อัศโตรา ชาบัต*
ความสับสนเกี่ยวการลงนามระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบและสร้างสันติภาพในภาคใต้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น คงจะไม่จบได้ง่ายๆ
เพราะเรื่องนี้ได้ถูกยกให้เป็นปัญหาการเมืองโดยฝ่ายค้านและฝ่ายต่างๆ ในรัฐบาลที่ค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการลงนามในครั้งนี้
ที่จริงแล้วความถูกต้อง 100% จะถูกมองเป็นความเท็จได้ และในทางกลับกัน ถ้าคนรู้จริงไม่พูดหรือพูดไม่เป็นหรือไม่เก่ง และปล่อยให้คนไม่รู้จริงออกมาพูดไปกันใหญ่ แน่นอนถ้าคนรู้ไม่จริง หรือไม่มีข้อมูลน่าเชื่อถือที่พูดเก่ง ดีแต่พูด เก่งแต่ปาก เหมือนกับนักพูด นักปราศรัยทางการเมืองต่างๆ ที่สามารถทำให้คนไร้เดียงสา และด้อยประสบการณ์ทางการเมืองมากมายเห็นดำเป็นขาว และขาวเป็นดำได้
กรณีการลงนามระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็นกับ สมช. เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบและสร้างสันติภาพในภาคใต้นั้นถึงแม้เลขาธิการ สมช. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอื่นๆ ในรัฐบาลออกมาชี้แจงและแถลงข่าวหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรืองจริง และบีอาร์เอ็นนั้นก็เป็นกลุ่มที่มีตัวตนจริงๆ
แต่ข่าวที่ออกมาในสื่อกระแสหลักหลายสำนักงานสวนทางกันตลอด
บางสำนักงานถึงกับมีอคติอย่างโมหาคติไปเลยต่อรัฐบาลและ สมช. จะมีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นเองที่ลงข่าวและวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา
สื่อนั้นเป็นอำนาจที่สี่ที่ไม่เป็นทางการในรัฐหลังจากอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจการบริหาร และอำนาจตุลาการ เพราะเป็นอำนาจที่สี่นี่แหละทำให้สื่อมีผลประโยชน์มากมายไม่ต่างกับอำนาจอื่นๆ ในรัฐ
ที่เป็นเรื่องอันตรายอย่างมากก็คือเมื่อสื่อเริ่มมองแต่ผลประโยชน์และทำงานเพื่อกอบโกยผลประโยชน์อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่คำนึงตรึกตรองถึงความถูกต้องของข่าวสารที่เสนอไปให้ผู้บริโภค จึงเกิดสื่อที่ไม่รับผิดชอบ โดยมีที่การลงข่าวและวิเคราะห์ที่ไม่มีมูลความจริงและเท็จ
นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในการลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้
รัฐบาลไทยหรือฝ่ายไหนก็ตามในประเทศเรา และทุกประเทศที่มีความอิสรเสรีพอสมควรในการพูดจา และออกความคิดเห็นจะต้องเผชิญปัญหาสื่อที่ไม่รับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
จะหนักเข้าไปอีกเมื่อรัฐบาลหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นจะต้องเผชิญกับสื่อบางสาขาที่เป็นพวกฟิฟต์ คอลลัม (fifth column)
ผู้เขียนซึ่งเป็นคนในพื้นที่และเคยทำงานเป็นนักข่าวต่างประเทศ 30 ปี (ตั้งแต่ปี 1983) ได้ติดตามการเคลื่อนไหวขบวนการต่างๆ ที่ประเทศอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงสี่ห้าปีระยะหลังที่มีข่าวว่าจะมีการเจรจาสันติภาพ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเขียนวิพากษ์เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้โดยใช้ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งที่มาโดยตรง หรือ first-hand news บังเอิญเมื่อวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ถูกเชิญไปกัวลาลัมเปอร์เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตนูซันตารา (Nusantara) ที่อิสตานา บูดายา (Istanan Budaya) หรือ โรงละครแห่งชาติมาเลเซีย
จึงฉวยโอกาสไปสะสางความสับสนกับผู้รู้ของขบวนการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้
ผู้เขียนพอจะสรุปย่อๆ คำชี้แจงที่ได้สัมผัสมาดังนี้
บีอาร์เอ็นเป็นแค่ตัวแทนของขบวนการต่างๆ ที่มารับผิดชอบลงนามกับ สมช. เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบและสร้างสันติภาพในภาคใต้
การลงนามครั้งนี้ไม่ใช่ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ (Peace Treaty) โดยตรง ที่เป็นนัยว่าความไม่สงบในพื้นที่จะจบไปทันที่หลังจากได้ลงนามไปแล้ว เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
เพราะฉะนั้น จึงเรียกการลงนามครั้งนี้ว่าเป็นการลงนามเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบและสร้างสันติภาพในภาคใต้
นี่หมายความว่าความไม่สงบจะหมดไปและสันติภาพจะมาแทนที่ก็ต่อเมื่อมีการแก้ปัญหากับฝ่ายหรือกลุ่มต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการสร้างความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ก่อน
นอกจากนั้น การลงนามครั้งเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบที่จุดใหญ่จุดหนึ่งก็จริง แต่เป็นแค่ขั้นแรกเท่านั้นและยังมีหลายจุดที่จะต้องแก้กันตามขั้นตอนต่างๆ ต่อมา คงต้องใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว จะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็อยู่กระบวนการพูดคุยที่จะมีขึ้น
การพูดคุยจะมีขึ้นเดือนละสองครั้ง หลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็มีการพุดคุยครั้งแรกมาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งมีตัวแทนสี่คนจากขบวนการและห้าคนจากฝ่ายรัฐไทยรวมทั้งผู้แทนของผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
การพูดคุยวันที่ 6 มีนาคม เป็นการพูดคุยเบื้องต้นเพื่อเป็นเตรียมการเข้าขั้นพูดคุยใหญ่ และเต็มสูตรที่จะมีขึ้นที่เกาะลังกาวีในรัฐเคดาห์ ซึ่งจะมีผู้เจรจาเข้าร่วมฝ่ายละ 15 คน ฝ่ายรัฐไทย 15 คน และ ฝ่ายขบวนการ 15 คนเช่นกัน ในวันที่ 28 มีนาคมนี้
มีข่าวว่าการพูดคุยต่อไปจะทำในรูปแบบกว้างขวางและหลากหลายกระแสทางความคิด ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเชิญคนนอกเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐด้วยอย่างเช่น อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และฝ่ายค้านคนสำคัญของประเทศไทยที่โลกมลายูและโลกมุสลิมรู้จักดี คืออดีตเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
ฝ่ายขบวนการก็จะปฏิบัติทำนองเดียวกัน เพราะตามที่พวกเขาชี้แจงให้ผู้เขียนทราบว่าพวกเขาต้องการให้เป็นการพูดคุยของประชาชนกับฝ่ายรัฐไทย ไม่ใช่เป็นการพูดคุยของบีอาร์เอ็นหรือขบวนการกับฝ่ายรัฐไทย พวกเขากำลังสรรหาบุคลากรจากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยทีไม่เกี่ยวข้องและไม่ใช่คนของบีอาร์เอ็นหรือขบวนการใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียงนักการเมืองดังๆ โต๊ะครูที่สนับสนุนสันติภาพ นักเคลื่อนไหวสันติภาพในภาคประชาสังคมต่างๆ และอื่นๆ
นอกจากนั้น มีบุคคลต่างๆ ของขบวนการที่มีความคิดเห็นความต่างกัน ขัดใจ และระแวงกับการลงนามพูดคุยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพราะเหตุผลต่างๆ นานาที่ผู้เขียนได้เจอและพูดคุย หรือติดต่อทางโทรศัพท์ไปถามความคิดเห็นพวกเขาต่างเห็นพ้องกันว่ากระบวนการพูดคุยจะเดินหน้าต่อไป จะหยุดไม่ได้ อะไรที่คิดว่าผิดและไม่ถูกจะต้องแก้ทีหลัง
พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลมาเลเซียจริงใจที่จะช่วยเหลือแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้
และเชื่อเช่นกันว่าไม่มีรัฐบาลไทยไหนที่จะกล้ามากกว่ารัฐบาลนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณสนับสนุนอยู่เบื้องหลังที่ยอมมาพูดคุยกับขบวนการเป็นทางการและสร้างอนาคตใหม่ให้คนมลายูพื้นที่สามจังหวัดและสี่อำเภอชายแดนภาคใต้
ถ้าพลาดโอกาสนี้ คงจะต้องรออีกนานกว่าจะมีรัฐบาลที่กล้าทำเยี่ยงอย่างรัฐบาลนี้ พวกเขากล่าว
นี่เป็นข้อสรุปกว้างๆ ที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาจากผู้นำบีอาร์เอ็นทั้งสามคนที่เข้าร่วมลงนามกับ สมช. วันนั้น คือ อาวัง ยะบะ อับดุลเราะห์มาน ยะบะ และอับดุลเลาะห์ สาวอ
และบุคคลของขบวนการอื่นๆ ที่เป็นทั้งหัวหน้า แนวร่วมและพันธมิตรในอดีตบีอาร์เอ็นคองเกรส (BRN-Congress/ที่ถูกยุบไปแล้วเพราะได้เข้ารวมเป็นหนึ่งกับบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต/BRN-Coordinate และมาเป็น บีอาร์เอ็น/BRN เฉยๆ) พูโล (PULO) และ บีไอพีพี (BIPP)
*นักข่าวอาวุโส ต่างประเทศ อดีต บ.ก.ศาสนาหนังสือพิมพ์อุตุซัน มาเลเซีย, Peace advocate of King Prajadhipok's Intitute (สถาบันพระปกเกล้า) ที่ปรึกษาสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายูแห่งประเทศไทย และผู้ฝึกอบรมนักข่าวภาษามลายูของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มี.ค. 2556 หน้า 11