Skip to main content

 

รายงานโดย: ริซา กามาล สมาชิก YMPN และผู้สื่อข่าวเครือข่ายการสื่อสารมวลชนของฟิลิปปินส์ (GMA)

ที่มา: นิตยสารโครงการสื่ออามานา (AMANA ) ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2007 ของเครือข่ายมุสลิมเอเชีย (Asian Muslim Action Network- AMAN)

 
หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาเยาวชนมุสลิมโมโร รวมตัวกันในการสร้างความร่วมมือและแสวงหาสันติภาพ รายงานสั้นชิ้นนี้สะท้อนความคิดของเยาวชนโมโรมุสลิมในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งที่มินดาเนา (ตอนใต้ของฟิลิปปินส์)
 
 
เครือข่ายเยาวชนมุสลิมโมโรหลากอาชีพ  ( Young Moro Professionals Network- YMPN) เป็นกลุ่มแรกที่ยอมรับว่าพวกเขาได้เผชิญกับความท้าทายจากสื่อ ความล้มเหลวของผู้นำการเมืองและวัฒนธรรมการตกเป็นเหยื่อ เหล่านี้เป็นอุปสรรคที่กลุ่มเยาวชนมุสลิมโมโรกำลังเผชิญหน้าแต่พวกเขาไม่ย่อท้อ
 
เมื่อปี 2000 กลุ่มเครือข่ายเยาวชนมุสลิมโมโรหลากอาชีพได้ก่อตั้งขึ้น มีสมาชิกกว่า 100 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ แพทย์ นักข่าว และเยาวชนทั่วไปที่มีการศึกษาสูง พวกเขาพยายามเปลี่ยนความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นกับชุมชนมุสลิม โดยพยายามสร้างโอกาสเพื่อปรับปรุงและยุติความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้ผู้คนต้องสูญเสียชีวิตไปหลายพันคน
 
ในครั้งนั้นสมาชิก 12 คนของ YMPN ได้มีโอกาสร่างข้อเสนอล่าสุดเมื่อมีการประชุมร่วมกัน เมื่อเดือนสิงหาคมเมื่อราวปี 2007 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Asian Institute of Management ในกรุงมะนิลา ซึ่งมีตัวแทนขององค์กรพัฒนาและนโยบายของฟิลิปปินส์เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย ผู้เข้าร่วมหวังว่า การพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือระยะยาวที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของเยาวชนมุสลิม ในการประชุมครั้งนั้นมีเสียงสะท้อนจากเยาวชนดังนี้
 
ความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนมุสลิมในฟิลิปปินส์นั้น เป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงร่วมกัน ตามที่ซารา แคทลีน อาลีห์ สมาชิกจาก YMPN ได้กล่าวว่า  “การเหมารวมจากสื่อและการที่สื่อไม่ค่อยจะนำเสนอความพยายามของเยาวชนมุสลิมในการสร้างสันติภาพเป็นปัญหามาก ในฐานะที่เป็นชาวโมโร มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการพิสูจน์ว่าเราก็สามารถบรรลุถึงสันติภาพได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้หญิง”
 
อัสสัส บัวโต สมาชิกของ YMPN อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ชาวมุสลิมต้องการเอาชนะวัฒนธรรมของการตกเป็นเหยื่อและเริ่มที่จะพูดคุยกันมากขึ้น
 
“เราควรจะหยุดสภาพที่เราถูกมองว่าตกเป็นเหยื่อ เราน่าจะหยุดความรู้สึกว่าเราหมดหนทางและเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำที่ไม่มีคุณค่าได้อย่างชอบธรรม”
 
ส่วน ราชอล มิทมัก เจอาร์ กล่าวว่า “ท้องถิ่นของพวกเรา ต้องการผู้นำที่สามารถดูแลช่วยเหลือพวกเขาได้ พวกเขาต้องการการปกครองที่ชอบธรรม ต้องการสังคมที่ไม่สามารถหาได้จากรัฐบาลฟิลิปปินส์ นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้และเราควรรู้จักประชาชนของเราให้มากขึ้นด้วย”
 
ในประเทศที่มีประชากรเป็นชาวคาทอลิกส่วนใหญ่นี้ กลุ่มเยาวชนมุสลิมหลากอาชีพ ตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องมองออกไปนอกเหนือชุมชนมุสลิมหากต้องการทำงานให้มีผลในวงกว้าง พวกเขาเห็นตรงกันว่า เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ไม่ใช่มีเพียงแค่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่เท่านั้น แต่จะต้องคำนึงว่าชาวมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิมได้  โครงการบางโครงการของ YMPN จะถูกนำไปปฏิบัติกับประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิมเช่นเดียวกัน ดังที่นัสเซอร์ กาซิม ผู้เข้าร่วม ชี้ให้เห็นว่า การปรับปรุงโอกาสทางการศึกษาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนทั้งหมดไม่ใช่ชาวมุสลิมเท่านั้น
 
ส่วน อาลีม สิดดีกี กูอาปาล ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโทด้านการพัฒนา โดยได้รับทุนจากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาเอเชีย2และได้เข้าร่วมหลักสูตรสันติศึกษาของเครือข่ายมุสลิมเอเชียเมื่อต้นปี 2007  เขากล่าวว่า เขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมกลุ่มผู้นำเยาวชนมุสลิมและเครือข่ายต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นร่วมกัน 
 
 
ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของ YMPN
 
http://www.ympn.org/
 
https://www.facebook.com/ympnetwork