สมัชชา นิลปัทม์
ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้ถึงวัน “สื่อทางเลือกชายแดนใต้” เข้ามาทุกที ซึ่งทางพื้นที่ได้จัดงานทุกวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งในปีนี้ (2556) ถือว่าเป็นครั้งที่สามแล้วครับ
สื่อทางเลือกคืออะไร ... ผมอยากจะชวนร่วมกันทบทวนความหมายของสื่อทางเลือกว่ามันคืออะไรกันแน่อีกครั้ง
โดยทั่วไปคำๆ นี้มักถูกนิยามให้มีความหมายที่ตรงกันข้ามกับ “สื่อกระแสหลัก” ซึ่งเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมการสื่อสารมวลชน โดยเมื่อใดที่เราได้พยายามที่จะนิยามถ้อยใดๆ ก็ตามเราอาจจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยก็คือ ระบบอำนาจ ทุนและเครือข่ายของประชาสังคม
สื่อทางเลือกนั้น มีนัยที่ปฏิเสธไม่ได้ต่อท่าทีในลักษณะที่ต่อต้านและคัดง้างกับแนวทางกระแสหลักของสังคมที่ดำเนินอยู่ ก่อนที่จะเกิดคำว่า “สื่อทางเลือก” (Alternative media) หลายคนอาจคุ้นเคยกับสื่อที่ถูกเหมารวมไปกับขบวนการขับเคลื่อนทางการเมือง เช่น หนังสือพิมพ์ของพวกฝ่ายซ้าย (leftist press) สื่อใต้ดินและสื่อเพื่อการปฏิวัติ (Revolutionary press/ media) ซึ่งได้ทำหน้าที่ในการทำงานทางความคิดเผยแพร่แนวคิดที่ต่อต้านกับอำนาจรัฐ ค่านิยมที่ยึดถือจนเป็นกระแสหลัก อันมีสื่อกระแสหลักเป็นหัวหอกสำคัญ
นัยนี้ สื่อทางเลือกจึงมีท่าทีของ “ผู้ต่อต้าน” ในสายตาของมวลชนกระแสหลักและอนุรักษ์นิยม ในขณะเดียวกันก็เป็นท่าทีของฝ่ายก้าวหน้าที่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงอย่างถอยรากถอนโคน
ผมอยากจะสรุปเนื้อความจากการอ่าน หนังสือ Key Concept in Communication and Cultural Studies (1994) อ้างในหนังสือ สิทธิและการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์ ของ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (2550) กล่าวถึงความหมายของ “สื่อทางเลือก”ว่า
“เป็นสื่อที่ท้าทายและปฏิเสธอำนาจและสถาบันทางการเมืองอย่างเปิดเผย ทำหน้าที่รณรงค์และตรวจสอบค่านิยมเดิมของสังคมอย่างวิพากษ์ ทั้งยังสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองด้วยการเป็นตัวแทนของลัทธิทางการเมืองและสังคมที่อยู่นอกกรอบทางการเมืองของการแสดงฉันทามติและในระบบรัฐสภา”
“สื่อทางเลือก จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทางการสื่อสารเพื่อสะท้อนความคิด ความเห็นและปัญหาของกลุ่มที่ถูกมองข้าม มีพลังอำนาจต่อรองในทางการเมืองและผลประโยชน์น้อย มักถูกมองข้ามจากสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับชาติ”
แน่นอนล่ะว่า ... จุดยืนของการแสดงออก ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ต้องแตกต่างไปจาก สื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งผู้รับอาจจะไม่คุ้นเคย จึงมีทั้งคนที่ชื่นชอบและไม่ชอบระคนกันไป
หากพิจารณาในทางการสื่อสารจะพบว่า “สื่อทางเลือก” นั้นฉายภาพให้เราเห็นถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของการสื่อสารที่มุ่งเน้นการสื่อสารจากข้างล่างสู่บน (Bottom up) ที่เน้นการเพิ่มเติมอำนาจให้มีสิทธิทางการสื่อสารเพื่อสะท้อนเรื่องราว จุดยืน ความต้องการของผู้คนธรรมดาสามัญได้มากขึ้น
การสื่อสารเช่นนี้ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารแบบแนวราบ (Lateral) ที่เปิดมุมมองของการสื่อสารผ่านมุมมองเปรียบเทียบมิติสัมพันธ์แบบเรขาคณิต ภายใต้ฐานคติของจุดยืนของผู้คนที่วางอยู่ในระนาบเดียวกัน มีระดับของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ถูกจัดวางแบบใหม่ ไม่มีความเหลื่อมล้ำของสิทธิที่จะแสดงออกความคิดความเห็น เรียกร้องและรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นพื้นฐานที่สอดคล้องแนวคิดการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
สื่อทางเลือกยังเป็นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Communication) ที่ต้องการดึงผู้คนเข้ามีส่วนร่วมในการคิด แสดงความเห็น วิพากษ์ ร่วมผลิต ซึ่งสร้างรูปแบบการเข้าถึงพื้นที่สื่อได้โดยตรงและกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเป็น ‘ขนบ’ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่มุ่งเน้นการสื่อสารแบบทางเดียว ที่มีองค์กรสื่อเป็นผู้ส่งสารและผูกขาดพลังพลังอำนาจเอาไว้เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ยังมีโลกทัศน์ในการมองผู้รับสารแบบใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ไม่ได้ “ผูกขาด” การสื่อสารไว้ในกำมือของพวก “มืออาชีพ” แต่ได้ผลิตวัตถุทางวาทกรรมใหม่ๆ เพื่อคัดง้างกับความคิดเก่าๆ ขึ้นมาก เช่น “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้”
อยากจะย้ำอีกทีว่า การเกิดขึ้นของ “สื่อทางเลือก” มันไม่ได้จู่ๆ จะผุดขึ้นมาในระบบการสื่อสารขึ้นมาอย่างลอยๆ นะครับ แต่มันแอบอิงอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริบทของวิกฤติประชาธิปไตย ที่ไม่สามารถที่จะสะท้อนความคิดความเห็นทางการเมือง ความต้องการ จุดยืน จุดสนใจและผลประโยชน์ของผู้คนได้อย่างครอบคลุม ปรากฏการณ์การถูกครอบงำสื่อภายใต้กฎเกณฑ์ของระบบทุนที่นิยมที่ไม่เอื้อให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเข้าถึงสื่อได้ด้วยกฎของระบบการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่ต้องแลกเปลี่ยนเข้ามามีพื้นที่ด้วยการซื้อโฆษณา
นอกจากนี้จะสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ซึ่งมีผลต่อ “ภูมิทัศน์ของการสื่อสาร” (Media Landscape) ขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผลกระทบต่อ “ภูมิทัศน์ทางการเมืองและสังคม” ขึ้นมาใหม่ด้วยการเปลี่ยนผู้ซึ่งเป็นตัวกรองหรือ “นายประตูข้อมูลข่าวสาร” (Gatekeeper) ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในสื่อกระแสหลัก เคลื่อนย้ายมาสู่ผู้คนสามัญให้สามารถเป็นผู้ควบคุมการสื่อสารได้เอง จึงทำให้สนามของการไหลเวียนข้อมูลสื่อสารในระบบนั้นเปลี่ยนไปทั้งหมด
นี่คือปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของระบบการสื่อสารมวลชนทั้งหมดเลยครับ ครั้งหน้าเราจึงมาจะพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กันครับโดยเฉพาะประเด็นสื่อทางเลือกกับการการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในทางการเมือง