Skip to main content
อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ 
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

 
ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
 
27 ก.พ.56 ผู้เขียนได้เข้าร่วมเสวนายุทธ์ศาสตร์ด้านส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพ  ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากองค์กรต่างๆทั้งในพื้นที่  นอกพื้นที่  ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อร่วมให้ทางออกเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการตายของผู้ก่อการหรือนักรบเพื่อเอกราชปาตานี 16 ศพ  ซึ่งมีการกล่าวถึงแรงผลักของนักรบเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากความคับแค้นจากถูกกระทำจากรัฐในเหตุการณ์ตากใบ
 
นางแยนะ สาละแม ชาวบ้านตากใบให้ทัศนะว่า  “ในช่วง 9-10 ปี ที่ผ่านมา  กะอยู่ในเหตุการณ์ตากใบด้วย  เหตุการณ์วันนั้น  เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน หลังจากเหตุการณ์นั้น  ความคิดของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่ลืมวันนั้น  เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน..กะนะต่อสู้เพราะลูกชายถูกจับจากเหตุการณ์ตากใบ และถูกฟ้องเป็นจำเลย หนึ่งใน58 คน ปัจจุบันพิพากษายกฟ้อง  ต่อมาสามีก็ถูกยิงเสียชีวิตด้วย  กะนะก็ต่อสู้มาจนกระทั่ง 9 ปี  ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกจับที่ไม่รู้ ก็รู้จักเจ้าหน้าที่ เพื่อขอความเป็นธรรมจากคนเหล่านี้  ให้มาช่วยเหลือชาวบ้าน...  กะนะก็พอจะรู้จักทนายความมุสลิม  ก็แนะนำให้ไปร้องเรียนทุกฝ่าย  เพื่อสร้างความเข้าใจ  สร้างความเป็นธรรม  ไม่อยากให้คนนอกมองว่าคนจังหวัดชายแดนใต้เป็นโจรหมด สำหรับกลุ่ม 16 ศพ  ที่เสียชีวิตที่บาเจาะนั้นมี 6 คน  ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ  หลังจากไปตากใบมาก็ถูกเจ้าหน้าที่มองว่าคนเหล่านี้เป็นโจรหมดเลย  จนกระทั่งเสียชีวิตอยู่ไปก็ไม่มีความสุข อยู่บ้านไม่ได้  เจ้าหน้าที่ไปค้นที่บ้านบ่อยๆ  ความเจ็บปวดของคนตากใบ  ปัจจุบันคนก็รู้สึกอยู่ตอนที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร  กะแยนะอยากให้เหตุการณ์ตากใบให้จบ  ตอนที่ถูกจับในเหตุการณ์ตากใบ  แม่ทัพตอนนั้นบอกว่า “จับโจรได้หมดแล้ว”  ทุกคนที่อยู่ตอนนั้นก็ได้ยินกันหมด”
 
ผู้เขียนมีทัศนะว่าเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการของทหารครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งสำคัญได้หากรัฐบาลนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ เพราะหลักฐานทุกอย่างในที่เกิดเหตุสามารถอธิบายเหตุและผลในตัวเองได้อย่างชัดเจนและหากมันเป็นผลจากความคับแค้นจากเหตุการณ์ตากใบนายสุนัย ผาสุกจากHuman Rights Watchให้ทัศนะว่า
 
“มันก็ควรเป็นนาฬิกาปลุก  ที่ทำให้ภาครัฐตระหนักว่า  การใช้มาตรการทางกฎหมายม/ความมั่นคง  เพื่อจัดการกับความไม่สงบ  โดยขาดซึ่งมิติของความยุติธรรม  ขาดซึ่งมิติของความเป็นมืออาชีพในการใช้กฎหมายมต่างๆ  ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดจนลงมาระดับล่าง  ยอมรับว่าทำงานมันพลาดกันได้  แต่ไม่มีการรับผิดของเจ้าหน้าที่  ให้เกิดความเป็นธรรม..เหตุการณ์บาเจาะ  เป็นครั้งแรกที่สื่อไทยใช้ความพยายามในการใช้ความเข้าใจว่า  ทำไมอยู่ๆกลุ่มคนเหล่านี้ (หากเป็นจริง) จึงใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน  โดยเฉพาะพลเรือนที่บริสุทธิ์  มะรอโซกับเพื่อนมะรอโซ กับเหตุการณ์ตากใบ  คนยุคนี้  จากเหตุการณ์ตากใบ  ทำให้เลือกอะไรที่สุดโต่ง  จนใช้ความรุนแรง  เพราะหาความยุติธรรมจากระบบ/วิธีการธรรมดาไม่ได้  แต่วิธีการที่เค้าทำที่ทำร้ายชีวิตของพลเรือน ที่ใช้ความรุนแรง  ไม่ถูกต้อง  แต่เจ้าหน้าที่ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด  ซึ่งตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้น  สุดท้ายก็ได้แต่เงินเยียวยา  หลายกรณีคนไม่ยอมรับเงินเยียวยา  เพราะสุดท้ายชีวิตคนมันซื้อไม่ได้  ได้เงินแต่ไม่ได้รับความยุติธรรม”
 
ดังนั้นการเยียวยาความรู้สึกของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ควรมีลักษณะจริงใจเมตตาและยุติธรรมในฐานะคนไทยด้วยกันอย่างแท้จริง ไม่ควรมีลักษณะแสวงหาประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ
 
 มาตราการทางทหารภายใต้กฎหมายพิเศษปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการละเมิดสิทธิที่รุนแรงหลายคนในช่วงแรก ถึงแม้  จะมีการปรับตัว  มีการอบรมการใช้กฎที่เคร่งครัดขึ้น ในช่วงหลัง แต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่อีกบ้าง  ซึ่งไม่มีการลงโทษ  คนผิดไม่ได้รับการลงโทษ  ถึงแม้ฝ่ายรัฐจะอ้างว่ามีการลงโทษทางวินัย แต่ ชาวบ้านไม่รับรู้
                               
ตัวพระราชกำหนด กฎหมาย.ฉฉฯ มันมีปัญหา เรื่องการไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง/อาญา  หรือตัวการขยายการควบคุมตัวได้เรื่อยๆ  ดังนั้น  มันเป็นสนิม  ความพยายามของรัฐที่จะแก้ไขปัญหา  ทำให้ซับซ้อนมากขึ้น สำหรับเรื่อง มาตรา21 (ในพรบ.ความมั่นคงฯ)  ตามทัศนะรัฐเรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วมเข้ามากลับใจ เพราะหลงผิด  ซึ่งจริงๆทัศนะนักรบเพื่อเอกราชปาตานีมองว่าเขาไม่ได้หลงผิด  แต่เขาไม่มีทางเลือก  ปัญหาจากการใช้กฎหมายที่ผ่านมาคืออะไร??  ต้องยอมรับมัน  สามารถขัดสนิมพวกนี้ออกได้หรือไม่  ปัจจุบันคนเสียชีวิต 5,500 คน  4 พันกว่าคนเป็นประชาชน  นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่  ทำอย่างไรจะไม่ทำให้เงื่อนไขมันรุนแรงจนคนบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น
     
การใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ดีมากแต่ก็เกิดปัญหาหากชาวบ้านเท่านั้นถูกลงโทษและรัฐใช้การแก้ปัญหาทางทหารมากกว่ากระบวนการยุติธรรม อย่างโปร่งใส เที่ยงธรรม
 
ดร.พญ.ปานใจ  โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และมีโอกาสได้ไปตรวจชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบให้ทัศนะในเวทีนี้ว่า
 
“รัฐบาลไทยใช้ความมั่นคงเป็นหลัก  เพิ่งจะนำความยุติธรรมมาใช้  ความเป็นคนไทยจริงๆ ก็มีการผนวกเข้าด้วยคนจากหลากหลายชาติพันธุ์  โดยผนวกเข้าด้วยคำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จชต.แตกต่างจากกรอบของรัฐไทย  ทำให้รัฐใช้เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก  ปัญหาการเมืองของชาติส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาจชต.โดยตรง เช่น ปัญหาเสื้อเหลือง-แดง  ที่ผ่านมา  ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยเหมือนกัน  แต่ในจชต.จะเกิดขึ้นมากกว่า  เพราะมีการใช้กฎอัยการศึก/พรก.ฉฉฯ  การปฏิบัติหน้าที่ของจนท.มีอคติต่อคนในพื้นที่  ...การใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์  เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการซ้อมทรมานได้  ถ้ามันมีประสิทธิภาพมันก็ไม่ต้องใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แนวโน้มคนเน้นเรื่องกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  เพราะหากมีความยุติธรรมเกิดขึ้น  ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา  บุคลากรที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่มีความเข้าใจ  รัฐต้องมีความจริงใจในจุดนี้”
 
นายสมชาย หอมลออ   จากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ตากใบกับเหตุการณ์ 6 ตุลา  19  ทำให้คนตัดสินใจจับอาวุธมากขึ้น  ทั้งที่การตัดสินใจจับอาวุธนี้  ไม่ใช่เรื่องง่าย  ยุคแห่งการหวาดกลัวนี้คล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 การจะใช้ม. 21 พรบ.ฯ ต้องไม่ใช้บนบรรยากาศของความหวาดกลัว ดังนั้น  มีบทเรียนชุดหนึ่งจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 
                               
ดังนั้นทางออกมีด้วยกันสามประเด็น
      
ประเด็นที่ 1  ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของฝ่ายความมั่นคง  มีหน้าที่ต้องให้พลเรือนกำหนดบทบาทของฝ่ายความมั่นคงเพราะ  ที่ผ่านมาฝ่ายทหารเป็นผู้กำหนดตลอด พลเรือนไม่กำหนดและไม่กล้ากำหนด  ตำรวจเองยังต้องฟังฝ่ายทหาร  ถ้าศาลฟังฝ่ายทหารด้วยก็จะลำบาก  ซึ่งเป็นเรื่องที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  พยายามต่อสู้มาโดยตลอด
                               
ประเด็นที่ 2 ไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่าง และการรัฐประหาร 49 ทำให้พื้นที่ของความแตกต่างลดลงอีก  ดังนั้นจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างสี  ต้องไปใช้บนถนน เกิดความรุนแรง  ในจชต.ต้องอาศัยพท.ความแตกต่างนี้มาก  ซึ่งต้องยอมรับความแตกต่างอันนี้  เช่นเรื่องภาษา  การศึกษา ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมเชิงวัฒนธรรมด้วย  มากกว่าแค่เชิงการปกครองเท่านั้น
 
ประเด็นที่ 3 ส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่รุนแรง สำหรับคนที่มีอุดมการณ์/อุดมคติ ของคนจชต. ที่ต้องการเอกราชตามทัศนะเขาหรือแบ่งแยกดินแดนตามทัศนะรัฐด้วย เช่น  ยอมที่จะให้มีพรรคการเมืองของคนจชต.หรือไม่  ถ้าพรรคการเมืองดังกล่าวมีนโยบายในการปกครองตนเอง  จะทำได้หรือไม่