฎหมายประมาณ 50 คนแต่งกายคล้ายทหารติดอาวุธสงครามครบมือ บุกโจมตีฐานปฏิบัติการทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลาประมาณ 01.30 น. เป็นผลให้คนกองกำลังดังกล่าวเสียชีวิต 16 ศพ ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้นทำให้ประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่มีมุมมองที่แตกต่างกันต่อปฏิบัติการณ์และผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะนายมะรอโซ จันทรวดีแกนนำในปฏิบัติการในครั้งนี้
อีกทั้งกรณีนี้นับเป็นเหตุร้ายครั้งใหญ่ในการปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ของสังคมในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่นเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา(ผู้เขียนได้เข้าร่วม) เวทีนำเสนอ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ซึ่งเป็นเวทีที่นำ ความคิด มุมมองจากกลุ่มคน หลากหลายกลุ่ม เพื่อมาถกเถียง พูดคุย เพื่อที่จะนำสันติภาพกลับคืนสู่สังคม เวทีสาธารณะ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี เป็นความร่วมมือกันของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปาตานี ฟอรั่ม สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน 3 จังหวัด สภาประชาสังคมชายแดนใต้และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรเครือข่าย ได้เปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุยปริศนาที่เกิดขึ้น โดยมีวิทยากรทั้ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต. นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาชน มาร่วมพูดถึง ความเป็นไปของปริศนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ให้ทัศนะว่า”เราจำเป็นต้องป้องกันฐาน จำเป็นต้องสังหารมิฉะนั้นเราจะถูกกระทำจากผู้ก่อการ หลังจากมะรอโซและพวกเสียชีวิตผมได้เคารพศพเพื่อแสดงถึงความเคารพต่อการเสียชีวิตเยี่ยงนักรบ หลังจากนั้นในเราได้มีปฏิบัติการในการเข้าเยี่ยมชุมชน โดยเข้าไปช่วยเหลือในส่วนของญาติผู้ส่วนเสีย ซึ่งการเดินเข้าไปช่วยเหลือของผู้ส่วนเสียคือแนวทางสู่สันติสุขที่พวกเราได้ทำ …ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสีย เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทุกคนสวมชุดเกราะ มีอาวุธสงคราม มีระเบิด 3-5 ลูก แม็กกาซีน 3-5 แม็ก อย่างไรก็ตามท่านก็คือ บุคคลที่เกิดร่วมแผ่นดินเดียวกัน การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารทุกคน เพื่อรักษาชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่เราต้องป้องกันฐานที่มั่น เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง …16 คนที่เสียชีวิตไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีชัยชนะจากความสูญเสียของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน ในทุกกรณีที่ผ่านมา”
พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส
“ตำรวจของเราได้ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาในการตรวจสอบคดีนี้ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ DNA ปืนต่างๆมีการเชื่อมโยงกับคดีในอดีตหรือไม่ ให้ได้มากที่สุดและจะให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ...มะรอโซ มีคดีที่เป็น ป วิอาญาอยู่ 10 หมาย และหมาย พ.ร.ก. อีก 3 หมาย สำหรับอาวุธปืนที่มะรอโซใช้ก่อเหตุนั้น ทางกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำการพิสูจน์ปอกกระสุนแล้วว่า ใช้ก่อเหตุมาแล้วทั้งหมด 35 คดี ซึ่งคดีทั้งหมดนี้เริ่มต้นในปี 2549 ล่าสุดเป็นคดีของครูชลธี”
คุณอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต “เรามีปริศนาที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ทางภาคใต้ที่เป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย อะไรคือ? ปริศนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ศาสนาและวิถีดำเนินชีวิต เป็นปริศนาที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีความสับสน ...ปริศนาเหล่านี้ทำให้เกิดความกดดัน นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิด และปริศนาเหล่านี้ได้นำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม แล้วสร้างความคิดใหม่ให้มาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ...สำหรับขบวนการที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นขบวนการที่มีอยู่จริง ซึ่งจะชื่ออะไรก็ตาม มีขวบวนที่มีกำลังคน มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วมีการทำซ้ำ แต่ศอ.บต. ก็มีการยอมรับว่า กลุ่มคนเหล่านั้นคือผู้ที่มีความเห็นต่าง คำถามที่เกิดขึ้นว่า เรากำลังทำสงครามกับใคร คำตอบก็คือ เราทำสงครามกับคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่มีวันชัยชนะกันเลย จะพบกับความพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย”
คุณสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ ในส่วนของคดีที่บาเจาะ ไม่อยากให้มองไปที่เพียงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่จะให้มองย้อนไป ทำไมมะรอโซถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ จากปี 49-56 มะรอโซถูกกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างไรบ้าง มะรอโซถูกหมายจับป. วิอาญาถึง 10 หมายจะสู้คดีได้อย่างไร มีตัวอย่างจากหลายคดีเช่น จำเลยถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อสู้กันมา 3 ปี ศาลยกฟ้อง กำลังจะออกจากเรือนจำ หมายที่ 2 มา ซึ่งหากเป็นลักษณะเช่นนี้จำเลยต้องต่อสู้คดียาวนานถึง 7 ปี ฉะนั้นในส่วนนี้กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมาทบทวน การที่บุคคลหนึ่งมีหมายจับถึง 10 หมายจะเป็นการผลักเขาไม่ให้กลับมาแล้วต่อมาในกรณีของหมายฉุกเฉิน ซึ่งผู้ที่ถูกหมายเรียกดังกล่าวนี้เป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย ไม่ถึงกับเป็นผู้ต้องหา แต่สิทธิของผู้ต้องสงสัยกลับเลวร้ายกว่าผู้ต้องหาเสียอีก เพราะว่าคำว่า “ผู้ต้องสงสัย” ไม่ได้มีหลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิจะพบกับทนายความได้ในลักษณะโดยลำพัง ทางด้านคดีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน ณ วันนี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาศูนย์ทนายความมุสลิมรับผิดชอบคดีมาทั้งสิ้น 600 กว่าคดี พิพากษาไปแล้วกว่า 400 คดี แต่ทุกวันนี้มีคดีลดลงเพราะว่ามีการสั่งไม่ฟ้องค่อนข้างเยอะ เพราะว่าขาดพยานหลักฐาน ส่วนใหญ่แล้วคดีถูกยกฟ้องถึงร้อยละ 70 หรืออาจจะมากกว่านั้น”
นี้เป็นทัศนะบางส่วน บางตอนในทัศนะต่อเหตุการณ์ในวันนั้น (อ่านรายละเอียดทัศนะต่างๆในที่ประชุมได้ที่http://pataniforum.com/patani_cafe_detail.php?patani_cafe_id=14)ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะว่าการค้นหามุมมองจากฝ่ายต่างๆต่อกรณีดังกล่าวขึ้นเพื่อรวมศูนย์ความคิดที่หลากหลายเป็นแนวทางอันเอื้อประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นและมีทิศทางต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งจำเป็น
สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นองค์กรหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้จัดประชุมเสวนาค้นหามุมมองดังกล่าวจากฝ่ายต่างๆต่อกรณีดังกล่าวขึ้น
ผู้เขียนและคณะได้เข้าร่วมประชุมเสวนาดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มติที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอความจริงที่เกิดขึ้นและทิศทางที่รัฐบาลควรนำไปพิจารณาแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้
1. คนร้ายที่แต่งกายคล้ายทหารพร้อมอาวุธสงครามบุกโจมตีฐานทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นกองกำลังติดอาวุธ กลุ่ม บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งมีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชของรัฐปาตานี
2. เหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการของทหารครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งสำคัญได้หากรัฐบาลนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ เพราะหลักฐานทุกอย่างในที่เกิดเหตุสามารถอธิบายเหตุและผลในตัวเองได้อย่างชัดเจน
3. การเยียวยาความรู้สึกของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ควรมีลักษณะจริงใจเมตตาและยุติธรรมในฐานะคนไทยด้วยกันอย่างแท้จริง ไม่ควรมีลักษณะแสวงหาประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ
4. การต่อสู้เพื่อความคิดที่ถูกต้องและการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีจะเป็นเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้นในการยุติเหตุรุนแรงและการก้าวไปข้างหน้าของกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้